ช่วงนี้อยู่ในฤดูฝน ฝนตกแทบทุกวัน เดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องเผื่อเวลาเอาไว้ เพราะหากฝนตกกรุงเทพมหานครก็มักจะประสบกับรถติด ฝนตกรถติดนี่เป็นของคู่กันกับนครหลวงมานานแล้ว ฝนตกชาวนาดีใจส่วนคนในเมืองเดือดร้อน แม้จะไม่ได้ทำนามานานแล้ว แต่เมื่อใดก็ตามได้เห็นชาวนากำลังทำนาก็มักจะหวนระลึกย้อนกลับไปยังอดีตเมื่อครั้งเป็นเด็กที่เคยทำนาอยู่กลางทุ่ง ในช่วงดำนาเท้าเลอะโคลนร่างกายเปียกปอนจากฝนทนสู้กับความร้อนของเปลวแดด นั่นเป็นเรื่องของชาวนาเมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันการทำนาทำได้ง่ายเพราะมีเครื่องมือที่ทันสมัย แต่หากเมื่อใดได้เห็นชาวนากำลังทำนาจะเฝ้าดูด้วยความเพลิดเพลิน ดูเขาทำนาแบบธรรมชาติดั้งเดิมยิ่งมีความสุข
โลกเจริญขึ้นด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ จะติดต่อสื่อสารกับคนในอีกซีกโลกหนึ่งก็เพียงแต่ยกโทรศัพท์ก็สามารถคุยกันได้แล้ว หรือหากอยากรู้ข่าวสารอะไรที่เกิดขึ้นในโลกแห่งนี้ก็สามารถเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์และค้นหาข่าวได้ทันที ดูเหมือนว่าเมื่อโลกเจริญมากขึ้น แต่ทว่าการทำงานของมนุษย์กลับเดินช้าลง เพราะยิ่งมีข้อมูลมากก็ต้องคิดมาก เพราะหากคิดผิดอาจจะก่อให้เกิดความเสียหาไปทั้งองค์กรได้ หรือบางครั้งหากตัดสินใจช้าไปก็อาจจะไม่ทันคนอื่นอาจจะนำมาซึ่งความเสียหาได้อีก เรียกว่าเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง บางครั้งก็ต้องช้า บางครั้งก็ต้องเร็ว ส่วนจะช้าหรือเร็วในกาลใดนั้น อยู่ที่ภูมิปัญญาของแต่ละคน ชาวนาบางคนขายที่นาเพื่อให้พ่อค้าไปทำบ้านจัดสรร ส่วนตัวเองก็เช่าบ้านจัดสรรที่สร้างบนพื้นที่ที่เคยเป็นที่นาของตนนั่นเองอยู่อาศัย นับวันคนที่ประกอบอาชีพชาวนาในประเทศไทยเหลือน้อยลงทุกที
วันนี้ตั้งชื่อเรื่องเป็นภาษาบาลีมาจากวุฏฐิสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/206/58) คำว่า “วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา แปลว่า “บรรดาสิ่งที่งอกขึ้นวิชชา(ความรู้)ประเสริฐที่สุด” เป็นคาถาที่พระพุทธเจ้าตอบเทวดาที่บอกว่า ““พีชํ อุปฺปตตํ เสฏฺฐํ แปลว่า “บรรดาสิ่งที่งอกขึ้นข้าวกล้าประเสริฐที่สุด” ข้าวกล้ากับความรู้อันไหนประเสริฐกว่ากัน
วันนั้นขณะที่รถวิ่งผ่านท้องทุ่งอันเขียวชอุ่มด้วยข้าวกล้า มองเห็นชาวนาคนหนึ่งถือเคียวเกี่ยวหญ้าเดินตามคูนา เขาค่อยๆเกี่ยวหญ้าและเดินไปตามคูนาอย่างไม่รีบร้อน คอยดูว่าน้ำในนาเพียงพอกับข้าวกล้าหรือไม่ หากมีน้อยไปต้นข้าวในนานอาจจะเจริญงอกงามได้ไม่เต็มที่ หรือหากมีน้ำมากไปข้าวก็ออกรวงช้า ข้าวบางพันธุ์ต้องการน้ำมาก ส่วนบางพันธุ์ต้องการน้ำน้อย ข้าวแต่ละพันธุ์ต้องการปริมาณน้าไม่เท่ากัน ข้าวงอกขึ้นจากพื้นดินเป็นสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์ต่อไป
สิ่งที่งอกขึ้นจากพื้นดินข้าวกล้านี่แหละที่เป็นสิ่งประเสริฐอย่างหนึ่ง แต่ทว่าในบรรดาสิ่งที่งอกขึ้นนั้น ไม่ได้มาจากพื้นดินอย่างเดียวยังมาจากที่อื่นๆด้วย ในขณะที่ชาวนารอน้ำจากฝนจึงดูเหมือนว่าสิ่งที่ตกลงมาจากฟากฟ้าคือฝนนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐของชาวนา เพราะหากการทำนาไม่มีน้ำพืชพันธุ์ธัญญาหารก็ยากที่เจริญงอกงามได้ ข้าวกล้าคือผลิตผลอันยิ่งใหญ่ของชาวนา
ครั้งหนึ่งเทวดาได้ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งที่ตกไปดังที่แสดงไว้ในวุฏฐิสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค(15/204-206 /58) ความว่า เทวดาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งอะไรหนอประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไปอะไรหนอประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า ใครเป็นผู้ประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม ใครเป็นผู้ประเสริฐ”
ส่วนเทวดาอีกผู้หนึ่งแก้ว่า “บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ข้าวกล้าเป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป ฝนเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เหล่าโคเป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม บุตรเป็นประเสริฐ เพราะบุตรไม่กล่าวร้ายมารดาบิดา”
