ชาวไร่ชาวนาได้รับการเรียกขานว่า “กระดูกสันหลังของชาติ” ทำงานหนักเพราะต้องอยู่กับแดด ลม ฝนตลอดทั้งวัน จนมีคำเรียกขานอีกอย่างหนึ่งเป็นอาชีพที่ “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” เวลาดำนำต้องก้มๆเงยๆหันหลังให้แสงอาทิตย์ที่จะต้องแผดเผากายให้ร้อนระอุ หันหน้าก้มลงปักดำต้นกล้าหน้าก็ต้องสู้กับดิน ภายหลังมีคำเรียกขานที่ไพเราะว่า “เกษตรกร” ซึ่งก็หมายถึงผู้ทำการเกษตร ในการกรอกใบสมัครหรือหากจะเดินทางไปต่างประเทศก็จะมีช่องที่ระบุอาชีพไว้ด้วย ก็ต้องกรอกลงไปว่า “ชาวนา” เพราะภูมิหลังมาจากลูกชาวไร่ชาวนา มิใช่เกษตรกร เพราะคำว่าเกษตรกรบ่งถึงอาชีพหลายอย่าง แต่ชาวนาคือผู้ที่ทำนาเป็นอาชีพ ส่วนอาชีพอย่างอื่นเป็นเพียงอาชีพรอง
วันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีนี้ตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ในหนังสือประเพณีไทยระบุไว้ว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพิธีสองอย่างอยู่ด้วยกัน คือพิธีพืชมงคลและพิธีแรกนาขวัญ พิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพรรณต่างๆ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี ส่วนพิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นในการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่าบัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว (ธนากิต,วันสำคัญของไทย,กรุงเทพฯ:ชมรมเด็ก,2541,หน้า 124)
ในสมัยพุทธกาลมีพิธีแรกนาขวัญเรียกว่าพระราชพิธีวัปปมงคลที่พระราชาจะเสด็จทรงประกอบพิธีเอง คำว่า “วัปป” แปลว่าการหว่าน วัปปมงคล จึงหมายถึงพิธีมงคลในการหว่านพืช ในอรรถกถาหมายถึงพิธีเดียวกันกับแรกนาขวัญ ในครั้งนั้นพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะเห็นเหตุมหัศจรรย์จึงทรงไหว้พระโอรสเป็นไหว้โอรสครั้งที่สองพระราช ดังข้อความที่แสดงไว้ในอรรถกถาชาดก เอกนิบาต ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 1 หน้าที่ 95 ความว่า “วันหนึ่งพระราชาได้มีพระราชพิธีวัปปมงคล(แรกนาขวัญ)วันนั้น พวกชาวนครต่างประดับประดา พระนครทุกหนทุกแห่งดุจดังเทพวิมานเหล่าพวกทาสและกรรมกรทั้งหมด ต่างนุ่งห่มผ้าใหม่ ประดับประดาด้วยของหอมและดอกไม้ประชุมกันในราชตระกูล ในพระราชพิธีมีการเทียมไถถึงพันคัน ก็ในวันนั้นไถ 108 อันหย่อนหนึ่งคัน (107 คัน) หุ้มด้วยเงินพร้อมด้วยโคผู้ ตะพาย และเชือก ส่วนที่งอนพระนังคัลของพระราชาหุ้มด้วยทองคำสุกปลั่ง เขาของโคผู้ ตะพาย เชือก และปฏัก ก็หุ้มด้วยทองคำทั้งนั้น พระราชาทรงพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก เสด็จออกจากพระนครทรงพาพระราชโอรสไปด้วย
ในที่ประกอบพระราชพิธีมีต้นหว้าอยู่ต้นหนึ่ง มีใบหนาแน่นมีเงาทึบ ภายใต้ต้นหว้านั้นนั่นแหละ พระราชาทรงรับสั่งให้ปูลาดพระแท่นบรรทมของพระราชโอรส เบื้องบนให้ผูกเพดานปักด้วยดาวทองคำ ให้แวดวงด้วยปราการพระวิสูตร วางอารักขา ส่วนพระองค์ก็ทรงประดับประดาด้วยเครื่องสรรพอลงกรณ์ มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม ได้เสด็จไปยังที่จรดพระนังคัลในที่นั้น พระราชาทรงถือพระนังคัลทองคำ พวกอำมาตย์ถือคันไถเงิน 107 คัน พวกชาวนาต่างพากัน ถือคันไถที่เหลือ เขาเหล่านั้นต่างถือคันไถไถไปข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง แต่พระราชาทรงไถไปจากด้านในสู่ด้านนอก จากด้านนอกสู่ด้านใน ในที่นั้นมีมหาสมบัติ นางนมที่นั่งห้อมล้อมพระโพธิสัตว์อยู่ ต่างพากันออกมาข้างนอก จากภายในพระวิสูตร ด้วยคิดว่าพวกเราจะดูสมบัติของพระราชา พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรดูข้างโน้นและข้างนี้ ไม่ทรงเห็นใครจึงเสด็จลุกขึ้นโดยเร็ว ทรงนั่งขัดสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออก ทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นแล้ว พวกนางนมพากันเที่ยวไปในระหว่างเวลากินอาหาร ชักช้าไปหน่อยหนึ่ง เงาของต้นไม้ที่เหลือชายไป ส่วนเงาของต้นไม้นั้นตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่ พวกนางนมคิดได้ว่าพระลูกเจ้าประทับอยู่พระองค์เดียว จึงรีบเปิดพระวิสูตรขึ้น เข้าไปข้างในเห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นบรรทม และปาฏิหาริย์นั้น จึงไปกราบทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพพระราชกุมารประทับนั่งอย่างนี้ เงาของต้นไม้เหล่าอื่นชายไปของต้นหว้าตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่อย่างนี้ พระราชารีบเสด็จมา ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์จึงตรัสว่า นี่แน่ะพ่อ นี้เป็นการไหว้เจ้าครั้งที่สอง แล้วทรงไหว้ลูก
สมัยนั้นมีพิธีแรกนาขวัญซึ่งพระราชและอำมาตย์ประกอบพิธีด้วยตนเองเป็นพิธีใหญ่และเป็นพิธีสำคัญ อำมาตย์ร่วมกันไถนาพร้อมกัน ใช้ไถถึง 108 คัน
หลวงตาไซเบอร์ฯเป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด แต่ทำนาอยู่ได้ไม่นาน เพราะพ่อไม่อยากให้เป็นชาวนาเหมือนพ่อ พ่อบอกว่าชาวนาลำบาก หากมีความรู้ไปทำอย่างอื่นดีกว่า อีกอย่างที่นามีน้อยต้องแบ่งให้ลูกคนอื่นๆด้วย ที่นามีน้อยคงแบ่งให้ไม่พอทุกคน จนปัจจุบันจึงไม่เคยมีที่นาเป็นของตัวเองเลย แต่ก็เคยทำนามาก่อน โดยค่อยเรียนจากพ่อมาตั้งแต่เด็ก ทำนาเป็นตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบ จำได้แต่เพียงว่าเมื่อจำความได้ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนด้วยซ้ำก็ไถนาเป็นแล้ว แต่กว่าที่จะไถนาได้ คันไถที่ทำด้วยไม้ก็หักไปหลายคัน เนื่องจากตัวเล็กพ่อจึงจับให้แบกไถ จึงทำให้คันไถปักลึกลงไปในดิน แต่ควายมันทนแรงไม่ไหวจึงแกล้งพาออกนอกรอยไถ ไม่นานคันไถก็หัก พ่อก็ซ่อมไถไปบ่นไป แต่ทว่าวันต่อมาก็ยังให้จับคันไถอีกเหมือนเดิม ที่สบายหน่อยก็จะเป็นการไถคราด เพราะไม่ต้องแบกแต่ขึ้นยืนบนคันไถคราด จากนั้นก็ปล่อยให้เจ้าทุยพาไป บางทีหลับทั้งๆที่ยืนนั่นแหละ แต่ทว่าทำนาได้ไม่ต่อเนื่องเพราะพ่อไม่อยากให้เป็นชาวนาจึงส่งให้เรียนหนังสือเพื่อที่จะได้เป็นข้าราชการอย่างน้อยก็เป็นครูสอนในชนบทก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ทว่าจนถึงปัจจุบันยังทำไม่สำเร็จตามที่พ่ออยากให้เป็นเลย
การทำนานั้นเริ่มต้นเมื่อไหร่ เวลาใดนั้น ขึ้นอยู่กับฝน เพราะอาชีพชาวนาในอดีตต้องพึ่งน้ำจากฟ้าอย่างเดียว ฝนตกมีน้ำเพียงพอเมื่อใด เมื่อนั้นก็เริ่มต้นในการทำนา แต่สำหรับพ่อแล้วการทำนาเริ่มต้นเมื่อวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ในวันนั้นถือวันวันเริ่มต้นจึงต้องเตรียมงานตั้งแต่ตอนกลางคืนคือการขนขี้ควายใส่เกวียนเท่าที่จะหาได้ บางครั้งมีเกวียนหลายเล่มก็ต้องขนจนดึก เกวียนเต็มไปด้วยขี้ควายแห้งพอตกกลางคืนพ่อก็จะจุดธูปเทียนสวดมนต์สาธยายคาถาไปตามเรื่อง ตอนนั้นฟังไม่ออกว่าพ่อสวดคาถาอะไร รุ่งเช้าเรียกว่าขนกันไปทั้งครอบครัว บางคนหาบขี้ควาย พวกเด็กๆก็นั่งบนกองขี้ควยบางครั้งก็เผลอหลับบนขี้ควายนั่นแหละ ทุกคนต้องพร้อมกันที่ทุ่งนา นำขี้วัวขี้ควายอันเป็นปุ๋ยคอกอย่างดีใส่ในนา จากนั้นในวันต่อๆมาก็จะขนขี้ควายไปใส่นาแทบทุกวัน ขี้ควายคือปุ๋ยชั้นดี
วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จึงเป็นวันเริ่มต้นในการทำนา ทำไมจึงกำหนดเอาวันนั้น ช่วงนั้นยังเด็กมากจึงไม่ได้ถาม แต่ต่อมาพอมีอายุมากขึ้นจึงถามอีกครั้งพ่อก็ตอบสั้นๆว่า “วันนั้นเป็นวันฟ้าเปิดประตูฝน วันนี้เอ็งคอยฟังเสียงฟ้าร้องให้ดีก็แล้วกันว่ามาจากทางทิศไหน” ตกลงจึงไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงเริ่มต้นในการทำนาวันนั้น พอถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เมื่อใด พ่อก็เริ่มต้นในการทำนา
ต่อมาจึงได้อ่านจากตำราประเพณีเกี่ยวกับการทำนาของอีสานซึ่งเริ่มต้นด้วย “การหาบฝุ่นใส่นา” ดังที่มีบันทึกไว้ในหนังสือประเพณีอีสานว่า “ครั้นถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกๆปี ชาวอีสานจะพากันหาบฝุ่นหรือขี้ฝุ่น(ปุ๋ย) ไปเทใส่นาของตน ขี้ฝุ่นที่หาบไปใส่นาในวันดังกล่าวนี้คือขี้วัวขี้ควายที่อยู่ในคอกของตนเองนั่นเอง สาเหตุที่ทำในวันนั้นเพราะเชื่อกันมาแต่โบราณว่าในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 นี้เป็นวันฟ้าไข(เปิด)ประตูฝน เพื่อให้ฝนตกลงมาสู่มนุษย์โลก ดังนั้นคนอีสานจึงคอยฟังเสียงฟ้าร้องตลอดทั้งวัน หากวันนั้นเสียงฟ้าร้องมาจากทิศใดก็จะทำนายไปตามนั้นคือ
ถ้าฟ้าร้องทางทิศบูรพา(ตะวันออก) มีครุฑเป็นสัตว์ประจำทิศ ถือว่าฟ้าเปิดประตูน้ำ ทำนายว่าฝนจะตกดี ข้าวกล้าในนางอกงามดี ผู้คนจะได้ทำบุญทำทานอย่างทั่วถึง
ถ้าฟ้าร้องทางทิศอาคเนย์(ตะวันออกเฉียงใต้) มีแมวเป็นสัตว์ประจำทิศ ถือว่าฟ้าเปิดประตูลม ทำนายว่าฝนจะตกน้อย น้ำในนาจะแห้งแล้ง ผู้คนจะอดอยากและเกิดท้องร่วงระบาด
ถ้าฟ้าร้องทางทิศทักษิณ(ทิศใต้) มีราชสีห์เป็นสัตว์ประจำทิศ ถือว่าฟ้าเปิดประตูทอง ทำนายว่าฝนดีน้ำจะมาก ข้าวกล้าในนาจะเสียสองส่วนได้มาสามส่วน นาลุ่มจะเสียหาย ส่วนนาดอนจะได้ผลดี มีปลา มีปูอย่างอุดมสมบูรณ์
ถ้าฟ้าร้องทางทิศหรดี(ทิศตะวันตกเฉียงใต้) มีเสือเป็นสัตว์ประจำทิศ ถือว่าฟ้าเปิดประตูตะกั่ว ทำนายว่าฝนดี น้ำงาม ผลไม้อุดมสมบูรณ์ ข้าวกล้าได้ผลบริบูรณ์ดี ปู ปลามีมาก
ถ้าฟ้าร้องทางทิศปัจจิม(ทิศตะวันตก) มีนาคเป็นสัตว์ประจำทิศ ถือว่าฟ้าเปิดประตูเหล็ก ทำนายว่าฝนจะแล้ง น้ำน้อย ข้าวกล้าในนาตายแล้งเสียหายหมด
ถ้าฟ้าร้องทางทิศพายัพ(ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) มีหนูเป็นสัตว์ประจำทิศ ถือว่าฟ้าเปิดประตูหิน ทำนายว่าฝนปานกลาง ข้าวกล้าจะได้ผลกึ่งหนึ่งและเสียผลกึ่งหนึ่ง ปลาปูมีน้อย ผู้คนจะเจ็บไข้ได้ป่วย
ถ้าฟ้าร้องทางทิศอุดร(ทิศเหนือ) มีช้างเป็นสัตว์ประจำทิศ ถือว่าฟ้าเปิดประตูตะเงิน ทำนายว่าฝนจะตกดีตลอดทั้งปี ข้าวกล้างอกงามดี ฝูงคนจะมีความสุข
ถ้าฟ้าร้องทางทิศอีสาน(ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) มีวัวเป็นสัตว์ประจำทิศ ถือว่าฟ้าเปิดประตูดิน ทำนายว่าฝนจะดีตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี ข้าวกล้าจะงอกงามสมบูรณ์ดี คนทั้งปวงจะมีความสุขกันถ้วนหน้า (บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล,ประเพณีอีสาน,ขอนแก่นโรงพิมพ์คลังนานาวิทยา,2544,หน้า 260)
เรื่องของทิศทั้งแปดสมัยเด็กๆเพื่อให้จำง่ายครูสอนชั้นประถมต้นได้สอนให้ร้องเป็นเพลงว่า "อุดรตรงข้ามทักษิณ บูรพาปัจจิมจำไว้ อีสานตรงหรดี ท่องอีกทีจำให้ขึ้นใจ พายัพนั้นอยู่ทางไหนตรงข้ามไปคืออาคเนย์" มีเคล็ดลับว่าเริ่มต้นร้องเพลงนี้ต้องหันหน้าไปทางทิศอุดร(ทิศเหนือ)ก่อน ร้องเป็นเพลงทำนองง่ายๆก็จำทิศทั้งแปดได้แล้ว
ในแต่ละภาคยังมีประเพณีความเชื่อพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนาแตกต่างกันไป เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดมาจากอีสานเป็นลูกอีสานจึงรู้จักและคุ้นเคยกับประเพณีอีสาน ส่่วนประเพณีในภูมิภาคอื่นๆนั้น หากมีโอกาสในปีต่อไปจะสอบถามจากคนที่มีถิ่นกำเนิดในถิ่นนั้นๆ มานำเสนอในปีต่อๆไป หากไม่ลืมเลือนไปเสียก่อน
เริ่มต้นไถนาวันแรกก็ไม่มีกำหนดที่แน่นอนอีกต้องรอวันที่ฝนตก ส่วนมากจะเป็นหลังวันสงกรานต์ หากฝนตกมีน้ำเพียงพอเมื่อไหร่ ก็จะเริ่มต้นไถนาเมื่อนั้น โดยไม่ต้องรอวันแรกนาขวัญ พ่อบอกว่า “ชาวนาต้องรอฝน หากในนามีน้ำ ดินชุ่มน้ำก็ไถได้ทันที เพราะถ้าหากปล่อยเวลาให้ผ่านไปดินก็จะแห้ง” การทำนาในยุคสมัยนั้นต้องไถสองครั้งครั้งแรกไถดะเพื่อเตรียมดิน ส่วนครั้งที่สองจึงไถกลบและไถคราดทำให้ดินเสมอและเริ่มต้นปักดำนาซึ่งต้องใช้แรงงานของมนุษย์อย่างเดียว ยุคนั้นยังไม่มีรถไถนา ไม่มีรถดำนาเหมือนในสมัยปัจจุบัน ชาวนาจึงเหนื่อยมาก ต้องทำงานทั้งวันกลับถึงบ้านไม่นานก็หลับ ฟ้ายังไม่ทันสว่างก็ต้องรีบตื่น นั่งหลังควายออกไปยังท้องนา ชีวิตชาวนาเหนื่อยยากลำบากจริงๆ ทำงานไม่มีวันหยุด ชีวิตชาวนามีวัฏจักรหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปเช่นนี้
ดำนาเสร็จก็ต้องรอไขน้ำเข้านา หากน้ำมากก็ต้องไขน้ำออก ข้าวบางพันธุ์ชอบน้ำ แต่บางพันธุ์ไม่ชอบน้ำ และข้าวแต่ละพันธุ์ก็ออกรวงต่างวาระกัน ต้องคอยกำหนดให้ดี ตอนนี้จำไม่ได้แล้วว่าข้าวพันธุ์อะไรบ้าง พันธุ์ไหนต้องปลูกก่อนพันธุ์ไหนต้องปลูกทีหลัง พอออกรวงเหลืองอร่ามสุกได้ที่ทำการเก็บเกี่ยว เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้รอฝนเพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป
เสร็จจากหน้านาก็ไปทำไร่ปลูกพืชผักเท่าที่จะหาได้ กินบ้างขายบ้างตามสมควร ที่เหลือก็แบ่งให้นกหนูกินบ้าง เรียกว่าทำมาหากินจริงๆ ชาวนาจึงไม่ได้ทำนาอย่างเดียวทำไร่ด้วย จึงมักจะมีคำเรียกติดปากว่า “ชาวไร่ชาวนา” ไม่ได้แยกขัดเจนเหมือนสมัยปัจจุบัน เพราะชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ดูเหมือนจะแยกออกจากกัน แต่อาชีพที่เรียกว่าเกษตรกรก็ยังเป็นอาชีพหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน
วันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปีนี้(2555) การเสี่ยงทายพระยาแรกนาเสี่ยงทายได้ผ้า 6 คืบ ทำนายว่า “น้ำจะน้อย ในที่ลุ่มได้ผลสมบูรณ์ดี ในที่ดอนจะเสียหายบางส่วน” ส่วนพระโคกินหญ้า ทำนายว่า “น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารอุดมสมบูรณ์ดี” ขอให้เป็นไปตามคำทำนาย น้ำท่าพอสมควร อย่ามากเกินไปเหมือนปีที่ผ่านมาเลย เพราะปีที่แล้ว น้ำมากเกินไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
09/05/55