การทอดกฐินในประเทศไทยนั้นมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับฐานะของวัดด้วย หากเป็นวัดหลวงก็จะมีงานทอดกฐินสองประเภทคือกฐินหลวงหรือกฐินพระราชทาน หากเป็นวัดราษฏร์ก็จะเป็นกฐินราษฏร์หรือกฐินสามัคคี วัดมัชฌันติการามแม้จะเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นวัดราษฏร์ ไม่มีเจ้าภาพท่านใดจับจองเป็นกรณีพิเศษ พุทธศาสนิกชนในเขตรอบๆวัดจึงช่วยกันทอดกฐินเรียกว่ากฐินสามัคคี กำหนดไว้อย่างนี้เป็นเวลาหลายปีมาแล้วว่าจะจัดทอดกฐินในวันแรกของการออกพรรษา ภาคเช้าตักบาตรเทโวโรหณะ จากนั้นก็ทอดกฐินต่อไปทันที ปีนี้ทางวัดจึงมีพิธีทอดกฐินในวันที่ 31 ตุลาคม 2555
จากเหตุการณ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพุทธานุญาตในการกรานกฐินแก่ภิกษุผู้มีจีวรเก่าชำรุด หลังออกพรรษามีโอกาสได้เปลี่ยนจีวรใหม่ เหตุการณ์ผ่านมาสองพันกว่าปี ปัจจุบันการทอดกฐินในประเทศไทยมีหลายประเภท พอจำแนกได้ดังนี้คือ (1)กฐินหลวง (2)กฐินต้น (3) กฐินพระราชทาน (4)กฐินราษฏร์หรือนิยมเรียกกันว่ากฐินสามัคคี
“กฐินหลวง” เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จไปพระราชทานแทน กฐินหลวงนี้จัดเครื่องพระราชทานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และบางครั้งมีการจัดพิธีแห่เครื่องกฐินพระราชทานอย่างใหญ่ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือกระบวนพยุหยาตราสถลมารถ แล้วแต่พระราชประสงค์ กฐินหลวงในประเทศไทยปัจจุบันมีเพียง 16 วัดเท่านั้น เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร เป็นต้น
“กฐินต้น” เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานยังวัดราษฎร์เป็นการส่วนพระองค์
“กฐินพระราชทาน” เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือเอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร
“กฐินราษฎร์” ในปัจจุบัน การถวายผ้ากฐินโดยทั่วไปในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับ “บริวารกฐิน” มากกว่าผ้ากฐินซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการกรานกฐินกฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฏรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน (กฐินที่จะต้องทำให้เสร็จในวันเดียว เริ่มต้นตั้งแต่เก็บฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า เย็บผ้า จนกระทั่งได้ผ้าเพื่อทำเป็นผ้ากฐิน จึงทำยากมาก เพราะต้องเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกฝ้ายด้วยจึงจะกระทำได้ ปัจจุบันมีจุลกฐินเพียงไม่กี่แห่ง และกฐินอีกประเภทหนึ่งคือมหากฐิน ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กฐินสามัคคี” ทำได้ทั่วไปใครมีศรัทธาก็สามารถทอดกฐินประเภทนี้ได้
ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐินสามัคคี ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวมเงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยทั่วไปในประเทศไทย
วัดมัชฌันติการามเป็นวัดราษฏร์ จึงสามารถกำหนดการทอดกฐินได้ตามความสะดวก ออกพรรษาวันแรกก็ทอดกันเลย เพราะพระสงฆ์ส่วนหนึ่งจะได้มีเวลาในการเดินทางไปทอดกฐินยังวัดต่างๆได้อีกหลายวัด เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามก็ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดบ้านฟ้าห่วน อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร กำหนดไว้วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2555 แต่จะออกเดินทางตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ได้เวลาออกเดินทางแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/11/55
ดูภาพงานทอดกฐินวัดมัชฌันติการาม 2555