ประตูทางเข้าวัดบ้านสร้างมีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่สองต้น ต้นหนึ่งเป็นต้นไทรที่มีรากห้อยย้อยจากลำต้นลงมาถึงพื้นดิน อีกต้นหนึ่งเป็นต้นตะแบกขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน แต่ลำต้นสูงตระหง่าน แม้คาคบที่ต่ำที่สุดก็ยังสูงราวสามเมตร เวลามองต้องแหงนหน้ามอง ชาวบ้านร่ำลือกันว่าต้นไม้สองต้นมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ เวลาเดินเข้าวัดก็ต้องไปกันเป็นกลุ่ม เพราะหากไปคนเดียวอาจจะถูกผีหลอกได้ง่าย ผีวัดบ้านสร้างคนเขาเล่าลือว่าเฮี้ยนนัก หลอกคนได้ทุกเวลา ชาวบ้านมักจะได้ยินเสียงร้องโหยหวนในวันก่อนวันพระหนึ่งวัน เสียงร้องมาจากต้นไม้สองต้นนั้น เสียงร้องมักจะมาในเวลาก่อนรุ่ง และเวลาพลบค่ำ ก่อนตะวันขึ้นและก่อนตะวันตกดิน ชาวบ้านกล่าวขานกันว่านั่นคือเสียงเปรตร้องขอส่วนบุญ
ชาวบ้านหลายคนต่างร่ำลือกันไปต่างๆนานาๆ แต่ก็หาบทสรุปไม่ได้ว่าเสียงร้องโหยหวนที่มักจะได้ยินที่ต้นตะแบกและต้นไทรหน้าวัดคือเสียงอะไรกันแน่ แม้ว่าจะมีคนพยายามเฝ้าหาสาเหตุก็มักจะเสียเวลาเปล่า เพราะไม่อาจหาที่มาของเสียงร้องนั้นได้ คนที่ไม่เชื่อในเรื่องผีสางเทวดาก็บอกว่านั่นเป็นเสียงร้องของลิงค่างบ่างชะนี แต่สำหรับคนที่เชื่อเรื่องผีต่างก็พากันสรุปว่านั่นคือเสียงเปรตที่มาร้องขอส่วนบุญ ชาวบ้านบางคนถึงกับลงความเห็นว่าน่าจะเป็นผู้ที่เคยขโมยสมบัติของวัดและกำลังใกล้จะตาย เมื่อสำนึกถึงความผิดจึงกลายเป็นเปรตมาส่งเสียงร้องให้ได้ยิน
คนวัดหรืออุบาสกอุบาสิกาที่คุ้นเคยกับวัดมีหลายคน คนที่จะขโมยสมบัติของวัดได้ก็จะต้องเป็นคนที่มาวัดบ่อยๆ เพราะแม้จะเป็นวัดป่าก็ไม่เคยปรากฏว่ามีขโมยหรือโจรที่ไหนมาขโมยสมบัติของวัดเลย บางคนถึงกับสงสัยใครบางคนในกลุ่มอุบาสิกาที่มาวัดเป็นประจำ หนึ่งในจำนวนนั้นคือยายมี(นามสมมุติ) หญิงชราที่มีฐานะยากจนคนหนึ่งในหมู่บ้านสร้างนั่นเอง
แม้ว่ายายมีจะมีฐานะค่อนข้างยากจน จนพวกเด็กๆมักจะร้องเพลงให้ยายมีได้ยินอยู่บ่อยๆว่า “คนชื่อมีทุกยากก็เหลือหลาย คนชื่อบุญหลายตายไปเมื่อวานนี้ คนที่ตายก็จงเอาไปฝัง คนที่ยังก็จงทำความดี.... โอ๊ย..มันบ่แน่ดอกนาย” แต่ยายมีก็เพียงแต่ยิ้ม เหมือนกับจะยอมรับในโชคชะตาที่เกิดมาจน ในสายตาของชาวบ้านสร้างยายมีเป็นคนดีคนหนึ่ง มาจังหันถวายภัตตาหารพระสงฆ์ที่วัดเป็นประจำซึ่งในแต่ละวันไม่ได้มีอะไรมาก มีข้าวสุกและแกงหนึ่งถ้วยหรือน้ำพริกอย่างใดอย่างหนึ่ง อาหารหนึ่งอย่าง ยายมีชอบช่วยงานวัด ก่อนพระฉันอาหารก็มักจะดายหญ้า รดน้ำพืชผักผลไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันปลูกไว้ วัดจึงร่มรื่นเต็มไปด้วยอาหารนานาชนิด เนื่องจากเป็นวัดป่า พระสงฆ์ฉันภัตตาหารวันละครั้งสายหน่อย เริ่มพิธีประมาณแปดโมงครึ่ง กว่าจะเสร็จบางวันก็ล่วงเลยไปถึงสิบโมงเช้า ในแต่ละปีมีพระสงฆ์จำพรรษาไม่มากไม่เกินสิบรูป หากออกพรรษาพระส่วนหนึ่งจะลาสิกขา หรือไม่ก็ออกเดินธุดงค์หาความสงบวิเวกตามป่าตามเขา บางครั้งก็จะเหลือเพียงเจ้าอาวาสรูปเดียวอยู่เฝ้าวัด
งานวัดต่างๆส่วนหนึ่งจึงเป็นหน้าที่ของยายมีช่วยล้างถ้วยล้างจาน รดน้ำพรวนดินต้นไม้ ใบหญ้า บางวันยายมีอยู่ที่วัดจนเลยเที่ยงวัน เนื่องจากบ้านอยู่ไม่ไกลวัดนักเดินไม่กี่นาทีก็ถึงบ้านแล้ว ลูกหลานก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะการที่ยายมีอยู่ที่วัดสบายใจมากกว่า เพราะหากไม่อยู่ที่วัดยายมีเป็นคนปากร้าย หากไม่พอใจใครจะด่าสาดเทเสีย เสียงด่าของยายมี คนเอือมระอาไปทั้งหมู่บ้าน แต่เมื่อยายมีอยู่ที่วัดก็ไม่มีใครได้ยินเสียงยายมีด่าใคร
วัดก็ได้ประโยชน์เพราะยายมีทำงานได้นาน ไม่บ่น นอกจากจะไม่พอใจจะด่าทันที แต่หากอยู่ที่วัดยายมีจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคนยิ้มง่าย คุยสนุก ไม่ด่าไม่ว่าร้ายใคร ยายมีปฏิบัติตนในทำนองนี้มานานหลายปี
พักหลังๆได้ยินเจ้าอาวาสปรารภให้ชาวบ้านฟังว่า “เครื่องใช้ในวัดมักจะหายอยู่เป็นประจำ เริ่มตั้งแต่ถ้วย โถ โอ จาน เหมือนมีปีกบินหายไปที่ละอันสองอันโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่อยากกล่าวหาใครว่าขโมยของวัด แต่อาจจะพลั้งเผลอหลงหยิบหรือเปลี่ยนถ้วยจานของวัดไปก็ได้ เจ้าอาวาสจึงให้ชาวบ้านช่วยกันเขียนสีแดงใช้อักษรย่อว่า “ว” หมายถึงวัด หากหลงไปอยู่ที่บ้านใครจะได้รู้ว่าของวัดให้นำมาส่ง การกระทำอย่างนี้ดูเหมือนจะดีขึ้น เพราะสมบัติของวัดไม่ค่อยหาย
ยายมีล้มป่วยด้วยโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านร่ำลือว่าที่ปากยายมีมีหนอนไต่ยั้วเยี้ย และแกก็เคี้ยวกินหนอนอย่างเอร็ดอร่อย อาการอีกอย่างหนึ่งคือยายมีชอบเอาจานข้าวมาเคาะให้เกิดสียงดังเหมือนกำลังเล่นตีกลอง จากนั้นก็จะร้องคร่ำครวญเหมือนคนที่เจ็บปวดจากอะไรสักอย่างแต่ลูกหลานหาสาเหตุแห่งความเจ็บปวดไม่พบ ที่ต้นตะแบกและต้นไทรหน้าวัดยังมีคนร่ำลือว่าในเวลาพลบค่ำมักจะได้ยินเสียงร้องเหมือนคนกำลังเจ็บปวด บางคนอ้างว่าเหมือนเห็นคนเดินหายไปในรากไทรย้อยต้นนั้น บางคนบอกว่าเป็นหญิงชราอายุมากแล้วเดินหลังโกงลับหายไปในต้นไม้ลักษณะคล้ายยายมีหญิงชราที่นอนป่วยอยู่ที่หมู่บ้าน ร่างนั้นมักจะเดินผ่านต้นไม้ไทรใหญ่มุ่งหน้าสู่ป่าช้าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับต้นไม้ใหญ่สองต้นนั้น ชาวบ้านเชื่อกันว่านั่นคือเปรตหรือวิญญาณของคนที่ใกล้ตาย หลายคนถึงกับระบุว่านั่นคือยายมีคนจนที่ทำงานช่วยวัดมานาน ต้งแต่ล้มป่วยก้ไม่มีโอกาสมาวัดอีกเลย
คำว่า “เปรต” ตามทัศนะของพระพุทธศาสนามาจากภาษาบาลีว่า “เปต” เป็นคำนามแปลว่า “เปรต” หากเป็นคำคุณนามแปลว่า “ตายไปแล้ว” หากว่ากันตามนี้เปรตจึงหมายถึงผู้ที่ตายไปแล้วไปถือกำเนิดในภูมิที่มีความหิวกระหายนั่นคือ “ปิตติวิสัย” คือแดนแห่งเปรต เป็นภูมิแห่งผู้หิวกระหายไร้สุข อย่างกรณีของเปรตผู้เคยเป็นญาติพระเจ้าพิมพิสารที่มาร้องขอส่วนบุญจนทำให้พระเจ้าพิมพิสารนอนไม่หลับ จึงได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้า ก็ได้คำตอบดังที่แสดงไว้ในติโรกุฑฑเปตวัตถุ ขุททกนิกาย เปตวัตถุ (26/90/147) ว่าด้วยบุพกรรมของเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสาร ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสกะพระเจ้าพิมพิสารว่า “เปรตทั้งหลายพากันมาสู่เรือนของตนแล้ว ยืนอยู่ภายนอกฝาที่ตรอกกำแพง และทางสามแพร่ง และยืนอยู่ที่ใกล้บานประตู เมื่อข้าว น้ำของกิน ของบริโภคเป็นอันมากเขาเข้าไปตั้งไว้แล้ว แต่ญาติไรๆ ของสัตว์เหล่านั้นระลึกไม่ได้ เพราะกรรมเป็นปัจจัย เหล่าชนผู้อนุเคราะห์ย่อมให้น้ำและโภชนะอันสะอาด ประณีตสมควรแก่ญาติทั้งหลายตามกาลดุจทานที่มหาบพิตรทรงถวายแล้วฉะนั้น ด้วยเจตนาอุทิศว่า ขอทานนี้แล จงสำเร็จผลแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลายของเราจงเป็นสุขเถิด”
ส่วนเปรตผู้เป็นญาติเหล่านั้น พากันมาชุมในที่นั้น เมื่อข้าวและน้ำมีอยู่บริบูรณ์ ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพว่า เราได้สมบัติเพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติของเราเหล่านั้น จงมีชีวิตอยู่ยืนนาน การบูชาเป็นอันพวกญาติได้ทำแล้วแก่เราทั้งหลาย และญาติทั้งหลายผู้ให้ก็ไม่ไร้ผล เพราะในเปรตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม ไม่มีโครักขกรรม ไม่มีการค้าขายเช่นนั้น ไม่มีการซื้อการขายด้วยเงิน เปรตทั้งหลายผู้ไปในปิตติวิสัย ย่อมเยียวยาอัตภาพด้วยทานที่ญาติหรือมิตรให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้ น้ำฝนอันตกลงในที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้วในมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน ห้วงน้ำใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังสาครให้เต็มเปี่ยมฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้ว แต่มนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะที่ท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า ญาติมิตรและสหายได้ให้สิ่งของแก่เรา ได้ช่วยทำกิจของเราดังนี้ พึงให้ทักษิณาแก่เปรตทั้งหลาย ความเศร้าโศกหรือความร่ำไรอย่างอื่น ไม่ควรทำเลย เพราะความร้องไห้เป็นต้นนั้นไม่เป็นประโยชน์แก่เปรตทั้งหลาย ญาติทั้งหลายย่อมดำรงอยู่โดยปกติ
ธรรมดาอันทักษิณานี้แลที่ท่านเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ ให้แล้ว ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรตนั้นโดยพลัน สิ้นกาลนาน ญาติธรรมมหาพิตรได้แสดงให้ปรากฏแล้ว การบูชาอันยิ่งเพื่อเปรตทั้งหลาย มหาพิตรทรงทำแล้ว และกำลังกายมหาบพิตรได้เพิ่มให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บุญมีประมาณไม่น้อยมหาบพิตรได้ทรงขวนขวายแล้ว”
การทำบุญอุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วและถือกำเนิดในภูมิแห่งเปรต ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรตเหล่านั้นเมือนพระเจ้าพิมพิสารได้อุทิศส่วนบุญให้แก่หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรต คำอธิบายที่ปรากฏในพระสูตรนี้แจ่มแจ้งชัดเจน แสดงให้เห็นถึงเปรตคือภูมิแห่งสัตว์ประเภทหนึ่ง ต้องรอรับส่วนบุญที่ญาติอุทิศไปให้
ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่แต่กลายเป็นเปรตยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็พึ่งจะมาได้ยินชาวบ้านสร้างโจทก์ขานกันถึง “ยายมี” ที่ยังมีชีวิตอยู่แต่กลายเป็นเปรตแสดงตนหลอกหลอนชาวบ้านที่ต้นตะแบกใหญ่หน้าวัดบ้านสร้างนี่แหละ ยายมีป่วยอยู่ด้วยความทรมานหลายเดือนและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในวันฌาปนกิจศพยายมีที่จัดขึ้นภายในบริเวณป่าช้าที่อยู่ในวัดข้างๆต้นตะแบกใหญ่ต้นนั้น บ่ายคล้อยแล้วขณะที่ชาวบ้านทำพิธีเผาศพ เปลวไฟกำลังลุกโชนเผาร่างยายมีอยู่นั้น ที่ต้นตะแบกใหญ่ก็พลันมีเสียงร้องโหยหวนเหมือนคนที่กำลังเจ็บปวด ไม่นานก็เงียบเสียงไป คนที่ได้ยินในวันนั้นต่างก็ขุนลุกกันทั้งนั้น เพราะเสียงนั้นฟังไปคล้ายกับเสียงยายมีที่ร้องด้วยความเจ็บปวดและดิ้นรนก่อนจะสิ้นชีวิต
อีกสองสามวันหลังงานฌาปนกิจศพยายมี ชาวบ้านก็ได้พบเครื่องใช้ต่างๆเช่นถ้วยโถโอจานอันเป็นสมบัติของวัดที่เคยหายไปมีคนนำมาวางไว้หน้าวัด ถ้วยจานบางอันยังลบอักษร “ว” ที่ทางวัดเขียนไว้ไม่หมด สมบัติเหล่านั้นไม่ทราบว่าใครนำมาคืนที่วัด เหมือนล่องลอยมาจากจากอากาศ พลันตกลงที่ประตูหน้าวัดอย่างไรอย่างนั้น เสียงร้องโหยหวนนั้นก็พลันเงียบหายไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย เหตุการณ์นั้นผ่านมานานกว่าสี่สิบปีแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/08/55
ภาพประกอบ: หญิงชราที่เมืองราชคฤห์ อินเดีย อดีตราชธานีที่พระเจ้าพิมพิสารเคยปกครองในสมัยพุทธกาล