ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          พระนวกะหรือพระบวชใหม่รูปหนึ่งถามว่า “ทำไมเวลาพระสงฆ์รดน้ำมนต์ให้ชาวบ้านจึงใช้หญ้าคา ทำไมไม่ใช้หญ้าอย่างอื่น หญ้าคามีความพิเศษอย่างไรจึงต้องใช้เป็นอุปกรณ์ในการรดน้ำมนต์” เรื่องทำนองนี้แม้จะใช้ในพิธีกรรมของชาวพุทธทั่วไป บางอย่างไม่ได้นึกถึงคำอธิบาย เพราะใช้สอยสืบต่อกันมานาน บางแห่งจะใช้ใบไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลเช่นใบมะยม เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้คนนิยมชมชอบ แต่ใบมะยมใช้นานไม่ได้ ใบไม้ที่ออกจากต้นแล้วไม่นานก็เหี่ยวและแห้ง แต่หญ้าคาใช้ได้ทนทานนานหลายปี ในการรดน้ำมนต์ในปัจจุบันจึงนิยมใช้หญ้าคา


          ตามพุทธประวัติในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนวันเพ็ญกลางเดือนวิสาขะ(เดือนหก)นั้น ได้มีชายคนหนึ่งนามว่าโสตถิยพราหมณ์ถวายหญ้าแปดกำที่เรียกในภาษาบาลีว่า “หญ้ากุสะ” ที่เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแปลได้ว่า “หญ้าคา” แต่หญ้าชนิดนี้ยังมีปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมากแถวๆเมืองคยา อินเดีย มีลักษณะเป็นกอคล้ายกอต้นตระไคร้ แต่มีขนาดสูงกว่า เป็นหญ้าชนิดหนึ่ง ในหนังสือพจนานุกรมบาลีไทย แปลความจากคำว่า “กุส” แปลว่าหญ้าคา หรือข่า หรือสลาก ชาวพุทธในเมืองไทยจึงนิยมเรียกหญ้าชนิดนี้ว่าหญ้าคา เวลาที่พระสงฆ์ประพรมน้ำพุทธมนต์นิยมใช้ทำเป็นที่สำหรับรดน้ำมนต์ หญ้าคาในเมืองไทยกับหญ้ากุสะที่เมืองคยา แม้จะต่างกันแต่ก็เป็นหญ้าประเภทที่ใกล้เคียงกัน

 

          ใบของหญ้าคายังมีประโยชน์ในแง่ใช้ปรุงเป็นยาต้มอาบ แก้ลมพิษ ผื่นคัน แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ในส่วนของดอก มีประโยชน์ใช้ปรุงเป็นยารับประทานแก้ปวด อุจจาระเป็นเลือด และยังสามารถนำมาตำเป็นยาพอกแผลอักเสบ บวมฝีมีหนองได้
          หญ้าคาหรือหญ้ากุสะมีปลายแหลม ตามริมขอบใบมีคม หากจับไม่ดีไม่ระมัดระวังจะบาดมือกลายเป็นแผลได้ง่ายๆ จนมีภาษิตเกี่ยวกับหญ้าคาที่แสดงเชิงเปรียบเทียบเหมือนการบรรพชาอุปสมบท หากประพฤติไม่ดีก็จะทำให้ไปเกิดในนรกได้เหมือนกัน มีคนกล่าวเป็นเชิงเปรียบเทียบไว้ “หากพระทำมีผลคิดเป็นดอลลาร์  ฆราวาสทำมีผลเป็นเงินบาท” หมายความว่าการกระทำอย่างเดียวกัน เมื่อคนทำอยู่ในฐานะต่างกันย่อมให้ผลแตกต่างกัน หากพระสงฆ์กระทำจะมีผลมากกว่า เพราะถือว่าเป็นผู้รักษาศีลมากกว่าคนธรรมดา
          ในทางตรงกันข้ามหากพระสงฆ์ปฏิบัติตนไม่ดีจะก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า บางอย่างแม้เป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาที่ชาวบ้านปฏิบัติตนตามปรกติเช่นการดื่มเหล้าซึ่งไม่ได้ผิดกฎหมายบ้านเมือง อีกอย่างสุรามีขายทั่วไปชาวบ้านจึงดื่มสุราได้ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าพระสงฆ์ดื่มเหล้าตามบทบัญญัติแห่งพระวินัยก็เป็นเพียงอาบัติปาจิตตีย์ซึ่งเป็นโทษที่พอแก้ไขได้ เพียงแสดงอาบัติต่อหน้าพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ความผิดนั้นก็หมดไปแล้ว แต่สำหรับชาวบ้านจะปรับโทษพระที่ดื่มสุราร้ายแรงมากถึงขั้นที่สามารถจับสึกได้ทันที “พระทำผิดก็คิดผลเป็นดอลลาร์ ส่วนฆราวาสทำผิดคิดผลเป็นเงินบาท”

 

        ความผิดของพระสงฆ์กำหนดไว้สองประการคือปัณณัตติกวัชชะและโลกวัชชะ หรือว่าโดยย่อคือความผิดตามพระวินัยและความผิดที่ชาวโลกติเตียน ความผิดบางอย่างหากถือตามพระวินัยก็ผิดเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าหากชาวโลกติเตียนขึ้นมาเรื่องเพียงเล็กน้อยก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที

          พระสงฆ์ได้ชื่อว่าเป็นหนามของชาวบ้าน ดังที่แสดงไว้ในฉัปปาณสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (16/346/212) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีตัวเป็นแผล มีตัวเป็นพุพอง พึงเข้าไปสู่ป่าหญ้าคาถ้าแม้หน่อหญ้าคาพึงตำเท้าของบุรุษนั้น ใบหญ้าคาพึงบาดตัวที่พุพอง บุรุษนั้นพึงเสวยทุกข์โทมนัสซึ่งมีการตำและการบาดนั้นเป็นเหตุโดยยิ่งกว่าประมาณแม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในบ้านก็ดี อยู่ในป่าก็ดี ย่อมได้บุคคลผู้กล่าวท้วงว่า ท่านผู้นี้แล กระทำอย่างนี้มีสมาจารอย่างนี้ เป็นหนามแห่งชาวบ้านผู้ไม่สะอาด เพราะฉะนั้นภิกษุจึงชื่อว่าเป็นหนามแห่งชาวบ้านผู้ไม่สะอาดนั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล"

หญ้ากุสะริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา


         หญ้าคาหากบุคคลจับไม่ดีจะบาดมือเหมือนการประพฤติพรหมจรรย์หากประพฤติไม่ดีก็จะเป็นอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติได้ ดังที่แสดงไว้ในตายนสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/239/68)  มีข้อความตอนหนึ่งว่า “หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเองฉันใด ความเป็นสมณะอันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อ เกิดในนรกฉันนั้น”

          เนื้อความในตายนสูตรกล่าวถึงการบรรพชาอุปสมบทเป็นทางเบื้องต้นของการตัดกระแสแห่งตัณหาและการบรรเทากาม มีเนื้อความสมบูรณ์ว่า “ครั้งหนึ่งตายนเทวบุตรผู้เป็นเจ้าลัทธิมาแต่ก่อน เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิดพราหมณ์ มุนีไม่ละกาม ย่อมไม่เข้าถึงความที่จิตแน่วแน่ได้ ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน ยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลี ความชั่วไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง  ก็กรรมใดทำแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็นความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเองฉันใด ความเป็นสมณะอันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อ เกิดในนรก ฉันนั้น กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก” ตายนเทวบุตร ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง  

หญ้าคา

 

         พอรุ่งเช้าพระพุทธเจ้าจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาประชุมกันและได้แสดงคาถาที่ตายนเทพบุตรได้ภาษิตไว้เมื่อราตรีที่ผ่านมา จากนั้นจึงตรัสสรุปแก่ภิกษุทั้งหลายความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตายนเทวบุตรครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงศึกษา จงเล่าเรียน จงทรงจำตายนคาถาไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบ ด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์    
        คาถาในตายนสูตรนี้ต่อมาพระสงฆ์ได้นำมาสวดท้ายปาฏิโมกข์เสร็จแล้ว คาถาที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “ฉินฺท โสตํ ปรกฺกมฺม กาเมปนูท พราหมณ.......นั่นแล วันนี้วันพระใหญ่ พระสงฆ์ลงปาฏิโมกข์ ส่วนใหญ่จะสวดเป็นภาษาบาลี นิยมเรียกว่าคาถาท้ายปาฏิโมกข์ และแปลเนื้อความได้ดังที่แสดงไว้ข้างต้น

 

          ภายหลังพุทธศาสนิกจึงนิยมนำเอาหญ้าคามาทำเป็นอุปกรณ์ในการรดน้ำมนต์ เพราะหญ้าคาหรือหญ้ากุสะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในวันนั้นเจ้าชายสิทธัตถะได้รับหญ้าคาแปดกำจากโสตถิยพราหมณ์และได้นำหญ้าคานั้นมาทำเป็นอาสนะเพื่อใช้รองนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ในคืนวันวิสขาบูชาหรือวันเพ็ญกลางเดือนหกเมื่อสองพันหกร้อยปีที่ผ่านมา นับจนถึงวันนี้เรียกว่า “สัมพุทธชยันตีครบรอบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” ปีนี้มีงานฉลองตลอดทั้งปี จากนักบวชผู้อุทิศตนคนหนึ่งก็ได้กลายมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาของชาวพุทธ อันที่จริงจะใช้อะไรสำหรับรดน้ำมนต์ก็ได้ตามแต่ความสะดวก แต่หญ้าคาหรือหญ้ากุสะนอกจากจะมีประวัติความเกี่ยวข้องกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังทนทานเก็บรักษาไว้ได้นาน แต่อย่าเผลอประเดี๋ยวหญ้าคาจะบาดมือ
 

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
15/09/55

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก