โลกปัจจุบันเจริญขึ้นมาก มีแหล่งความรู้มากมายให้ค้นหา อยากรู้เรื่องอะไรพียงแต่เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้โปรแกรมค้นหาใช้เวลาไม่นานก็จะพบสิ่งที่ต้องการ แต่ทว่ายิ่งค้นหายิ่งพบมาก จนบางคนไม่อาจจะจำแนกแยกแยะได้ว่าอะไรคือความรู้ที่ถูกต้อง และจะนำความรู้นั้นมาใช้อย่างไร จนบางคนกำลังจะสำรักความรู้ เพราะมันมีมากเกินไป จนหาเวลาอ่านอย่างจริงๆจังๆไม่ได้ บางทีการมีแหล่งความรู้มากเกินไปก็ทำให้สับสนได้เหมือนกัน สุนทรภู่เคยกล่าวไว้ว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” แต่การจะเอาตัวรอดในสังคมที่มีความเจริญด้วยเทคโนโลยีและมีความหลากหลายสลับซ้อนซ้อนอย่างในปัจจุบันนั้น ทำได้ไม่ง่ายนัก
รองศาสตราจารย์ ดร. เกษียณราชการท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “ผมน่าจะเกิดช้ากว่านี้สักสี่สิบปีจะได้มีเวลาอ่านตำราต่างๆได้อย่างจริงจัง สมัยก่อนตำราทางวิชาการหายากมาก แต่ปัจจุบันมารอที่ปลายนิ้วเท่านั้น ทุกวันนี้แม้อยากจะอ่านแต่ทว่าสุขภาพสายตามักจะรับไม่ค่อยไหว อ่านไปได้สักพักก็ต้องวางหรือเลิก เพราะมันปวดนัยน์ตา นี่กระมังที่คนโบราณผูกเป็นปริศนาไว้ว่า ที่ยาวกลับสั้น ลูกสาวซื้อแท็บเล็ตมาให้เครื่องหนึ่ง มันสามารถดาวโหลดหนังสือมาอ่านได้ เสียแต่ว่าจอมันเล็กไป อ่านนานไม่ได้ นี่ก็พึ่งได้กล้องมาใหม่อีกตัวยังถ่ายภาพไม่ค่อยเป็นเลยครับ”
คนมีอายุมีประสบการณ์ แต่เด็กๆมีจินตนาการ หากทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงเวลาที่เหมาะสมโลกนี้ก็มีความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง บางครั้งความเร็วก็อาจจะไม่ใช่คำตอบก็ได้ มีสุภาษิตอยู่คำหนึ่งว่า “รักง่ายหน่ายเร็ว” เทคโนโลยีรุ่นเก่าซื้อมายังไม่ทันไร ก็กลายเป็นของตกรุ่นไปแล้ว ก็ต้องหาทางซื้อรุ่นใหม่มาใช้เพื่อจะได้ไม่เป็นคนตกรุ่น
รองศาสตราจารย์ท่านั้นยังบอกต่อไปว่า “ทุกวันนี้ผมตามความรู้สมัยใหม่ไม่ค่อยทัน จึงใช้วิธีการง่ายๆคือ CDR ครับ”
เมื่อเห็นหลวงตาไวเบอร์ฯ ทำหน้างงๆ ท่านรองศาสตราจารย์จึงเฉลยว่า “คำว่า “C” ย่อมจาก “Copy” ครับ “D” คือ “Development” ครับ ส่วนคำว่า “R” หมายถึง Rewrite ครับ กอปปี้มาจากสิ่งที่คนอื่นทำไว้แล้ว นำมาดัดแปลงแก้ไขปรับปรุงใหม่ และเขียนใหม่จากพื้นฐานเดิมครับ ผมก็ได้เรื่องใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อง” วิธีง่ายๆก็สามารถสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาได้” ใครจะลองนำไปใช้ ก็ได้
พอเดินสวนทางกับพระนักศึกษารูปหนึ่งที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ที่พึ่งเข้าเรียนในรายวิชาของรองศาสตราจารย์ท่านนั้น พระรูปนั้นเดินไปพลางกดแท็บเล็ตไปพลาง พอหันมาเห็นอาจารย์ที่กำลังเดินผ่าน เขายกมือไหว้ทั้งๆที่มือยังถือแท็บเล็ต จึงเอ่ยทักตามธรรมเนียมว่า “มือถือรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรงคือรุ่นไหน ผมกำลังอยากได้โทรศัพท์เครื่องใหม่” เขาหยุดทันทีก่อนจะเริ่มต้นสาธยายว่า “มีสองยี่ห้อครับที่ควรเล่นซัมซุง แกแล็คซี่ เอส 3 หรือแกแล็คซี่ โน็ต 2 เป็นทั้งโทรศัพท์และกึ่งแท็บเล็ต กำลังมาแรงครับ ส่วนอีกยี่ห้อหนึ่ง แอฟเปิล ไอโฟน 5 เลยครับ อันนี้สุดยอดเทคโนโลยีเลยครับ” ที่พระนักศึกษาวัยหนุ่มรูปนั้นแนะนำนั้น ราคามันเกินสองหมื่นบาททั้งนั้น บังเอิญมีเสียงโทรศัพท์แทรกเข้ามา จึงกดรับสาย พอวางสายเสร็จ พระนักศึกษาหนุ่มรูปนั้นมองมาที่โทรศัพท์ “รุ่นนี้มันเก่ามากนะครับอาจารย์ มันเคยทันสมัยเมื่อสามปีที่แล้ว”
