วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาใกล้เข้ามาแล้ว ปีนี้เข้าพรรษาช้ากว่าทุกปี นั่นเพราะปีนี้เป็นปีอธิกมาสคือมีเดือนแปดสองครั้งนิยมเรียกว่า “แปดสองหน” คือนับเดือนแปดสองครั้ง ตามปรกติในปีก่อนๆจะเข้าพรรษาในช่วงเดือนกรกฎาคม แต่ปีนี้เป็นเดือนสิงหาคม และวันออกพรรษาก็จะต้องเลื่อนไปอีกหนึ่งเดือนเป็นปลายเดือนตุลาคม ชาวพุทธนิยมทำบุญในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพราะพระสงฆ์สามเณรจะอยู่ประจำในวัดแห่งใดแห่งหนึ่งตลอดสามเดือน การทำบุญทำได้หลายวิธีกล่าวโดยสรุปปุญญกิริยาวัตถุคือทาน ศีล ภาวนา
ครั้งหนึ่งชาวบ้านเขานิมนต์ไปฉันภัตตาหารเพล ซึ่งได้กลายเป็นประเพณีที่นิยมกันมากอย่างหนึ่งของชาวพุทธไปแล้ว นิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเพล บางงานอาจจะมีการแสดงธรรมเทศนาหลังจากที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว หรือบางงานอาจจะมีการสนทนาธรรมในช่วงที่พระสงฆ์กำลังฉันภัตตาหาร วันนั้นทุกอย่างดำเนินไปตามปรกติ จนกระทั่งพระสงฆ์ให้พรและอนุโมทนาเสร็จกำลังจะกลับวัด เจ้าภาพในงานท่านหนึ่งเป็นคนแก่อายุมากแล้วนั่งอยู่บนรถเข็น บอกให้ลูกหลานพาเข้ามาหาพระและเอ่ยสนทนาขึ้นว่า “ดิฉันแก่แล้ว ใส่บาตรพระทุกวันเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ จึงให้เด็กรับใช้คนหนึ่งเป็นผู้ไปใส่บาตรพระสงฆ์แทน ดิฉันเกิดสงสัยว่าจะได้บุญหรือไม่”
วันนั้นตอบไปในทำนองว่า “ปุญเป็นชื่อแห่งความสุข หากโยมใส่บาตรพระแล้วมีความสุขก็ได้บุญ ส่วนจะให้ใครไปกระทำแทนหรือไม่อย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่เรามอบหมายให้ทำ หากเราไม่มอบหมายเขาอาจจะไม่ได้ทำ การกระทำของเขานั้นจึงเริ่มที่ตัวเรา เราจึงเป็นเหมือนต้นบุญ”
โยมคนนั้นเล่าให้ฟังว่า “มีพระเทศน์ออกอากาศทางวิทยุว่าการทำบุญต้องทำด้วยตนเอง หากให้คนอื่นไปทำแทนเราจะได้ผลครึ่งเดียว โยมยังจำได้นะที่พระท่านเทศน์ว่า “บุญไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง” อีกอย่างดิฉันป่วยจนกลายเป็นอัมพาตร่างกายพิการไปครึ่งท่อน เป็นเพราะผลกรรมอะไร” พระรูปนั้นอาจพูดเรื่องอื่นแต่โยมคนนั้นบังเอิญจำได้ในส่วนนี้
จึงบอกว่า คำว่า “บุญ” มาจากคำว่า “ปุญญ” ในภาษาบาลี แปลว่า บุญ ความผ่องแผ้วแห่งดวงจิต ความสะอาด ความสุข ความดี หากทำแล้วแล้วจิตผ่องใส ใจมีความสุข ก็ชื่อว่าได้บุญ
ในพระไตรปิฎกมีหลายเรื่องที่แสดงถึงผลของกรรมในอดีตชาติของเหล่าสาวกสาวิกาในสมัยพุทธกาล เรื่องหนึ่งที่พระนักเทศน์ทั้งหลายมักจะยกมาเป็นอุทาหรณ์อยู่บ่อยๆคือเรื่องนางขุชชุตตรา หญิงรับใช้ของนางสามาวดีในสมัยพุทธกาล นางขุชชุตตราได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศแห่งอุบาสิกาผู้เป็นพหูสตร ดังที่แสดงไว้ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต (20/152/82) ความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางขุชชุตตรา เลิศกว่าพวกอุบาสิกาสาวิกาของเราผู้เป็นพหูสูต”
มีเรื่องเล่าในอรรถกถาเอกนิบาต เล่ม 1 ภาค 2 หน้า 124 สรุปความได้ว่า“นางขุชุตตราเกิดเป็นหญิงค่อมร่างพิการ เป็นหญิงรับใช้ของนางสามาวดี แต่เป็นหญิงมีปัญญามากเป็นพหูสูตและได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
นั่นเพราะกรรมในอดีตชาติของนาง นางเคยเกิดเป็นหญิงใจบุญคนหนึ่งอุปัฏฐากพระปัจจเกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเป็นคนหลังค่อมมีรูปร่างต่ำเตี้ย หญิงผู้อุปัฏฐายิกาคนนั้นกระทำเลียนแบบห่มผ้ากัมพลถือขันทองคำแกล้งทำเป็นคนหลังค่อมแสดงอาการเที่ยวไปเหมือนพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้น พร้อมทั้งพูดว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้าของพวกเราย่อมเที่ยวไปโดยนัยอย่างนี้” เธอแสดงเหมือนตนเองเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ากำลังเดินบิณฑบาต เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้นนางจึงเกิดเป็นหญิงมีหลังค่อม
ในวันหนึ่งพระราชาทรงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้นั่งในพระราชมณเฑียรแล้วให้ราชบุรุษรับบาตร บรรจุบาตรให้เต็มด้วยข้าวปายาสที่กำลังร้อนแล้วรับสั่งให้ถวาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายถือบาตรอันเต็มด้วยข้าวปายาสร้อน ต้องผลัดเปลี่ยนมือบ่อย ๆ พลิกไปพลิกมา หญิงคนนั้นเห็นท่านแสดงอาการร้อนเพราะข้าวในบาตรร้อนจึงถวายกำไลมือ(วลัย) ทำด้วยงาแปดอัน ซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของตนทำเป็นเชิงรองบาตรสำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น ในบัดนี้นางจึงเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีปัญญามาก เพราะผลอันไหลออกแห่งการอุปัฏฐาก ซึ่งนางทำแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นางจึงได้บรรลุโสดาปัตติผล นี้คือบุพกรรมในสมัยพุทธันดรของนางขุชชุตตรา
ส่วนการที่นางเกิดมาเป็นคนค่อมมีร่างพิการนั้นเป็นเพราะกรรมในอีกชาติหนึ่งในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เกิดเป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงพาราณสีคนหนึ่ง ถือแว่น(กระจกเงา)นั่งแต่งตัวอยู่ในเวลาบ่ายวันหนึ่ง ขณะนั้นมีภิกษุณีอรหันตขีณาสพองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยของนางได้เดินทางมาเยี่ยม ในขณะนั้นไม่มีหญิงรับใช้คนอื่นอยู่ใกล้เลย ธิดาของเศรษฐีจึงบอกว่า “ดิฉันขอไหว้ละท่านเจ้าข้า ได้โปรดหยิบกระเช้าเครื่องประดับนั่นให้แก่ดิฉันด้วยเถิด” พระเถรีคิดว่า “ถ้าเราไม่หยิบกระเช้าเครื่องประดับนี้ให้แก่นาง นางจักทำความอาฆาตในเราแล้วบังเกิดในนรก แต่ว่าถ้าเราหยิบให้ นางจักเกิดเป็นหญิงรับใช้ของคนอื่น แต่ว่าเพียงความเป็นผู้รับใช้ของคนอื่นย่อมดีกว่าความเร่าร้อนในนรก” เมื่อพิจารณาอย่างนั้น พระเถรีอาศัยความเอ็นดูจึงได้หยิบกะเช้าเครื่องประดับนั้นให้แก่ธิดาเศรษฐี เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นาง จึงเกิดเป็นคนรับใช้ของคนอื่นอีกหลายชาติ
การทำบุญด้วยการให้ทานนั้นจะได้ผลสมบูรณ์จะต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญหกประการคือมีความบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายให้ที่เรียกว่าทายกและฝ่ายรับที่เรียกว่าปฏิคคาหก ดังที่แสดงไว้ใน ในทานสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต (22/308/306) ความว่า “ทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์หกประการของทายก(ผู้ให้ทาน)สามประการ และองค์ของปฏิคาหก(ผู้รับทาน)สามประการคือองค์สามของทายกได้แก่ ทายกในศาสนานี้คือ(1)ก่อนให้ทาน เป็นผู้ดีใจ (2) กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส (3) ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ นี้คือองค์ของทายกประการ
ส่วนองค์สามของปฏิคาหกนั้นแสดงไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิคาหกในศาสนานี้ (1) เป็นผู้ปราศจากราคะหรือปฏิบัติเพื่อกำจักราคะ (2) เป็นผู้ปราศจากโทสะหรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ (3) เป็นผู้ปราศจากโมหะหรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ นี้คือองค์สามประการของปฏิคาหก
หากผู้ให้และผู้รับประกอบด้วยคุณครบถ้วนการให้ทานนั้นก็ได้ผลเต็มที่ ในทานสูตรพระพุทธเจ้าจึงสรุปไว้ว่า “ทายกก่อนแต่จะให้ทานเป็นผู้ดีใจ กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจนี้เป็นยัญสมบัติ ปฏิคาหกผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คือ ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะย่อมเป็นเขตถึงพร้อมแห่งยัญ ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมากเพราะตน(ทายกผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น (ปฏิคาหก) ทายกผู้มีปัญญา มีศรัทธา เป็นบัณฑิต มีใจพ้นจากความตระหนี่ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุขไม่มีความเบียดเบียน”
บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ถวายด้วยมือของตนเองเพราะสุขภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย แต่หากก่อนจะให้ทานเป็นผู้ดีใจ กำลังให้ทานมีจิตเลื่อมใส หลังให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ ผู้นั้นก็ได้บุญ และเป็นบุญที่เจริญแก่ผู้ให้ ดังที่พระพุทธเจ้าเปล่งอุทานครั้งหนึ่ง ดังที่แสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/127/132) ความว่า “บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรย่อมไม่ก่อแก่ผู้สำรวมอยู่” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ททโต ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ สํยมโต เวรํ น วียติ”
การทำบุญของโยมคนนั้นตอบไปตามหลักฐานที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ส่วนการที่เขาป่วยเป็นอัมพาตนั้นตอบไม่ได้ เพราะไม่สามารถไปสืบค้นอดีตชาติของใครได้ สิ่งที่ทำได้จึงเพียงแต่เล่าเรื่องบุพกรรมของคนอื่นๆให้ฟังเท่านั้น เรื่องกฎแห่งกรรมและการให้ผลของกรรมนั้นมีเหตุประกอบอื่นๆอีกหลายอย่าง กรรมใดใครก่อ คนนั้นเป็นผู้รับผลของกรรม กรรมใครกรรมมัน การทำบุญก็เฉกเช่นเดียวกันบุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
31/07/55