วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปตามการโคจรของดวงดาว ชีวิตมนุษย์และเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย หากหยุดเวลาให้อยู่ที่ได้คงต้องหยุดไว้ในช่วงเวลาที่เป็นหนุ่มสาว เพราะเป็นช่วงแห่งวัยที่มีความสนุกสนานร่าเริงและมีความฝันมากที่สุด แต่เมื่อหยุดเวลาไว้ไม่ได้จากความเป็นหนุ่มสาวก็ต้องย่างเข้าสู่วัยชราอันเป็นไปตามธรรมดาของโลก เมื่อถึงวันที่มีผู้เรียกว่า “ผู้สูงอายุ” แม้ไม่อยากจะได้ยินแต่หากมีอายุมากขึ้นก็ต้องได้คำเรียกขานนี้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ยกเว้นแต่ผู้ที่ไม่มีโอกาสแก่ชราเพราะรีบด่วนจากไปก่อนวัยอันควรจะเป็น
ในหนึ่งปีถูกกำหนดให้มี “วันผู้สูงอายุ” หนึ่งวันซึ่งเกิดขึ้นมานัยว่าเพื่อให้คนได้นึกถึงคนทีสูงอายุที่เริ่มจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี โดยเฉพาะในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาเมื่อคนหนุ่มสาวเสียชีวิตเพราะโรคเอดส์ คนหนุ่มสาวจึงเหลือน้อย ในขณะที่คนสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น คนเหล่านี้หากมีลูกหลานคอยดูแลก็คงไม่เป็นปัญหาแต่ประการใด แต่ถ้าไม่มีญาติพี่น้องเหลืออยู่เลยหรือหากมีแต่ไม่มีใครดูแลจะปล่อยวันเวลาให้ผ่านไปได้อย่างไร คงเหงาเศร้าซึมนั่งทบทวนความหลังเมื่อครั้งที่ยังเป็นหนุ่มสาว คนแก่มักย้อนนึกถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว
รัฐบาลไทยได้กำหนดให้ในช่วงสงกรานต์เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งนัยว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐบาลสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก "ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ
คนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเรียกว่า “ผู้สูงอายุ” ในงานราชการกำหนดให้เกษียณอายุราชการเมื่อมีอายุครบ 60 ปี ตำแหน่งต่างๆที่เคยมีก็ต้องหลุดลอยไปด้วย บางคนเคยเป็นใหญ่เป็นโตแต่พออายุครบหกสิบปีทุกอย่างก็กลับคืนสู่ความเป็นธรรมดา เป็นชาวบ้านธรรมดาเหมือนคนทั่วไป ยกเว้นแต่บางท่านที่อาจจะมีตำแหน่งบางอย่างมารองรับเป็นที่ปรึกษาเป็นต้น
เชื่อกันว่าดอกลำดวนที่เป็นสัญลักษณ์ของวันผู้สูงอายุ เพราะลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิ ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป นอกจากนั้นทางด้านพฤกษศาสตร์ ต้นไม้นี้ยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้อีกด้วย ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ ดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจังหวัดศีรษะเกษ
วันหนึ่งมีธุระที่งามวงศ์วาน จึงแวะที่ชั้นสามอันเป็นสถานที่ให้เช่าพระเครื่อง เดินดูพระเครื่องเพลินๆหลายรอบ จนกระทั่งมาหยุดที่แผงของคุณลุงท่านหนึ่ง คุณลุงแสดงบัตรประจำตัวเมื่อครั้งที่เคยเป็นข้าราชการระดับสูง แต่ปัจจุบันได้เกษียณราชการออกมานานนับสิบปีแล้ว ปัจจุบันได้กลายเป็นผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ คุณลุงบอกว่า “ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆมันเหงา ลูกหลานต่างก็ไปทำงานกันหนมด ตอนกลางวันจะเงียบเหงามาก การอยู่คนเดียวท่ามกลางความเงียบในวัยชราไม่ค่อยดีนัก จิตเจ้ากรรมมันมักจะพาย้อนกลับไปคิดถึงวันเวลาที่เคยทำงาน ซึ่งก็ได้แต่คิดเท่านั้น วันเวลาไม่ย้อนกลับ สมัยที่เป็นข้าราชการไปไหนมาไหนมักจะมีคนมอบพระเครื่องให้ เก็บสะสมไว้มากๆเข้าก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จึงมาเช่าแผงพระเครื่องที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ชั้นสาม งามวงวานนี่แหละครับ ได้บ้างไม่ได้บ้างแต่อย่างน้อยก็ยังมีเพื่อนคุย”
ตัวเราเองก็เป็นเหมือนกับลุงคนให้เช่าพระคนนั้นเล่าให้ฟังเหมือนกัน มีพระเครื่องหลายองค์ส่วนมากจะเป็นพระที่สร้างขึ้นใหม่ ไปร่วมงานที่ไหนก็จะได้รับแจก จากนั้นก็แจกต่อแต่ก็ยังเหลือเก็บอีกหลายองค์ พระเครื่องเหล่านั้นท่านก็อยู่เฉยๆนานวันเข้ายิ่งมีปริมาณที่มากขึ้น คิดจะให้เช่าหาเงินเข้าวัดก็ยังทำใจไม่กล้าพอ ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นคนขายพระ
ลุงคนให้เช่าพระคนนั้นอาจจะพูดจากใจจริงหรือเป็นเทคนิคในการขายก็สุดจะคาดเดา นั่งคุยไปได้สักพักลุงสั่งกาแฟสดมาถวายหนึ่งแก้ว หยิบพระรุ่นนั้นรุ่นนี้ขึ้นมาดูเพลินๆลุงก็บรรยายประวัติการสร้างพร้อมทั้งพุทธคุณในองค์พระเครื่องเหล่านั้น ตอนนั้นไม่คิดอยากได้อะไร แต่พอฟังลุงบรรยายไปสักพักและได้ฉันกาแฟดำหนึ่งแก้ว หากไม่อุดหนุนอะไรก็ดูเหมือนจะใจจืดใจดำไปหน่อย ยิ่งคุณลุงพูดด้วยอารมณ์ดีบอกว่าสองวันมาแล้วให้เช่าไม่ได้สักองค์เลยครับ แต่ต้องจ่ายค่าเช่าแผงพระวันละสองร้อยกว่าบาท”
ในใจตอนนั้นหวนย้อนคิดไปถึงชายชราคนหนึ่งหนวดเครายาวเฟื้อยและนักบวชอีกกลุ่มหนึ่งนั่งสวดสาธยายมนต์ใต้ต้นโพธิ์ข้างๆวัดมายาเทวี ลุมพินีอันเป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งในกาลต่อมาได้กลายเป็นพระพุทธเจ้าศาสดาของชาวพุทธ เช้าวันนั้นเดินฝ่าหมอกควันในฤดูหนาวเข้าไปสักการะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อเห็นว่ายังมีคนที่กำลังแวดล้อมเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชที่ตั้งตระหง่านข้างๆวัดมายาเทวี จึงเดินไปรอบๆเพื่อสำรวจอาณาบริเวณ ชายชราหลายคนทั้งแต่งตัวเป็นนักบวช นักพรต สันยาสีนั่งสวดมนต์ใกล้ๆสถานที่ประสูติ จึงยกกล้องขึ้นถ่ายไว้เอาไว้เป็นที่ระลึก คนเหล่านั้นอยู่ในวัยชราเป็นผู้สูงอายุเหมือนกัน พวกเขาเลือกวิธีสวดมนต์เพื่อขอเงินจากนักท่องเที่ยว นัยว่าเป็นอาชีพที่พอประคับครองตนอยู่ได้
นักบวชและชายชราร่างพิการอีกสองท่านที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเลือกวิธีขอชึ่งๆหน้า ฤาษีท่านนั้นถือกลาที่ทำจากมะพร้าวแห้งเดินขอจากนักท่องเที่ยวดื้อๆ หากใครไม่ให้แกจะบ่นพำพรำเหมือนกำลังสาปแช่ง แต่หากใครที่บริจาคใส่กลามะพร้าวแกจะยิ้มอย่างอารมณ์ดีเหมือนกำลังให้พร ส่วนชายร่างพิการยกมือทั้งสองข้างที่ไม่มีนิ้วมือให้ดูด้วยท่าทีท่าน่าสงสาร วันนั้นฉันเลือกบริจาคให้ขอทานร่างพิการคนนั้นก่อนจึงหันไปบริจาคให้ฤาษีท่านนั้น คงได้บุญบ้างไม่มากก็น้อย แต่อย่างน้อยก็ได้สละจิตที่ตระหนี่ออกไปได้บ้าง
คนขายพระเครื่องกับคนสวดมนต์ใต้ต้นโพธิ์แม้จะมีอายุอยู่ในวัย “ผู้สูงอายุ” เหมือนกัน แต่เลือกทำในสิ่งที่ต่างกัน คนหนึ่งทำงานเพราะอยากทำเพื่อคลายความเหงา แต่อีกคนหนึ่งเป็นผู้สละบ้านเรือนอยู่ในช่วงของ “วนปรัสถ์” วัยที่อยู่ป่า และ “สันยาสี” วัยที่แสวงหาความสงบอันเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต แนวคิดของคนในวัยนี้จากสองประเทศอาจแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือต้องการความสงบและต้องการบุญกุศลเพื่อจะได้เป็นเสบียงไปยังภพหน้า เมื่อถึงเวลาวายชนม์ เพราะเมื่อเวลานั้นมาถึงสมบัติติดตามกายนำไปไม่ได้สักชิ้นเดียว กายก็ถูกเผาสิ้นเหลือแต่ขี้เถ้า จึงมีเพียงบุญและบาปที่ติดตามจิตไป
ลักษณะคนแก่นั้นมีผู้ให้คำจำกัดความไว้น่าสนใจว่า “ชอบของขม ชมเด็กสวย ช่วยศาสนา บ้าของเก่า เล่าความหลัง” หากใครอยู่ในข่ายดังกล่าวมานี้ขอให้เข้าใจว่าเริ่มแก่แล้ว วันนั้นที่งามวงศ์วานได้กาแฟดำ ไม่ใส่น้ำตาล รสชาติขมกลมกล่อม นั่งสนทนาเรื่องพระเครื่องกับคุณลุงเจ้าของแผงให้เช่าพระ และฟังอัตชีวประวัติของคนขายพระไปเรื่อยๆ พอกาแฟได้ที่ก็สนทนาถูกคอ หรือว่าเราก็เป็นผู้สูงวัยแล้วเหมือนกัน หากความเป็นสูงวัยไม่ถูกกำหนดด้วยอายุ วันนั้นก็ดูไม่ออกว่า คนที่ให้เช่าพระหรือผู้ที่กำลังจะเช่าพระเป็นคนแก่กันแน่หรือแก่ทั้งคู่
ในที่สุดจึงเช่าพระเครื่องมาหนึ่งองค์ในราคาที่น่าจะพอกับค่าเช่าสองวันตามที่ลุงว่า ใจจริงไม่อยากได้ แต่อยากช่วยให้ลุงได้ประกอบอาชีพที่สุจริตและเพื่อจะได้หลงลืมความเหงวาในวัยชรา อย่างน้อยมีงานทำก็ยังดีกว่าอยู่คนเดียวซึ่งจะต้องอยู่กับความคิด หากคุมอยู่ก็ดีไป แต่หากคุมความคิดไม่อยู่อาจจะเกิดความฟุ้งซ่านหรือบ้าได้ง่ายๆ
คนแก่นั้นหากจะเป็น “คนแก่ดีมีสุข” ผู้รู้ท่านแนะนำไว้ดังนี้ “ทำตนให้สบาย รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่เสพของแสลง และตั้งมั่นในศีลธรรม” ทั้งสี่ประการนี้มีความหมายโดยสังเขปดังนี้
