มีภาษิตโบราณอยู่บทหนึ่งสอนว่า “ช้าๆได้พร้าเล่มงาม” ซึ่งน่าจะตรงกันข้ามกับสุภาษิตที่ว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ตกลงว่าสุภาษิตทั้งสองนี้จะนำมาใช้ในเหตุการณ์เช่นไรจึงจะเหมาะกับกาลสมัย งานบางอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปจะรีบร้อนด่วนทำไม่ได้ ต้องรอเวลา ท่านมักจะนำมาใช้กับการศึกษาที่จะต้องค่อยๆก้าวไปทีละขั้น เรียนที่ละชั้นตามลำดับ จะใจร้อนรีบเรียนไม่ได้ เพราะระบบการศึกษากำหนดไว้อย่างนั้น ขืนใจร้อนก็จะกลายเป็นประเภทชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งผลไม้ประเภทใดก็ตามหากต้องการให้สุกก่อนถึงเวลาที่เหมาะสมมักจะมีรสชาติที่ไม่กลมกล่อม ไม่อร่อยเท่าที่ควรจะเป็น
พึ่งรู้ตัวว่าร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงก็ตอนที่จะต้องเดินขึ้นเขาที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ที่จริงจะเรียกว่าภูเขาก็ไม่ถูกนักเพราะเป็นเพียงเนินเขาเตี้ยๆ เส้นทางแสนธรรมดา แต่เส้นทางวกวนต้องเดินตามขั้นบันไดเพื่อไปดูหินรูปร่างแปลกๆเท่าที่จะจินตนาการเช่นหินรูปถ้วยฟุตบอลโลก หินจานเรดาร์ หินช้างเอราวัณ หินแม่ไก่ยักษ์เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาอีกแห่งหนึ่ง นัยว่าหินเหล่านี้ดำรงอยู่ที่นี่มานานนับล้านปีแล้ว
วันนั้นบ่ายแล้วผู้คนเริ่มน้อยลง แต่ก็ยังมีคนร่วมเดินทางอีกหลายคน ในบรรดาผู้คนเหล่านั้นเห็นคุณยายคนหนึ่งอายุน่าจะเจ็ดปีแล้ว หลังค่อมลงเล็กน้อยตามวัย เดินตามหลังทุกคนดูเหมือนจะไม่ค่อยมีแรง แต่ทว่ายายยังเดินไปเรื่อยๆ เดินช้าๆปล่อยให้คนอื่นเดินนำหน้าไปก่อน หลวงตาเองก็เดินคุยกับยายไปเรื่อยๆ บางครั้งหยุดถ่ายภาพจึงเดินตามหลังคุณยายไป แต่พอเดินไปได้สักพักก็เดินนำหน้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอันเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่อยู่สูงที่สุด มองกลับมายังเห็นคนยายค่อยๆเดินมาแต่เริ่มห่างและไกลออกไปทุกที ก็ยังดีที่ยังมีหลานชายคนหนึ่งคอยเดินตามหลังคุณยายอย่างไม่ยอมห่าง
ไปยังไม่ถึงที่หมายพวกเด็กๆที่วิ่งขึ้นเขาก่อนหน้านั้นเริ่มนั่งพักกันแล้ว เด็กใจร้อนอยากไปให้ถึงเป้าหมายให้เร็วที่สุดบางคนจึงใช้วิธีวิ่งเพื่อจะได้ไปถึงจุดหมายให้เร็วก่อนคนอื่น จึงเหนื่อยง่ายและเริ่มมองหาที่พัก บางคนนั่งพักเหนื่อยใต้ก้อนหิน บางคนนั่งหลบแดดใต้ต้นไม้ แต่คุณยายยังคงเดินหน้าต่อไป เดินช้าๆแต่ไม่หยุดพัก ในที่สุดคุณยายคนนั้นก็ไปถึงจุดหมายจึงนั่งลงพักผ่อนและดื่มน้ำอย่างใจเย็น
