ในแต่ละวัดมักจะจัดงานใหญ่ประจำปีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ถือว่าเป็นงานใหญ่ ส่วนงานอื่นๆแม้จะมีแทรกบ้างแต่ก็เป็นงานเล็กๆไม่ใหญ่นัก งานประจำปีย่อมต้องจัดหลายวัน วัดมัชฌันติการามจัดงานประจำปีเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่อดีตเจ้าอาวาสและบูรพาจารย์ที่เคยอยู่จำพรรษาในอาวาสแห่งนี้ งานนี้เน้นที่การปิดทองอีดตเจ้าอาวาสรูปแรกที่มรณภาพไปแล้วเก้าสิบแปดปี งานจัดติดต่อกัน 9 วัน 9 คืน
เริ่มงานวันแรกมีการทำบุญอุทิศกุศลทักษิณานุปทานถวายแด่อดีตเจ้าอาวาสทุกรูป ตามประวัติวัดมัชฌันติการามสร้างมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2417 โดยเจ้าจอมมารดาเที่ยง เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ และสร้างวัดสำเร็จบริบูรณ์ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นองค์ประธานในการผูกพัทธสีมา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณษโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดมัชฌันติการาม” ปัจจุบันมีเจ้าอาวาสมาแล้วเจ็ดรูป ปัจจุบันเป็นรูปที่แปดคือ “พระครูธีรสารปริยัติคุณ (พระมหา ดร.เดช กตปุญฺโญ)” เป็นเจ้าอาวาส
คำว่า “มัชฌันติก” มาจากคำนามเพศชายในษาบาลีว่า “มชฺฌนฺติก” แปลว่า เที่ยงวัน บวกกับคำว่า “อาราม” เป็นคำนามเพศชายในภาษาบาลีที่แปลว่า “ความยินดี ความพอใจ สวน อุทาน อาราม” คำบางคำมีความหมายหลายอย่าง อารามในที่นี้น่าจะแปลว่าสวนหรืออาราม เพราะบริเวณที่เป็นวัดและรอบๆวัดในอดีตคือสวนผลไม้ของชาวบ้าน วัดตั้งอยู่ท่ามกลางสวนของชาวบ้าน แต่ปัจจุบันสวนได้เปลี่ยนเป็นหอพักไปเกือบหมดแล้ว ในยุคแรกมีเจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นผู้ริเริ่มในการบูรณะซึ่งเชื่อกันว่าเคยเป็นวัดเก่ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ชาวบ้านนิยมเรียกวัดนี้ว่า “วัดน้อย” ซึ่งคู่กับวัดที่ตั้งอยู่ในอีกซอยถัดไปคือ “วัดหลวง” แต่ปัจจุบันวัดหลวงได้ร้างไปแล้ว จึงเหลือแต่วัดน้อย
วัดน้อยในกรุงเทพมหานครมีหลายวัดเช่นวัดน้อยนางหงษ์ วัดน้อยนพคุณ วัดน้อยชมภู่ วัดน้อยใน หากไม่ระบุที่ตั้งมักจะเข้าใจผิดเสมอ บางครั้งบอกรถโดยสารว่าวัดน้อย อาจจะไปโผล่ที่วัดน้อยใน ตลิ่งชัน หาทางกลับลำบาก ยิ่งเป็นวันที่รถติดจะต้องผ่านถนนจรัลสนิทวงศ์ ที่กำลังมีการก่อสร้างทางด่วนหรืออะไรสักอย่าง ต้องเสียเวลาโดยใช่เหตุ ดังนั้นหากจะมาวัดมัชฌันติการามหรือวัดน้อย ต้องบอกเส้นทางว่า “วัดน้อยพระรามเจ็ด” หรือ “วัดน้อยวงศ์สว่าง ซอย 11” อย่างนี้เดินทางถึงจุดหมายแน่นอน
อดีตเจ้าอาวาสวัดน้อยคงมีหลายรูปแต่เท่าที่มีบันทึกไว้เริ่มต้นที่พระครูธรรมสารวิจิตร (หลวงปู่อ่อน ญาณเตโช) เป็นเจ้าอาวาสในช่วงปีพุทธศักราช 2440-2457 แต่หลวงปู่อ่อ่อนมาอยู่จำพรรษาตั้งแต่เริ่มบูรณะวัดในปีพุทธศักรา 2417 และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปีพุทธศักรา 2440 หลวงปู่อ่อนเป็นศิษย์สำนักเรียนเดียวกันกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท
หลวงปู่อ่อนมีชื่อเสียงเลื่องลือในทางเมตตามหานิยมและขมังเวทย์ และสร้างเครื่องรางของขลังไว้หลายรุ่น ปัจจุบันเป็นของหายากแล้วเช่นตระกรุดโทน กระดูห่าน เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่อ่อนเป็นต้น วัดมัชฌันติการามได้สร้างรูปหล่อหลวงปู่อ่อนไว้ภายในวิหารหลวงปู่ ในแต่ละวันจะมีคนมาสักการะกราบไหว้ไม่ขาด ชาวบ้านต่างก็เล่าลือกันว่าหากใครบนบานศาลกล่าวอะไรไว้มักจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์เช่นสอบเข้าทำงาน ขอให้เรียนสำเร็จก็มักจะไม่ค่อยพลาด แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านระมัดระวังเป็นพิเศษคือการบนว่าขอให้ไม่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร ใครที่มาบนบานไว้อย่างนั้นมักจะจับได้ใบแดงถูกเกณฑ์เป็นทหารแทบทุกราย
ผู้เขียนอยู่จำพรรษาที่วัดมัชฌันติการามมานาน แต่ก็ไม่เคยบนบานอะไรไว้ นอกจากเวลาที่นักเรียนจะไปสอบนักธรรมหรือบาลีก็จะบอกให้มาจุดธูปบอกหลวงปู่ก่อนะเข้าสนามสอบ ไม่ได้มีเจตนาให้เชื่อในเรื่องของความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์แต่อยากให้พระภิกษุสามเณรรุ่นหลังได้ระลึกนึกถึงบูรพาจารย์ เป็นพระภิกษุสามเณรที่รู้จักคำว่า “กตัญญูกตเวที อันเป็นเครื่องหมายของคนดี” มีบาลีแสดงไว้ในพุทธศาสนสุภาษิตว่า “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายแห่งคนดี” แต่ก็มักมีเหตุมหัศจรรย์ให้เห็นอยู่เรื่อยๆพระภิกษุสามเณรรูปใดมาสักการะหลวงปู่อ่อนก่อนจะเข้าสนามสอบมักจะสอบผ่าน
บุพการีและกตัญญูกตเวทีเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลกดังที่มีแสดงไว้ใน อังคุตตรนิกาย ทุ กกนิบาต(20/364/81) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสองจำพวกนี้หาได้ยากในโลกคือบุพพการีบุคคล กตัญญูกตเวทีบุคคล”
สมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ คณะศิษยานุศิษย์จะมาร่วมงานวันครบรอบเกิดของหลวงปู่อ่อน ญาณเตโชในวันขึ้น 7 เดือน 3 ของทุกปี ว่าหลวงปู่จะมรณภาพไปนานเกือบร้อยปีแล้ว ทางวัดจึงได้ถือเอาวันคล้ายวันเกิดของอดีตเจ้าอาวาสเป็นวันจัดงานประจำปี ติดต่อกันมาทุกปี ในแต่ละปีก็จะเป็นการรวบรวมปัจจัยเพื่อใช้ในการบูรณะวัดตามแต่คงวามจำเป็น ปีนี้มีวัตถุประสงค์คือการซ่อมแซมศาลาการเปรียญหลังเก่าที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทางวัดได้บูรณะขึ้นใหม่ ปัจจัยที่ได้จากการจัดงานประจำปีจึงนำไปใช้เพื่อการบูรณะซ่อมแซมศาลาการเปรียญ
ใครที่มีเวลาว่างจะมาร่วมงานขอเชิญได้ มีทุกอย่างให้ได้ชมเช่นภาพยนตร์ ดนตรี มหรสพสมโภชตลอดงาน ทำบุญสร้างพระประจำวันเกิด ไถ่ชีวิตโคกระบือ บริจาคโรงศพให้แก่ศพไร้ญาติ เป็นต้น ในวันสุดท้ายของงานคือวันที่ 7 มีนาคม 2555 ตรงกับวันมาฆบูชา มีพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาด้วย ใครสะดวกในวันเวลาไหนขอเชิญได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
29/02/55