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสตอบแก่เทวดาทั้งสองนั้นว่า “บรรดาสิ่งที่งอกขึ้นความรู้เป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไปอวิชชาเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้าพระสงฆ์เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นประเสริฐ”
เทวดาทั้งท่านที่สองนี้ในอดีตชาติคงเคยเกิดเป็นชาวนาจึงมองถึงข้าวกล้า ฝน โคว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ หากเทวดาเกิดในยุคนี้อาจจะบอกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ประเสริฐที่สุดก็ได้ เพราะสามารถสร้างสรรค์ตัวอักษร ภาพถ่าย เสียงให้งอกขึ้นจากอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่างๆ คำตอบของเทวดาก็น่าเชื่อถือ ข้าวกล้างอกขึ้นจากพื้นปฐพีเจริญงอกงามและกลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงร่างกายทำให้มนุษย์มีชีวิตต่อไปได้
ในอรรถกถาวุฏฐิสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 หน้าที่ 303 ได้อธิบายไว้ว่า “คำว่า “ข้าวกล้า” แปลมาจากคำว่า “พีชํ” ได้แก่ ธัญญพืชเจ็ดชนิด ชื่อว่าประเสริฐกว่าพืชทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะว่าเมื่อธัญญพืชนั้นงอกขึ้นแล้ว ชนบทย่อมเป็นแดนเกษมคือมีภิกษาหาได้โดยง่าย
คำว่า “สิ่งที่ตกไป แปลมาจากคำว่า นิปตตํ” หมายถึง แม้บรรดาสิ่งที่ตกไปทั้งหลาย เมฆฝนประเสริฐเพราะเมื่อเมฆฝนมีอยู่ ข้าวกล้าทั้งหลาย ชนิดต่าง ๆ ย่อมเกิดงอกขึ้น ชนบทย่อมเจริญเป็นแดนเกษม มีภิกษาหาได้โดยง่าย
คำว่า “สัตว์ที่เดินด้วยลำแข้ง แปลมาจากคำว่า “ปวชฺชมานานํ” ความว่า บรรดาสัตว์เดินด้วยลำแข้ง คือ ไปด้วยเท้าทั้งหลายโคประเสริฐ เพราะสัตว์ทั้งหลายได้อาศัยบริโภคเบญจโครสแล้วย่อมอยู่สบาย
คำว่า “ผู้แถลงคารม แปลมาจากคำว่า “ปวทตํ” หมายถึงบรรดาผู้แถลงคารมคือบุคคลผู้พูดในที่ทั้งหลายมีท่ามกลางแห่งราชสกุลเป็นต้น บุตรประเสริฐเพราะบุตรนั้นย่อมไม่กล่าวร้ายให้มารดาบิดา
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่เทวดานั้นคำว่า “ความรู้” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “วิชฺชา” ได้แก่วิชชาในมรรค 4 เพราะว่าวิชชานั้นเมื่อเกิดย่อมถอนขึ้นซึ่งอกุศลธรรมทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา” แปลว่าบรรดาสิ่งที่งอกขึ้นวิชชาเป็นประเสริฐ
คำว่า “อวิชฺชา” ได้แก่มหาอวิชชาอันมีวัฏฏะเป็นมูลเพราะอวิชชาที่ตกไป นั่นเป็นสิ่งประเสริฐกว่าสิ่งที่ตกไป คือที่จมลงไป ส่วนบรรดาสัตว์ผู้ไปด้วยเท้าคือผู้ไปด้วยลำแข้ง พระสงฆ์ผู้เป็นนาบุญอันไม่ทรามเป็นผู้ประเสริฐ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายเห็นพระสงฆ์นั้นในที่นั้น ๆ แล้ว ย่อมถึงความสวัสดี
บรรดาชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้แถลงคารมพระพุทธเจ้าเป็นผู้ยอดเยี่ยม เพราะว่าเหล่าสัตว์ทั้งหลายจำนวนหลายแสนอาศัยการแสดงธรรมของพระองค์แล้ว ก็หลุดพ้นจากเครื่องผูกได้”
ในพระสูตรนี้แสดงสิ่งที่ยอดเยี่ยมทั้งสี่ประเภทคือ “สิ่งที่งอกขึ้น สิ่งที่ตกไป ผู้ที่เดินด้วยเท้า และผู้แถลงคารม” ความเห็นของเทวดากับความเห็นของพระพุทธเจ้าต่างกัน
ชาวนาคนนั้นยังคงถือเคียวเกี่ยวหญ้าที่งอกขึ้นตามคูนาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในขณะเดียวกันก็คอยดูว่าควรจะให้ปุ๋ยหรือเพิ่มน้ำลดปริมาณของน้ำในนานให้พอดี การที่ข้าวกล้าในนาเจริญงอกงามและออกรวงจนให้ผลผลิตได้นั้นมาจากความรู้ในการทำนา หากปล่อยให้ข้าวกล้าในนาเจริญงอกงามไปตามยถากรรม ผลผลิตที่ได้อาจจะไม่ดีนัก แต่การที่ข้าวกล้างอกงามและให้ผลผลิตเต็มที่นั้นส่วนหนึ่งมาจาก “องค์ความรู้” ของชาวนาที่สั่งสมประสบการณ์มานานหลายปี คนทุกคนอาจจะสามารถทำนาได้ แต่คนที่ทำนาได้ดีคือคนที่มีความรู้อย่างดีในการทำนา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
06/07/55