ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             อีกไม่กี่วันก็จะหมดหน้ากฐินแล้ว แต่ซองกฐินยังเหลืออยู่อีกหลายซองใส่ไม่หมด  แม้ใจจะมีศรัทธาแต่ทว่าปัจจัยในกระเป๋าไม่เอื้ออำนวยด้วย ศรัทธาละปัจจัยมักจะเดินสวนทางกัน บางครั้งมีศรัทธาแต่ไม่มีปัจจัย บางครั้งมีปัจจัยแต่ไม่มีศรัทธา  เมื่อไม่มีปัจจัยใส่ซองบางครั้งก็ต้องแกล้งลืมไปบ้าง เพราะหากไปยืมเงินคนอื่นมาทำบุญก็ดูกระไรอยู่ จึงต้องทำแต่พอดี ไม่เป็นหนี้ให้กังวล


             ช่วงวันเสาร์อาทิตย์ที่จะถึงนี้มีงานกฐินมากเป็นพิเศษ เจ้าภาพหลายงานก็เชิญให้ไปร่วมงาน แต่ติดขัดที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้ เพราะมีงานประจำรออยู่ข้างหน้า เทอมนี้เขาจัดตารางสอนตรงกับวันเสาร์ จึงต้องทำหน้าที่หนีงานบ่อยๆนักศึกษาเสียผลประโยชน์จึงต้องยอมทำใจไม่เดินทางไปไหน  อีกเดือนสองเดือนก็คงว่างแล้ว งานบางอย่างเราเลือกและกำหนดวันเวลาเองได้ แต่งานบางอย่างต้องทำตามหน้าที่ มีคนกำหนดวันเวลาให้เรียบร้อย
             ซองกฐินที่เหลืออยู่จะทำอย่างไรยังคิดไม่ออก คงต้องรอสักพัก การแจกซองกฐินแม้จะเป็นเรื่องการบอกบุญ จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่ตามปรกติงานนี้ควรทำ แม้ว่าบางครั้งจะเต็มกลืนไปหน่อย แต่หากพอมีก็มักจะไม่ปฏิเสธ ส่วนมากผู้ที่ซักชวนในการทำบุญก็มักจะเป็นคนที่คุ้นเคยกัน


             ถามข่าวเพื่อนที่เป็นเจ้าอาวาสที่วัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ว่างานกฐินกำหนดไว้วันไหน เพื่อนตอบเสียงอ่อยๆว่า  “ปีนี้ไม่มีใครจองกฐินเลย จึงไม่มีงานกฐิน หากจะเมตตาเป็นเจ้าภาพกฐินตกค้างสักงานน่าจะเป็นการดี” พอได้ฟังข่าวอย่างนั้นก็ต้องทำใจ ตัวเราเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่เหมือนกัน ร่วมบริจาคทำบุญกฐินหลายงานเงินก็เหลือน้อย แม้จะมีศรัทธา แต่เมื่อปัจจัยไม่เอื้อก็ต้องหาทางบอกปฏิเสธโดยนิ่มนวล จึงบอกว่า “ไม่เป็นไร ปีหน้าบอกมาแต่เนิ่นก็แล้วกัน จะได้เก็บรวบรวมทุนทรัพย์เป็นเจ้าภาพทอดกฐินได้หลายวัด” วางแผนล่วงหน้าไว้หนึ่งปี”
             บางครั้งมีศรัทธาแต่ไม่มีไทยธรรม บางครั้งมีไทยธรรมแต่ไม่มีปฏิคคาหก (ผู้รับทาน)ก็ไม่มี ดังเรื่องของนางปุณทาสีคนหนึ่งดังที่แสดงไว้ในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ 1 ภาค 2ตอน 3 หน้า 457 สรุปความว่า “นางปุณณาทำงานซ้อมข้าวเปลือกจำนวนมาก นางทำงานกลางคืนจึงจุดประทีปโคมไฟให้สว่างทั้งคืน นางออกมาพักเหนื่อยมองไปทางวิหาร
             คืนนั้นพระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้จัดแจงเสนาสนะเพื่อภิกษุทั้งหลาย ท่านนิรมิตแสงสว่างจากนิ้วมือเพื่อส่องทางแก่พวกภิกษุ  ผู้ฟังธรรมแล้วไปสู่เสนาสนะของตนๆ และยังนิรมิตภิกษุทั้งหลายผู้ไปข้างหน้าๆ เพื่อประโยชน์แก่การแสดงทาง
             นางปุณณาเห็นภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนภูเขา ด้วยแสงสว่างนั้น จึงคิดว่า "เราถูกทุกข์ของตัวเบียดเบียน จึงไม่เข้าถึงความหลับ ในเวลาแม้นี้ แต่เพราะเหตุใด ภิกษุทั้งหลาย จึงไม่ยอมหลับ"   นางจึงเข้าใจเอาเองว่า "ความไม่ผาสุกจักมีแก่ภิกษุบางรูป หรืออุปัทวเหตุบางอย่างเช่นงูเป็นต้น เห็นจักมีในอารมแห่งนั้นเป็นแน่"

