มีเรื่องเล่าในคัมภีร์พระพุทธศาสนาหลายแห่งที่กล่าวถึง “พระอินทร์” ที่มักจะลงมาปราบคนพาล ช่วยอภิบาลคนดี ในเวลาที่มนุษยโลกมีปัญหามีความวุ่นวายพระอินทร์มักจะปรากฏตัวเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ผู้ทำความดี บางแห่งวรีกรรมของพระอินทร์ได้ถูกนำมาสร้างดัดแปลงเป็นนิทานพื้นบ้าน เป็นตำนานเล่าขานเพื่อเป็นตัวอย่างเป็นคติสอนใจให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ถือเป็นตัวอย่างแห่งผู้ทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น ในวัดวาอารามบางแห่งก็มักจะนิยมวาดภาพพระอินทร์พร้อมทั้งหมู่เทวดาแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนคนบางคนหากไม่พร้อมที่จะบวชเป็นพระสงฆ์ก็ฝันว่าอยากเป็นพระอินทร์
พระอินทร์มีคำเรียกขานอีกหลายชื่อเช่น “ท้าวสักกะเทวราช สหัสนัย มัฆวา ปุรินทะ สุชัมบดี เทวานมินทะ วาสวะ" เป็นต้น แต่ละชื่อต่างก็มีที่มาแตกต่างกันไป ฝากให้ค้นหาเอาเอง ส่วนใครจะนำชื่อของพระอินทร์มาตั้งชื่อก็ไม่สงวนสิทธิ์แต่ประการใด เช่นใครที่ตั้งชื่อว่า “สหัสนัย” ก็ต้องเข้าใจความหมายด้วย เพราะสหัสนัย แปลว่าผู้มีนัยน์ตาพันดวง ในที่นี้ขอเรียกชื่อเดียวว่า “พระอินทร์” ตามความเคยชิน
วันหนึ่งหลังทำวัตรสวดมนต์เย็น ท้องฟ้ากำลังสดใสด้วยแสงแห่งดวงอาทิตย์ในยามสายัณหกาล สามเณรพอลเดินเข้ามาหาและเอ่ยถามว่า “หลวงพ่อครับพระอินทร์มีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามีท่านอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ลงมาช่วยโลกมนุษย์ที่กำลังวุ่นวายให้สงบสุขเสียที หากผมอยากเป็นพระอินทร์จะทำอย่างไร” สามเณรพอลที่พึ่งบวชเณรภาคฤดูร้อนได้เพียงสามวันถามขึ้นในวันนั้น คงได้เห็นภาพพระอินทร์หรือได้ยินเรื่องเล่าขานมาจากที่ใดที่หนึ่ง
จึงบอกว่า “สามเณรอยากเป็นพระอินทร์ทำไม เป็นสามเณรก็ดีอยู่แล้ว”
สามเณรพอลจึงบอกว่า “ผมเพียงแต่อยากทราบเท่านั้นแหละครับ ยายเคยเล่าให้ฟังว่าพระอินทร์มีเมียถึงสี่คน ผมยังจำชื่อได้นะครับ สุจิตตา สุธัมมา สุนันทา สุชาดา สถิต ณ วิมานชั้นดาวดึงส์ ที่บ้านผมมีนิยายเรื่องนางนกกระยางขาว กล่าวถึงนางสุชาดาอดีตภรรยาของมฆมานพที่ชอบแต่งตัวสวยงาม ไม่ชอบทำบุญทำท่านอะไรเลย เพราะคิดว่าสิ่งใดก็ตามที่สามีทำก็ย่อมจะมีผลกับภรรยาด้วย ส่วนภรรยาของมฆมานพอีกสามคนไม่ได้คิดอย่างนั้นพวกเธอคิดว่าการทำบุญเป็นเรื่องส่วนบุคคลใครทำใครได้ เมื่อสามีสร้างศาลาเพื่อเป็นที่พักของคนเดินทาง จึงร่วมทำบุญด้วยภรรยาคนหนึ่งสร้างช่อฟ้า อีกคนสร้างสวนดอกไม้ ส่วนอีกคนสร้างศาลาฟังธรรมไว้ใกล้ศาลาใหญ่ ในที่สุดเมื่อตายจากโลกนี้ไปจึงไปเสวยสมบัติในวิมานชั้นดาวดึงส์พร้อมกับมฆมานพที่กลายเป็นพระอินทร์ ส่วนนางสุชาดาเนื่องจากมัวแต่แต่งตังยั่วสามีไม่ได้ทำบุญอะไรไว้เลยจึงเกิดเป็นนางนกกระยางขาว”
สามเณรพอลพยายามประติดประต่อเรื่องราวที่เคยได้ฟังมา นิยายเรื่องนางนกกระยางขาว นิยมนำมาดัดแปลงเป็นนิทานสำหรับหมอลำเรื่องต่อกลอนที่ภาคอีสานจะใช้เป็นเรื่องในการละเล่น ที่นิยมมากจะเป็นแถบภาคอีสานและประเทศลาว ที่น่าประทับใจที่สุดก็จะเป็นตอนที่พระอินทร์เมื่อทราบว่านางสุชาดาไม่ได้มาเกิดร่วมในวิมานพร้อมกับภรรยาคนอื่นๆและทราบว่าอดีตภรรยาเกิดเป็นนกกระยางสีขาวเที่ยวหากินปลาตามริมแม่น้ำ จึงต้องลงมาช่วยเหลือเพื่อที่จะให้อดีตภรรยาคนนั้นไปเกิดร่วมในวิมานดาวดึงส์เหมือนคนอื่นๆ
ธรรมชาติของนกกระยางจะกินปลาเป็นอาหาร แต่การที่จะได้ไปเกิดในสวรรค์จะต้องเป็นผู้มีศีลห้า ข้อแรกคือไม่ฆ่าสัตว์ ซึ่งนกกระยางทำได้ยาก แต่เพราะความอยากเป็นของนกกระยางจึงพยายามรักษาศีลห้าให้ได้ อีกสี่ข้อไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาคือศีลข้อแรก หากไม่ฆ่าสัตว์จะกินอะไรเป็นอาหาร มีหวังต้องอดตาย แต่เพราะความฝันที่อยากจะไปเกิดร่วมกับอดีตสามีจึงทำให้นางนกกระยางต้องเที่ยวเสาะหาปลาตายเพื่อประทังชีวิต ในที่สุดเมื่อนางนกกระยางเสียชีวิตก็ไปเกิดร่วมกับพระอินทร์ในดาวดึงส์สวรรค์
ปฏิปทาแห่งการที่จะทำให้เกิดเป็นพระอินทร์นั้นมีแสดงไว้ในปฐมเทวสูต สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/905/275) ความว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ในกาลครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบทเจ็ดประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบทเจ็ดประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะวัตรบทเจ็ดประการคือ(1)เราพึงเลี้ยงมารดาบิดาจนตลอดชีวิต (2) เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลจนตลอดชีวิต (3) เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต (4) เราไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต (5) เราพึงมีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทินอยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่มยินดีในการสละควรแก่การขอ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต (6) เราพึงพูดคำสัตย์ตลอดชีวิต (7) เราไม่พึงโกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราพึงกำจัดมันเสียโดยฉับพลันทีเดียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบทเจ็ดประการนี้บริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบทเจ็ดประการดังนี้ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า “เทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวถึงนรชน ผู้เป็นบุคคลเลี้ยงมารดาบิดามีปรกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวแต่คำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้ นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษ”
สามเณรพอลฟังจบได้แต่สั่นหน้าก่อนจะบอกว่า “ทำยากครับหลวงพ่อ ผมเป็นผมนี่แหละดีที่สุดแล้ว ทำดีที่สุดในสิ่งที่เป็น ผมจะพยายามกลับไปทบทวนอีกทีว่าสิ่งที่จะทำให้ไปเกิดเป็นพระอินทร์หรือท้าวสักกะเทวราชนั้นพอจะทำได้ข้อไหนบ้าง ถึงไม่ได้เป็นพระอินทร์ก็ขอเป็นเทวดาอยู่ใกล้พระอินทร์ก็ได้
มาสะดุดกับคำว่า “ทำดีที่สุดในสิ่งที่เป็น” ที่สามเณรพอลคงไม่ได้ตั้งใจเอ่ยปากออกมา แต่คำนี้ฟังดูดี แม้ว่าความฝันในความอยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ตามแต่จินตนาการจะพาไป แต่การดำเนินตามแนวทางที่ฝันไว้ก็มีความจำเป็น ปลายสุดแห่งความฝันที่อยู่เบื้องหน้าคือเป้าหมายที่อยากจะไปให้ถึง แต่วิธีการในการเดินทางไปสู่จุดหมายก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเป้าหมาย วันนี้สามเณรพอลทำหน้าที่ของสามเณรให้ดีที่สุด ส่วนความฝันที่อยากเป็นพระอินทร์ของสามเณรพอลจะยังมีอยู่หรือไม่นั้น ต้องรอดูกันต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/04/55