หลังพรรษากาลผ่านพ้นไป ในช่วงนี้มีงานบุญใหญ่ของชาวพุทธทั่วประเทศคือ “งานบุญกฐิน” เป็นงานใหญ่จัดงานกันหลายแห่ง หากทอดกฐินตามต่างจังหวัดก็ต้องเดินทางไกล ปัจจุบันผู้คนในชนบทมักจะย้ายถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร เมื่อถึงงานเทศกาลต่างๆจึงรวมตัวกันเพื่อไปทอดกฐินในต่างจังหวัด และมักจะจัดงานในช่วงเสาร์อาทิตย์เพราะเป็นวันหยุด เย็นวันศุกร์ออกเดินทาง พอถึงเช้าวันจันทร์ก็สามารถไปทำงานได้ตามปกติ ปัจจุบันชีวิตของคนส่วนหนึ่งดำเนินไปดั่งนี้
ผู้เขียนก็ได้รับนิมนต์ให้เดินทางไปร่วมงานกฐินที่วัดฟ้าห่วน อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร นัยว่าที่นั่นมีญาติพี่น้องอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งๆตลอดระยะเวลาห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เคยเดินทางไปที่หมู่บ้านแห่งนี้มาก่อนเลย แล้วไฉนจึงมีคนบอกว่ามีญาติพี่น้องอยู่ที่นั่น ออกเดินทางตั้งแต่เย็นวันศุกร์ ไปถึงประมาณเที่ยงคืน เส้นทางจากรุงเทพไม่ไกลนัก หนทางสะดวก รถหนึ่งคันไปกันหลายคน
เจ้าภาพงานทอดกฐินเป็นลูกพี่สาวของคุณตาของผู้เขียนซึ่งถือกำเนิดที่หมู่บ้านแห่งนี้ประมาณปีพุทธศักราช 2450 และได้อพยพครอบครัวไปยังจังหวัดอุดรธานี เริ่มต้นชีวิตที่นั่นและเสียชีวิตประมาณปีพุทธศักราช 2530 เสียชีวิตมานร่วม 20 ปีแล้ว จากนั้นเครือญาติที่บ้านฟ้าห่วนก็ดูเหมือนจะถูกลืมเลือนไม่ค่อยได้ติดต่อกันสักเท่าไหร่ จู่ๆก็มีคนติดต่อมาว่าให้เดินทางไปร่วมงานกฐินในฐานะเจ้าภาพคนหนึ่ง
บ้านฟ้าห่วนตั้งอยู่ริมฝั่งแม้น้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า “กุดฟ้าห่วน” ซึ่งเป็นลำธารสาขาที่แยกออกมาจากแม่น้ำชี มีปลาซุกชุมอุดมสมบูรณ์สองฟากฝั่งจึงเหมาะแก่การประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ส่วนมากยังคงเป็นอาชีพดั้งเดิมคือชาวนา ปลูกข้าวทำนาหาปลาอยู่กินตามประสาชาวบ้านมานานกว่าสองร้อยปีแล้ว บ้านฟ้าห่วนเริ่มก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2330 โดยมีผู้คนอพยพมาจากบ้านโนนหมากเกลือ นครราชสีมา และอีกกลุ่มหนึ่งมาจากบ้านเขื่องใน ศรีสะเกษ และค่อยๆขยายกลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นตามลพดับ ปัจจุบันเป็นตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร
แค่นั่งไล่ลำดับนับญาติกับผู้ที่มาร่วมงานทอดกฐินจากจังหวัดต่างๆ ผู้เขียนก็มึนแล้ว ไม่รู้ใครเป็นใครมาจากไหนเป็นญาติฝ่ายไหน ฝ่ายฝ่ายบิดา หรือญาติฝ่ายมารดา หากเป็นรุ่นลูกก็อยู่ในวัยชราอายุเกือบแปดสิบปีแล้ว หากเป็นรุ่นหลานอายุก็เกินห้าสิบปีขึ้นไป หากต่ำกว่านั้นก็จะเป็นเหลนซึ่งมีจำนวนมากจำได้ไม่หมด ผู้เขียนอยู่ในรุ่นหลานซึ่งพอจะนับญาติกับคนอื่นๆได้ อยู่ในยุคที่จะต้องดำรงความเป็นญาติกับคนอื่นๆไว้ เพราะเมื่อแต่ละคนแยกย้ายกันไปทำงานและตั้งถิ่นฐานในที่อื่นๆ หากไม่ได้มาพบกันเลย ก็จะไม่มีทางรู้จักกัน
ที่หมู่บ้านแห่งนี้ได้พบคนที่มีนามสกุลเดียวกันอีกหลายคน พอนั่งนับญาติจึงทราบว่าพ่อของผู้เขียน(เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว พ่อไม่ค่อยเล่าประวัติตนเองให้ฟัง) ก็ถือกำเนิดที่หมู่บ้านแห่งนี้เหมือนกัน แต่ได้ย้ายไปตั้งหลักฐานที่อุดรธานี ย้ายถิ่นฐานไปอีกครั้งไปที่จังหวัดชัยภูมิ สุดท้ายจึงกลายเป็นว่าตั้งใจมาในฐานะญาติฝ่ายแม่ แต่ได้พบญาติฝ่ายพ่อ จึงนั่งสนทนานับญาติทั้งหลายอย่างออกรส หนักเข้าๆจึงกลายเป็นว่าคนแทบทั้งหมู่บ้านเป็นญาติกันเกือบหมด ไม่เป็นญาติฝ่ายแม่ ก็เป็นญาติฝ่ายพ่อ หรือบางคนเป็นญาติทางธรรมก็มี การมีญาติเพิ่มขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่ง มีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมญาติได้หลายแห่ง มีคนรู้จักไว้หากเป็นคนดียิ่งมากยิ่งดี แต่ถ้าเป็นคนกาลี(ไม่ดี) ไม่มีก็ได้
ความเป็นญาติพี่น้อง เป็นสายสัมพันธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งตัดกันไม่ขาด มีญาติอยู่ต่างถิ่นเมื่อมาพบกันจะสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นแห่งเครือญาติ เหมือนกับว่าในโลกนี้เรายังมีญาติพี่น้อง ในแต่ละปีจะต้องหาเวลาไปเยี่ยมเยือนถามข่าวกันบ้าง คนมีญาติมากก็เหมือนคนมีบุญมาก ญาติกับบุญให้ความรู้สึกใกล้เคียงกัน ญาติต้อนรับญาติด้วยความดีใจ บุญที่เราทำไว้ก็ต้อนรับผู้ทำบุญไว้เหมือนญาติต้อนรับญาติ ดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในปิยวรรค ธรรมบท ขุททกนิกาย (25/26/31) ความว่า “ญาติมิตร และเพื่อนผู้มีใจดี ย่อมชื่นชมต่อบุรุษ(บุคคล)ผู้จากไปสิ้นกาลนาน ที่กลับมาโดยสวัสดีแต่ที่ไกลว่า “มาแล้ว” บุญทั้งหลาย ย่อมต้อนรับ แม้บุคคลผู้ทำบุญไว้ ซึ่งจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ดุจญาติต้อนรับญาติที่รัก “ผู้มาแล้ว” ฉะนั้น” ญาติต้อนรับญาติ บุญต้อนรับคนมีบุญ
บุญทอดกฐินที่วัดฟ้าห่วนเหนือ และวัดฟ้าห่วนใต้ หมู่บ้านใหญ่จึงมีวัดสองแห่ง เจ้าภาพมีศรัทธาแรงกล้าทอดถวายทั้งสองวัด งานกฐินปีนี้นอกจากจะได้บุญในจากการทอดกฐินแล้ว ยังได้พบญาติทั้งหลายอีกด้วย กลับมาจากยโสธรในครั้งนี้หลวงตาไซเบอร์ฯได้กลายเป็นคนญาติเยอะไปแล้ว ส่วนใครเป็นใคร เป็นญาติฝ่ายไหนนั้น คงจะต้องกลับไปเยี่ยมอีกหลายครั้ง ก่อนที่ญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุมากแล้วจะทยอยกันลาจากโลกนี้ไป “เพระโลกนี้เหมือนที่พัก ถึงจะรักก็ต้องลา” ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
05/11/55