ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          เสียงดนตรีบรรเลงเพลงแห่นาคแทรกเข้ามาในบรรยากาศยามเช้าที่อากาศกำลังเย็นสบาย เสียงนั้นดังขึ้นเรื่อยๆ วันนี้มีพิธีอุปสมบทที่พระอุโบสถ เป็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องการจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้บอกว่าจะอุปสมบทเป็นเวลานานเท่าใด ปัจจุบันมีคนบวชมาก แต่มีพระที่อยู่ในเพศสมณะน้อยลง เนื่องเพราะคนส่วนหนึ่งนิยมบวชเป็นระยะเวลาสั้นๆ 7 วัน 15 วัน หรือหนึ่งเดือน จากนั้นก็ลาสิกขาออกไปทำหน้าที่ทำมาหากินต่อไป ปัจจุบันสมัยคนมีศรัทธาในการอุปสมบทมาก  แต่เวลาในการดำรงอยู่ในเพศสมณะมีน้อยลง


          ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุที่บวชด้วยศรัทธามีมาก แต่ผู้ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ที่บวชด้วยศรัทธา คือพระรัฐปาลเถระ ดังที่แสดงไว้ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต (20/148/81) ความว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระรัฐปาละ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้บวชด้วยศรัทธา
          พระเถระรูปนี้มีประวัติน่าสนใจและมีสุภาษิตที่มีผู้นำมาอ้างบ่อยๆเช่น “ชีวิตนั้นแลว่าเป็นของน้อย ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา, ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีในโลก และ ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์” เป็นต้น
          ประวัติของพระรัฐปาลก็น่าสนใจเป็นลูกเศรษฐี มีประวัติโดยย่อดังที่แสดงไว้ในอรรถกถารัฐปาลเถรคาถา ขุททกกนิกาย เถรคาถา เล่มที่ 53  หน้า 59 -75 มีเนื้อความโดยสังเขปดังต่อไปนี้ “รัฐปาละเกิดในเรือนของรัฐปาลเศรษฐี ในถุลลโกฏฐิกนิคม ในกุรุรัฐ   รัฐปาละนั้นเจริญด้วยบริวารเป็นอันมาก ถึงความเป็นหนุ่มโดยลำดับ บิดามารดาจึงหาภรรยาที่สมควรให้ และให้ดำรงอยู่ใน ยศใหญ่ เสวยเฉพาะสมบัติดุจสมบัติทิพย์

 

           ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปยังชนบทในแคว้นกุรุรัฐ เสด็จถึงถุลลโกฏฐิกนิคมโดยลำดับ รัฐปาลกุลบุตรได้สดับดังนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้วได้ศรัทธาประสงค์จะบวช ได้ทำการอดอาหาร 7 วัน ให้บิดามารดาอนุญาตอย่างแสนยากลำบาก แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชา ได้บวชในสำนักของพระเถระรูปหนึ่ง โดยอาณัติ (คำสั่ง) ของพระศาสดา กระทำกรรมโดยโยนิโสมนสิการ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว
          พระรัฐปาละได้แสดงถึงบุพกรรมตั้งแต่อดีตชาติไว้ใน รัฏฐปาลเถรคาถา ขุททกนิกาย เถรคาถา  (26/388/372)ความว่า  “เราได้ถวายช้างตัวประเสริฐมีงางอนงามควรเป็นราชพาหนะ ทั้งลูกช้างอันงาม มีเครื่องหัตถาลังการ กั้นฉัตรขาวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก ผู้คงที่ เราซื้อสถานที่ทั้งหมดนั้นแล้วได้ให้สร้างอารามถวายแก่สงฆ์ ได้ให้สร้างปราสาทไว้ภายในวิหารนั้น 54,000 หลัง ได้ทำทานดุจห้วงน้ำใหญ่ มอบถวายแด่พระพุทธเจ้า
          พระสยัมภูมหาวีรเจ้าผู้เป็นอัครบุคคล ทรงอนุโมทนา ทรงยังชนทั้งหมดให้ร่าเริง ทรงแสดงอมตบท
          พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงกระทำผลบุญที่เราทำแล้วนั้นให้แจ้งชัดแล้ว ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้นี้ได้ให้สร้างปราสาท 54,000 หลัง เราจักแสดงวิบากของคนผู้นี้ ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
          กูฏาคารหมื่นแปดพันหลังจักมีแก่ผู้นี้ และกูฏาคารเหล่านั้นสำเร็จด้วยทองล้วน เกิดในวิมานอันอุดม ผู้นี้จักเป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติ 50 ครั้ง และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 58 ครั้ง
          ในกัปที่แสน พระศาสดาพระนามว่าโคดม โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้อันกุศลมูลกระตุ้นเตือนแล้ว จักจุติจากเทวโลกไปบังเกิดในสกุลที่เจริญมีโภคสมบัติมาก ภายหลังอันกุศลมูลกระตุ้นเตือน จักบวช จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา โดยมีชื่อว่ารัฐปาละ. เขามีใจตั้งมั่นในความเพียร เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิกิเลส จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวง แล้วไม่มีอาสวะ นิพพาน ดังนี้


