อีกไม่กี่วันก็เข้าพรรษาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้พบในช่วงนี้คือการบรรพชาอุปสมบท ซึ่งมีทุกวัน มีการทำขวัญนาค ฉลองนาคไม่เว้นแต่ละวัน นาคบางคนมีงานใหญ่โตมาก มีการทำขวัญนาคกันทั้งวัน แถมตอนกลางคืนยังมีการแสดงดนตรีจากวงดนตรีชื่อดัง เรียกว่าส่งเสียงดังสนุกสนานก่อนบวช กลางคืนเลิกงานเที่ยงคืน พอรุ่งเช้าเริ่มบรรเลงเพลงในงานบวชนาคตั้งแต่ตีห้า พอฟ้าสางสว่างก็เริ่มแห่นาครอบพระอุโบสถ บังเอิญกุฏิที่พักกับศาลาการเปรียญอยู่ติดกัน เปิดเครื่องขยายเสียงเมื่อไหร่ได้ยินเมื่อนั้น ดูเหมือนว่างานบวชในปัจจุบันจะใช้เสียงและจัดงานแข่งกัน ใครที่มีเครื่องขยายเสียงดังกว่า มีขบวนแห่นาคใหญ่กว่าคงจะบวชได้นานประมาณนั้น แต่ข้อเท็จจริงอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น นาคที่ไม่เคยมีพิธีฉลองและไม่เคยมีขบวนแห่นาคอาจจะอุปสมบทอยู่ได้นานหรืออาจจะบวชจนไม่สึกเลยก็ได้ การจะบวชแล้วอยู่ได้ตลอดลอดฝั่งมิใช่ทำได้ง่าย อุปสมบทแล้วจะเป็นพระที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะยากยิ่งกว่า
ยังมีเวลาอีกสี่ห้าวันก่อนจะเข้าพรรษา ยังบวชพระได้อีกหลายรูป พระบวชใหม่ที่ตั้งใจบวชเข้าพรรษาต้องเรียนหลักสูตรนักธรรมชั้นนวกะหรือหลักสูตรพระบวชใหม่สามเดือน คงเป็นหน้าที่ของหลวงตาไซเบอร์ฯอีกนั่นแหละที่จะต้องสอนพระบวชใหม่ หน้าที่นี้ทำมาหลายปีแล้ว เจ้าอาวาสบอกว่าทำได้ดีแล้วจึงควรมอบหน้าที่ในการอบรมพระใหม่ต่อไป พรรษากาลที่ผ่านมามีพระบวชใหม่ห้ารูป ลาสิกขาไปแล้วสองรูปยังอยู่เรียนต่อในระดับนักธรรมชั้นโทอีกสามรูป สอนไปสอนมาพระนวกะเริ่มจะบวชไม่สึกมากขึ้นเรื่อยๆ
ในพระพุทธศาสนามีคำที่เรียกเกี่ยวกับการบวชไว้สองคำคือ “บรรพชา” และ “อุปสมบท” คำว่า “บรรพชา” มาจากภาษาบาลีว่า “ปพฺพชฺชา” เป็นคำนามเพศหญิง(อิตถีลิงค์) แปลว่า บรรพชา การสละชีวิตครองเรือนออกบวช การบวชโดยเฉพาะของสามเณร
“อุปสมบท” มาจากภาษาบาลีว่า “อุปสมฺปทา” เป็นคำนามเพศหญิง(อิตถีลิงค์) แปลว่า การเข้าถึง การอุปสมบท ผู้ที่ผ่านพิธีอุปสมบทจึงเรียกว่า “อุปสัมบัน” ส่วนผู้ที่ไม่ได้บวชเรียกว่า “อนุปสัมบัน”
หากสรุปได้ง่ายตามความเข้าใจของคนในปัจจุบัน “บรรพชา” หมายถึงการบวชเณร สำหรับผู้ที่มีอายุยังไม่ถึงยี่สิบปี ส่วน “อุปสมบท” หมายถึงการบวชพระสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไป ในสมัยพุทธกาลมักจะใช้เรียกควบคู่กันไปว่าบรรพชาอุปสมบท ปัจจุบันจึงเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งผู้ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุจะต้องทำพิธีบรรพชาก่อน พิธีดำเนินต่อเนื่องกันไปจึงนิยมเรียกว่าการบรรพชาอุปสมบท
การบรรพชานั้น พระอานนท์ได้แสดงคาถาสรรเสริญการบรรพชาไว้ในปัพพชาสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต (25/354/367) ความว่า “ข้าพเจ้าจักสรรเสริญบรรพชา อย่างที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุทรงบรรพชา ข้าพเจ้าจักสรรเสริญบรรพชา อย่างที่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงทดลอง อยู่ ทรงพอพระทัยบรรพชาด้วยดี พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ฆราวาสนี้คับแคบ เป็นบ่อเกิดแห่งธุลี และทรงเห็นว่า บรรพชาปลอดโปร่ง จึงทรงบรรพชา พระพุทธเจ้าครั้นทรงบรรพชาแล้ว ทรงเว้นบาปกรรมทางกาย ทรงละวจีทุจริต ทรงชำระอาชีพให้หมดจด พระพุทธเจ้ามีพระลักษณะอันประเสริฐมากมาย ได้เสด็จถึงกรุงราชคฤห์ เสด็จเที่ยวไปยังคิริพชนคร แคว้นมคธ เพื่อบิณฑบาตพระเจ้าพิมพิสารประทับยืนอยู่บนปราสาท ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะ
จึงได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า แน่ะท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงดูภิกษุรูปนี้เถิด ภิกษุรูปนี้มีรูปงามสมบูรณ์ มีฉวีวรรณบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยการเที่ยวไป และเพ่งดูเพียงชั่วแอกมีจักษุทอดลง มีสติ ภิกษุรูปนี้หาเหมือนผู้บวชจากสกุลต่ำไม่ ราชทูตทั้งหลายจงรีบไปเถิด เพื่อทราบว่าภิกษุรูปนี้จักไป ณ ที่ไหน ราชทูตที่พระเจ้าพิมพิสารส่งไปเหล่านั้นได้ติดตามไปข้างหลังเพื่อทราบว่า ภิกษุรูปนี้จะไปที่ไหนจักอยู่ ณ ที่ไหน พระพุทธเจ้าเสด็จไปตามลำดับตรอก ทรงคุ้มครองทวาร สำรวมดีแล้ว มีพระสติสัมปชัญญะ ได้ทรงยังบาตรให้เต็มเร็ว พระองค์ผู้เป็นมุนี เสด็จเที่ยวบิณฑบาตแล้ว เสด็จออกจากพระนคร เสด็จไปยังปัณฑวบรรพตด้วยทรงพระดำริว่า จักประทับอยู่ ณ ที่นั้น ราชทูตทั้งสามเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปสู่ที่ประทับ จึงพากันเข้าไปเฝ้าคนหนึ่งกลับมากราบทูลแต่พระราชาว่า ขอเดชะ ภิกษุรูปนั้นนั่งอยู่เบื้องหน้า ภูเขาปัณฑวะ เหมือนเสือโคร่ง โคอุสุภราชและราชสีห์ในถ้ำ ฉะนั้น พระมหากษัตริย์ ทรงสดับคำของราชทูตแล้ว รีบด่วนเสด็จไปยังปัณฑวบรรพตด้วยยานอันอุดมท้าวเธอเสด็จไปตลอดพื้นที่แห่งยานแล้ว เสด็จลงจากยานเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท เข้าไปถึงปัณฑว บรรพตนั้นแล้ว ประทับนั่ง ครั้นแล้วได้ทรงสนทนาปราศรัย ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ตรัสเนื้อความนี้ว่าท่านยังหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย สมบูรณ์ด้วยความเฟื่องฟูแห่งวรรณะเหมือนกษัตริย์ผู้มีพระชาติ ท่านยังหมู่พลให้งามอยู่ ผู้อันหมู่ประเสริฐ ห้อมล้อมแล้ว ข้าพเจ้าจะให้โภคสมบัติ ขอเชิญท่านบริโภคโภคสมบัติเถิด ท่านอันข้าพเจ้าถามแล้วขอจงบอกชาติแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ
พระพุทธเจ้าตรัสพระคาถาตอบว่า “ดูกรมหาบพิตร ชนบทแห่งแคว้นโกศลซึ่งเป็นที่อยู่ข้างหิมวันตประเทศ สมบูรณ์ด้วยทรัพย์และความเพียร อาตมภาพโดยโคตรชื่ออาทิตย์ โดยชาติชื่อศากยะ ไม่ปรารถนากามเป็นผู้ออกบวชจากสกุลนั้น อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นการบรรพชาเป็นที่ปลอดโปร่ง จักไปเพื่อ ความเพียร ใจของอาตมภาพยินดีในความเพียรนี้”
การบรรพชาเป็นการกระทำของสัตบุรุษหรือคนดีอย่างหนึ่งในสามอย่าง ดังที่แสดงไว้ใน ปัณฑิตสูตร อังคุตรนิกาย ติกนิบาต (20/484/143) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสามประการนี้ บัณฑิตได้บัญญัติไว้ สัตบุรุษได้บัญญัติไว้คือ ทาน บรรพชา มาตาปิตุอุปัฏฐาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสามประการนี้แล บัณฑิตบัญญัติไว้ สัตบุรุษบัญญัติไว้”
ยังมีธรรมสำหรับสัตบุรุษอีกหลายอย่างดังที่พระพุทธเจ้าแสดงต่อไปว่า “ทาน การไม่เบียดเบียน ความสำรวม การฝึกตน การบำรุงมารดาและบิดา สัตบุรุษบัญญัติไว้ เหตุที่บัณฑิตเสพ เป็นเหตุของสัตบุรุษ ผู้เป็นคนดี เป็นพรหมจารีบุคคล ผู้ที่เป็นอริยสมบูรณ์ด้วยทัศนะ ย่อมคบโลกอันเกษม”
หลังทำวัตรสวดมนต์เย็นพระบวชใหม่รูปหนึ่งเข้ามาหายกมือไหว้และถามว่า “ผมจะเรียนนักธรรม อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยว่าควรจะใช้หนังสืออะไร ผมจะได้ให้ญาติโยมไปหาซื้อมา” เมื่อบอกชื่อหนังสือที่จะต้องเรียนแล้ว พระบวชใหม่รูปนั้นหันมาถามว่า “ทำอย่างไรจึงบวชอยู่ได้นาน”
เจอคำถามนี้เข้าแม้จะเป็นคำถามที่แสนธรรมดา แต่ตอบยาก ตามปรกติมักจะเป็นผู้สัมภาษณ์คนอื่น แต่พอมาพบพระใหม่มาสัมภาษณ์จึงพูดไม่ออก จึงได้แต่ตอบเพียงสั้นว่าๆ “ต้องอดต้องทน” แต่พอพระนวกะรูปนั้นลาไปแล้วจึงมาย้อนคิดว่า “เราต้องอดต้องทนเรื่องอะไร มีเหตุผลอะไรที่อุตส่าห์อดทนมาจนถึงปัจจุบันนี้”
ชีวิตฆราวาสกับชีวิตพระอยู่กันคนละทาง แตกต่างกันคนละขั้ว หากจะบอกว่าจริงๆแล้วก็ไม่ได้ตั้งใจจะบวช แม้บวชแล้วก็ไม่คิดว่าจะอยู่ได้ ทุกอย่างเป็นเหตุบังเอิญ บวชก็บังเอิญไม่มีพิธีฉลองอะไรเลย ในยุคนั้นวัดป่าในชนบทผู้ที่จะบวชจะต้อง “เข้านาค” อย่างน้อยหนึ่งเดือนเพื่อเตรียมความพร้อมเรียนรู้พิธีกรรม เรียนรู้กิจวัตรต่างๆของพระสงฆ์ให้เข้าใจโดยลงมือปฏิบัติตนเหมือนพระสงฆ์รูปหนึ่ง เพียงแต่ต้องนุ่งขาวข่มขาว ชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่า “ตาปะขาว” หากพระอุปัชฌาย์ยังไม่พอใจในการปฏิบัติก็ต้องอยู่ในเพศตาปะขาวต่อไป บางคนกว่าที่จะได้บวชต้อง “เข้านาค” นานหลายปี บางคนสึกนาคก่อนที่จะได้บวชก็เคยมี
ตอนนั้นทำพิธี “เข้านาค”มาแล้วประมาณครึ่งเดือน แต่ท่องคำขอบวชได้หมดแล้ว ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาในการอุปสมบท ตั้งใจว่าก่อนเข้าพรรษา พระอุปัชฌาย์คงกำหนดวันเวลาในการบวชให้ ตาปะขาวจึงทำหน้าที่เป็นผู้ติดตามพระอุปัชฌาย์ไปทำพิธีบรรพชาอุปสมบทตามวัดต่างๆ เพราะในอำเภอนั้นมีพระอุปัชฌาย์เพียงรูปเดียว
