วันธรรมสวนะที่ตรงกับวันฉัตรมงคลที่ผ่านมา มียายคนหนึ่งอายุประมาณแปดสิบปีถามว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด มันคืออะไร ยายสงสงสัยมานานแล้ว อยากรู้ก่อนตาย” ตอนนั้นตอบไม่ได้ นับไม่ได้ เพราะไม่เคยนับ เข้าใจเอาเองมานานแล้วว่าน่าจะเป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงกิเลสและตัณหาว่ามีเป็นจำนวนมาก จนนับไม่ได้ เหมือนกับ “โจรห้าร้อย” ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีโจรห้าร้อยคนจริงๆ เพียงแต่บอกเป็นนัยว่า “มีเป็นจำนวนมาก” โจรห้าร้อยมีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาหลายแห่ง “ตัณหาร้อยแปด” เคยพบในพระไตรปิฎกหลายแห่ง แต่ “กิเลสพันห้า” ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็น 1005 หรือ 1500 กันแน่ ภาษาไทยคำว่า "พันห้า" อาจหมายถึง 1005 หรือ 1500 ก็ได้
จึงค้นหาจากตำราทางพระพุทธศาสนาหลายเล่ม เริ่มต้นที่พระไตรปิฎก จึงพบคำอธิบายคำว่ากิเลสพันห้าหรือกิเลส 1005 ไว้ในอาหุสูตร ขุททกนิกาย อุทาน (25/135/152) ความว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งทรงพิจารณาอกุศลบาปธรรมเป็นอันมากที่พระองค์ทรงละได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญบริบูรณ์
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบอกุศลบาปธรรมเป็นอันมากที่พระองค์ทรงละได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญบริบูรณ์ จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า สิ่งทั้งปวงได้มีแล้วในกาลก่อน ไม่มีแล้วในกาลนั้น สิ่งทั้งปวงไม่มีแล้วในกาลก่อน ได้มีแล้วในกาลนั้น ไม่มีแล้วจักไม่มี และย่อมไม่มีในบัดนี้”
อรรถกถาอาหุสูตร ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม 1 ภาค 3 - หน้าที่ 606 อธิบายถึงอกุศลปาปธรรมเป็นอันมากที่พระองค์ละได้ไว้ดังนี้ “บทว่า อตฺตโน อเนเก ปาปเก อกุสเล ธมฺเม ปหีเน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณากิเลส 1005 อันเป็นไปตลอดกาลหาเบื้องต้นมิได้ ในสันดานของพระองค์ มีโลภะ โทสะ โมหะ วิปริตมนสิการอหิริกะ อโนตตัปปะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาไถย ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ ตัณหา อวิชชา อกุศลมูล 3 ทุจริต 3 สังกิเลส 3 มลทิน 3 วิสมสัญญา 3 วิตก 3 ปปัญจะ 3 วิปัลลาส 4 อาสวะ 4 โอฆะ 4 โยคะ 4 คัณฐะ 4 ถึงอคติ 4 ตัณหุปาทาน 4 เจโตขีละ 5 เจโตวินิพพันธะ 5 นีวรณ์ 5 อภินันทนะ 5 วิวาทมูล 6 ตัณหากาย 6 อนุสัย 7 มิจฉัตตะ 8 ตัณหามูลกะ 9 อกุศลกรรมบถ 10 ทิฏฐิ 62 และตัณหาวิปริต 108 เป็นต้นเป็น ประเภทก็ดี ธรรมอันชั่วช้าลามกเป็นอเนก ที่ชื่อว่าเป็นอกุศล เพราะอรรถว่าเกิดแต่ความเป็นผู้ไม่ฉลาด แม้ที่เกิดร่วมกับกิเลส 1005 นั้นก็ดี ที่พระองค์ทรงละแล้วคือตัดขาดแล้วด้วยอริยมรรค ณ ควงแห่งโพธิพฤกษ์นั่นเอง พร้อมด้วยวาสนา คือพระองค์นั่งพิจารณาตามลำดับบทว่า กิเลสแม้นี้ เราละได้แล้ว กิเลสแม้นี้ เราละได้แล้วดังนี้
ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญบริบูรณ์มีอธิบายไว้ว่า “บทว่า อเนเก จ กุสเล ธมฺเม ได้แก่ พระองค์ทรงนั่งพิจารณากุศล คือธรรมที่หาโทษมิได้ของพระองค์เป็นอเนก มีอาทิอย่างนี้คือ ศีลสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 มรรค 4 ผล 4 ปฏิสัมภิทา 4 ญาณเครื่องกำหนด กำเนิด 4 อริยวงศ์ 4 เวสารัชญาณ 4 องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร 5 สัมมาสมาธิมีองค์ 5 สัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยญาณ 5 อินทรีย์ 5 พละ 5 นิสสารณียธาตุ 5 วิมุตตายตนญาณ 5 วิมุตติปริปาจนียสัญญา 5 อนุสติฏฐาน 6 คารวะ 6 นิสสารณียธาตุ 6 สตตวิหารธรรม 6 อนุตริยะ 6 นิพเพธภาคิยสัญญา 6 อภิญญา 6 อสาธารณญาณ 6 อปริหานิยธรรม 7 อริยทรัพย์ 7 โพชฌงค์ 7 สัปปุริสธรรม 7 นิชชรวัตถุ 7 สัญญา 7 ทักขิเณยยปุคคลเทศนา 7 ขีณาสวพลเทศนา 7 ปัญญาปฏิลาภเหตุเทศนา 8 สัมมัตตะ 8 โลกธรรมาติกกมะ 8 อารัมภวัตถุ 8 อักขณเทศนา 8 มหาปุริสวิตก 8 อภิภายตนเทศนา 8 วิโมกข์ 8 ธรรมที่มีโยนิโสมนสิการเป็นมูล 9 องค์แห่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเพียรอันบริสุทธิ์ 9 สัตตาวาสเทศนา 9 อาฆาตปฏิวินยเทศนา 9 สัญญา 9 นานัตถะ 9 อนุปุพพวิหาร 9 นาถกรณธรรม 10 กสิณายตนะ 10 กุศลกรรมบถ 10 สัมมัตตะ 10 อริยวาส 10 อเสกขธรรม 10 ตถาคตพละ 10 อานิสงส์แห่งเมตตา 11 อาการแห่งจักร 12 ธุดงค์คุณ 13 พุทธญาณ 14 วิมุตติปริปาจนียธรรม 15 อานาปานสติ 16 อปรันตปนียธรรม 16 มหาวิปัสสนา 18 พุทธธรรม 18 ปัจจเวกขณญาณ 1๙ญาณวัตถุ 44 อุทยัพพยญาณ 50 กุศลธรรมเกิน 50 ญาณวัตถุ 77 สมาบัติมหาวชิรญาณ 2,400,000 โกฏิ ปัจจเวกขณเทศนาญาณอันเป็นวิสัยแห่งสมันตปัฏฐานซึ่งมีนัยหาที่สุดมิได้ ญาณที่ประกาศอัธยาศัยเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลาย ผู้หาที่สุดมิได้ในโลกธาตุ อันหาที่สุดมิได้เหมือนกันอันถึงแล้วซึ่งความเจริญเต็มที่ แห่งการบำเพ็ญพระบารมี และการเจริญมรรค ตลอดกาลหาที่สุดมิได้ กระทำพุทธคุณอันบ่ายหน้าต่อมนสิการให้เป็นวรรค ๆ คือให้เป็นกอง ๆ ด้วยอำนาจพระหฤทัยว่า ธรรมอันหาโทษมิได้ แม้เหล่านี้มีอยู่ในเรา ธรรมอันหาโทษมิได้ แม้เหล่านี้มีอยู่ในเรา ก็ธรรมเหล่านั้นอาจมนสิการได้ โดยมีการแสดงยังเหลืออยู่ทีเดียว ไม่อาจมนสิการได้โดยหมดสิ้น พุทธคุณทั้งหมด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่อาจมนสิการตามลำดับบทได้หมดสิ้น เพราะเป็นธรรมหาที่สุดมิได้ หาปริมาณมิได้