          เราจึงลุกขึ้นแล้วสละโภคทรัพย์ออกบวช ความรักในโภคสมบัติอันเปรียบด้วยก้อนเขฬะ ไม่มีแก่เรา เรามีความเพียรอันนำไปซึ่งธุระ เป็นเครื่องนำเอาธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะมา เราทรงไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุด ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราได้ทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาเราทำเสร็จแล้ว.
          ก็ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ทูลขออนุญาตพระศาสดา ไปยังถุลลโกฏฐิกนิคม เพื่อเยี่ยมบิดามารดา ได้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกในนิคมนั้น ได้ขนมกุมมาสบูดที่นิเวศน์ของบิดา ฉันขนมกุมมาสนั้น ประดุจฉันสิ่งที่เป็นอมฤต อันบิดานิมนต์จึงรับนิมนต์เพื่อจะฉันในวัน รุ่งขึ้น
           ในวันที่สองจึงฉันบิณฑบาตในนิเวศน์ของบิดา เมื่อหญิงในเรือนตกแต่งประดับประดาแล้ว เข้าไปหากล่าวคำมีอาทิว่า พระลูกเจ้า นางฟ้าเหล่านั้นเป็นเช่นไร อันเป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้แล้วเริ่มกระทำการประเล้าประโลม จึงได้เปลี่ยนกลับความประสงค์ของเธอเสีย
          เมื่อจะแสดงธรรมอันปฏิสังยุตด้วยความไม่เที่ยงเป็นต้น จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ความว่า  “เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผลอันกระดูก 300 ท่อนยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย คนพาลพากันดำริหวังมาก อันไม่มี ความยั่งยืนตั้งมั่น เชิญดูรูปอันปัจจัยกระทำให้วิจิตรด้วยแก้วมณีและกุณฑล หุ้มด้วยหนังมีร่างกระดูกอยู่ภายใน งามพร้อมไปด้วยผ้าต่างๆ มีเท้าทั้งสองอันฉาบทาด้วยครั่งสด มีหน้าอันไล้ทาด้วยฝุ่น สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง  ผมทั้งหลายอันบุคคลตบแต่งเป็นลอนคล้ายกระดานหมากรุก นัยน์ตาทั้งสองอันหยอดด้วยยาตา สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง กายอันเปื่อยเน่าอันบุคคลตบแต่ง แล้วเหมือนกล่องยาตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเนื้อคร่ำครวญอยู่พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป บ่วงของนายพรานขาดไปแล้ว  เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเศร้าโศกอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป

 