วันหนึ่งมีพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่หลายรูป บังเอิญว่านาคที่เตรียมตัวจะอุปสมบทในวันนั้นขาดไปหนึ่งนาค เจ้าภาพต้องการบวชให้ครบตามจำนวน พระอุปัชฌาย์จึงเรียกเข้าไปในพระอุโบสถและให้มัคนายกมอบผ้าไตรให้ จากนั้นก็เข้าพิธีอุปสมบท แม้จะเป็นนาคคนสุดท้ายที่ครบตามจำนวน แต่ทว่าอายุมากที่สุดจึงได้อุปสมบทเป็นรูปแรก ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องบวชทุกประการจึงมีเจ้าภาพบวชให้ฟรี ทุกวันนี้แม้แต่ปัจจัยถวายพระอุปัชฌาย์ก็ยังไม่ถวาย ตอนนั้นยังงงๆกับการที่อยู่ดีๆก็กลายเป็นพระภิกษุโดยบังเอิญ เครื่องบวชและเครื่องบริขารทั้งหลายที่พ่อแม่เตรียมไว้ให้จึงไม่ได้ใช้ ในพิธีอุปสมบทก็ไม่มีญาติพี่น้องแม้แต่คนเดียว พอกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดอีกที พ่อแม่ก็ตกใจ เพราะเครื่องบริขารยังอยู่ที่บ้านอยู่เลย ต้องบริจาคให้คนอื่นไป
หลวงตาไซเบอร์ฯอุปสมบทด้วยความบังเอิญแท้ๆ และอยู่ในเพศสมณะมาได้จนถึงปัจจุบันสามสิบกว่าปีมาแล้วก็อยู่มาเรื่อยๆโดยไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ทำงานมาก ไม่ได้มีคุณธรรมชั้นสูงอะไร เป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดาๆรูปหนึ่ง หิวบ้างอิ่มบ้างตามสมควร ส่วนหนึ่งที่ทำให้อยู่ในพระศาสนาได้เพราะการศึกษาคือค่อยๆเรียนไปตามลำดับทั้งนักธรรมนั่นก็ใช้เวลาสามปี จากนั้นก็เรียนภาษาบาลีสอบตกบ้างสอบได้บ้าง โดยถือคติง่ายๆว่า “สอบตกเรียนใหม่ สอบได้เรียนต่อ” แม้จนถึงปัจจุบันก็ยังเรียนไม่จบตามหลักสูตรสักที ใจหนึ่งก็อยากเรียนให้จบแต่อีกใจหนึ่งเหลือไว้บ้างก็ดีจะได้มีเวลาในการศึกษาต่อไปได้อีก หากเรียนจบหมดแล้วจะไม่มีอะไรให้ทำ หากเป็นทั้งดอกเตอร์และเปรียญธรรมเก้าประโยคแล้ว ก็ไม่รู้จะมีอะไรให้ศึกษาอีก ชีวิตคงเงียบเหงา เหลือไว้สักอย่างก็คงไม่เป็นไร แม้ทุกวันนี้ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนภาษาบาลี เพราะเรียนยังไม่จบชั้นสูงสุดตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ไทยคือเปรียญธรรมเก้าประโยค แต่คงอีกไม่นานตั้งใจว่าอายุครบหกสิบปีเมื่อไหร่จึงจะเลิกเรียน ตอนนี้ก็ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว
การบรรพชาอุปสมบทนั้นมีเวลาในการศึกษาและปฏิบัติธรรมได้มากกว่าฆราวาส เพราะไม่มีเครื่องกังวลมาก ฆราวาสคับแคบแต่บรรพชาปลอดโปร่ง ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงแก่ช่างไม้ ในถปติสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/1147/400) ความว่า “ดูกรช่างไม้ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง ท่านทั้งหลายควรไม่ประมาท”
ในอรรถกถาถปติสูตร (หน้า 289) อธิบายจากคำในภาษบาลีว่า “สมฺพาโธ ฆราวาโส รชาปโถ อพฺโภกาโส ปพฺพชฺชํ” แปลความว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง” คำว่า “ฆราวาสคับแคบ” ไว้ว่า การอยู่ครองเรือนนั้นคับแคบเพราะมีกิเลสเครื่องกังวล และมีความห่วงใยในทรัพย์สมบัติมาก คำว่า “เป็นทางมาแห่งธุลี” หมายถึงเป็นทางมาแห่งธุลีคือราคะ โทสะ และโมหะ
ส่วนคำว่า “บรรพชาปลอดโปร่ง” หมายถึงปลอดโปร่งเพราะไม่มีกิเลสชาติเครื่องกังวล และไม่มีความห่วงใย ชีวิตพระมีอิสรเสรีจะเดินทางไปธุดงค์ยังสถานที่ต่างๆก็ทำได้ง่าย ยิ่งในประเทศไทยมีทั้งวัดป่าและวัดในเมือง หากมีจิตใจใฝ่ในทางคันถธุระหรือการศึกษาก็สามรถศึกษาเล่าเรียนในสำนักต่างๆได้ หรือหากมีใจใฝ่ไปในทางวิปัสสนาธุระก็สามารถเดินทางไปยังวัดป่าต่างๆได้ การเรียนในพระพุทธศาสนาแสดงไว้สองอย่างคือคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ใครที่จิตใจฝักใฝ่ทางไหนก็เลือกปฏิบัติได้
นั่นคือความหมายของคำว่า “ฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง” แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันดูเหมือนกับว่าฆราวาสจะทำงานได้มากกว่า ส่วนบรรพชิตทำงานได้น้อยกว่า งานของฆราวาสและงานของบรรพชิตต่างกัน ความสุขก็ต่างกัน กล่าวโดยสรุปความสุขมีสองประเภทดังที่แสดงไว้ในอังคุตรนิกาย ทุกนิบาต(20/309/74) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ คือ สุขของคฤหัสถ์ สุขเกิดแต่บรรพชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุขสองอย่างนี้ สุขเกิดแต่บรรพชาเป็นเลิศ”
สุขของคฤหัสถ์ส่วนหนึ่งมาจากกามสุข แต่สุขของบรรพชิตคือความสงบ ดังแสดงไว้อังคุตรนิกาย ทุกนิบาต (20/315/75)ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้คือกายิกสุข (สุขทางกาย) เจตสิกสุข (สุขทางใจ) ดูกรภิกษุทั้งหลายสุขสองอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุขสองอย่างนี้ เจตสิกสุขเป็นเลิศ”
จนถึงวันนี้ยังมีเสียงทำขวัญนาค เสียงเพลงจากเวทีฉลอง “นาค” ก่อนที่จะเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทในวันรุ่งขึ้น รู้สึกมีใจยินดีกับนาคที่กำลังจะบวชที่มีโอกาสได้จัดงานบวช คงอีกไม่กี่วันเสียงเพลงเสียงทำขวัญนาคจะเงียบเสียงลง สำหรับผู้ที่บวชโดยไม่เคยมีพิธีทำขวัญนาคไม่เคยมีขบวนแห่นาคมาก่อนอย่างหลวงตาไซเบอร์ฯก็ได้แต่อนุโมทนา และยังหวังไว้ในใจลึกๆว่านาคเหล่านี้เมื่ออุปสมบทแล้วจะอยู่ในศาสนาต่อไปได้นานหลายพรรษา จะได้เป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ไปอีกนาน เมื่อยังมีผู้บรรพชาอุปสมบทก็ยังมีผู้ร่วมเดินทาง เป็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสบอกไว้ว่า "การบรรพชาเป็นทางที่ปลอดโปร่ง"
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
29/07/55