 

 

             พอรุ่งเช้า นางทำงานเสร็จจึงหยิบรำชุบน้ำให้ชุ่มแล้ว ทำขนมบนฝ่ามือ ปิ้งที่ถ่านเพลิง ห่อไว้ในพก คิดว่า "จักกินขนมที่ทางไปสู่ท่าน้ำ" จึงถือหม้อ เดินบ่ายหน้าไปยังท่าน้ำ  วันนั้นพระศาสดาก็เสด็จดำเนินไปทางนั้นเหมือนกัน เพื่อบิณฑบาต
             นางเห็นพระศาสดาแล้ว คิดว่า "ในวันอื่นๆ ถึงเมื่อเราพบพระศาสดา ไทยธรรมของเราก็ไม่มี  เมื่อไทยธรรมมี เราก็ไม่พบพระศาสดา วันนี้ไทยธรรมของเราก็มี ทั้งพระศาสดาก็ปรากฏเฉพาะหน้า ถ้าพระองค์ไม่ทรงคิดว่า "ทานของเราเศร้าหมองหรือประณีต แล้วพึงรับไซร้ เราพึงถวายขนมนี้"  คิดได้ดังนั้นแล้ว นางปุณณาจึงวางหม้อไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลว่า "ขอพระองค์จงทรงรับทานอันเศร้าหมองนี้ ทำการสงเคราะห์แก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า"
             พระศาสดาทอดพระเนตรดูพระอานนทเถระแล้ว ทรงน้อมบาตรที่ท้าวมหาราชถวายไว้ อันพระอานนทเถระนำออกถวาย รับขนม แม้นางปุณณาวางขนมนั้นลงในบาตรของพระศาสดาแล้ว ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กราบทูลว่า "ขอธรรมที่พระองค์ทรงเห็นแล้วนั่นแหละ จงสำเร็จแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า"
             พระศาสดาประทับยืนอยู่นั่นแหละ ได้ทรงกระทำอนุโมทนาว่า "จงสำเร็จอย่างนั้น"
             นางปุณณาก็คิดว่า "พระศาสดาทรงทำการสงเคราะห์แก่เรา รับขนมก็จริง ถึงกระนั้น พระองค์ก็จักไม่เสวยขนมนั้น คงประทานให้แก่กาหรือสุนัขข้างหน้า เสด็จไปยังพระราชมณเฑียรของพระราชาหรือเรือนของมหาอำมาตย์แล้ว จักเสวยโภชนะอันประณีตแน่แท้"
             พระศาสดาก็ทรงดำริว่า "นางปุณณานั่น คิดอย่างไรหนอแล" ทรงทราบวาระจิตของนางแล้ว จึงทอดพระเนตรดูพระอานนทเถระ แล้วทรงแสดงอาการที่จะประทับนั่ง  พระเถระได้ปูลาดจีวรถวาย  พระศาสดาได้ประทับนั่งทำภัตกิจ ณ ภายนอกพระนครนั่นเอง เทพดาในห้องแห่งจักรวาลทั้งสิ้น บีบโอชารสอันสมควรแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ให้เหมือนรวงผึ้งแล้ว ใส่ลงในขนมนั้น ส่วนนางปุณณาได้ยืนแลดูอยู่

 

