ถนนหนทางในกรุงเทพมหานครเริ่มมีรถหนาแน่นอีกแล้ว หากจะเดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องเผื่อเวลาอย่างน้อยหนึ่งถึงสองชั่วโมง ไม่อย่างนั้นมีหวังไปไม่ทันงาน เพราะปัญหารถติดที่กรุงเทพฯแก้ยาก ถนนมีเท่าเดิมแต่รถมีปริมาณเพิ่มขึ้น ถนนบางแห่งยังอยู่ในช่วงก่อสร้าง ที่แคบอยู่แล้วก็ยิ่งแคบเข้าไปอีก ยิ่งในช่วงนี้โรงเรียนหลายแห่งเปิดเทอมกันแล้ว พวกเด็กๆกำลังอยากไปโรงเรียน นัยว่าบางคนอยากได้แท็บเล็ตที่กำลังจะแจกฟรีให้แก่นักเรียน ของฟรีใครๆก็อยากได้ เด็กไทยสมัยนี้ต้องเรียกว่าเด็กไทยยุคไฮเทค
มีข่าวว่าเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา มีสิทธิ์ได้ใช้แท็บเล็ต(Tablet) ราชบัญฑิตยสภาจะบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่าอย่างไรก็ไม่แน่ใจ แต่ขอเรียกตามรูปร่างสัณฐานเท่าที่เห็นว่า “กระดานชนวน” แต่เมื่อใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนจึงเรียกว่า “กระดานชนวนไฟฟ้า” เด็กสมัยนี้เกิดมาทันยุคสมัยที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีได้ใช้อุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย
Tablet มีผู้ให้คำอธิบายไว้ว่าคือแผ่นจารึกที่เอาไว้บันทึกข้อความต่างๆโดยการเขียน (อาจจะเป็นกระดาษ ดิน ขี้ผึ้ง ไม้) และมีการใช้กันมานานแล้วในอดีต แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่ใช้แนวคิดนี้ขึ้นมาแทนที่ซึ่งมีหลายบริษัทได้ให้คำนิยามที่แตกต่างกันไป
Tablet คือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ในขณะเคลื่อนที่ได้ขนาดกลางและใช้หน้าจอสัมผัสในการทำงาน เป็นอันดับแรก มีคีย์บอร์ดเสมือนจริง หรือปากกาดิจิตอลในการใช้งานแทนที่แป้นพิมพ์คีย์บอร์ด และมีความหมายครอบคลุมถึงโน๊ตบุ๊คแบบ convertible ที่มีหน้าจอแบบสัมผัสและมีแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดติดมาด้วยไม่ว่าจะเป็นแบบหมุนหรือแบบสไลด์ก็ตาม
เคยคิดจะซื้อมาลองใช้สักเครื่อง แต่พอสอบราคาแล้วก็ต้องเลิกคิด ราคามันหลักหมื่นถึงหลายหมื่น เมื่อไม่มีกำลังซื้อจึงขอยืมทดลองใช้งานจากคนที่ซื้อมาแล้ว และสอบถามความสามารถในการใช้งาน รุ่นที่เขาซื้อมานั้น เขาอธิบายว่า “ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ ถ่ายภาพได้ โทรศัพท์ได้ บันทึกข้อมูลได้ พิมพ์ข้อมูลได้ เข้าอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา เปิดเครื่องก็สามารถค้นหาข้อมูลจากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา”
หากฟังตามคำอธิบายเจ้าแท็บเล็ตก็ไม่ได้ต่างไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คสักเท่าไหร่ เพียงเป็นคอมพิวเตอร์ย่อขนาดให้เล็กลง สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ หากคิดความสะดวกที่เราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ แท็บเล็ตก็เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยจะได้อยู่ที่บ้าน แต่ต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันโทรศัพท์บางรุ่นก็สามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบเหมือนกัน แต่ราคายังแพงอยู่มาก
คอมพิวเตอร์ฉบับพกพาหรือที่เรียกว่าโน๊ตบุ๊คเคยเข้ามาแทนที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เพราะสามารถถือหรือหิ้วไปไหนมาไหนได้ ใช้งานที่ไหนก็ได้ อุปกรณ์ทั้งสองประเภทนี้จึงมีส่วนใกล้เคียงกัน แต่ขนาดต่างกัน พกพาง่ายกว่า แต่ผู้เขียนเองยังมีคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาอยู่เครื่องหนึ่งใช้งานมาเกินสามปีแล้ว แต่ก็ยังใช้ได้ เข้าร้านซ่อมเพียงครั้งเดียวและใช้ต่อมาได้อีก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อแท็บเล็ตมาใช้
สมัยเป็นเด็กบังเอิญเกิดมานานจึงเกิดทันยุคของกระดานชนวน และเรียนหนังสือในยุคที่ครูยังใช้กระดานดำ นักเรียนใช้กระดานชนวนเป็นสมุดเล่มเดียวสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ใช้บันทึกทุกวิชา เขียนเสร็จก็ลบทิ้ง จำได้บ้างไม่ได้บ้าง ครูที่สอนสมัยนั้นก็ยังเป็นประเภท “เลข คัด เลิก” ภาคเช้าเรียนวิชาเลขคณิต บวก ลบ คูณ หาร ภาคบ่ายเรียนวิชาภาษาไทย อ่าน เขียน ท่องบทอาขยาน บางวันมีวาดเขียน ต่อด้วยคัดลายมือ จากนั้นก็ถึงเวลาเลิกเรียน ส่วนวิชาอื่นๆจำไม่ได้ว่าเรียนวิชาอะไรบ้าง บางวันเรียนวิชาพละศึกษาซึ่งวิชานี้ต้องเรียนทั้งวัน เล่นกีฬาทุกประเภทเท่าที่จะหาได้เช่นฟุตบอล ตะกร้อ มวยไทย ตี่จับ วิ่งผลัด เป็นต้น บางวันเรียนวิชาทางด้านศาสนา วิธีที่ดีที่สุดคือปล่อยเข้าวัดเริ่มตั้งแต่เช้าคอยยกอาหารประเคนพระ ล้างบาตร สวดมนต์ หรือแม้แต่เรียนเขียนอักษรขอมโบราณ อักษรไทยน้อย อ่านนิทานจากใบลาน วิธีจารใบลาน สมัยนั้นเด็กนักเรียนอ่านอักษรภาษาขอม ภาษาไทยน้อยได้ นัยว่าวิชานี้เป็นภาษาต่างประเทศ
วิชาภาษาอังกฤษมาเริ่มเรียนตอนขึ้นชั้นประถมปีที่ห้า เริ่มต้นท่องอักษรเอ บี ซี ดี....เอ็กซ์ วาย แซด ทั้งอ่านทั้งเขียน จำได้ขึ้นใจอยู่สามคำ “Good Morning, Sit down, Thank You” แถมด้วย Yes No Ok เป็นต้น เรียนอยู่นานหลายปี แต่ไม่เคยพูดกับฝรั่งรู้เรื่อง เด็กไทยสมัยนี้เขาเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศตั้งแต่เริ่มพูดได้แล้ว เขาจึงควรจะเก่งกว่าคนในยุคเก่า ยุคสมัยนี้อย่างน้อยต้องได้สามภาษาคือภาษาตัวเอง ภาษากลางของชาวโลก และภาษาเทคโนโลยี
“หลวงพ่อครับผมอยากได้แท็บเล็ต หลวงพ่อซื้อแจกสามเณรเลยดีไหมครับ เรียนนักธรรม เรียนบาลีโดยใช้แท็บเล็ต ผมว่าคงมีสามเณรสอบได้มากกว่าทุกปี” สามเณรบิวเดินเข้ามาหาหลวงพ่อในเย็นวันหนึ่ง
หลวงพ่อจึงเอ่ยถามว่า “แล้วเจ้าแท็บเล็ตที่ว่ามันดีตรงไหน ใช้อะไรได้บ้าง”
สามเณรบิวจึงสาธยายว่า “นำบทเรียนนักธรรมบาลีมาใส่ไว้ในเครื่อง จากนั้นก็เปิดอ่าน ถือไปไหนมาไหนได้ทุกที่ สามเณรทั้งวัดก็จะเรียนหนังสือได้ตลอดเวลา ทันสมัยดีนะครับ”
ฟังดูเข้าท่า แต่เมื่อยอ้นกลับมายังจุดเริ่มต้นคือทุนทรัพย์ที่จะซื้อแท็บเล็ตแจกก็ต้องเลิกคิด มีสามเณรกว่าสามสิบรูป หากจะซื้อแจกสามเณรทุกรูปจะเอาเงินมาจากไหน ในที่สุดก็ต้องหันกลับมาใช้วิธีเดิมคือกระดานขาว เพราะเปลี่ยนจากกระดานดำมาเป็นกระดานขาว ใช้ดินสอสีน้ำเงินเขียนเนื้อหาบทเรียนบนกระดานสีขาว ก็ยังพอใช้ได้ ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องหันไปใช้แท็บเล็ตเหมือนเด็กนักเรียนอื่นๆ
ความเจริญทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เผลอนิดเดียวเจ้าเครื่องที่เคยใช้งานก็ตกรุ่นแล้ว หากวิ่งตามความทันสมัยก็ต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้น พอรุ่นหนึ่งออกมาไม่นานก็มีรุ่นใหม่ๆตามมาอีก หากคิดจะวิ่งตามให้ทันความทันสมัยของเทคโนโลยีคงยาก เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไว ใจคนก็เปลี่ยนแปลงเร็ว
วันนั้นสามเณรบิวเดินกลับด้วยท่าทางผิดหวัง เพราะหลวงพ่อไม่มีปัญญาหาเงินมาซื้อแท็บเล็ตแจกสามเณร แม้แต่หลวงพ่อเองก็ยังไม่มีใช้ คงต้องใช้เจ้าเครื่องโน๊ตบุ๊คเก่าๆต่อไปตามเดิม ส่วนอุปกรณ์การเรียนก็ยังคงใช้กระดาน เพียงแต่เปลี่ยนจากกระดานดำมาเป็นกระดานขาว ยังไม่พร้อมที่จะใช้กระดานชนวนไฟฟ้าเหมือนเด็กนักเรียนรุ่นใหม่ที่ใช้แท็บเล็ต ยังคงใช้วิธีเก่าคือ “เลข คัด เลิก” แต่เรียนนักธรรมบาลีไม่มีวิชาเลขคณิต คงต้องเปลี่ยนใหม่เป็น “ท่อง เขียน เลิก” ต่อไปตามเดิม เอาไว้มีเงินเมื่อไหร่สามเณรยุคใหม่ก็จะเริ่มใช้ "กระดานชนวนไฟฟ้า" เหมือนเด็กนักเรียนทั่วไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/05/55