ช่วงหลังสงกรานต์กรุงเทพมหานครอากาศร้อนมาก บางวันอุณหภูมิทะลุถึง 40 องศา แม้จะทำงานในห้องปรับอากาศแต่พอออกมานอกห้องก็ต้องสัมผัสกับอากาศร้อนเหมือนเดิม วันเสาร์อาทิตย์หลังสงกรานต์จึงออกเดินทางมุ่งสู่เชียงใหม่ ไม่อยากเดินทางช่วงสงกรานต์เพราะรถคงแน่น ผู้คนคงมาก แต่เลือกเดินทางสวนทางกลับผู้คนทั้งหลายในขณะคนส่วนหนึ่งเดินทางลงกรุงเทพมหานคร ฉันเองกลับเดินทางย้อนขึ้นเมืองเหนือ ปลายทางอยู่ที่อำเภอเชียงดาว
วันนั้นไปถึงแต่เช้าเดินทางโดยไม่เลือกรถโดยสาร รถอะไรก็ได้ขอให้มุ่งหน้าไปถึงเป้าหมายก็พอ ลงรถที่สถานีอาเขตนั่งรถสามล้อเครื่องไปที่สถานีช้างเผือก ยังเช้าอยู่จึงไม่มีรถตู้ซึ่งปลายทางอยู่ที่อำเภอฝางหรืออำเภอท่าตอน ซึ่งจะต้องผ่านอำเภอเชียงดาว แต่ทว่ายังมีรถโดยสารจากเชียงใหม่ไปอำเภอท่าตอน รถเที่ยวแรกออกเดินทางเวลาหกนาฬิกา วันนั้นรถโดยสารทั้งคันจึงมีผู้โดยสารที่ขึ้นที่ต้นทางเพียงคนเดียว เป็นพระภิกษุวัยกลางคนรูปหนึ่ง
รถโดยสารสีแดงซึ่งนั่งสบายมากผ่านข่วงสิงห์มุ่งหน้าเข้าอำเภอแม่ริม แม่แตง และถึงเป้าหมายในการเดินทางคือวัดใจหรือวัดดงเทวีก่อนที่จะเข้าอำเภอเชียงดาวเพียงไม่กี่กิโลเมตร ลงจากรถโดยสาร เดินเท้าไปเรื่อยๆยังเช้าอยู่อากาศกำลังเย็นสบายฟ้าสลัวด้วยกลุ่มหมอก มองเห็นดอยหลวงเชียงดาว ภูเขาที่สูงที่สุดในบริเวณแถบนี้เป็นเงาทะมึนเหมือนช้างใหญ่ที่นอนหมอบสงบนิ่ง ใต้ฟ้าสีเทา ยกกล้องขึ้นถ่ายภาพแต่ก็ไม่ได้ภาพตามที่ต้องการเพราะมีหมอกบดบังทัศนียภาพ
เดินผ่านหมู่บ้านทางเข้าวัดใจซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงกำแพง นัยว่าเป็นกำแพงเมืองไชยสงครามสมัยพระเจ้ามังรายมหาราช วีรกษัตริย์แห่งพิงคนครหรือเมืองเชียงใหม่ในอดีต ก่อนที่จะเข้าสู่วัดใจ(ดงเทวี)มีรถมอเตอร์ไซด์คันหนึ่งหยุดถามว่าจะไปไหน ผมจะไปส่ง ตั้งใจแต่ก่อนออกเดินทางแล้วว่าจะไม่เลือกประเภทรถ จึงนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ไปยังวัดใจ ขณะนั้นพระกำลังฉันภัตตาหารพอดี เดินเข้าศาลานั่งฉันภัตตาหารเช้า ด้วยความหิวจากการเดินทางไกล จึงฉันภัตตาหารได้มากโขอยู่ ไม่ต้องใช้ยาเจริญอาหารชนิดใด เพียงแค่ใช้ความหิวก็เป็นยาขนานเอกแล้ว วันนั้นเจ้าอาวาสวัดใจไม่อยู่ที่วัด นัยว่ามีภารกิจที่อำเภอแม่อาย จึงมีเพียงพระสงฆ์สามรูปนั่งฉันข้าว ไม่รู้จักใครสักรูป แต่ท่านก็ต้อนรับด้วยไมตรีพร้อมทั้งจัดหาที่พักให้
ฉันภัตตาหารเสร็จหนังท้องตึงหนังตาหย่อน แต่บอกกับหลวงตาที่วัดใจว่าอยากไปถ้ำเชียงดาวซึ่งมองเห็นเงาทะมึนของภูเขาท่ามกล่างอากาศสลัว อีกครั้งหนึ่งที่ต้องนั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปยังถ้ำเชียงดาว วันนั้นจึงกลายเป็นนักท่องเที่ยวคนแรกที่เดินทางมายังถ้ำเชียงดาว จึงมีเหล่าบรรดาไกด์ทั้งหลายล้อมหน้าล้อมหลัง บางคนเสนอบริการถ่ายภาพ ทั้งๆที่มีกล้องในมืออยู่แล้ว แต่ก็ยังใช้บริการช่างถ่ายภาพประจำถ้ำเชียงดาวหนึ่งท่านให้ตามถ่ายภาพด้วย พร้อมทั้งเช่าตะเกียงและจ้างไกด์ให้นำเที่ยวภายในถ้ำ
ก่อนจะเข้าถ้ำแวะที่ท่าน้ำซึ่งมีปลาดุกจำนวนมากแหวกว่ายในสายธาร ให้อาหารปลาไปสักพัก แม่อุ้ยอายุมากแล้วที่กำลังง่วนอยู่กับการเตรียมขนมปังเพื่อขายเป็นอาหารปลาหารายได้ประจำวัน นำเมี่ยงซึ่งทำจากใบชามาถวายหนึ่งคำ รสชาติออกเปรี้ยวนิดหนึ่งแต่ทว่าแก้ง่วงได้ชะงัดนัด เหงื่อเริ่มไหลซึมออกมาชุ่มจีวร ทั้งๆที่อากาศเย็นสบาย แม่อุ้ยบอกว่าเมี่ยงที่นี่เขาแรง จากนั้นจึงแบ่งเมี่ยงให้อีกสองคำ แต่พอขอซื้อแม่อุ้ยบอกไม่ขายแต่แบ่งให้ได้ บางอย่างไม่ได้มีไว้ขาย แม่อุ้ยบอกอย่างนั้น
ช่างภาพประจำถ้ำเชียงดาวเดินตามคอยถ่ายภาพ คนถือตะเกียงและทำหน้าที่ไกด์ไปด้วยส่องตะเกียงและบรรยายภาพหินที่พบเห็นไปเรื่อยๆ “หินนี้เป็นหินโคมไฟเทวดา นั่นหินดอกบัวบาน ถัดไปเป็นหินมือยักษ์ หินดอกบัวพันชั้น นั่นเรียกว่าถ้ำม้า ถ้ำแก้ว ถ้ำพระนอน ถ้ำน้ำ ศาลฤาษีอุคันธะ ผู้สร้างเจดีย์ 25 องค์หน้าถ้ำ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ เป็นพระปางนอนหงาย ฯลฯ” ฟังไกด์บรรยายไปถ่ายภาพไปด้วย ช่างภาพส่วนตัวก็มีกล้องประจำตัวอีกหนึ่งตัว ต่างคนต่างถ่ายภาพไป โดยให้ช่างภาพประจำถ้ำเชียงดาวคอยถ่ายภาพกับสถานที่สำคัญของถ้ำไปด้วย วันนั้นจึงมีภาพในถ้ำเชียงดาวหลายภาพ หากถ่ายเองคงไม่ได้ภาพตัวเอง คงได้แต่ภาพหินงอกหินย้อยและภาพอื่นๆภายในถ้ำ
ภายในถ้ำเชียงดาวอากาศชื้น สักพักก็มีกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกหลายกลุ่มเดินมาตามเส้นทางที่ไกด์อยากให้ไป บางกลุ่มเดินผ่านไปแล้ว เพราะมัวแต่ถ่ายภาพจึงทำให้การเดินทางชมถ้ำช้า ตอนนั้นพลันนึกถึงป้ายบริเวณวัดมกุฏคีรีวัน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาที่เขียนไว้ว่า “ดูภูเขา ให้ดูภูเรา ดูถ้ำเขา ให้ดูถ้ำเรา” ถ้ำเขาอาจหมายถึงถ้ำทั่วๆไปซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันเหมือนมนุษย์แต่ละคนแม้จะมีร่างกายเหมือนกันแต่มีลักษณะต่างกัน ไม่มีใครมีรูปร่างเหมือนกันทุกประการแม้แต่ฝาแฝดก็จะต้องมีลักษณะแตกต่างกันอย่างใดอย่างหนึ่งจนได้ ส่วนเรื่องของจิตใจยิ่งต้องแตกต่างกัน ร่างกายและจิตใจของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
ถ้ำยังหมายถึงสรีระร่างกายของมนุษย์ได้อีกด้วย ดังที่แสดงไว้ในคุหัฏฐกสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต (25/409/433) ความว่า “นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย ถูกกิเลสเป็นอันมากปกปิดไว้แล้ว ดำรงอยู่ด้วยอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น หยั่งลงในกามคุณเครื่องทำจิตให้ลุ่มหลง นรชนผู้เห็นปานนั้นแล เป็นผู้ไกลจากวิเวก เพราะว่ากามคุณทั้งหลายในโลก ไม่ใช่ละได้โดยง่ายเลย กามคุณทั้งหลายมีความปรารถนาเป็นเหตุ เนื่องด้วยความยินดีในภพ เปลื้องออกได้โดยยาก คนอื่นจะเปลื้องออกให้ไม่ได้เลย”
คำว่าถ้ำคือกาย แปลมาจากภาษาบาลีว่า “คุหายํ” กายท่านเรียกว่าถ้ำเพราะเป็นช่องให้สัตว์ร้ายมีราคะเป็นต้นอาศัยอยู่ กิเลสทั้งหลายแทรกอยู่ในถ้ำคือกายนี้ หากต้องการดูถ้ำให้ละเอียดก็ต้องย้อนกลับไปดูถ้ำคือกายของตัวเราเอง ส่วนถ้ำภายนอกที่ประดับตกแต่งด้วยก้อนหิน อันมีรูปร่างต่างๆนั้น แม้จะวิจิตรพิสดารและมีความงดงามสักปานใดก็ตาม ก็ยังไม่สู้การหันกลับไปดูถ้ำของตนเองที่มีกิเลสทั้งหลายปรุงแต่งให้เป็นไปตามอำนาจ เพียงราคะตัวเดียวก็ยากที่จะถ่ายถอนออกไปจากจิตใจได้ หากเพิ่มกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดเข้าไปอีกยิ่งยากที่ละได้โดยง่าย กามคุณมิใช่สิ่งที่จะละได้โดยง่าย มีสาเหตุมาจากความปรารถนา คนแต่ละคนจะละได้บรรเทาได้ก็ด้วยตนเอง
สรีระร่างกายจึงเป็นเหมือนถ้ำที่อยู่อาศัยของจิต ดังที่แสดงไว้ในจิตตวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท (25/13/17) ความว่า “ชนเหล่าใดจักสำรวมจิตอันไปในที่ไกล ดวงเดียวเที่ยวไป หาสรีระมิได้ มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยชนเหล่านั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร”
คำว่า “ถ้ำเรา” ในที่นี่จึงหมายถึงจิตใจที่แทรกอยู่ภายในสรีระร่างกายของแต่ละคนนั่นเอง หากจะเข้าใจตัวเราเองก็ต้องรู้ซึ้งถึงจิตใจตัวเราเอง หันกลับมาเพ่งพินิจในภายในจิตใจของเราเอง จิตใจมักจะท่องเที่ยวไปตามความปรารถนา บางครั้งก็ตามไม่ทันความคิด มันปรุงแต่งไปเรื่อยยากที่จะทำให้สงบนิ่งอยู่ในอารมณ์ได้ จิตนั้นมักกวัดแกว่งดิ้นรนเหมือนปลาที่ชาวประมงยกขึ้นวางไว้บนบกย่อมดิ้นรนกระเสือกกระสนหาทางลงน้ำที่คุ้นชินจนได้ ดังที่แสดงไว้ในจิตตวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า “จิตนี้อันพระโยคาวจรยกขึ้นแล้วจากอาลัยคือเบญจกามคุณเพียงดังน้ำ ซัดไปในวิปัสสนากรรมฐานเพียงดังบก เพื่อจะละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรนดุจปลาอันชาวประมง ยกขึ้นแล้วจากที่อยู่คือน้ำโยนไปแล้วบนบกดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น”
ช่างภาพ คนถือตะเกียงและคนนำทางหมดหน้าที่ไปแล้ว พวกเขาได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว แต่ฉันเองยังอยู่ในถ้ำเดินเล่นพลางชมความงามของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำไปพลาง ถ่ายภาพไปพลาง หามุมสงบนั่งพินิจพิจารณาความเป็นไปของชีวิตไปด้วย มีเวลาอยู่คนเดียวภายในถ้ำเชียงดาวและมีเวลาอยู่กับจิตใจตัวเอง อยู่กับถ้ำของตัวเอง ดูถ้ำภายนอกแล้วก็ย้อนกลับมาดูถ้ำภายใน จึงเป็นการดูถ้ำเขาและดูถ้ำเราไปด้วย วันนั้นจึงได้ดูถ้ำ ชมถ้ำ พิจารณาถ้ำอย่างเพลิดเพลินและมีความสุข ลืมอากาศร้อนที่กรุงเทพมหานครไปอีกหนึ่งวัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
25/04/55