การทำตนให้สบายนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ในช่วงที่เป็นหนุ่มสาวหรือในวัยทำงาน เราอาจจะได้งานทำหรือทำงานในสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ก็ต้องทำเพราะการทำงานเป็นที่มาของเงินที่จะนำมาเลี้ยงชีพ บางคนทำงานจนอายุหกสิบปีก็ยังไม่ชอบงานที่ตนเองทำเลย ส่วนงานที่เราชอบทำแล้วมีความสุขบางครั้งก็เป็นเพียงงานอดิเรกซึ่งมีหลายอย่างเช่นวาดภาพ ถ่ายรูป อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ แต่งเพลง สะสมของเก่า สะสมพระเครื่องเป็นต้น ตอนเป็นหนุ่มสาวเราทำงานเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่พอเป็นผู้สูงอายุ เราทำงานในสิ่งที่เราชอบ จึงเป็นการทำงานเพื่อพักผ่อน ทำตนให้สบายเหมือนคุณลุงคนให้เช่าพระที่งามวงศ์วานคนนั้น แม้บางวันจะขายไม่ได้เลย แต่ก็ยังมีความสุข
การบริโภคอาหารมีปรากฏในคำสอนของพระพุทธศาสนาหลายแห่ง แม้แต่ในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ยังมีคำว่า “โภชเน มัตตัญญุตา” คือรู้จักประมาณในการบริโภค บางคนรับประทานไม่เลือกกินจนอิ่ม จากนั้นก็ทำอะไรต่อไม่ได้ เข้าห้องหลับ พอหลับตอนกลางวันมีปัญหาถึงกลางคืน วันหนึ่งผู้เขียนได้รับนิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหารเพลที่กุฏิเจ้าอาวาส อาหารอร่อยมากลืมคำเตือนฉันไปเรื่อยๆพอรู้สึกตัวจึงอิ่มเต็มที่ วันนั้นเป็นวันหยุดไม่ต้องเดินทางไปไหน พอเข้าห้องได้ก็เข้าสู่นิทราหลับสนิท จนกระทั่งเย็นๆจึงรู้สึกตัว “กินแล้วนอน” ดูเหมือนจะสบายแต่สภาพที่แท้จริงไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะพอตกกลางคืนก็เกิดปัญหานอนไม่หลับ กินกับนอนจึงต้องสัมพันธ์กันให้อยู่ในความพอดี กินอาหารพอประมาณจะทำงานได้ แต่หากรับประทานเกินประมาณ งานการจะถูกลืมเลือน
ของแสลงมีหลายอย่างอาจจะเป็นอาหาร อารมณ์ อาจมและอากาศก็ได้ แต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะร่างกายของแต่ละคนมีโรคภัยประจำตัวต่างกัน อาหารบางอย่างเหมาะสำหรับคนบางคน แต่ไม่ถูกกับอีกบางคน แต่ละคนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่แสลงสำหรับตัวเอง ผู้เขียนเองชอบอาหารประเภทหนึ่งมาก แต่พอรับประทานเมื่อไหร่ได้เรื่องทุกที ก็ต้องตัดความชอบออกไปจากความคิด แม้จะเห็นวางอยู่ตรงหน้าก็ไม่กล้าแตะต้อง ของแสลงต้องระวังให้มากหากพลาดพลั้งอาจถึงตายได้ทุกเวลา ยิ่งคนแก่หากกินอาหารผิดสำแดงเกิดแสลงขึ้นมารักษายาก
ตั้งมั่นในศีลธรรม ข้อนี้มีความหมายชัดเจนตามตัวอักษร สังเกตว่าในวันสงกรานต์ที่ผ่านมาจะมีคนแก่มาวัดมากว่าคนหนุ่มสาว และได้สังเกตเห็นอีกอย่างหนึ่งคือเด็กกับคนแก่จะมีปริมาณพอๆกัน เด็กตามคุณตา คุณยายมาวัดก่อนที่จะไปทีอื่นต่อ ส่วนคนแก่บางคนอยู่วัดจนค่ำ นั่งคุยสนทนากับคนในวัยเดียวกันหรือได้พบเพื่อนเก่า ในวงสนทนาจึงมีเสียงหัวเราะแทรกมาเป็นระยะๆ คนที่ได้ยินก็พลอยมีความสุขไปด้วย
ในวันสงกรานต์มีคนมารดน้ำหลายวัยทั้งเด็กผู้ใหญ่และคนในวัยชรา คุณยายท่านหนึ่งถือขันน้ำอบน้ำหอมนั่งประนมมือรับศีลจากหลวงพ่อที่กำลังให้ศีล คุณยายนั่งพับเพียบที่พื้นปูนหลบเงาแดดข้างๆพระอุโบสถเวลาบ่าย ที่กำลังร้อนระอุจากเปลวแดดกล้าด้วยใจที่อิ่มบุญ ตอนนั้นคงลืมเลือนความร้อนที่กำลังแผดเผากายไปแล้ว เพราะในใจมุ่งตรงต่อศีลที่กำลังรับ ใจคงกำลังอยู่ในความสุข เกิดเป้นความสงบภายใน ความร้อนภายนอกจึงไม่อาจจะทำอะไรได้ ใจที่สงบย่อมพบพระธรรม
ความแก่ทำให้สิ่งต่างในร่างกายแปรเปลี่ยนไป ผิวพรรณเปลี่ยนไป มนุษย์เราแม้จะมีอายุยืนก็เกินร้อยปีไปไม่มากนัก ถึงเวลาแห่งอายุขัยก็ต้องก้าวเข้าสู่ความตายสักวันหนึ่งเหมือนกัน ดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในชราสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/965/237) ความว่า “ถึงท่านจะติความแก่อันเลวทราม ถึงท่านจะติความแก่อันทำให้ผิวพรรณ ทรามไป รูปอันน่าพึงใจก็คงถูกความแก่ย่ำยีอยู่นั่นเอง แม้ผู้ใดพึงมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปี (ผู้นั้นก็ไม่พ้นความตายไปได้) สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นเบื้องหน้า ความตายย่อมไม่ละเว้นอะไรๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว”
หากทำตัวให้เป็นคนแก่อย่างมีค่า และชราอย่างมีคุณ เร่งทำบุญสะสมบุญกุศลเข้าไว้ หากมีอันต้องจากโลกนี้ไปก็ไปอย่างไม่ลังเล ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง สิ่งทั้งปวงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่สักวันหนึ่งพวกเขาก็จะแก่เหมือนกันกับเรานั่นแล
ไม่อาจจะทราบโดยหยั่งลึกลงไปในจิตใจของคนให้เช่าพระเครื่อง สันยาสี นักบวช ฤาษี คนขอทานร่างพิการ และยายในชุดลายดอกข้างๆพระอุโบสถในวันสงกรานต์ คนเหล่านี้ใครคือคนที่มีความสุขมากกว่ากัน แต่ทุกคนต่างก็ได้เลือกทำในสิ่งที่ตนคิดว่าควรจะทำตามสมควรแก่อายุ ทุกคนคือ “คนสูงอายุ” เหมือนกัน แต่เลือกกระทำไม่เหมือนกัน
หอมกลิ่นดอกลำดวนมาจากไหนไม่ทราบ มันหอมกรุ่นชื่นใจ แม้ว่านานๆจะออกดอกสักครั้ง แต่หากออกดอกเมื่อใดจะส่งกลิ่นหอมชวนชื่นใจ เหมือนคนแก่ใจดีที่พร้อมจะเป็นผู้ให้กับลูกหลานทั้งหลาย ถึงแม้ว่าความชราจะมาเยือน แต่หากความดีเพิ่มพูนขึ้นตามวัย คนชรานั้นก็เป็นคนแก่ที่แก่ดีมีความสุข
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/04/55