ในงานฌาปนกิจของคุณยายคนหนึ่งที่พึ่งเสียชีวิตด้วยวัย 92 ปี เป็นคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้วัดมายาวนานตลอดชีวิต มีอาชีพเป็นชาวสวน ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำสวนผลไม้เช่นทุเรียน มังคุด ขนุนเป็นต้น จนสามารถส่งลูกเรียนหนังสือจนจบปริญญาแทบทุกคน แต่ปัจจุบันสวนผลไม้ได้แปรสภาพเป็นบ้านจัดสรรและหอพักนักศึกษาไปเกือบหมดแล้ว คุณยายจึงเลิกทำสวนส่วนลูกหลานเปลี่ยนจากอาชีพชาวสวนมาเป็นเจ้าของหอพักบ้านจัดสรร เป็นตระกูลที่มีอันจะกินตระกูลหนึ่งและช่วยเหลือเกื้อหนุนกับวัดมาโดยตลอด พอคุณยายเสียชีวิตลง ในวันที่จะทำพิธีฌาปนกิจลูกหลานนิมนต์พระสงฆ์เทศน์แจงและสวดแจง
เหตุทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากคำว่า “เทศน์แจงสวดแจง” นี่แหละ เพราะผู้ที่เจ้าภาพนิมนต์เป็นองค์แสดงธรรมในวันนั้นคือพระมหาบุญไทย ปุญญมโน ซึ่งไม่เคยแสดงธรรมว่าด้วยการเทศน์แจงมาก่อนเลย แต่รับนิมนต์แล้วก็ต้องทำตามหน้าที่บิดพริ้วหรือหลบหนีไปไหนไม่ได้ หาพระสงฆ์รูปอื่นแสดงแทนก็ไม่ทันจึงต้องแสดงเสียเอง จากนั้นจึงหาข้อมูลว้าด้วยการเทศน์แจงคืออะไร เทศน์อย่างไร
คำว่า “แจง” แปลว่า ขยายความ กระจายความ ใช้เรียกการเทศน์สังคายนาหรือเทศน์สอบทานพระธรรมวินัยโดยเฉพาะในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 นิยมเรียกการเทศน์ในลักษณะนี้ว่า "เทศน์แจง"
ดังนั้น "การเทศน์แจง" คือการเทศน์เรื่องการทำสังคายนาครั้งแรกในพระพุทธศาสนา เนื้อหาของการเทศน์แจงคือขยายความข้อธรรมและข้อวินัยในพระธรรมปิฎกโดยย่อพอให้เป็นกริยาบุญ นิยมเทศน์ในงานศพของผู้ใหญ่ โดยถือว่าการเทศน์แจงเป็นบุญใหญ่ เป็นการรักษาพระธรรมวินัยไว้ เป็นการเลียนแบบการทำสังคายนาครั้งแรก ซึ่งมีผลทำให้รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ตราบเท่าทุกวันนี้
"การสวดแจง" ก็คือการสวดสาธยายพระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรมโดยย่อโดยเจ้าภาพนิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนมากมาร่วมสวดในงานฌาปนกิจ หากนิมนต์ได้ครบ 500 รูปเท่ากับจำนวนการทำสังคายนาครั้งแรกได้ยิ่งดี แต่ถ้าพระสงฆ์ไม่ครบก็ให้นิมนต์เท่าที่พอจะหาได้
จากหนังสือศาสนพิธีหลักสูตรนักธรรมชั้นโทระบุว่า “พิธีสวดแจงมักจะทำในงานฌาปนกิจศพ นิยมจัดให้มีเทศน์สังคีติคาถา หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า “เทศน์แจง” จะเทศน์ธรรมาสน์เดียวหรือสามธรรมาสน์โดยปุจฉาวิสัชนา ก็แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ ซึ่งเลียนแบบมาจากสังคายนาครั้งที่หนึ่ง กับทั้งเป็นอุบายประชุมสงฆ์เพื่อให้งานปลงศพนั้นๆคึกคักเป็นพิเศษ ที่เรียกว่าสวดแจงหรือเทศน์แจง จึงหมายถึงการแสดงธรรมแจกแจงวัตถุและหัวข้อในพระไตรปิฎกออกให้ที่ประชุมได้ทราบ และสวดหัวข้อที่ตกลงแจกแจงละเอียดนั้นๆ ซึ่งคือพระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรมโดยย่อ มีข้อที่พึงปฏิบัติดังนี้
1.โดยปรกติการสวดแจงและเทศน์แจง จัดให้มีในงานฌาปนกิจก่อนหน้าเวลาฌาปนกิจ ในวัดหรือฌาปนสถาน ฝ่ายเจ้าภาพพึงจัดธรรมาสน์ และอาสนสงฆ์ตามจำนวนที่นิมนต์มาสวดให้เพียงพอ
2. ฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับนิมนต์ไปสวดแจงพึงไปถึงสถานที่พิธีก่อนกำหนดเวลา ทุกรูปพึงประนมมือฟังด้วยความเคารพ เมื่อผู้เทศน์เผดียงให้สวดพึงสวดโดยลำดับดังนี้
สวดบทนมัสการ นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (3 จบ)
สวดบาลีพระวินัยปิฎก เริ่มต้นว่า "ยนฺเตน ภควตา ชานาตา ปสฺสตา อรหตา สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ปฐมํ ปาราชิกํ กตฺถ ปญฺญตฺติ....
สวดบาลี พระสุตตันตปิฎก เริ่มต้นว่า "เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา อนฺตรา จ ราชคหํ อนฺตรา จ นาลนฺทํ อทฺธานมคฺคปฏิปนฺโน โหติ ....
สวดบาลี พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ เริ่มต้นว่า "กุสลา ธมฺมา อกุสลาธมฺมา อพฺยากตาธมฺมา กตเม ธมฺมา กุสลา.....
3. เมื่อเทศน์จบแล้ว รอให้พระสงฆ์ที่สวดแจงบังสุกุลก่อน จบแล้วหากมีไทยธรรมอื่นอีกนอกจากผ้าทอดให้ถวายในระยะนี้ เสร็จแล้วพระผู้เทศน์ตั้งพัดเริ่มบท ยถา...อนุโมทนาบนธรรมาสน์นั้น พระสงฆ์ทุกรูปพึงรับ สพฺพีติโย..... อทาสิ เม..... และ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ....พร้อมกัน เป็นอันเสร็จพิธี”
อ่านจบเป็นอันเข้าใจว่าการเทศน์แจงนั้นคือการเทศน์สังคายนาพระธรรมวินัยซึ่งจัดขึ้นแรกหลังพุทธปรินิพพานสามเดือน ตามปรกติการเทศน์แจงนิยมเทศน์ 3 ธรรมาสน์ คือใช้พระ 3 รูปเทศน์ถามตอบกัน และมีพระอันดับแจง หรือพระแจงอีกส่วนหนึ่ง จำนวนอาจถึง 500 รูปก็ได้ ถ้ามีพระนั่งแจง 500 รูป เรียกกันว่า แจง 500 ในปัจจุบันแจง 500 มีทำกันน้อยแล้ว ด้วยว่าผู้ทำได้จะต้องมีศรัทธาและกำลังมากเป็นพิเศษ
ปฐมสังคายนา สังคายนาคือการรวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่ ก่อนหน้าสังคายนาเกิดขึ้นจริงๆ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ได้รวบรวมหมวดหมู่แห่งธรรมะตั้งแต่หมวดหนึ่งถึงหมวดสิบ และเกินสิบไว้ก่อนแล้ว ชื่อว่าสังคีติสูตรและทสุตตรสูตร ที่ไม่นับเป็นสังคายนาก็เพราะยังไม่สมบูรณ์ สังคายนาครั้งแรกที่สมบูรณ์เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน โดยพระอรหันต์สาวก 500 รูป อันมี พระมหากัสสปะ เป็นประธาน ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารา พระมหากัสสปะตอนนั้นอยู่ที่เมืองอื่น พอทราบข่าวว่าพระพุทธองค์ทรงประชวร จึงเดินทางพร้อมภิกษุประมาณ 500 รูป เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะถึงเมืองกุสินารา ได้พักผ่อนอยู่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง ขณะนั้นได้มีอาชีวกนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพเดินออกนอกเมืองมา พระมหากัสสปะจึงเอ่ยถามถึงพระพุทธเจ้า อาชีวกคนนั้นกล่าวว่า ศาสดาของพวกท่านปรินิพพานได้ตั้ง 7 วันแล้ว พวกท่านยังไม่ทราบอีกหรือ สมัยนั้นการสื่อสารยังไม่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน แม้ว่าพระมหากัสสปะจะเป็นพระอรหันต์ก็ยังไม่ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
พอได้ยินดังนั้นฝ่ายภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ก็นั่งนิ่งปลงธรรมสังเวช พิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ฝ่ายภิกษุที่ยังเป็นเสขบุคคลและปุถุชนอยู่จำนวนมาก ก็พากันร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์ มีพระบวชตอนแก่รูปหนึ่งนามว่า “สุภัททะ” ได้เห็นภิกษุปุถุชนทั้งหลายพากันร่ำไห้ จึงปลอบโยนว่า นิ่งเสียเถอะ อย่าร้องไห้เลย พระศาสดาปรินิพพานไปก็ดีแล้ว สมัยยังทรงพระชนม์อยู่พระองค์ทรงจู้จี้สารพัด ห้ามโน่นห้ามนี่ จะทำอะไรก็ดูจะผิดไปหมด ไม่มีอิสรเสรีภาพเลย บัดนี้เราเป็นอิสระแล้ว ปรารถนาจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ตามที่อยากทำ
พระมหากัสสปะได้ยินดังนั้นก็สลดใจว่า “โอหนอ พระบรมศาสดาพึ่งปรินิพพานไปยังไม่ข้าม 7 วันเลย เหล่าสาวกของพระพุทธองค์ก็พูดได้ถึงขนาดนี้ ต่อไปในกาลเวลาต่อไปจะเป็นไปขนาดไหน”
ท่านรำพึงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะทรงพระชนม์อยู่ทรงมีพระมหากรุณาแก่ท่านเป็นกรณีพิเศษ ไปประทานบาตรและจีวรแก่ท่าน และทรงรับเอาบาตรจีวรของท่านไปทรงใช้เอง นับว่าทรงไว้วางพระทัยต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ถูกดูหมิ่น จ้วงจาบเช่นนี้ จะนิ่งดูดายหาควรไม่ ท่านจึงตัดสินใจทำสังคายนาโดยคัดเลือกพระอรหันต์สาวกผู้ทรงอภิญญา ได้จำนวน 499 รูป เว้นไว้ 1 รูป เพื่อพระอานนท์
ขณะนั้นพระอานนท์ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จะเลือกท่านด้วยก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติยังไม่ครบ ครั้นจะไม่เลือกก็ไม่ได้ เพราะการทำสังคายนาครั้งนี้ขาดพระอานนท์ไม่ได้ เนื่องจากพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุด ได้ทรงจำพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์มากกว่าใคร พระอานนท์ยังได้รับการยกย่องจากพระเจ้าว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายถึงห้าประการคือเป็นผู้เลิศทางพหูสูต เป็นผู้เลิศในการมีสติ เป็นผู้เลิศในคติ เป็นผู้เลิศในการมีความเพียรและเป็นผู้เลิศในการอุปัฏฐาก พระมหากัสสปะจึงให้โอกาสพระอานนท์ เพื่อเร่งทำความเพียรทำที่สุดทุกข์ให้ได้ทันกำหนดสังคายนา อันจะมีขึ้นใน 3 เดือนข้างหน้า
พระอานนท์ จึงเร่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างหนัก แต่ยิ่งเพียรมากเท่าไร ก็ดูเสมือนว่าจุดหมายปลายทางห่างไกลออกไปทุกที จึงรำพึงว่า พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า เราจะทำที่สุดทุกข์ได้ไม่นานหลังจากพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน คำพยากรณ์ของพระพุทธองค์คงไม่มีทางเป็นอื่นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องเพียรให้มากขึ้นกว่าเดิม
วันหนึ่งหลังจากเพียรภาวนาอย่างหนักรู้สึกเหนื่อย จึงกำหนดว่าจะพักผ่อนสักครู่แล้วจะเริ่มใหม่ จึงนั่งลงเอนกายนอนพัก เท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ท่านก็ “รู้แจ้ง สว่างโพลงภายใน” บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ขีณาสพทรงอภิญญาในบัดดล
ขณะนั้นพระสงฆ์จำนวน 499 รูป กำลังนั่งประชุมกันตามลำดับพรรษา เว้นอาสนะว่างไว้หนึ่งที่สำหรับพระอานนท์ พระอานนท์ต้องการประกาศว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว จึงเข้าฌานบันดาลฤทธิ์ดำดินไปโผล่ขึ้นนั่งบนอาสนะ ท่ามกลางสังฆสันนิบาต ทันเวลาพอดี
เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว ‘พระมหากัสสปะ’ ประมุขสงฆ์ได้ประกาศให้ พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญพระวินัย ทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ ผู้เป็นพหูสูต ทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม โดยตัวท่านเองทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามประเด็นต่างๆ มีพระสงฆ์ทั้งปวงช่วยกันสอบทาน การทำสังคายนาครั้งแรกจึงเริ่มต้นขึ้น ณ บัดนั้น