รองศาสตราจารย์กำลังคิดย้อนกลับไปยังอดีตที่ผ่านมาแล้ว โดยใช้คำว่า “ถ้า” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ยืนอยู่กับปัจจุบันแต่ย้อนฝันถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว แม้จะมีกำลังซื้อแต่มองไปที่การใช้งานที่จำเป็นมากกว่า ส่วนพระนักศึกษาที่อยู่ในวัยหนุ่มมองไปที่อนาคต เทคโนโลยีใหม่ๆที่ออกมาสู่ท้องตลาด ท่านทราบรายละเอียดเป็นอย่างดี แต่ไม่มีกำลังซื้อ คนแก่และคนหนุ่มยืนอยู่ในจุดเดียวกันแต่มองไปคนละทาง คนแก่มองย้อนกลับไปยังอดีต ส่วนคนในวัยหนุ่มสาวมองไปที่อนาคต
ตอนนั้นหลวงตาไซเบอร์ฯกำลังถือหนังสือ Future File เขียนโดย Richard Wasson สำนวนแปลของนายแพทย์เอกชัย อัศวนฤนาท ในหนังสือ Future File ในอนาคตโลกจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอีก เขาเน้นที่ 50 ปีข้างหน้า โดยสรุปว่าโลกเปลี่ยนแปลงเพราะสาเหตุ 10 ประการ คือ(1) ความเสื่อมถอยของโลกาภิวัตน์ (2)ย้ายแหล่งจ้างานใหม่ (3)คนมีความต้องการน้อยลง (4)ต่างก็มักจะอวดตัวว่าไม่บริโภค (5)ผู้ใหญ่(คนแก่) ที่ขาดคนดูแล (6) ป้ำๆเป๋อๆ ตลอดเวลา (7)การแยกตัวอยู่ในโลกดิจิตอล (8)วิ่งไปหาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (9) กระหายประสบการณ์ร่วม (10)กลัวเหนื่อย” จริงเท็จอย่างไรยังเชื่อไม่ได้ การทำนายที่ยากที่สุดคือการทำนายอนาคตนี่แหละ เพราะมีปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอีกทางหนึ่ง
คนทางฝั่งตะวันตกมักมองไปข้างหน้า หนังสือส่วนหนึ่งจึงมักจะออกมาในเชิงของการคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีหนังสือในทำนองมากมายที่ออกจำหน่าย บางเรื่องอาจจะเป็นจริง แต่บางเรื่องก็เป็นไปในทางตรงข้าม เคยอ่านนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ของไอแซค อาซิมอฟ หลายเรื่องเช่นสถาบันสถาปนา นั่นก็ว่าด้วยเรื่องที่ในอนาคตมนุษย์จะอพยพย้ายถิ่นไปยังดวงดาวดวงใดดวงหนึ่ง แต่ก็ยังคงมีสงคราม ในการแย่งชิง ที่น่าสนใจประการหนึ่งในหนังสือชุดนั้น มีตัวร้ายที่คล้ายเป็นตัวเอกคนหนึ่งนามว่า “มโนมัย” เขาใช้อาวุธที่ทรงพลังอย่างหนึ่งคือ “จิต” เป็นอาวุธ เขารู้ความคิดของคนอื่น รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร จึงมักจะรบชนะคนอื่นๆเสมอ
อาเธอร์ ซี คลาร์ก ก็เป็นนักเขียนเกี่ยวกับอนาคตอีกคน ในหนังสือ Space Odyssey จำไม่ได้ว่าเล่มไหนแล้ว อ่านจบก็ส่งให้ห้องสมุดไปแล้ว ไม่ได้เก็บรักษา ไม่แน่ใจว่าเป็น 2061 Odyssey Three หรือ 3001 The Final Space Odyssey เขาจำลองเหตุการณ์ ว่านักวิยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งกำลังสร้างลิฟต์เพื่อเดินทางไปยังอวกาศ สถานที่อยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่งในศรีลังกา ลิฟต์อวกาศดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ทว่าจินตนาการของเขาน่าทึ่งจริงๆ จินตนาการช่างบรรเจิดแท้
ส่วนนักเขียนแนววิทยาศาสตร์อีกคน เอช จี เวลส์ ผู้เขียน Time Machine แม้จะมีขนาดเล่มไม่ใหญ่นัก แต่อ่านหลายรอบแล้วยังอ่านไม่จบ สามนักเขียนแนววิทยาศาสตร์นี่แหละที่อ่านประจำ หากพบที่ร้านหนังสือ ไม่ต้องดูเรื่องด้วยซ้ำ ดูเพียงชื่อคนเขียนก็ตัดสินใจซื้อทันที พักหลังๆชื่อของนักเขียนสามคนไม่ค่อยปรากฎบนร้านหนังสือสักเท่าไหร่
ส่วนนักคิดทางฝั่งตะวันออกมักจะคิดไปถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้ว แอ่งอารยธรรมสองแห่งที่มีอิทธิพลทางความคิดของมนุษย์มักจะอยู่ที่อินเดียและจีน อินเดียมีเทพเจ้ามากมายแม้ปัจจุบันก็ยังมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอยู่มากเช่นพระพิฆเณศวร พระอินทร์ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ เป็นต้น จึงมักจะมีเรื่องเล่าที่เป็นตำนานเทพเจ้าทั้งหลาย บางแห่งมีรูปเคารพที่มีคนศรัทธาไปสักการะกราบไหว้ไม่ขาดสาย
จีนมีตำนานทางการรบมากมายที่เคยอ่านเช่นสามก๊ก แปลใหม่หลายครั้ง แต่อ่านไม่เคยจบ เพราะเลือกอ่านเฉพาะบางตอน หนังสือมีขนาดใหญ่มาก อ่านยากตัวละครมีมากจนจำไม่ไหว และอีกอย่างหาเวลาอ่านหนังสือนานๆได้ยาก พอสายตาดีก็ไปอ่านเรื่องอื่น เวลาอยากอ่านสายตาก็กลับพร่ามัวอ่านได้ไม่ค่อยทน แต่ถ้าอ่านประเภทกำลังภายในของโกวเล้งพอไหว เขามีจินตนาการที่เพลิดแพร้ว ที่พึ่งอ่านจบไปก็มีฤทธิ์มีดสั้น สำนวนแปลใหม่เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น “มีดบินไม่พลาดเป้า” แต่เนื้อหายังคงเดิม ส่วน “จอมดาบหิมะแดง” ก็เปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น “จอมเสเพลชายแดน” อ่านจบเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว พอเห็นชื่อเรื่องใหม่นึกว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่พออ่านไปสักพักจึงรู้ว่าคือเรื่องเดิม ร้านหนังสือเขาฉลาดหุ้มไว้ด้วยพลาสติกไม่อนุญาตให้เปิดอ่านก่อน
ในเวลาที่คิดถึงอนาคตจะมองเห็นความน่าจะเป็นตามที่เราอยากให้มันเป็น คนจึงมีความฝันแม้ว่าฝันนั้นจะไม่เป็นไปตามที่ฝันก็ตาม แต่อย่างน้อยการมีความฝันก็เป็นเหมือนประทีปส่องทางว่าเราควรจะเดินตามความฝันหรือไม่และจะเดินอย่างไร มีใครเป็นตัวอย่าง มีวิธีการอย่างไร
บางช่วงเวลามนุษย์ก็มักจะย้อนกลับไปคิดถึงอดีตที่เคยมีความสุข และอยากจะย้อนเวลากลับไปหาอดีตนั้นอีกครั้ง ทั้งๆที่สภาพความเป็นจริงไม่อาจเป็นไปได้ อดีตผ่านไปเหมือนสายน้ำจะไม่ย้อนกลับคืนมา ส่วนอนาคตก็ยังมาไม่ถึง แม้จะคำนึงมากเพียงใดไปก็อาจจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงตามที่คาดเดาก็ได้ หากทำได้ควรอยู่กับปัจจุบัน หากประกอบความเพียรแล้ว แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงคืนเดียวก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เจริญ ดังที่แสดงไว้ภัทเทกรัตตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (14/534/266) ความว่า “พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผลัดเพี้ยน กับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ”
อดีตคือความหลัง อนาคตคือความฝัน ปัจจุบันคือความจริง ทุกคนทราบดี แต่ทว่าการดำรงอยู่กับปัจจุบันทำได้ยากที่สุด ประเดี๋ยวอดีตก็คอยติดตามให้โหยหา บางเวลาอนาคตก็กำลังกวักมือเรียก ปัจจุบันจึงมักจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อยากคิดถึง เหมือนกับที่วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ส เคยกล่าวไว้ว่า “อดีตและอนาคตดูดีที่สุด แต่ปัจจุบันดูแย่เสมอ”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
26/10/55