ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          มีเพื่อนพระภิกษุรูปหนึ่งบวชมานานร่วมยี่สิบปี จู่ๆก็ลาสิกขาโดยไม่ทราบสาเหตุ บอกเพียงสั้นๆว่า “เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย” ความจริงหากจะศึกษาต่อก็สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องลาสิกขา ยิ่งอินเดียดินแดนพุทธภูมิ ยิ่งสะดวกในการเดินทางเพราะคนที่นั่นคุ้นเคยกับพระสงฆ์เป็นอย่างดี แต่ทว่าพระจะสึก ฝนจะตก นั้นโบราณว่าห้ามไม่ได้ ทางใครทางมัน


          เช้าวันหนึ่งที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ผู้คนกำลังทยอยเดินทางไปรวมกันที่ท่าน้ำเพื่อที่จะได้อาบน้ำชำระบาปตามคติความเชื่อของคนอินเดียส่วนหนึ่ง อากาศยามเช้ากำลังเย็นสบาย ผู้คนต่างลงอาบน้ำด้วยความสุข บางคนลงอาบทั้งๆที่เครื่องแต่งกายไม่ได้ถอดคืออาบทั้งเสื้อผ้า วักน้ำล้างหน้าและค่อยๆดำดิ่งจนเปียกปอนไปทั้งตัว บางคนใช้ภาชนะตักน้ำมารดที่แท่นหินอันเป็นสิ่งเคารพคือแท่งศิวลึงค์และแท่นพระแม่อุมา เมื่อน้ำไหลลงตามแท่งหินก็รองน้ำจากนั้นก็ลูบศีรษะ บางคนดื่มกินด้วยความเลื่อมใส

 

          ผู้เขียนยืนมองอยู่ใกล้ๆแท่งหินศิวลึงค์ พราหมณ์คนหนึ่งบอกให้ตักน้ำมารดที่แท่นศิวลึงค์ ตอนนั้นอยากได้ภาพถ่ายจึงทำตามเมื่อยกน้ำราดรดบนแท่นหิน พราหมณ์คนนั้นยกมือท่วมหัวกล่าวคำว่าสาธุ และยอมให้ถ่ายภาพได้ตามใจปรารถนา ตกลงว่าวันนั้นได้ใช้น้ำในแม่น้ำคงคารดลงที่แท่นศิวลึงค์และพระแม่อุมาเรียบร้อย แต่ไม่ได้ดื่มน้ำที่ไหลจากแท่นหิน การทำตามความเชื่อของคนๆหนึ่งเป็นการผูกมิตรอย่างหนึ่ง แม้จะไม่เชื่อแต่ก็ไม่ได้หลบหลู่ความเชื่อของคนอื่น
          ริมฝั่งแม่น้ำคงคายิ่งสายผู้คนยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เหล่านักบวชทั้งหลายต่างทำหน้าที่ของตน บางคนเพ่งมองดวงอาทิตย์ที่กำลังโผล่พ้นจากขอบน้ำ เขาใช้สายตาเพ่งมองแทบจะไม่ยอมกระพริบนัยว่าเพื่อไหว้และสักการะสุริยเทพหมายถึงดวงอาทิตย์อันเป็นเทพแห่งแสงสว่าง หากโลกนี้ไม่มีสุริยเทพโลกคงมืดมิด เป็นนัยยะบอกให้ทราบว่า หากในจิตใจของมนุษย์เต็มไปด้วยความมืดบอดก็จะมองอะไรไม่เห็น จิตใจที่มืดบอดด้วยความเชื่อที่มืดมิดไยไม่แตกต่างกัน แต่นั่นเป็นความเชื่อ ผู้ที่ทำตามความเชื่อด้วยความศรัทธา แม้ว่าคนอื่นจะมองว่าเหลวไหลแต่เมื่อความเชื่อถูกปลูกฝังมานานหลายพันปี จากรุ่นสู่รุ่นความเชื่อนั้นก็จะกลายเป็นเหมือนเทพเจ้าไปได้เหมือนกัน มวลหมู่มนุษย์ไยมิใช่มีความเชื่อที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้อีกมากหลาย

 

          นักบวชท่านหนึ่งกำลังเพ่งมองกองไฟที่ก่อไว้ตรงหน้า เปลวไฟลุกโชนด้วยแสงแห่งอัคคี นักบวชท่านนั้นพึมพรำด้วยมนต์ที่ไม่มีใครเข้าใจ แต่คาดเดาว่าคงสรรเสริญอัคคีเทพอันเป็นเทพแห่งไฟ มีใครบางคนบอกว่านักบวชท่านนั้นบูชาไฟมานานหลายปีแล้ว เปลวไฟไม่เคยมอดดับ เหมือนกับเปลวไฟจากกองฟอนที่เผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาที่ไม่เคยมอดดับมานานนับสองพันปีแล้ว บางคนบอกว่าสี่พันปีด้วยซ้ำ
          ขณะที่กำลังถ่ายภาพนักบวชบูชาเพลิงท่านนั้นอยู่ก็เหลือไปเห็นนักบวชอีกท่านหนึ่งในชุดสีดำ แต่ใช้ขี้เถ้าตัวจนกลายเป็นสีขาวไปทั้งตัว ไม่เว้นแม้แต่ใบหน้าก็มีสีขาวจนดูไม่ออกว่ากำลังยิ้มหรือหัวเราะกันแน่ บนศีรษะและลำคอยังประดับด้วยพวงมาลัยดอกไม้หลายหลายสี หนวดเครายาวขาวโพลนจนจรดหน้าอก ในมือถือกระป๋องทองเหลือง ตอนนี้คิดไม่ออกว่าเขาเรียกว่าอะไร  ที่ใช้สำหรับการดำเนินชีวิตใครจะบริจาคนักบวชหน้าขาวท่านนั้นรับทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเงินหรืออาหารต่างก็นำมารวมลงในวัสดุเดียวกัน เมื่อมีคนบริจาคนักบวชหน้าขาวก็จะอวยพรด้วยภาษาที่ฟังไม่ออก มีนักท่องเที่ยวขอถ่ายภาพ ตามมารยาทก็ต้องจ่ายอย่างน้อยสิบรูปี

 

          ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในเช้าวันนั้นมีพระภิกษุประมาณสี่สิบรูปบางท่านล่องเรือไปในแม่น้ำคงคา บางรูปนั่งมองวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย ผู้เขียนเองเลือกกระทำสองประการคือล่องเรือเหมือนคนอื่นๆ และเมื่อขึ้นฝั่งก็เที่ยวถ่ายภาพนักบวชทั้งหลาย เพราะต้องการดูว่าวิถีแห่งความเชื่อของนักบวชเหล่านี้คืออะไร ทำไมจึงมารวมกันที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งนี้
          นอกจากนักบวชก็ยังมีขอทานที่นั่งเรียงรายตามสถานที่ต่างๆ เลือกให้ทานได้ตามสะดวก ขอทานที่นี่ไม่แย่งกัน แต่หากคิดจะให้ทานก็ต้องให้ทุกคนซึ่งไม่มีทางให้หมด เพราะขอทานมีมากเกินไป วันนี้ได้ให้ทานแล้วรู้สึกจิตใจมีความสุขเหมือนได้สละความโลภออกไปจากจิตใจจริงๆ แลกเงินรูปีมาหนึ่งพันรูปีเป็นเงินใบละสิบรูปีวันนั้นบริจาคให้นักบวชและขอทานจนหมด

 

         การได้บริจาคด้วยความบริสุทธิ์ใจจะได้บุญหรือไม่นั้นไม่ได้คำนึงถึง ให้เพราะอยากให้จริงๆ เพราะเห็นสภาพแล้วเรายังพอมีเงินที่จะให้แก่คนอื่นได้ การเป็นผู้ยินดีในการละเป็นความสุขอย่างหนึ่งดังที่มีแสดงไว้ในสุขสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต(21/349/383) ความว่า “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ยินดีธรรม  ย่อมเป็นผู้ยินดีภาวนา  ย่อมเป็นผู้ยินดีการละ  ย่อมเป็นผู้ยินดีปวิเวก ย่อมเป็นผู้ยินดีความไม่พยาบาท  ย่อมเป็นผู้ยินดีธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมหกประการนี้แลย่อมเป็นผู้มากด้วยสุขและโสมนัสอยู่ในปัจจุบันเทียว และย่อมเป็นผู้ปรารภเหตุเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย”
          อินเดียจึงได้รับการขนานนามอย่างหนึ่งว่า “เมืองแห่งนักบวชพระฤาษีซึ่งมีมากจนจำแนกไม่ไหวว่าใครอยู่ในลัทธิใด บวชอุทิศให้กับใครหรือบวชเพื่ออะไร แม้แต่พระพุทธศาสนาก็ถือกำเนิด ณ ดินแดนแห่งนี้ที่ในอดีตเรียกว่า “ชมพูทวีป” และในอนาคตหากจะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นอีกก็เชื่อกันว่าจะเกิดขึ้นที่ดินแดนแห่งนี้เหมือนกัน อินเดียจึงเหมาะสำหรับนักบวชอย่างแท้จริง

 

          ย้อนกลับมาคิดถึงอดีตเพื่อนภิกษุท่านนั้นที่พึ่งลาสิกขาออกไป แต่มีความปรารถนาจะไปศึกษาต่อที่อินเดีย ที่ได้ชื่อว่าเมืองแห่งนักบวชพระฤาษีแล้ว เสียดายที่ห้ามไม่ทัน เพราะหากไปอินเดียในฐานะนักบวชจะปลอดภัยที่สุด ที่นั่นคนเขานับถือและให้ความเคารพแก่นักบวชมาก นักบวชไม่มีวันอดตาย แต่ถ้าหากไปในฐานะประชาชนคนทั่วไป ถ้าไม่มีมีเงินมีหวังอดตายได้ง่ายๆ แต่ทว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจ ชีวิตใครชีวิตมัน ทุกคนย่อมมีสิทธิในการเลือกดำเนินชีวิตของตนเองได้


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
03/04/55

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก