มีผู้ถามคำถามมานานแล้วเกี่ยวกับการที่พระเวสสันดรได้บำเพ็ญบารมีคือการให้ทานบุตรธิดาให้แก่ชูชก ชายขอทานที่ดั้นด้นเข้าไปทูลขอบุตรธิดาจากพระเวสสันดรที่กำลังบำเพ็ญทานบารมี ตอนนั้นพระเวสสันดรบริจาคมาแทบทุกอย่างแล้วตั้งแต่ทรัพย์สมบัติต่างๆ จนถูกพระราชบิดาเนรเทศออกจากพระราชวังรอนแรมอยู่กลางไพร ประพฤติตนแบบนักพรต พร้อมทั้งนางมัทรีภรรยาและบุตรธิดาทั้งสองคือชาลี กัณหา ตาเฒ่าชูชกยังตามมาขอจนได้ การบริจาคบุตรธิดาให้แก่คนอื่นนั้น หากปุถุชนคนธรรมดาคงกระทำได้ยากยิ่ง การบริจาคทรัพย์สมบัติกระทำได้ง่ายที่สุด เพียงแต่เรามีก็บริจาคได้แล้ว ส่วนการบริจาคบุตร ภรรยาให้เป็นทานแก่คนอื่นนั้นต้องมีจิตใจหนักแน่นมั่นคงเหนือคนธรรมดา
คำถามนั้นมีใจความว่า “จากข้อความในเวสสันตรชาดกตอนหนึ่งว่า “ดูก่อนพ่อชาลีลูกรัก พ่อจงมาเพิ่มพูนบารมีของพ่อให้เต็ม จงช่วยโสรจสรงหทัยของพ่อให้เย็นชุ่มฉ่ำ ลูกรักขอลูกจงทำตามคำของพ่อ ขอลูกทั้งสองจงเป็นดังยานนาวาของพ่อไม่หวั่นไหวต่อสาครคือภพ เมื่อพ่อข้ามฝั่งคือชาติแล้ว จักยังมนุษย์ และเทวดาทั้งหลายให้ข้ามพ้นด้วย”
ในฐานะพ่อของลูกสาวสองคน ไม่รู้ผมจะบาปหรือไม่ที่คิดอย่างนี้มาเป็น10 ปีๆ คือผมเป็นพ่อจะทำอะไรก็ได้ ทำทุกๆอย่างเพื่อลูก จะร้อน จะหนาว สู้ทน คิดอย่างไร จะทำอย่างไร ไห้เขามีความสุข ผมสงสัย พ่อของเด็กน้อยสองคน(พระเวสสันดร) ต้องทำอย่างนี้เชียวหรือเพื่อให้ตนเองผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ หวังจะสร้างบารมีให้แก่รอบเพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องบริจาคลูกรักให้เป็นทาน”
นั่นเป็นตัวอย่างคำถามที่มีผู้ถามมาและได้ตอบเป็นการส่วนตัวไปแล้ว เห็นว่าน่าจะให้ผู้อ่านท่านอื่นๆได้รับรู้ด้วย จึงนำมาอธิบายขยายความให้อ่านกันอีกครั้ง
การที่พระเวสสันดรต้องบริจาคลูกชายและลูกสาวเพื่อจะได้บำเพ็ญบารมีให้เต็มนั้น หากคิดตามธรรมดาของปุถุชนคนทั่วไปคงเป็นการยากที่จะทำได้ แต่พระโพธิสัตว์มิใช่คนธรรมดา หลักฐานที่ปรากฎในอรรถกถาเวสสันตรชาดกก็ทำใจลำบากอยู่ แต่ทว่าบุคคลที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องผ่านด่านที่เรียกว่า “ปัญจมหาบริจาค” หมายถึงการให้ทานที่ยิ่งใหญ่ 5 การให้ได้
การบริจาคบุตรธิดาเป็นเป็นประเพณีของพระโพธิสัตว์ที่เรียกว่า “ปัญจมหาบริจาค” คือ สิ่งที่บริจาคได้ยากยิ่งห้าประการได้แก่ “บริจาคทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต บุตร ภรรยา” ไม่รู้ว่าอันไหนบริจาคยากกว่ากัน ผู้เขียนเองไม่เคยมีบุตรและภรรยา จึงไม่เข้าใจหัวอก “คนมีลูก” สิ่งที่กระทำได้จึงมีเพียงการบริจาคทรัพย์สมบัติเท่าที่พอจะบริจาคได้ ให้ตามเท่าที่มี หากมีคนขอเกินที่มีก็ให้ไม่ได้ อานิสงส์ของการให้ทานมักจะปรากฎผลให้เห็นในเวลาไม่นาน
หลายปีมาแล้วครั้งหนึ่งมีผู้ถวายจีวรใหม่เอี่ยมมาผืนหนึ่งเป็นจีวรเนื้อดีมาก ลองห่มดูได้พอเหมาะพอดี จึงซักเก็บไว้ตั้งใจว่าพรุ่งนี้ตอนเช้าจึงจะเริ่มใช้ บังเอิญว่าเย็นวันนั้นมีเพื่อนพระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางมาเยี่ยม และพักค้างคืนด้วย ท่านเป็นพระที่ชอบอยู่ตามป่าที่คนส่วนมากนิยมเรียกว่า “พระกรรมฐาน” จีวรท่านเก่ามากแล้ว มีรอยปะหลายแห่ง แต่ท่านก็ยังใช้ห่มเป็นปรกติ วันนั้นบังเอิญจีวรท่านมีรอยขาด เพื่อนภิกษุรูปนั้นจึงถามหาเข็มเย็บผ้าเพื่อที่จะได้ปะชุนรอยขาด ในขณะที่ท่านกำลังปะชุนอยู่นั้นได้เกิดความคิดขึ้นว่า “หากถวายจีวรใหม่ให้แก่เพื่อนภิกษุรูปนั้นคงจะดี” คิดอยู่นานพลางดูท่านเย็บจีวรไปด้วย จิตใจที่หวงสมบัติคือจีวรผืนนั้นยังมีอยู่ เพราะพึ่งได้มาใหม่ จีวรเราเองก็เก่าเหมือนกัน แต่ยังไม่ขาดยังพอใช้ได้
สภาวจิตที่อยากจะให้ทานกับจิตแห่งความตระหนี่ต่อสู้อยู่ภายใน เหมือนสงครามย่อยๆ ที่กำลังจะก่อเกิดเป็นสงครามขนาดใหญ่ ระหว่างจิตที่จะให้กับจิตที่จะไม่ให้ขัดแย้งกันอยู่ภายใน และในที่สุดก็ตัดสินใจได้ว่า “ตัวเราเองก็ยังพอหาจีวรใหม่ได้ เพราะไม่ได้เดินทางไปไหน จะห่มคลุมอย่างไรก็ได้ แต่สำหรับเพื่อนภิกษุที่จะต้องเดินทางไกลจีวรคงหายาก ในที่สุดจิตที่คิดจะให้ก็เป็นฝ่ายชนะ จึงบอกกับภิกษุท่านนั้นว่า “จีวรท่านเก่ามากแล้วเปลี่ยนเถอะ ผมถวายจีวรท่านใหม่ก็แล้วกัน พึ่งซักใหม่ๆยังไม่ได้ใช้เลย ลองห่มดูครั้งเดียว” ท่านหันมามองหน้าก่อนบอกว่า “จีวรเก่าก็ยังใช้ได้อยู่ ไม่เป็นไรเก็บไว้ใช้เถอะ” แต่เมื่อฟังเหตุผลต่างๆแล้วภิกษุรูปนั้นก็รับจีวรใหม่ไป
ตอนที่ได้ถวายจีวรใหม่ผืนนั้นรู้สึกว่าจิตใจปลอดโปร่งโล่งใจ อีกอย่างรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชนะ แม้จะเป็นเพียงสิ่งของเล็กน้อยก็ตามทีเถิด ในขุททกนิกาย ปาปวรรคธรรมบท (25/19/26) มีพุทธภาษิตบทหนึ่งความว่า “บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป หากทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป “
จะเป็นด้วยอานิสงส์หรือเพราะเหตุบังเอิญก็สุดจะคาดเดา อีกสามวันต่อมาก็มีคนทำบุญถวายสังฆทาน และวัตถุที่ทำบุญในวันนั้นมีไตรจีวรใหม่เอี่ยมชุดหนึ่ง ใส่ได้พอเหมาะพอดีเหมือนกับเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า อานิสงส์การถวายจีวรผืนนั้นได้ผลทันตาเห็นจริงๆ นี่กล่าวเฉพาะการบริจาคทรัพย์อย่างเดียว ยังไม่ได้พูดถึงมหาทานอีกสี่ประการ ยังทำยากขนาดนั้น หากผู้ที่ไม่เคยฝึกในการเป็นผู้ให้ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องให้จึงเป็นเรื่องยาก คนตระหนี่มักจะมีเหตุผลเข้าข้างตนเองเสมอ
มหาปัญจบริจาคจึงกระทำได้สำหรับคนบางคนเท่านั้น โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าต้องผ่านด่านมหาปัญจบริจาคไปให้ได้ เพราะเป็นประเพณีของพระโพธิสัตว์ ในอรรถกถาเวสสันตรชาดก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 3 หน้าที่ 732 ได้อธิบายไว้ว่า “ธรรมคือประเพณีของพระโพธิสัตว์ในกาลก่อน ได้ยินว่าพระโพธิสัตว์นั้นทรงอนุสรณ์ถึงประเพณีแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในขณะนั้นแต่นั้นพระองค์ทรงดำริว่า พระโพธิ์สัตว์ทั้งปวงไม่ทรงบริจาคมหาบริจาค 5 ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคอวัยวะ บริจาคชีวิต บริจาคบุตร บริจาคภรรยา หาเคยเป็นพระพุทธเจ้าได้ไม่ ก็ตัวเราก็เข้าอยู่ในจำพวกพระโพธิสัตว์เหล่านั้น แม้เราไม่บริจาคบุตรและชายา ก็ไม่อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ทรงดำริฉะนี้แล้ว ยังสัญญาให้เกิดขึ้นว่า แน่ะ เวสสันดรเป็นอย่างไร ท่านไม่รู้ความที่บุตรและบุตรีที่ให้เพื่อเป็นทาสทาสีแก่ชน เหล่าอื่น จะนำมาซึ่งความทุกข์ดอกหรือ เราจักตามไปฆ่าชูชกด้วยเหตุไรเล่าแล้วทรงดำริต่อไปว่า ขึ้นชื่อว่าบริจาคทานแล้วตามเดือดร้อนภายหลัง หาสมควรแก่เราไม่ ทรงตัดพ้อพระองค์เองอย่างนี้แล้ว ทรงอธิษฐานสมาทานศีลมั่นโดยมนสิการว่า ถ้าชูชกฆ่าลูกทั้งสองของเรา จำเดิมแต่เวลาที่เราบริจาคแล้วเราจะไม่กังวลอะไร ๆ ทรงอธิษฐานมั่นฉะนี้แล้ว เสด็จออกจากบรรณศาลาประทับนั่ง ณ แผ่นศิลา แทบทวารบรรณศาลา ดุจปฏิมาทองคำฉะนั้น”
ปัญจมหาบริจาคเป็นประเพณีของพระโพธิสัตว์ หากไม่บริจาคบุตร ภรรยาก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ ดังนั้นหัวอกคนเป็นพ่อที่ทำอะไรมักจะทำเพื่อลูกนั้นถูกต้องแล้ว เพราะเรายังเป็นปุถุชนคนธรรมดา จึงคิดแบบคนธรรมดาที่จะต้องมีความรักความหวังดีต่อบุตรภรรยา แต่พระโพธิสัตว์ต้องคิดต้องกระทำเหนือกว่าความคิดของคนธรรมดา การบำเพ็ญบารมีที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องทำมากกว่าคนธรรมดา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/09/55