อากาศในป่าหินงามร้อนระอุทุกคนจึงมีเหงื่อโทรมกาย จึงหันไปคุยกับคุณยายว่าในทำนองว่าไม่เหนื่อยหรือ ยายบอกว่าเหนื่อยแต่ยังไหว พอทนได้ จากนั้นจึงเริ่มการสนทนาไปเรื่อยๆพลางชมความงดงามและความแปลกของบรรดาป่าหินงามไปด้วย
ยายจึงเล่าให้ฟังว่า “บ้านยายอยู่อำเภอหนองบัวลำภู เคยได้ยินเขาเล่าลือว่าที่นี่มีดอกกระเจียวงดงามมาก และยังมีหินรูปร่างแปลกๆจึงอยากจะมาชมดูให้เห็นกับตา ตั้งใจไว้หลายปีแล้ว แต่ไม่เคยมีโอกาส ครั้งนี้เป็นครั้งแรกและคงจะเป็นครั้งสุดท้าย ยายอายุใกล้แปดสิบปีแล้ว คนแก่ไม่เหมือนพวกเด็กๆแม้จิตใจจะยังสู้แต่ทว่าร่างกายรับไม่ค่อยไหว มันเหนื่อยง่ายแต่หายช้า สมัยที่ยายเป็นเด็กก็ไม่เคยมีใครเล่าเรื่องป่าหินงามให้ฟัง มาได้ยินก็สักสี่ห้ามาแล้ว เลยตั้งใจว่าอยากจะมาดูให้เห็นกับตา มันก็คือหินธรรมดานี่แหละที่หนองบัวลำภูก็มี” ยายเริ่มมีรอยยิ้มคงเพราะหายเหนื่อยแล้ว
จากนั้นจึงเริ่มสนทนาต่อไปว่า “ยายมีอาชีพทำไร่ทำนา พอหมดหน้าทำนาก็ทำสวน หรือไม่ก็หาเก็บของป่าเช่นผักหวาน เห็ด หรือแม้แต่ดอกกระเจียวเอามาลวกจิ้มกับน้ำพริก นี่ถ้าเขาไม่ห้ามยายคงเก็บไปขายได้หลายบาทอยู่” ยายว่าไปนั่นพลางหันไปมองยอดไม้ที่กำลังออกใบอ่อน ก่อนจะบอกว่า “ใบของต้นไม้ต้นนั้นก็กินได้ ต้นโน่นก็เป็นยา ต้นไม้ทุกต้นไม่เป็นอาหารก็เป็นยา ยายไม่ได้ป่วยเป็นอะไรเลยเพราะกินอาหารประเภทที่เป็นยามาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว”
ตอนนั้นคิดถึงหมอชีวกโกมารภัฏที่บอกว่า “ต้นไม้ทุกต้นเป็นยาได้หมด” บางต้นใช้ราก บางต้นใช้ดอก บางต้นใช้ผล ในชนบทยังมีหมอยาพื้นบ้านที่รักษาโรคด้วยสมุนไพร แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปคนก็หันไปใช้ยาที่ทันสมัย แต่ทว่าก็ยังยังรักษาโรคบางอย่างให้หายหาดไม่ได้ ปัจจุบันมีคนป่วยด้วยโรคใหม่ๆให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่กี่วันที่ผ่านมาแถวชายแดนประเทศกัมพูชาก็มีคนป่วยด้วยโรคประหลาดเสียชีวิตไปหลายคน ที่จังหวัดขอนแก่นมีคนเสียชีวิตด้วยโรคที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นเพราะ “ผีปอบ” ซึ่งหากทำการศึกษาให้ดีอาจจะเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่งที่ยังไม่ทราบสาเหตุก็ได้
โบราณมีคำกล่าวไว้ว่า “ช้าไม่ทันกาล นานไม่ทันกิน” หมายถึงงานบางอย่างต้องรีบ หากชักช้าจะไม่ทันคนอื่นเขา การเก็บของป่าก็เหมือนกัน หากตื่นสายคนอื่นเขาเอาไปกินหมด เห็ดบางชนิดมักจะเกิดอยู่ในที่บางแห่ง ต้องรีบไปให้ทัน ไม่อย่างนั้นก็จะเหลือแต่ซาก ยายเป็นคนป่าจึงไม่รู้จะหาตัวอย่างที่ไหน สิ่งที่ได้มาจึงประสบพบเห็นด้วยตนเอง สุภาษิตนี้เหมาะกับคนในวัยหนุ่มสาว แต่พออายุมากขึ้นยายถือคติโดยเปลี่ยนเสียใหม่ว่า “ช้าจึงทันกาล นานจึงทันกิน” ร่างกายที่แก่ชราตามวัยจึงต้องค่อยๆเดิน แต่เดินไปเรื่อยๆเหนื่อยก็พักในที่สุดก็ถึงจุดหมายได้เหมือนกัน”
ตอนยังเป็นหนุ่มสาวคนโบราณก็สอนว่า “ให้ตื่นแต่ดึก สึกแต่ยังหนุ่ม” คือจะทำอะไรก็รีบทำ จะศึกษาเล่าเรียนอะไรก็ต้องรีบเรียน หากบวชพระพอรู้ตัวว่าจะอยู่ในศาสนาต่อไปไม่ได้ ก็ให้รีบลาสิกขาออกไปดำเนินชีวิตตามครรลองแห่งฆราวาสวิสัย เพราะหากปล่อยเวลาให้ผ่านไป ลาสิกขาตอนแก่จะทำอะไรก็ไม่ทันกาล มีลูกมีหลานไม่ทันได้ใช้งาน
เที่ยวชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ป่าหินงามและทุ่งดอกกระเจียว ยังได้ฟังปรัชญาชีวิตของคนธรรมดาเป็นยายชราอายุใกล้แปดสิบคนนั้น ธรรมชาติมีความเป็นธรรมดาดำรงอยู่อย่างนั้นมาเนิ่นนานชั่วนาตาปี แต่เมื่อมนุษย์มองเห็นความแปลก สถานที่ธรรมดาก็กลายเป็นสถานที่ที่มีผู้คนอยากไปเยี่ยมชม เหมือนยายชราคนนั้นแม้จะแก่แล้วแต่ก็ยังอยากไปดูให้เห็นกับตาตนเองสักครั้งหนึ่งชีวิต
สมัยเป็นหนุ่มเคยจำสุภาษิตโบราณว่า “ช้าไม่ทันกาล นานไม่ทันกิน” จะทำอะไรจึงรีบคิดรีบทำเพราะเกรงว่าหากช้าจะไม่ทันคนอื่น ตอนนี้ชีวิตเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่วัยชราแล้ว วันเวลาเหลือน้อยจึงต้องขอพึ่งปรัชญาชีวิตจากคุณยายชาวบ้านธรรมดาคนนั้น “ช้าๆได้พร้าเล่มงาม ช้าจึงทันกาล นานจึงทันกิน” ชีวิตในวัยเริ่มเดินเข้าสู่ความชราจึงต้องเดินช้าลง รีบร้อนเหมือนตอนเป็นหนุ่มไม่ได้ หากอยากจะอยู่ดูโลกนี้ต่อไปนานๆ ต้องรักษาสุขภาพร่างกายและรักษาความสมดุลของจิตใจไว้ “รักษากายไม่ให้วิปริต รักษาจิตไม่ให้วิปลาส” จะได้อยู่ดูโลกนี้ต่อไปอย่างมีความสุขทั้งกายและจิตใจ หากจะถือตามสุภาษิตใดต้องเลือกให้ถูกกับกาลสมัยและสมควรแก่วัย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/07/55