            นางปุณณามีอะไรก็ให้ตามที่มี นางมีเพียงข้าวคลุกรำ ซึ่งเป็นอาหารที่แสนธรรมดา คงเป็นอาหารที่นางพอจะหาได้ในขณะนั้น แต่เมื่อมีโอกาสได้พบกับพระพุทธเจ้า นางมีศรัทธาอยากทำบุญ แต่เครื่องไทยธรรมที่นางมีอยู่ในสายตาของนางมีค่าน้อยมาก พระพุทธเจ้าคงไม่รับไทยธรรมเช่นนี้ หรือถึงแม้จะรับก็คงไม่ฉันเอง คงรับเพราะเสียไม่ได้เท่านั้น แต่พระพุทธเจ้ารับแล้วฉันภัตตาหารที่หยาบกระด้างของนางปุณณานั้น นางจึงมีจิตใจยินดีในทานของตนอย่างยิ่ง ผู้ที่ให้ด้วยใจยินดีย่อมประสบบุญมาก
             ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระเถระได้ถวายน้ำ พระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสเรียกนางปุณณามา ตรัสว่า "ปุณณา เพราะเหตุไร เจ้าจึงดูหมิ่นสาวกทั้งหลายของเรา"
               นางปุณณาตอบว่า  “หม่อมฉันมิได้ดูหมิ่น พระเจ้าข้า”
               พระศาสดาบอกว่า “คืนที่ผ่านมา เมื่อเจ้าแลดูสาวกทั้งหลายของเราแล้วคิดอย่างไร”
               นางปุณณากราบทูลว่า “หม่อมฉันคิดเท่านี้ว่า เราไม่ถึงความหลับ ก็เพราะอุปัทวันตรายคือทุกข์นี้ก่อน ท่านผู้เจริญทั้งหลายไม่เข้าถึงความหลับ เพื่ออะไรกัน ความไม่ผาสุกจักมีแก่ภิกษุบางรูป หรืออุปัทวันตรายเพราะงูจักมีเป็นแน่ พระเจ้าข้า
               พระศาสดาทรงสดับคำของนางปุณณานั้นแล้ว จึงตรัสว่า "ปุณณา เจ้าไม่หลับ เพราะอันตรายคือทุกข์ของตัวก่อน ส่วนสาวกทั้งหลายของเรา ไม่หลับ เพราะความเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมเครื่องตื่นอยู่ทุกเมื่อ" จากนั้นจึงตรัสพระคาถาในขุทกนิกาย  คาถาธรรมบท (25/27/37 ) ความว่า “อาสวะทั้งหลาย ของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ มีปกติตามศึกษาทั้งกลางวันกลางคืน น้อมไปแล้วสู่พระนิพพาน ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้”
              แปลมาจากภาษาบาลีว่า  “สทา ชาครมานานํ      อโหรตฺตานุสิกฺขินํ
                                               นิพฺพานํ อธิมุตฺตานํ      อตฺถํ คจฺฉนฺติ อาสวา

 

            ในท้ายที่สุดพระธรรมเทศนานางปุณณาบรรลุธรรมตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล  ทำบุญด้วยวัตถุไทยธรรมที่น้อยแต่ได้ผลมาก การทำบุญจึงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่จำนวน “ปัจจัย” ที่บริจาคว่าน้อยหรือมาก แต่อยู่ที่ “ความตั้งใจ” หรือ “ศรัทธา” ความเชื่อ ที่เกิดขึ้นในขณะทำบุญ ดังกรณีของนางปุณณา แม้ไทยธรรมจะเป็นเพียง “ข้าวคลุกรำ”  แต่ได้ปฏิคาหกคือผู้รับทานที่บริสุทธิ์คือพระพุทธเจ้า ทานนั้นจึงมีผลมาก อีกอย่างพระพุทธเจ้าไม่ได้รับเพียงไทยธรรมแต่ยังแสดงธรรมเพื่อความรู้แจ้งอีกด้วย ผู้ที่ได้บริจาคทานและฟังธรรมในสมัยพุทธกาลจึงบรรลุธรรมกันมาก
             ซองกฐินยังเหลืออยู่อีกสี่ห้าซอง ได้รับครั้งแรกตั้งใจว่าจะใส่ซองร่วมทำบุญซองละหนึ่งพันบาท แต่พอผ่านไปสักพักซองละห้าร้อยก็น่าจะพอ จนกระทั่งหน้าทอดกฐินจะหมดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หันมองปัจจัยที่เหลือน้อยเต็มที แม้ศรัทธาจะมีอยู่ แต่กำลังทรัพย์ในช่วงปลายเดือนเบาบางเต็มที ใส่ซองละหนึ่งร้อยบาทก็น่าจะพอ...สาธุ

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
22/11/55

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก