มนุษย์มีภูมิความรู้หลายระดับ ความรู้ที่ว่าไม่ได้หมายถึงความรู้ทางโลกที่มักจะวัดกันที่ปริญญา แต่เป็นความรอบรู้ภายในที่เกิดจากการสั่งสมอบรมบ่มบารมีของแต่ละคน การทำบุญในพระพุทธศาสนาก็มีหลายระดับตั้งแต่ระดับที่ง่ายที่สุดคือการให้ทาน จากนั้นจึงรักษาศีล ผลของการให้ทานและรักษาศีลคือความสุขที่เรียกว่าสวรรค์ หากต้องการกระทำบุญกุศลให้ยิ่งขึ้นไปก็ต้องมองเห็นโทษของกามและขั้นสุดท้ายคือการออกจากกาม ในพระพุทธศาสนาจึงมีคำสอนสำหรับคนหลายระดับ จากระดับมีความสุขตามธรรมดาจนถึงความสุขอันยอดเยี่ยม ส่วนใครจะปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาและการบำเพ็ญบารมีของแต่ละคน
หลายปีมาแล้วที่วัดแห่งหนึ่งในชนบท ช่วงนั้นกำลังมีการรื้อกระเบื้องหลังคาศาลาการเปรียญหลังเก่าที่หลังคาชำรุดทรุดโทรม เพราะใช้งานมานาน นัยว่าน่าจะนานเกินหกสิบปีแล้ว จนไม่มีใครจำได้แล้วว่ากระเบื้องมุงหลังคามีอายุนานเท่าใด แต่ข้อเท็จจริงคือหลังคามีรอยรั่วมาก จนใช้งานไม่ได้ ยิ่งเป็นหน้าฝน ต้องคอยหลบฝนอยู่ตลอดเวลา หันไปทางนี้ก็เจอรอยรั่ว ไปอีกทางก็รอยรั่ว ในที่สุดจึงต้องรื้อกระเบื้องเก่าและมุงหลังคาใหม่
หลวงตาไซเบอร์ฯ มักจะยืนดูคนงานทำงานด้วยความทึ่งในฝีมือและความชำนาญ พวกเขาใช้รอกชักลากกระเบื้องขึ้นไป จากนั้นก็เริ่มทำงานตั้งแต่เช้าจนเย็น คนงานมีหลายวัยทั้งหนุ่ม ผู้ใหญ่ และวัยชราช่วยกันทำ พวกหนุ่มๆยังไม่ชำนาญก็มีหน้าที่ในการขนกระเบื้องมากองรวมกันไว้ อีกพวกหนึ่งขนขึ้นไปไว้บนหลังคา ส่วนผู้ที่ชำนาญการก็ทำหน้าที่มุงกระเบื้องไป ใครมีหน้าที่อะไรก็ช่วยกันทำ สักวันคนหนุ่มก็ต้องกลายเป็นช่างหรือคนมีฝีมือ ส่วนช่างในปัจจุบันก็ต้องปลดระวางตามอายุขัย
คนงานพวกนี้ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะต้องทำมาหากิน ได้ยินเสียงเพลงแว่วมาจากกลุ่มคนงานเหล่านี้เป็นระยะๆ แม้งานจะหนักแต่ก็มีความสุข ที่วัดแห่งนั้นทุกวันพระจะมีพิธีทำบุญประจำที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมซึ่งอยู่ใกล้ๆกับศาลาการเปรียญนั่นเอง วันหนึ่งหนุ่มคนงานคนหนึ่งเดินแหวกกลุ่มพุทธศาสนิกชนเข้ามาที่อาสน์สงฆ์ จากนั้นก็เริ่มถวายซองปัจจัยถวายพระไปเรื่อยๆ เมื่อมาถึงหลวงตาฯเขาบอกว่า“ผมเกิดมายากจนนะครับ คงเพราะชาติก่อนไม่ค่อยได้ทำบุญไว้ ชาตินี้จึงต้องเกิดมาจน ตอนนี้ผมเริ่มทำบุญแล้ว ผมจะทำบุญด้วยการบริจาคทานและรักษาศีลทุกวันพระ”
จึงบอกคนงานท่านนั้นว่าเริ่มต้นทำบุญได้ถูกทางแล้ว ในพระพุทธศาสนาเรียกการทำบุญตามลำดับว่าอนุปุพพิกถา ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” เป็นเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงทรงแสดงอริยสัจจ์สี่เป็นการทำจิตให้พร้อมที่จะรับธรรมเทศนาที่ลุ่มลึกตามลำดับ เหมือนผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้ว ควรรับน้ำย้อมต่างๆ ได้ด้วยดี
อนุปุพพิกถา หมายถึงเรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ ธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาครั้งแรกแก่ยสกุลบุตร ดังที่แสดงไว้ในวินัยปิฎก มหาวรรค (4/26/29) ความว่า “ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรีพระผู้มีพระภาคตื่นบรรทมแล้วเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ขณะนั้น ยสกุลบุตรเปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ. ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะยสกุลบุตรว่า ดูกรยส ที่นี่ไม่วุ่นวายที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดยส นั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ ที่นั้น ยสกุลบุตรร่าเริงบันเทิงใจว่าได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้องดังนี้ แล้วถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เมื่อยสกุลบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้วจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่ยสกุลบุตร ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดีฉะนั้น
