การบริหารงานในยุคสมัยนี้ชอบใช้ที่ปรึกษาเพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำที่ดีมีประโยชน์ เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำในกิจการงานที่กำลังมีปัญหา หากได้ที่ปรึกษาดีให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เมื่อผู้บริหารตัดสินใจตามคำแนะนำ งานนั้นก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าเหล่าบรรดาที่ปรึกษาทั้งหลายต่างพากันพูดเสนอความเห็นไปคนละทิศละทาง หรือบางคนเอาแต่พูดพล่ามจนไม่สามารถจะนำไปสู่การตัดสินใจได้ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ ที่ปรึกษาที่มีความรอบรู้จริงๆเป็นการดี แต่ถ้าเอาแต่พูดพล่ามไม่มีเสียเลยจะดีกว่า
มีเรื่องเล่าว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ราชสีห์เจ้าป่าตัวหนึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ปกครองสัตว์ทั้งหลาย วันหนึ่งบังเอิญถูกธนูของนายพรานยิงที่ใบหูจนกลายเป็นแผลอักเสบ จึงสั่งให้เรียกนกแก้วที่ทำหน้าที่เป็นหมอเข้ามาตรวจดูอาการเป็นการส่วนตัว หมอตรวจดูแล้ววินิจฉัยว่า “ต้องผ่าตัด โรคนี้จึงจะหาย พรุ่งนี้จะเตรียมการเพื่อการผ่าตัด”
คล้อยหลังหมอไปไม่นานสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในปกครองของราชสีห์ ต่างก็เข้ามาสอบถามอาการ เมื่อทราบว่าหมอวินิจฉัยให้ผ่าตัด ลิงตัวหนึ่งจึงบอกว่า “แผลอยู่ที่หูถ้าผ่าตัดอาจจะกระทบถึงใบหู หูอาจจะขาดก็ได้ จะทำอย่างไรเมื่อท่านราชสีห์ไม่มีหู”
ช้างเสริมขึ้นมาว่า “ถ้าผ่าตัดที่หูอาจจะเกิดเป็นแผลรุกรามมาถึงแก้มก็ได้ บางทีอาจกระทบไปถึงฟัน ราชสีห์ไม่มีฟันจะเขี้ยวกินอะไรได้”
เสือได้โอกาสจึงบอกว่า “หากผ่าตัดอาจจะเกิดเป็นแผลลุกลามไปทั่วใบหน้า บางทีอาจจะมีผลลงไปถึงขาหน้าก็ได้ จะทำอย่างไรถ้าราชสีห์ขาเป๋ ข้าก็จะแย่งชิงตำแหน่งเจ้าป่าจากท่าน หากไม่อยากเสียอำนาจ อย่าผ่าตัดปล่อยให้แผลหายเองดีกว่า “
กิ้งก่าตัวหนึ่งกำลังเล่นเพลินๆอยู่บนดอกไม้ ได้ยินที่ปรึกษาทั้งหลายเสนอความเห็นก็โผล่หน้ามาจากดอกไม้ที่กำลังสูดกลิ่นอย่างเพลินกล่าวขึ้นว่า "ท่านราชสีห์ขอรับ เชื่อคำหมอเถอะครับ แม้ท่านจะมีหน้าที่เป็นแผลเป็น หรือขาเป๋ ท่านก็ยังเป็นราชสีห์ เป็นเจ้าป่าเหมือนเดินแหละครับ ดีเหมือนกันป่านี้มีเจ้าป่าขาเป๋ แปลกดี”
ยังมีสัตว์เหล่าอื่นเสนอความเห็นสัตว์บางตัวเสนอให้ผ่าตัดตามคำวินิจฉัยของหมอ บางกลุ่มไม่เห็นด้วย ส่วนอีกพวกหนึ่งไม่เสนอความเห็นได้แต่นิ่งฟัง ความเห็นสรุปออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายหนึ่งไม่เห้นด้วยที่จะผ่าตัด แต่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยที่จะให้ผ่าตัด
เมื่อราชสีห์ฟังคำแนะนำของสัตว์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา คืนนั้นราชสีห์นอนไม่หลับเพราะเกิดความลังเลว่าหากผ่าตัดอาจจะมีผลกระทบอื่นๆตามมา จึงนอนกระสับกระส่ายในขณะที่แผลก็เริ่มเน่าและเจ็บปวดขึ้นเรื่อยๆ
รุ่งเช้านกแก้วที่เป็นหมอประจำป่าก็ถือเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปหาราชสีห์พร้อมที่จะผ่าตัด ราชสีห์ร้องเสียงดังสะท้านสะเทือนไปทั้งป่า ก่อนจะประกาศว่า “ไม่ผ่าแล้ว ประเดี๋ยวข้าก็จะเสียโฉม”
นกแก้วตกใจรีบถอยกลับในบัดดลนั้น พลางบ่นรำพึงกับตัวเองว่า “ราชสีห์หูเบาเชื่อคำปรึกษามากกว่าเชื่อเหตุผล ปล่อยให้ตายเป็นผีเฝ้าป่าต่อไปเถอะ” นกแก้วก็จากไป ต่อมาไม่นานแผลที่ใบหูของราชสีห์ก็เกิดอักเสบลุกลามไปทั่วหน้ามีหนอนไต่ยั้วเยี้ย ราชสีห์ทนพิษบาดแผลไม่ไหวก็เสียชีวิตในเวลาไม่นาน
นิทานเรื่องนี้มีนัยบอกให้รู้ว่า “บางครั้งก็เชื่อคำแนะนำของผู้ที่ไม่มีความรู้มากว่าจะเชื่อผู้เชี่ยวชาญ” ราชสีห์พอฟังคำแนะนำจากเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่ไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์เลย แต่อยากเสนอความเห็นโดยการคาดเดาโดยมีความรู้สึกเป็นเครื่องมือในการคิดวิเคราะห์ ส่วนตนกกรยางค์ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเสนอความเห็นที่ถูกต้อง กลับไม่มีใครยอมรับฟัง ในที่สุดเมื่อราชสีห์ประมวลผลจากความรู้สึกโดยลืมเหตุผล จึงไม่มีโอกาสได้แก้ตัว
มีหลายอย่างที่มนุษย์มักจะตัดสินใจโดยเอาความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผล คำว่า “มันน่าจะเป็น” หรือคำว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้น ผลจะเป็นอย่างนี้” แต่ข้อเท็จจริงอาจจะไม่ใช่อย่างที่เรานึกคิดก็ได้ ความน่าจะเป็นคือความรู้สึกที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่ไม่รู้จริง ส่วนเหตุผลเกิดจาก “ความจริง” ที่บางครั้งอาจจะไม่น่าจะเป็น แต่ก็เป็นไปได้
หากราชสีห์ยอมให้หมอผ่าตัดตามการวินิจฉัยของหมออาจจะไม่เสียชีวิต แต่เพราะมัวแต่ไปเชื่อคำปรึกษาของสัตว์อื่นๆที่ไม่ได้มีความรู้ในทางแพทย์เลย
มีสุภาษิตในขุททกนิกาย ชาดก(27/30) กล่าวถึงที่ปรึกษาไว้ตอนหนึ่งความว่า “ในบรรดาที่ปรึกษา ย่อมต้องการคนไม่พูดพล่าม” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “มนฺตีสุ อกุตูหลํ” ผู้ที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาจึงไม่ควรพูดมาก เพราะคนพูดมากมีโอกาสโกหกได้ง่าย เพราะต้องเสริมเติมแต่งคำพูดให้ไพเราะเพราะพริ้งนั่นเอง
อีกตอนหนึ่งว่า "ในเวลาคับขัน ย่อมต้องการคนกล้า" แปลมาจากภาษาบาลีว่า “อุกฺกฏฺเฐ สูรมิจฺฉนฺติ” ในเวลาที่กำลังเกิดภาวะวิกฤตย่อมต้องการคนที่กล้าในการตัดสินใจ กำลังใจรู้ได้เมื่อภัยมา หากมัวแต่ลังเลโยนไปให้คนนั้นคนนี้ ปัญหาอาจจะลุกลามไปมากเกินจะแก้ไขได้
หากในวันนั้นราชสีห์ยอมให้นกแก้วที่มีความรู้ทางแพทย์ผ่าตัดอาจจะเพียงแค่บาดเจ็บไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่นี่เพราะเชื่อคำแนะนำของที่ปรึกษา เรื่องจึงเป็นไปในอีกทางหนึ่ง ความคิดของแต่ละคนย่อมมาจากพื้นฐานต่างกัน หากมัวแต่ฟังคำพูดของคนอื่นบางครั้งความคิดของเราอาจจะเปลี่ยนไปตามคำแนะนำก็ได้ ที่ปรึกษาให้ความเห็นได้ แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่ตัวเราเอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/10/55