งานเทศน์มหาชาติวัดมัชฌันติการามผ่านไปด้วยดี แม้ว่าตอนเช้าจะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่พอสายหน่อยฝนก็หยุดตก แม้ว่าฝนจะตกแดดจะออกอย่างไรงานก็ต้องดำเนินไป อยู่ใต้ฟ้าจะกลัวอะไรกับฝน หากคิดจะจัดงานในวันที่ฝนไม่ตกก็ต้องเลื่อนไปเป็นหน้าร้อน จัดงานหน้าฝนก็ต้องเสี่ยงวัดดวงเอาเอง ปีนี้คนมาร่วมงานไม่มาก แต่ได้ปัจจัยมากกว่าทุกปี คงมาจากหลายสาเหตุ บางคนกลัวฝน บางคนกลัวว่าน้ำจะท่วมบ้าน แม้จะมาร่วมงานไม่ได้แต่ก็ยังฝากปัจจัยมาทำบุญ สำหรับคนที่มาฟังทุกปียังคงเห็นหน้าอยู่เหมือนเดิม ถึงจะมีบางคนไม่อยู่แล้ว ส่วนคนที่อยู่ยังคงมาร่วมงานตามปรกติ ธรรมเนียมของคนที่นี่ถือปฏิบัติกันง่ายๆคือ "คนที่ตายให้เผา คนเมาหลีกให้ไกล ส่วนคนที่ยังมีลมหายใจมาฟังเทศน์มหาชาติ"
นักเทศน์ในงานมหาชาติก็ไม่ต้องไปนิมนต์มาจากที่ไหน พระภิกษุสามเณรภายในวัดนี่แหละ มอบหมายกัณฑ์เทศน์ให้แล้ว ส่วนใครจะเทศน์อย่างไรมีลีลาอย่างไรว่ากันตามสะดวก บางรูปเทศน์แหล่ บางรูปเล่นทำนอง บางรูปอ่านตามตัวอักษร คนฟังส่วนมากรู้เรื่องพระเวสสันดรดีอยู่แล้ว เพราะเทศน์ทุกปี คนฟังก็ฟังทุกปี ปีนี้จัดให้มีเทศน์แหล่สองกัณฑ์คือกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี สลับกับเทศน์ทำนองธรรมวัตร ได้รสชาติไปอีกแบบ เป็นการจัดงานวัดจริงๆ พระภิกษุสามเณรในวัดก็มีโอกาสได้เทศน์ หากนิมนต์พระนักเทศน์แหล่มาจากวัดอื่นเทศน์เสร็จท่านก็ไป ความมีส่วนร่วมของพระภิกษุสามเณรในวัดจะมีน้อย
โยมที่มาฟังเทศน์นำอาหารมาเอง นำสำรับกับข้าวมานั่งฟังเทศน์ไป หิวเมื่อไหร่ก็แบ่งกันรับประทานได้เลย โยมส่วนหนึ่งรับหน้าที่ทำอาหารมีส้มตำและขนมจีนน้ำยาเป็นหลัก มะละกอก็เอามาจากกัณฑ์เทศน์นี่แหละ พระภิกษุรูปไหนเทศน์จบ โยมเจ้าภาพถวายกัณฑ์เทศน์ก็นำผลไม้มารับประทานต่อได้เลย ต่างคนต่างร่วมกันทำบุญทำทาน ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ดังที่แสดงไว้ในทานานิสังสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/35/38) ความว่า “ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนหมู่มาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ สัปบุรุษผู้สงบผู้สำรวมอินทรีย์ ประกอบพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์แก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นหาอาสวะมิได้ปรินิพพานในโลกนี้”
ผู้ที่มาฟังเทศน์วัดนี้ไม่มีสี ใครจะอยู่สีแดงหรือเหลืองไม่เป็นไร พูดสนทนากันเกี่ยวกับการทำบุญอย่างเดียว ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว ส้มตำก็ปรุงเองตามใจชอบ ใครชอบรสไหนเผ็ด เปรี้ยว หวาน ตามใจคนรับประทาน
ผู้ให้ทานเป็นปรกติจะปราศจากความตระหนี่เหมือนกับพระเวสสันดรที่ให้ทานกับทุกคนที่มาขอ แม้แต่บุตรธิดา ภรรยาก็ยังให้เป็นทาน ผู้ให้ชื่อว่าเป็นคนมีปัญญา ส่วนผู้ที่ไม่มีอะไรจะให้ก็ร่วมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในกิจการงานก็ชื่อว่าได้บุญเหมือนกัน ดังที่แสดงไว้ในกาลาทานสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/36/39) ความว่า “ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักขิณาทานจึงมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณานั้นย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ”
แม้ว่าพระภิกษุสามเณรที่เทศน์มหาชาติในวันนั้นจะไม่ใช่พระอริยเจ้า แต่ก็เป็นผู้ที่กำลังดำเนินไปตามทางของพระอริยเจ้า ผู้ให้ทานก็ย่อมจะได้บุญไม่มากก็น้อย ค่อยๆสะสมไปทีละน้อยบุญก็จะเพิ่มขึ้น ปีหนึ่งมีงานใหญ่ไม่กี่ครั้ง มหาชาติ กฐิน เป็นกาลทาน จัดได้ปีละครั้ง ส่วนผ้าป่าจัดปีละกี่ครั้งก็ได้
คนมาทำบุญย่อมหวังจะได้บุญ คำว่า “บุญ” แปลว่าความผ่องแผ้วแห่งดวงจิต ความสะอาด ความสุข ความดี คนโบราณมักจะมีคำพูดติดปากว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” แปลมาจากคำว่า “ปุญฺญกมฺมํ” หมายถึงการทำบุญ การกระทำอันเป็นไปเพื่อความดี นั่นหมายถึงใครจะรวยจะจน จะโชคดีมีเงินใช้ไม่ขาดมือ นอกจากจะมาจากการทำมาหากินในทางที่สุจริตแล้ว ส่วนหนึ่งยังมาจากบุญกรรมในอดีตด้วย คนบางคนแม้จะทำเพียงนิดหน่อยแต่ได้บุญมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาในอดีตมีโอกาสให้ผล หากไม่ทำบุญใหม่เพิ่ม ไม่นานบุญเก่าก็จะหมดไป
พระภิกษุสามเณรมีโอกาสได้แสดงธรรม ส่วนคนที่มาฟังเทศน์ได้มีโอกาสได้ทำบุญ และปัจจัยที่ได้จากการเทศน์มหาชาติก็มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือใช้ในกิจการของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดมัชฌันติการาม พระภิกษุสามเณรองค์ที่แสดงธรรมก็เน้นไปที่คณะครูนักเรียนที่กำลังศึกษาในสำนักเรียนวัดมัชฌันติการาม ปีหนึ่งจัดครั้งเดียว ปัจจัยเพียงพอแก่การใช้จ่ายปีต่อปี
สามเณรพงษ์กำลังเรียนนักธรรมชั้นตรี พึ่งบรรพชาใหม่ได้ยังไม่ถึงปี เข้ามาหาหลังงานเทศน์มหาชาติเสร็จสิ้นในตอนเย็นและได้เอ่ยมธุรสวาจาขึ้นว่า “อาจารย์ใหญ่ครับ ปีหน้าผมขอเทศน์มหาชาติ อาจารย์ใหญ่จะอนุญาตไหมครับ” จึงบอกสามเณรพงษ์ว่า “ต้องสอบนักธรรมชั้นเอกให้ได้ก่อน จึงจะมีสิทธิ์เป็นองค์เทศน์มหาชาติ หรือหากสอบมหาเปรียญได้จะมีสิทธิ์ก่อนคนอื่น”
สามเณรพงษ์ต่อรองว่า “นักธรรมชั้นตรี ผมสอบได้แน่นอนอยู่แล้ว เพราะผมมาเรียนทุกวันไม่เคยขาดเรียนเลย แต่นักธรรมชั้นเอกต้องอีกสองปี ผมขอใช้สิทธิ์นักธรรมตรีก่อนได้ไหมครับ”
อาจารย์ใหญ่จึงบอกว่า “ถ้าสามเณรพงษ์สอบได้นักธรรมชั้นตรีจริง จะรับไว้พิจารณา แต่ต้องมาเทศน์ให้อาจารย์ใหญ่ฟังก่อน” จากนั้นสามเณรพงษ์ก็ช่วยสามเณรรูปอื่นๆทำงาน
นักเทศน์ทุกปีคัดเลือกจากสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรมสามประโยคเป็นอันดับแรก หากไม่มีใครสอบได้ก็จะลดหลั่นลงมาตามลำดับ นักธรรมชั้นเอก นักธรรมชั้นโท หรือหากไม่มีใครสอบได้จริงๆนักธรรมชั้นตรีก็ได้ ให้สิทธิ์สามเณรคัดเลือกกันเองปีละห้ารูป คณะครูปีละเจ็ดรูป และพระภิกษุเถระในวัดอีกสี่รูป ปีหนึ่งเทศน์สิบหกรูป มหาชาติสิบสามกัณฑ์และคาถาพันอีกสามกัณฑ์ อาจารย์ใหญ่ผูกขาดเทศน์คาถาพันมาหลายปีแล้ว
สามเณรทั้งหลายทำงานเก็บกวาดสถานที่บริเวณโรงเรียนพระปริยัติธรรม ได้ยินเสียงแหล่แว่วมาจากกลุ่มสามเณร รับรู้ได้ในทันใดว่าเสียงดีมีแววใช้ได้ มองหาต้นเสียงว่าเสียงนั้นมาจากสามเณรรูปใด เสียงแหล่นั้นแว่วมาจากในห้องน้ำ อาจารย์ใหญ่กำลังจะเข้าห้องน้ำพอดีจึงค่อยๆเดินไปที่ห้องน้ำ สามเณรพงษ์กำลังล้างห้องน้ำโผล่ออกจากห้องน้ำพอดี เสียงแหล่จึงเงียบไป สามเณรพงษ์ท่าจะเอาจริง เริ่มต้นฝึกซ้อมเทศน์แล้ว ทั้งๆที่งานพึ่งผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง งานเทศน์มหาชาติจะจัดอีกครั้งประมาณเดือนกันยายนปีหน้าโน่น เหลือเวลานับจากวันนี้ไปอีกหนึ่งปีเต็มๆ ปีหน้าหากไม่มีอะไรขัดข้องกำหนดจัดงานเทศน์มหาชาติไว้เบื้องต้นวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556 หวังว่าอาจารย์ใหญ่และสามเณรพงษ์คงมีลมหายใจอยู่จนถึงวันนั้น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
30/09/55