ลักษณะของการสังคายนาพอสรุปได้ดังนี้
1. พระสงฆ์อรหันต์ผู้ได้อภิญญาทั้ง 500 รูป ต่างก็เสนอพระธรรมเทศนาที่ตนได้ยินมาจากพระพุทธเจ้า มากบ้างน้อยบ้างจากสถานที่ เวลาที่ต่างกัน ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากพระอุบาลี และพระอานนท์
2. พระธรรมเทศนานั้นๆ พระพุทธองค์คงทรงแสดงโดย “ภาษา” ถิ่นต่างๆ พระสงฆ์ในที่ประชุมคงตกลงกันว่าจะต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่ง “ร้อยกรอง” เป็นภาษา “มาคธี” หรือภาษามคธ หรือปัจจุบันคือภาษาบาลีที่พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทใช้สวดในงานต่างๆ
3. เมื่อร้อยกรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็ “สวดสังวัธยายร่วมกัน” คือท่องพร้อมๆ กัน เพื่อให้จำได้คล่องปาก เพราะฉะนั้นจึงเรียกกิจกรรมครั้งนี้ว่า “สังคายนา” แปลว่าสวดร่วมกัน, สวดพร้อมกัน สังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ กระทำกันอยู่เป็นเวลา 7 เดือนจึงสำเร็จ
การทำสังคายนาครั้งนี้เรียกว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” เนื่องจากยังไม่มีพระไตรปิฎกและได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบ “มุขปาฐะ” คือการท่องจำด้วยวาจาและทรงจำต่อๆกันมา หากใครอยากศึกษาเน้นไปทางด้านพระวินัยก็ไปศึกษาในฝ่ายของพระอุบาลี ส่วนใครที่ปรารถนาจะศึกษาทางด้านพระธรรมและพระอภิธรรมก็ไปศึกษาในสำนักของพระอานนท์
ในการทำสังคายนาครั้งแรกทำให้พระธรรมวินัยแบ่งเป็นหมวดหมู่ จากนั้นต่อมาอีกหนึ่งร้อยปีจึงมีการสังคายนาครั้งที่สอง กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี กระทำที่อินเดียสามครั้งคือครั้งที่ 1-3 และกระที่ลังกา 4 ครั้งคือครั้งที่ 4-7 และกระทำที่ไทยในสมัยล้านนาที่วัดโพธาราม(วัดเจ็ดยอด) นวนครหรือเชียงใหม่ เป็นทำสังคายนาครั้งที่ 8 กระทำเมื่อพุทธศักราช 2020 ครั้งที่ 9 พุทธศักราช 2330 กระทำที่กรุงเทพมหานครสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอกฟ้าจุฬาโลก ครั้งที่ 10 พุทธศักราช 2431สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นอักษรไทยครั้งแรกจำนวน 39 เล่ม และในปีพุทธศักราช 2468 สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีเรียกว่าฉบับสยามรัฐ และเพิ่มจาก 39 เล่มเป็น 45 เล่มเหมือนที่ปรากฏในปัจจุบัน
การกระทำสังคายนาครั้งสุดท้ายคือครั้งที่ 11 ปีพุทธศักราช 2530 สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นการทำสังคายนาในประเทศไทยครั้งที่ 4 หากนับจากการทำสังคายนาครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 1 จนถึงปัจจุบันปีพุทธศักราช 2555 มีการสังคายนารวมแล้ว 11 ครั้ง มีข้อสังเกตว่าการทำสังคายนามักจะทำทุกหนึ่งร้อยปี หากประเทศไทยจะทำสังคยนาอีกครั้งน่าจะอยู่ประมาณปีพุทธศักราช 2630 ถึงตอนนั้นคงไม่ได้อยู่ทันการทำสังคายนาครั้งที่สิบสองแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
29/06/55
ข้อมูลการทำสังคายนาดูได้จาก
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/abouttripitaka/sangkayana.html