ในอรรถกถาอาหุสูตรจึงแสดงกิเลสไว้ 1005 ห้า จึงเป็นกิเลสพันห้าหรือกิเลส 1005 ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม ที่พระพรหมคุณาภรณ์รวบรวมไว้ ในหน้าที่ 290 ข้อ 359 กิเลส 1500 ได้จำแนกไว้ดังนี้
กิเลส 1500 คือสภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลส 1500 ที่จัดเป็นชุดจำนวนอย่างนี้ ไม่มีในพระบาลี แม้จะมีกล่าวถึงในอรรกกถาบางแห่งก็แสดงเพียงตัวอย่าง ไม่ครบถ้วน ระบุไว้อย่างมากที่สุดเพียง 336 อย่าง (ดู อุ.อ.172,424; อิติ.อ.166) เช่น โลภะ โทสะ โมหะ วิปริตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ ถีนะ มิทธะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ อกุศลกรรมบถ 10 ... ตัณหา 108
ในคัมภีร์รุ่นหลังต่อมา ได้มีการพยายามนับจำนวนกิเลสพันห้าให้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน ดังปรากฏในธัมมสังคณีอนุฏีกา (ฉบับ มจร. สงฺคณี.อนุฏีกา 23-24) ซึ่งได้แสดงระบบวิธีนับไว้หลายอย่าง สรุปได้เป็น 2 แบบ คือ แบบลงตัวจำนวน 1500 ถ้วน และแบบนับคร่าวๆ ขาดเกินเล็กน้อย นับแต่จำนวนเต็ม
แบบที่ 1 จำนวนลงตัว 1500 ถ้วน คือ อารมณ์ 150 x กิเลส 10 = กิเลส 1,500 อารมณ์ 150 หมายถึง อารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลส แต่มีวิธีนับ 2 นัย คือ
ก. อารมณ์ 150 = ธรรม 75 (อรูปธรรม 53 (คือจิต 1 + เจตสิก 52) + รูปรูป 18 + อากาสธาตุ 1 + ลักขณรูป 3) x 2 (ภายใน + ภายนอก)
ข. อารมณ์ 150 = ธรรม 75 (อรูปธรรม 57 (คือจิต 1 + เวทนาเจตสิก 5 + เจตสิกอื่นๆ 51) + รูปรูป 18) x 2 (ภายใน + ภายนอก)
แบบที่ 2 จำนวนไม่ลงตัว ขาดหรือเกินเล็กน้อย นับจำนวนเต็มปัดเศษ
แบบที่ 2 นี้ ท่านแจงวิธีนับไว้หลายอย่าง เป็น 1,584 บ้าง 1,512 บ้าง 1,510 บ้าง 1,416 บ้าง แต่จะไม่นำรายละเอียดมาแสดงในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ
ในภาษาไทย มีคำพูดเป็นสำนวนเก่า ที่นิยมกล่าวอ้างกันสืบๆ มาแบบติดปากว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด” พึงทราบว่า เป็นถ้อยคำที่อิงหลักธรรม 2 หมวด คือกิเลส 1500 และตัณหา 108 ที่แสดงแล้วนี้
ในหมายเหตุพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ยังมีคำอธิบายไว้อีกว่า “รูปทั้งหมดมี 28 ในจำนวนนี้ 18 อย่าง เรียกว่า รูปรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นรูปธรรมจริงๆ หรือแปลง่ายๆ ว่า “รูปแท้” ได้แก่ มหาภูตรูป 4, ปสาทรูป 5, วิสัยรูป 4, ภาวรูป 2, หทัยรูป 1, ชีวิตรูป 1 และอาหารรูป 1 ส่วนรูปที่เหลืออีก 10 อย่าง (คือ ปริจเฉทรูป 1, วิญญัติรูป 2, วิการรูป 3, ลักขณรูป 4) เป็นเพียงอาการลักษณะหรือความเป็นไปของรูปเหล่านั้น จึงไม่เป็นรูปรูป ลักขณรูป นับเต็มมี 4 แต่ 2 อย่างแรก นับรวมเป็น 1 ได้ เรียกว่า ชาติรูป กล่าวคือ อุปจยะ หมายถึง การเกิดที่เป็นการก่อตัวขึ้นทีแรก และ สันตติ หมายถึง หารเกิดสืบเนื่องต่อๆ ไป โดยนัยนี้ จึงนับลักขณรูปเป็น 3
ตัณหาร้อยแปด
ในสัมมาทิฏฐิสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ตัณหาทิวาร (12/121/67) พระสารีบุตรได้แสดงตัณหาไว้ดังนี้ “ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตรตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหาและปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับตัณหา แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้ ก็ตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับตัณหา และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับ ตัณหาเป็นไฉน? ได้แก่ ตัณหา 6 หมวดเหล่านี้ คือ ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่น ตัณหาในรส ตัณหาในโผฏฐัพพะ ตัณหาในธรรม เหตุเกิดแห่งตัณหา ย่อมมีเพราะเวทนาเป็นเหตุให้เกิด ความดับตัณหา ย่อมมีเพราะเวทนาดับ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 นี้แหละ คือความเห็นชอบ ... ความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับตัณหา ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับตัณหา และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับตัณหาอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ...มาสู่พระสัทธรรมนี้
อรรถกถาสัมมาทิฏฐิสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 594 ได้จำแนกตัณหา 108 ไว้ดังนี้ “ตัณหาที่เป็นไปแล้วโดยชวนวิถี มีชื่อตามอารมณ์ที่คล้ายกับบิดา(ผู้ให้เกิด) ว่า รูปตัณหา ฯลฯ ธรรมตัณหา เหมือนกับ(คน)มีชื่อตามบิดาในคำทั้งหลาย มีอาทิว่า เศรษฐีบุตร พราหมณบุตร เป็นต้น
ก็ในตัณหาวาระนี้ ตัณหามี 3 ประการอย่างนี้คือตัณหาที่มีรูปเป็นอารมณ์คือตัณหาในรูป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ารูปตัณหา รูปตัณหานั้นเมื่อยินดี เป็นไปโดยความเป็นกามราคะ ชื่อว่า กามตัณหา
เมื่อยินดี (รูป) เป็นไปอย่างนี้ว่า รูปเที่ยง คือยั่งยืนได้แก่ติดต่อกันไป โดยความเป็นราคะที่เกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ ชื่อว่า ภวตัณหา
เมื่อยินดี (รูป) เป็นไปอย่างนี้ว่า รูปขาดสูญ คือหายไป ได้แก่ละโลกนี้ไปแล้ว จักไม่มี โดยความเป็นราคะเกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐิชื่อว่าวิภวตัณหา
และสัททตัณหาเป็นต้น ก็เหมือนกับรูปตัณหา ฉะนั้น จึงรวมเป็นตัณหาวิปริต 18 ประการ. ตัณหาวิปริตเหล่านั้น แจกออกเป็น 18 ในอายตนะทั้งหลายมีรูปภายในเป็นต้น (และ) แจกออกเป็น 18 ใน
อายตนะทั้งหลายมีรูปภายนอกเป็นต้น จึงรวมเป็น 36 ประการ แจกเป็นอดีต 36 เป็นอนาคต 36 เป็นปัจจุบัน 36 ด้วยประการอย่างนี้จึงเป็นตัณหาวิปริต 108 ประการ
อีกอย่างหนึ่งตัณหาวิปริต 18 ประการ อาศัยรูปที่เป็นไปภายในเป็นต้น มีอาทิอย่างนี้ว่า เพราะอาศัยรูปเป็นภายใน มีตัณหาว่าเรามี เพราะรูปนี้ (และ) ว่า เมื่อเรามี เราก็เป็นที่ปรารถนา ฉะนั้น จึง
รวมเป็นตัณหา 36 แบ่งเป็นอดีต 36 อนาคต 36 ปัจจุบัน 36 โดยประการอย่างนี้ รวมเป็นตัณหาวิปริต 108 ดังที่พรรณนามานี้แล
ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม(หน้า 290 ข้อ 359) ได้อธิบายตัณหาร้อยแปดไว้ดังนี้ “ตัณหา 108 หมายถึงความทะยานอยาก, ความร่านรน ตัณหา 108 ในพระบาลีเดิมเรียก ตัณหาวิจริต หมายถึงความเป็นไป หรือการออกเที่ยวแสดงตัวของตัณหา) (องฺ.จตุกฺก. 21/199/290; อภิ.วิ. 35/1033/530 ) จัดดังนี้
ตัณหาวิจริต 18 อันอาศัยเบญจขันธ์ภายใน = เมื่อมีความถือว่า “เรามี” จึงมีความถือว่า : เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างอื่น เราไม่เป็นอยู่ เราพึงเป็นอย่างนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้น เราพึงเป็นอย่างอื่น ฯลฯ
ตัณหาวิจริต 18 อันอาศัยเบญจขันธ์ภายนอก = เมื่อมีความถือว่า “เรามีด้วยเบญจขันธ์นี้” จึงมีความถือว่า : เราเป็นอย่างนี้ด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างนั้น ด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างอื่นด้วยเบญจขันธ์นี้ ฯลฯ
ตัณหาวิจริต 18 สองชุดนี้ รวมเป็น 36 x กาล 3 (ปัจจุบัน อดีต อนาคต) = 108
อีกอย่างหนึ่ง ตัณหา 3 (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) คูณด้วยตัณหา 6 คือตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ จึงรวมเป็น 18 คูณด้วยภายในและภายนอก = 36 คูณด้วยกาล 3 = 108 (วิสุทธิ. 3/180)
วันนี้ยกมาจากพระไตรปิฎกคืออาหุสูตรและสัมมาทิฏฐิสูตร อรรถกถาและพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ต้องค่อยๆพิจารณาและค่อยๆทำความเข้าใจเพราะมันมากเกินไป จดจำได้ยาก ที่นำเสนอเพราะต้องการให้ทราบว่า กิเลสพันห้าและตัณหาร้อยแปด มีผู้พยายามจำแนกและนับไว้แล้ว หากพบหน้าคุณยายคนนั้นอีก จะถ่ายสำเนาเอกสารให้คุณยายไปอ่านเอาเอง เพราะหากอธิบายคงต้องใช้เวลานาน
คำว่า “กิเลส” แปลว่าสิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง ส่วนคำว่า “ตัณหา”แปลตามศัพท์ว่า ตัณหา ความอยาก ความกระหาย ความดิ้นรน และเป็นชื่อธิดาของมารคนหนึ่ง หากนำคำสองคำมารวมกันก็จะกลายเป็น “กิเลสตัณหา”ก็จะแปลได้ความว่าความอยาก ความกระหาย ความดิ้นรนที่ทำให้ใจเศร้าหมอง ทุกวันนี้คนส่วนมากต่อสู้กับ “โลภะ” ความอยาก ความดิ้นรน และ “กามตัณหา” ความทะยานอยากในกาม กิเลสและตัณหาเพียงสองข้อก็ยากที่จะเอาชนะได้แล้ว ยังเหลือกิเลสและตัณหาอีกมากมายที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจ ไม่รู้ว่าชาตินี้ทั้งชาติจะถ่ายถอนกิเลสตัณหาได้สักกี่ตัว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/05/55