ไปอินเดียครั้งนี้วางแผนไว้แต่ต้นสองประการคือประการแรกนมัสการสังเวชนียสถานให้ครบทั้งสี่แห่ง ประการที่สองจะพยายามถ่ายภาพนักบวชในอินเดียให้มากที่สุด และถ่ายภาพทุกครั้งที่มีโอกาสได้พบเห็นนักบวชทั้งหลายเหล่านั้น กล้องถ่ายภาพที่ถือติดมือไปด้วยแม้จะมีตัวเดียวแต่มีสองเลนส์คือเลนส์มุมกว้าง สามารถถ่ายภาพมุมกว้าง ถ่ายภาพหมู่ได้เป็นอย่างดี และอีกตัวหนึ่งเลนส์ซูมซึ่งถ่ายในระไกลและระยะใกล้ได้ดี แม้จะมีคนแนะนำว่าให้ใช้เลนส์เอนกประสงค์ตัวเดียวซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ทุกสถานการณ์ แต่ไม่ถนัดเพราะมีบางภาพที่จะต้องใช้เลนส์ประเภทพิเศษจึงจะถ่ายภาพออกมาได้อย่างที่ใจต้องการ
พุทธคยาในวันที่ไปถึงเป็นช่วงบ่ายแดดกำลังร้อน แต่วันนั้นมีฝนตกมาตั้งแต่เช้าความร้อนจึงเบาบางลง พุทธศาสนิกชนต่างก็ทยอยเข้าไปสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ โพธิบัลลังค์ พระเจดีย์ศรีพุทธคยา และพระพุทธเมตตา โดยเฉพาะบริเวณรอบๆต้นพระศรีมหาโพธิ์และโพธิบัลลังค์จะมีคนจับจอบสถานที่ไว้ตลอดไม่เคยว่างเว้นจากพุทธศาสนิกชนแทบจะแทรกตัวเข้าไปไม่ได้ เหลือไว้เพียงทางเดินโดยรอบให้พุทธศาสนิกชนได้เดินประทักษิณเวียนรอบพระเจดีย์ แต่ละคนต่างก็เดินทางมาด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือได้สักการะสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่มีปัญหาแต่ประการใด ต่างคนต่างก็กระทำความเคารพตามวิธีการและความเชื่อของตนเอง
ขบวนทัศนศึกษาบุญเขตที่ผู้เขียนร่วมเดินทางไปด้วยมีพระพรมมวชิรญาณ และพระธรรมกิตติวงค์เป็นประธานได้เตรียมพร้อมในการสวดมนต์ที่บริเวณด้านนอกของต้นพระศรีมหาโพธิ์หันหน้าไปทางเจดีย์ และเริ่มต้นสวดมนต์ไปเรื่อยๆ เสียงสวดมนต์ผสมผสานจากหลายคณะฟังไม่ได้ศัพท์จับใจความไม่ได้ เพราะต่างคนต่างสวด พระสงฆ์ไทยสวดตามทำนองไทย พระศรีลังกา พระทิเบต พระพม่า พระเวียตนาม พระเกาหลี ญี่ปุ่นต่างฝ่ายต่างสวดตามความถนัดด้วยสำเนียงภาษาของตนเอง แม้จะเป็นสูตรเดียวกันแต่สำเนียงต่างกัน ฟังแล้วได้ความรู้สึกว่า “ศรัทธาความเชื่อของแต่ละคนนั้นแม้จะเชื่อในสิ่งเดียวกันแต่วิธีปฏิบัติกลับแตกต่างกัน”
ชาวทิเบตทั้งลามะและฆราวาสไหว้ด้วยวิธีอัฏฐางคประดิษฐ์น้อมไปทั้งตัวใช้หน้าอกนอนราบกลับพื้น ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าจะรอบพระเจดีย์ ลามะอีกกลุ่มหนึ่งสาธยายพระสูตรข้างๆเจดีย์ พระสงฆ์ไทยเดินถือดอกไม้ธูปเทียนสวดสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณไปเรื่อยๆ ชาวศรีลังกานั่งราบกับพื้นยื่นเท้าไปข้างหน้าพึมพรำบทสวดมนต์ไปเรื่อยๆ
ผู้เขียนร่วมสวดมนต์ได้สักพักก็ออกมาถ่ายภาพสิ่งที่ตั้งไว้ตามวัตถุประสงค์คือภาพหมู่และภาพนักบวช วันนี้แทบจะไม่มีฤาษีโผล่หน้ามาให้เห็น นักบวชในวันนี้จึงเน้นที่ลามะจากทิเบต พระสงฆ์ไทย และศรีลังกาซึ่งถ่ายภาพมากไม่ค่อยได้ สิ่งที่ถ่ายได้มากที่สุดคือเจดีย์ ส่วนภาพพระพุทธเมตตาวันนี้ถ่ายไม่ได้อย่างที่ใจคิดเพราะมีคนมากเป็นพิเศษแทรกตัวเข้าไปไม่ได้
ภาพที่ได้มาจึงเป็นภาพของนักบวชผู้มีศรัทธาที่ได้มาสักการะสังเวชนียสถาน และได้พบกับนักบวชผู้นุ่งผ้าหลายหลากสีนั่งสมาธิไม่ไหวติงอยู่ข้างๆพระเจดีย์ ผ้าที่นักบวชคนนั้นใส่มีหลายสีจริงๆนำแต่ละชิ้นมาเย็บติดกัน จนกลายเป็นผ้าจีวร แต่หาโอกาสที่จะถ่ายภาพอย่างที่ใจคิดได้น้อยมาก เพราะนักบวชท่านนั้นนั่งสมาธิไม่ไหวติงอยู่ในท่าเดิมนานร่วมสองชั่วโมงโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะทำอะไร คงดื่มด่ำกับความสุขจากความสงบ เสียงผู้คนด้านนอกหลายพันคนไม่ได้รบกวนท่านเลย อยู่ในท่ามกลางผู้คนนับพันแต่ไม่ได้ยินเสียงใครนับเป็นความสงบที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนบริเวณด้านนอกพระเจดีย์กลับได้บรรยากาศไปอีกแบบ เหล่าขอทานทั้งหลายต่างก็กรูกันเข้ามาเพื่อขอรับบริจาค ให้คนหนึ่งแล้วไม่พอต้องมีมาเรื่อยๆและเดินตามพลางก็ร้องเรียกว่า “มหาราชาๆ”และอีกคำที่คุ้นหู “อาจารย์จำได้” บางคนพยายามขายของที่ระลึกด้วยราคาแตกต่างกัน ใครต่อราคาได้เท่าไหร่ตัวใครตัวมัน อย่าได้ถามไถ่กันหลังจากที่ซื้อแล้วเพราะของสิ่งเดียวกันแต่ราคาอาจต่างกันมาก หากหลงกลคำเรียกขานเมื่อไหร่ เงินในกระเป๋ามีหวังหมดไปเมื่อนั้น
พุทธคยาในวันที่แดดร้อนแต่ไม่อาจขวางกั้นศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ เพื่อสักการะสังเวชนียสถานตามที่พระบรมศาสดาได้แสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตรตอนหนึ่งว่า “สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่าพระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้” ในเวลาบ่ายใต้แสงตะวันกลางเดือนมีนาคมได้มาถวายสักการะด้วยความศรัทธาแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/03/55