วันนั้นท้องฟ้ายามเช้าสดใสไร้เมฆบดบัง แสงแดดสาดประกายมาเต็มดวง ป่าที่หลับใหลมาตลอดรัตติกาลก็พลันตื่นขึ้น ต้นไม้สะบัดใบปล่อยให้หยดน้ำค้างค่อยๆทักทายกับแสงแดดไม่นานก็เหือดแห้ง ใบไม้จึงได้สัมผัสกับแสงแห่งอังสุมาลี(ดวงอาทิตย์) ได้เต็มใบ ดอกไม้บางชนิดกำลังจะเบ่งบานเพราะเมื่อแสงทองส่องสัมผัสก็จะเกิดเป็นเหมือนสัญญาณที่ปลุกให้ตื่นด้วยความเบิกบาน ดอกไม้บางชนิดจึงบานในตอนเช้า นั่นเพราะส่วนหนึ่งมาจากความสมดุลของธรรมชาติ แดดส่องพอดี น้ำค้างกำลังเหือด และดอกไม้ก็เริ่มเบ่งบาน
หลวงพ่อที่สำนักสงฆ์ดอนปู่ตาตื่นตั้งแต่ตีสี่ ทำวัตรสวดมนต์ ซึ่งสำนักสงฆ์แห่งนั้นมีพระสงฆ์อยู่ประจำเพียงสองรูป แต่มีอาคันตุกะพเนจรอีกรูปหนึ่งไปขอพักพาอาศัยพักแรมค้างคืนอีกหนึ่งรูป หลวงพ่อจัดที่พักให้นอนหน้าพระประธานสถานที่จะต้องสวดมนต์เช้านั่นแล พอท่านตื่นแสงไฟสว่างจึงจำเป็นต้องตื่นและร่วมกิจกรรมทำวัตรสวดมนต์ร่วมกับหลวงพ่อและหลวงพี่ แม้จะไม่ค่อยได้ตื่นแต่เช้ามานานหลายปี ตามปรกติจะตื่นตอนหกโมงเช้า เวลาในกรุงเทพมหานครก็ยังถือว่าเช้า แต่ที่นี่กลางป่าไม้ที่รกครึ้มเวลาตีสี่กำลังเงียบสงัด มีเพียงเสียงแมลงธรรมชาติบางชนิดที่ส่งเสียงร้องเพลงที่ไร้ทำนองตามธรรมชาติ แต่เป็นบรรยายที่รู้สึกได้ว่าสงบเย็น ตีสี่ชีวิตของที่นี่เริ่มต้นแล้ว
เสร็จจากทำวัตรสวดมนต์เช้า ฟ้าก็ยังมืดจึงเดินจงกรมหน้าพระประธานเท้าสัมผัสผืนดินที่ผสมหยาดน้ำค้างเย็นยะเยียบติดเท้าเวลาเดินแต่ทว่าการได้สัมผัสกับความเป็นธรรมชาติให้ความรู้สึกว่าเรายังอยู่กับดินและป่า ทำให้ไม่ลืมชาติกำเนิดพื้นเพดั้งเดิมเกิดจากมาจากชนบท ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนกำลังได้กลับบ้านเกิดอีกครั้ง แม้ว่าสถานที่แห่งนั้นจะอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดจริงๆไม่ต่ำกว่าห้าร้อยกิโลเมตร แต่มีธรรมชาติแบบเดียวกัน
หลวงตาไซเบอร์ฯอุปสมบทที่วัดป่าตื่นตีสี่ทำวัตรสวดมนต์เสร็จรอเวลาอาทิตย์สัมผัสขอบฟ้าก็ออกโคจรบิณฑบาตที่หมู่บ้านใกล้ๆวัด พอสายหน่อยก็ฉันภัตตาหาร จากนั้นก็ทำงานตามแต่จะมีหากปีใดกำลังก่อสร้างก็จะกลายเป็นเหมือนกรรมกรเลื่อยไม้เพื่อจะได้ทำเป็นอุปกรณ์ในการก่อสร้าง สมัยนั้นยังใช้เลื่อยที่ต้องใช้แรงงาน พระภิกษุสามเณรช่วยกันทำงาน กุฏิ ศาลาการเปรียญบางหลังสำเร็จมาจากแรงงานของพระภิกษุสามเณรที่อุปสมบทในวัดป่าแห่งนั้นเกือบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ เหลือไว้อีกส่วนหนึ่งให้เป็นหน้าที่ของช่างเฉพาะอย่างเช่นช่างไม้ ช่างปูนเป็นต้น
แต่วิถีชีวิตมีอันต้องเปลี่ยนเส้นทางจากพระป่ากลายมาเป็นพระนักเรียนตามคำขอร้องของพระอุปัชฌาย์ที่อยากเห็นลูกศิษย์ได้เป็นพระมหาเปรียญ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้หลวงพ่อผิดหวังสอบมหาเปรียญจนเปลี่ยนคำนำหน้าจาก “พระ” มาเป็น “พระมหา” จนทุกวันนี้ ยังไม่มีโอกาสได้เปลี่ยนคำนำหน้าเป็นอย่างอื่นเช่น “พระครู” หรือ “เจ้าคุณ” ยังคงเป็น “พระมหา” และย้ายสำนักจากป่าเข้ามาสู่เมืองเพื่อการศึกษา อันที่จริงสถานศึกษานั้นป่าก็เป็นแหล่งในการศึกษาอย่างหนึ่ง ในพระพุทธศาสนาได้แบ่งธุระหรือหน้าที่ของพระสงฆ์ไว้สองอย่างคือ “วิปัสสนาธุระและคันถธุระ”หรือจะเรียกสั้นๆว่า “ปฏิบัติและปริยัติ” นำไปสู่ผลอันเดียวกันคือ “ปฏิเวธ” วิถีการดำเนินไปของชีวิตจึงมักจะเดินไปตามเส้นทางสองอย่างนี้
พอแดดส่องผ่านทิวป่าเบื้องบุรพทิศ เห็นว่ายังมีเวลาจึงถือกล้องเดินเล่นไปยังนอกแนวป่า ที่นั่นมีทุ่งนาที่ข้าวกำลังออกรวงเหลืองอร่ามที่เรียกว่า “ทุ่งรวงทอง” เห็นภาพข้าวในนางอกงามก็อารมณ์ดี ปีนี้ชาวนาคงยิ้มได้ชีวิตที่ฝากไว้กับข้าวในนาแม้จะเรียบง่ายแต่หากปีใดฟ้าฝนไม่เป็นใจชาวนาก็หน้าแห้ง ที่แม่น้ำมีใครบางคนกำลังพายเรือหาปลาและร้องเพลงอย่างอารมณ์ดี คงไม่คิดว่าจะมีพระที่ไหนเดินเล่นมาที่แม่น้ำ จึงยกกล้องถ่ายภาพวิถีชีวิตของคนหาปลา อีกคนหนึ่งกำลังหาบแหอวนเดินกลับบ้าน พอพบหน้าจึงขออนุญาตถ่ายภาพ ป้าคนนั้นยิ้มอย่างอารมณ์ดี แม้จะไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน คนชนบทมีความเป็นมิตรสูงมาก คบหาสมาคมกับคนแปลกหน้าได้ง่าย แม้จะเป็นการพบปะกันครั้งแรกก็ตาม
ที่แม่น้ำมีเรือหลากหลายชนิดจอดเรียงราย เรือแต่ละลำแสดงการเป็นเรือที่มีเจ้าของเพราะล่ามโซ่เอาไว้ ตั้งใจว่าจะนั่งเรือไปกลางแม่น้ำเพื่อสัมผัสกับน้ำในยามเช้าที่ไอน้ำลอยกรุ่นในช่วงปลายฤดูฝนเลยต้องยกเลิก อีกอย่างไม่แน่ใจเหมือนกันว่ายังพายเรือเป้นอยู่หรือไม่ เพราะไม่ได้ออกแรงพายเรือมานานหลายสิบปีแล้ว หากพายเรือไม่เป็นจะวนอยู่อย่างนั้นเรือไม่ไปไหนไม่นานก็ล่ม ชีวิตเราเหมือนเรือที่ลอยไกลจากแม่น้ำ ล่องลอยอยู่ในกระแสแห่งอารยธรรมวนไปวนมาหาฝั่งไม่พบ
เดินกลับมาที่ลานวัดเหลือบไปเห็นโยมชาวบ้านคนหนึ่งกำลังกอดอกหน้าองค์พระปฏิมาจึงยกกล้องถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก พระประธานเหมือนกำลังยิ้มทักทาย อาคันตุกะจากแดนไกลผู้กำลังหลงทาง เหมือนกำลังจะบอกว่าเดินทางกลับมายังจุดเริ่มต้นได้แล้ว มีใครไม่รู้บอกว่าหากหลงทางให้ย้อนกลับมาที่ที่เราหลงจะหาทางออกได้เอง แต่ทว่ามนุษย์ส่วนหนึ่งมักจะไม่ค่อยจะย้อนกลับทางเดิม มีแต่มองไปข้างหน้า พอผิดหวังจึงหาทางออกไม่ได้ แต่ถ้าย้อนกลับมายังจุดที่เราเริ่มต้นอีกครั้ง ความผิดหวังก็จะเบาบางลง บางทีวิธีแก้ปัญหาอาจจะมาจากจุดเริ่มต้นก็ได้
อันที่จริงก่อนออกเดินทางมนุษย์ก็ไม่ได้มีอะไรมาก มีร่างกายและลมหายใจที่แม่ให้มา พอมีอายุขัยมากขึ้นจึงเก็บสะสมสมบัตินอกกายมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งทรัพย์สมบัติภายนอกเหล่านั้นกลายเป็นห่วงที่ทิ้งไม่ได้ สิ่งเหล่านั้นพันผูกจนยากจะถอดถอน ดังที่มีแสดงไว้ในตัณหาวรรค ธรรมบท ขุททกนิกาย(25/34/51) ความว่า “นักปราชญ์ทั้งหลายหากล่าวเครื่องผูกซึ่งเกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้ และเกิดแต่หญ้าปล้องว่ามั่นไม่ สัตว์ผู้กำหนัดแล้ว กำหนัดนักแล้วในแก้วมณีและแก้วกุณฑลทั้งหลาย และความห่วงใยในบุตรและภริยา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวเครื่องผูกอันหน่วงลง อันหย่อน อันบุคคลเปลื้องได้โดยยากนั่นว่ามั่น นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูกแม้นั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ละกามสุขแล้วย่อมเว้นรอบ” คนโบราณนำมาแต่งเสียใหม่ว่า “มีลูกเหมือนเชือกผูกคอ มีภรรยา(สามี)เหมือนปอผูกศอก ทรัพย์สมบัติเหมือนปลอกผูกขา”
แสงแดดเริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ พอแดดร้อนกระแสลมก็รำเพยพัด ป่าไม้โบกใบสะบัดร่ายรำตามทำนองของกำลังลมบางครั้งอ่อนไหว บางครั้งรุนแรง บางครั้งหยุดนิ่ง ชีวิตมนุษย์ก็ไม่ต่างกันบางครั้งสงบ บางครั้งร้อนรน บางครั้งจนตรอก บางครั้งสมหวัง บางครั้งสิ้นหวัง แต่ก็ต้องยอมรับสภาพและฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายให้ผ่านพ้นไปให้ได้ อาคันตุกะผู้หลงทางในสำนักสงฆ์กลางป่าแห่งนั้นกำลังจะย้อนกลับทางเดิมจากจุดเริ่มต้นเดิม และเริ่มออกเดินทางอีกครั้ง เกิดจากป่า มาจากชนบท ปัจจุบันกลายเป็นผู้หลงทางในป่าแห่งอารยธรรม วันนี้จึงเป็นเพียงอาคันตุกะผู้หลงทางในป่าแห่งธรรมชาติ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
03/12/55