เนื้อความในอนุปุพพิกถาว่าด้วยการกล่าวตามลำดับของการทำบุญจากขั้นพื้นฐานจนถึงเรื่องสูงสุดเหมือนดังผ้าสะอาดที่พร้อมจะรับน้ำย้อม มีเนื้อความสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ทานกถา ว่าด้วยเรื่องทาน กล่าวถึงการให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน
2. สีลกถา ว่าเรื่องศีล กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม
3. สัคคกถา ว่าด้วยเรื่องสวรรค์ กล่าวถึงความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกาม ที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้นคือทานและศีล
4. กามาทีนวกถา ว่าด้วยเรื่องโทษแห่งกาม กล่าวถึงส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้
5. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยเรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น
ตามเนื้อหาในอนุปุพพิกถาใครอยากไปสวรรค์ก็ต้องบำเพ็ญทานและรักษาศีล ตัวอย่างของผู้ที่บำเพ็ญทานบารมีที่ยอเยี่ยมที่สุดก็คือพระเวสสันดร ซึ่งนิยมนำมาเทศน์แสดงให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษา เรียนรู้และถือเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ที่เสียสละแบ่งปันให้คนอื่น ส่วนโทษของกามและอานิสงส์ของการออกจากกามนั้นเป็นความดีในขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับ กามนั้นมีคุณน้อยแต่มีโทษมาก หากเมื่อใดพิจารณาเห็นโทษ ออกจากกามจะมีอานิสงส์ตามสมควรแก่การปฏิบัติ
คนงานท่านนั้นมาร่วมงานทำบุญในวันพระมาหลายครั้งแล้ว ครั้งแรกถวายปัจจัยจากค่าแรงที่อาบเหงื่อต่างน้ำ ครั้งต่อๆมาก็เริ่มช่วยเหลือคนอื่นยกสำรับกับข้าวมาถวายพระ จากนั้นก็นั่งฟังพระธรรมเทศนา แม้จะยังไม่ถึงกับนุ่งขาวห่มขาวแต่ก็รักษาศีล สวดมนต์นั่งสมาธิ
วันหนึ่งคนงานท่านนั้นเข้ามาหาและบอกว่า “ผมอยากบวช แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพบวชให้ พ่อแม่ผมเสียชีวิตหมดแล้ว อีกอย่างผมก็ไม่ได้มีครอบครัวที่ตจะต้องกังวล ตัวคนเดียว ผมอยากบวชสักหนึ่งพรรษา”
หลวงตาไซเบอร์ฯจึงรับจัดการหาเจ้าภาพอุปสมบทให้ หลวงพี่รูปนั้นอยู่จำพรรษาที่วัดในชนบทแห่งนั้น แต่หลวงตาไซเบอร์ฯได้เดินทางไปจำพรรษาหลายแห่ง จนกระทั่งมาพำนักที่วัดมัชฌันติการามในปัจจุบัน วันหนึ่งท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก จึงต้องหลบฝนที่ป้ายรถเมล์ มีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินฝ่าสายฝนเข้ามาหลบฝนด้วย พอเห็นหน้าท่านรีบยกมือไหว้ ก่อนจะถามว่า “จำผมได้ไหมครับ” ตอนนั้นหลวงตาไซเบอร์ก็ยังงงๆ เหมือนคุ้นหน้าแต่ไม่คุ้ยเคย
ภิกษุรูปนั้นจึงบอกว่า “ผมคืออดีตคนงานคนนั้นไงครับที่หลวงตาฯช่วยหาเจ้าภาพอุปสมบทให้ผม ตอนแรกผมกะจะบวชเพียงหนึ่งพรรษา แต่ตอนนี้ผมบวชได้สิบพรรษาแล้ว ผมสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่หกเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสงฆ์และกำลังจะเรียนจบปริญญาตรี เดินตามรอยทางที่หลวงตาได้เดินผ่านมาแล้วนั่นแหละครับ หากไม่มีความรู้พูดอะไรสอนอะไรชาวบ้านไม่ค่อยฟัง จึงต้องศึกษาเล่าเรียนไว้บ้าง”
วันนั้นได้แต่สาธุอนุโมทนาในกุศลเจตนาของหลวงพี่รูปนั้น หลวงตาไซเบอร์ยกมือเช็ดน้ำที่ไหลลงอาบแก้ม ดูไม่ออกว่าเป็นน้ำตาหรือน้ำฝน ตอนนั้นรู้สึกตื้นตันในหัวใจ อย่างน้อยก็มีพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งที่จะเป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา หลวงพี่รูปนั้นดำเนินตามอนุปุพพิกถาที่เคยอธิบายให้ท่านฟังเมื่อหลายก่อนจริงๆ ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกามและอานิสงส์ของการออกจากกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ลุ่มลึกตามลำดับ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/10/55