          เราเห็นหมู่มนุษย์ที่มีทรัพย์ในโลกนี้ ได้ทรัพย์แล้วไม่ให้ทานเพราะความลุ่มหลง ได้ทรัพย์แล้วทำการสั่งสมไว้ และปรารถนาอยากได้ยิ่งขึ้นไป พระราชากดขี่ช่วงชิงเอาแผ่นดินครอบครองแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด ตลอดฝั่งสมุทรข้างนี้แล้ว ไม่รู้จักอิ่ม ยังปรารถนาจักครอบครองฝั่งสมุทรข้างโน้นอีกต่อไป พระราชาก็ดี มนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากก็ดี ผู้ยังไม่ปราศจากตัณหา ย่อมเข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มความประสงค์ ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีในโลกเลย
          หมู่ญาติพากันสยายผมร้องไห้คร่ำครวญถึงผู้นั้น และพันว่าทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราจึงจะไม่ตาย ครั้นพวกญาติตายแล้ว ก็เอาผ้าห่อนำไปเผาเสียที่เชิงตะกอน ผู้ที่ตายไปนั้นถูกเขาแทงด้วยหลาวเผาด้วยไฟ ละโภคะทั้งหลาย มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัวไป เมื่อบุคคลจะตายย่อมไม่มีญาติหรือมิตรสหายช่วยต้านทานได้ พวกที่รับมรดกก็มาขนเอาทรัพย์ของผู้ตายนั้นไป ส่วนสัตว์ที่ตายย่อมไปตามยถากรรม เมื่อตายไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรๆ คือ พวกบุตร ภริยา ทรัพย์ แว่นแคว้นสิ่งใดๆ จะติดตามไม่ได้เลย
          บุคคลจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ก็หาไม่ จะละความแก่ไปแม้เพราะทรัพย์ก็หาไม่ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นแลว่าเป็นของน้อย ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
          ทั้งคนมั่งมีและคนยากจน ย่อมถูกต้องผัสสะเหมือนกัน ทั้งคนพาลและคนฉลาดก็ต้องถูกผัสสะเหมือนกันทั้งนั้น แต่คนพาลถูกอารมณ์ที่ไม่พอใจเบียดเบียน ย่อมอยู่เป็นทุกข์เพราะความเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้นและ ปัญญาจึงจัดว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะปัญญาเป็นเหตุให้บรรลุนิพพาน แต่คนพาลไม่ปรารถนาจะบรรลุ พากันทำกรรมชั่วต่างๆ อยู่ในภพน้อยภพใหญ่เพราะความหลง
          ผู้ใดทำกรรมชั่วแล้ว ผู้นั้นจะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสารร่ำไป บุคคลผู้มีปัญญาน้อย เมื่อมาเชื่อต่อการทำของบุคคลผู้ที่ทำความชั่วนั้น ก็จะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ร่ำไปเหมือนกัน
          โจรผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลางย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ผู้มีธรรมอันชั่วช้า ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในปรโลกเพราะกรรมของตนฉะนั้น

 

          กามทั้งหลายงามวิจิตรมีรสอร่อย น่ารื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ ดูกรมหาบพิตรเพราะอาตมภาพได้เห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงออกบวช สัตว์ทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ ย่อมตกไปเพราะร่างกายแตก เหมือนผลไม้หล่น ฉะนั้น
          ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพเห็นความไม่เที่ยงแม้ข้อนี้ จึงออกบวช ความเป็นสมณะอันไม่ผิดนั้นแล ประเสริฐ อาตมภาพออกบวชด้วยศรัทธา เข้าถึงการปฏิบัติชอบในศาสนาของพระชินเจ้า บรรพชาของอาตมภาพไม่มีโทษ
          อาตมภาพไม่เป็นหนี้บริโภคโภชนะ อาตมภาพเห็นกามทั้งหลายโดยเป็นของอันไฟติดทั่วแล้ว เห็นทองทั้งหลายโดยเป็นศาตรา เห็นทุกข์จำเดิมแต่ก้าวลงในครรภ์ เห็นภัยใหญ่ในนรก จึงออกบวช อาตมภาพเห็นโทษอย่างนี้แล้วได้ความสังเวชในกาลนั้น ในกาลนั้นอาตมภาพเป็นผู้ถูกลูกศร คือ ราคะเป็นต้นแทงแล้ว บัดนี้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
          พระศาสดาอันอาตมภาพคุ้นเคยแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอาตมภาพทำสำเร็จแล้ว อาตมภาพได้ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ ที่กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้นแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว

 

          การที่จะได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้านั้นต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งความปรารถนาและดำเนินมรรคปฏิปทาเพื่อจะได้เข้าถึงสิ่งที่ตนปรารถนา ดังประวัติในอดีตชาติของพระรัฐปาลเถระ ดังที่แสดงไว้ในในอรรถกถารัฐปาลเถรคาถา ขุททกกนิกาย เถรคาถา เล่มที่ 53  หน้า 57 -59 ความว่า “ ได้ยินว่า ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระจะเสด็จอุบัติ พระเถระบังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล ในนครหังสวดี เติบโตแล้ว เมื่อบิดาล่วงลับไปก็ครอบครองบ้านเรือน ได้เห็นทรัพย์ที่ตกทอดมาตามวงศ์ตระกูลนับประมาณไม่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาคลังรัตนะแสดงให้ดู จึงคิดว่า บรรพชนมีบิดา ปู่และปู่ทวดเป็นต้นของเรา ไม่สามารถพาเอากองทรัพย์มีประมาณเท่านี้ไปกับตน แต่เราควรจะพาเอาไป จึงได้ให้มหาทานแก่คนเดินทางและคนกำพร้าเป็นต้น
         ท่านได้อุปัฏฐากดาบสรูปหนึ่งผู้ได้อภิญญา อันดาบสนั้นชักนำในความเป็นใหญ่ในเทวโลก จึงได้บำเพ็ญบุญมากหลายจนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นบังเกิดในเทวโลกเสวยทิพยสมบัติ ดำรงอยู่ในเทวโลกนั้นตลอดกาลกำหนดของอายุ จุติจากเทวโลกนั้น บังเกิดเป็นบุตรคนเดียวของตระกูลที่สามารถรวบรวมรัฐซึ่งต่างแบ่งแยกกันในมนุษยโลกไว้
          ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ยังเวไนยสัตว์ให้ลุถึงภูมิอันเกษม กล่าวคือมหานครนิพพาน
           ลำดับนั้น กุลบุตรนั้นรู้เดียงสาโดยลำดับ วันหนึ่งไปวิหารกับพวกอุบาสก เห็นพระศาสดากำลังทรงแสดงธรรม มีจิตเลื่อมใส จึงนั่งลง ณ ท้ายบริษัท
          ก็สมัยนั้นแล พระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา เขาเห็นดังนั้นมีจิตเลื่อมใส จึงตั้งจิตไว้เพื่อต้องการตำแหน่งนั้น แล้วบำเพ็ญมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อันภิกษุ 100,000 รูปห้อมล้อม ด้วยสักการะใหญ่ตลอด 7 วันแล้วได้กระทำความปรารถนาไว้
         พระศาสดาทรงเห็นว่าความปรารถนานั้นสำเร็จโดยไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล กุลบุตรผู้นี้จักเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม เขาถวายบังคมพระศาสดาและไหว้ภิกษุสงฆ์แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป


          เขาทำบุญมากหลายในอัตภาพนั้นตลอดชั่วอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในกัปที่ 92 แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าผุสสะ เมื่อราชบุตร 3 พระองค์ผู้เป็นพระภาดาต่างพระชนนีกันกับพระศาสดา ทรงอุปัฏฐากพระศาสดาอยู่ ได้กระทำกิจแห่งบุญกิริยาของราชบุตรเหล่านั้น
          เขาสั่งสมกุศลนั้นๆ เป็นอันมากในภพนั้นๆ อย่างนี้ ท่องเที่ยวอยู่แต่เฉพาะสุคติเท่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนของรัฐปาลเศรษฐี ในถุลลโกฏฐิกนิคม ในกุรุรัฐ, เพราะเกิดในตระกูลที่สามารถรวบรวมรัฐที่แตกแยกออกของท่านรัฐปาลเศรษฐีนั้น จึงได้มีนามตามตระกูลวงศ์ว่ารัฐปาละ
          การดำเนินปฏิปทาตามสิ่งที่ตนตั้งความปรารถนาไว้นั้นต้องใช้เวลานาน อย่างกรณีของพระรัฐปาลเถระที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติ ในชาติสุดท้ายจึงบรรลุความปรารถนาที่ตั้งไว้คือเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา
  

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
09/12/55

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก