ได้ข่าวว่ามีคนรู้จักท่านหนึ่งกำลังป่วยหนักเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งจึงไปเยี่ยม ตอนนั้นคนป่วยกำลังหลับไม่รับรู้อะไรแล้ว จึงได้แต่สนทนากับคนเฝ้าไข้ ซึ่งเป็นลูกสาวของคนป่วยต้องอยู่เวรเฝ้าพ่อที่กำลังนอนหลับสนิทอยู่บนเตียง คนไข้แม้จะทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากคนเจ็บปวดที่เกิดจากพิษของโรค แต่คนเฝ้าไข้ก็เป็นงานที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน เพียงแต่คนหนึ่งอยากกคืนกลับสู่ความเป็นปรกติโดยเร็วที่สุด ส่วนอีกคนก็ต้องทำงานประจำในตอนกลางวันเพื่อที่จะได้มีเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล ยิ่งเข้าโรงพยาบาลของเอกชนค่าใช้จ่ายก็ยิ่งแพง
แม้จะมีพยาบาลคอยดูแลอยู่แล้ว แต่คนที่สำคัญที่สุดยังคงเป็ญาติของคนป่วยเพราะในยามที่เจ็บไข้คนเรามักจะคิดถึงคนที่ใกล้ตัวที่สุด คนเฝ้าไข้เล่าให้ฟังว่า “คุณพ่ออยากรู้ว่าป่วยเป็นโรคอะไร หมอห้ามไว้ไม่ให้บอกกับคนป่วย แต่สำหรับญาติทุกคนทราบดีว่าพ่อป่วยเป็นมะเร็งในลำไส้ระยะสุดท้ายแล้ว คงอยู่ได้อีกไม่กี่วัน ครั้นจะบอกความจริงก็เกรงว่าอาการจะทรุดหนัก ครั้นจะไม่บอกก็สงสารคนไข้ ท่านมีสิทธิที่จะรับรู้อาการป่วยของท่าน” พูดถึงตอนนี้น้ำตาของคนเล่าก็ไหลซึมอาบสองแก้ม ก่อนจะฝืนยิ้มเอ่ยถามหลวงตาว่า “หลวงตาจะให้ดิฉันทำอย่างไร บอกหรือไม่บอก”
หลวงตาเจอคำถามอย่างนี้เข้าก็พลันถึงบางอึ้ง พูดไม่ออกเหมือนกัน จึงได้แต่บอกว่า “ในสภาวะแบบนี้ก็ต้องเชื่อหมอ เก็บความลับนี้ไว้ก่อน ค่อยๆปล่อยให้คนไข้รับรู้เอาเอง” หลวงตาพูดได้แค่นั้นจริงๆ สนทนาไปได้สักพักคนเฝ้าไข้หันมาถามว่า หลวงตามีคำแนะนำในการเฝ้าไข้อย่างไรบ้าง จึงบอกว่า “การดูแลคนป่วยมีหลักการสำคัญคือการปลอบโยนให้คนป่วยมีความเบาใจ สิ่งที่ชาวพุทธมักจะแนะนำให้คนป่วยปฏิบัติคือให้ระลึกคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ระลึกถึงความดีที่เคยกระทำมาแล้ว”
เมื่อปลอบโยนให้คนป่วยเบาใจแล้วจึงค่อยๆถามไปทีละอย่างอย่าง ท่านมีความห่วงใยอะไรบ้าง เช่นบิดามารดา ภริยา บุตร หลาน ทรัพย์สมบัติต่างๆ มีงานอะไรที่ยังทำไม่เสร็จ มีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำ จากนั้นคนเฝ้าไข้จึงรับอาสาว่าจะเป็นภาระรับทำให้ แม้จะไม่ได้ทำแต่ก็รับปากไว้ก่อน เพราะคนไข้กำลังหาที่พึ่ง กำลังวุ่นวายใจ กำลังห่วงหน้าพวงหลัง ที่สำคัญที่สุดแม้รู้ตัวว่าจะต้องตายแต่ก็ยังไม่อยากตาย
หลักการนี้มีปรากฎใน คิลายนสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/1628/406) ว่าด้วยธรรมเป็นเครื่องเบาใจสรุปความว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับที่นิโครธาราม ใกล้นครกบิลพัสดุ์ พระเจ้ามหานามศากยราชได้ทูลถามถึง การเป็นคนดูแลคนป่วย คนได้รับทุกข์ เป็นไข้หนักยจะทำอย่างไร
พระพุทธเจ้าจึงแสดงว่า “ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา พึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วยได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจสี่ประการคือ(1) ท่านจงเบาใจเถิดว่าท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า (2) ท่านจงเบาใจเถิดว่าท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม (3) ท่านจงเบาใจเถิดว่าท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ (4) เป็นผู้มีศีลทีพระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ด่ง ไม่พร้อย เป็นไปเพื่อสมาธิ
ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา ครั้นปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วยได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจสี่ประการนี้แล้ว พึงถามอย่างนี้ว่า ท่านมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือ ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในมารดาและบิดาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในมารดาและบิดาของเราแล้ว
อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านยังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่หรือ ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในบุตรและภริยา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในบุตรและภริยา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในบุตรและภริยาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในบุตรและภริยาของเราแล้ว
อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ท่านยังมีความห่วงใยในกามคุณห้าอันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในกามคุณห้าอันเป็นของมนุษย์อยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่า กามอันเป็นของมนุษย์ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว
อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นจาตุมหาราช ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราช แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์เถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นยามายังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ... พวกเทพชั้นดุสิตยังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นยามา ... พวกเทพชั้นนิมมานรดียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดุสิต ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นนิมมานรดี ... พรหมโลกยังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้วน้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว จิตของเราน้อมไปในพรหมโลกแล้ว
อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ แม้พรหมโลกก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในสักกายะ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพรหมโลก แล้วนำจิตเข้าไปในความดับสักกายะเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพรหมโลกแล้ว เรานำจิตเข้าไปในความดับสักกายะแล้ว ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันของอุบาสก ผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี คือ พ้นด้วยวิมุติเหมือนกัน
หลวงตากลับจากโรงพยาบาลนั่งอ่านคิลายนสูตรก็พลันย้อนนึกถึงพ่อที่ป่วยด้วยมะเร็ง หมอก็สั่งห้ามไม่ให้บอกคนป่วย ทั้งๆที่อยากบอกความจริงกับพ่อ แต่ลูกทั้งหลายไม่มีใครกล้าบอก แม้แต่หลวงตาเองก็ไม่กล้าบอก เพราะคิดเข้าข้างตัวเองว่าพ่ออาจจะหายจากโรคร้ายนี้ได้ พ่อป่วยอยู่หลายเดือนและหลวงตาก็อยู่เฝ้าพ่อโดยมาจำพรรษาที่วัดใกล้บ้าน ออกบิณฑบาตตอนเช้าก็ต้องถามข่าวพ่อทุกวัน จนกระทั่งวันที่พ่อเสียชีวิตหลวงตาก็อยู่ที่ข้างเตียง
วันนั้นอยู่ภายในห้องคนป่วยที่โรงพยาบาลพ่อลุกขึ้นนั่งเหมือนคนกำลังจะหายไข้ ขอน้ำดื่ม มองเห็นนมสดก็ขอดื่ม มีอะไรอยู่ข้างเตียงรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย พอเห็นสภาพอย่างนั้นแล้วตอนนั้นเริ่มเบาใจได้ว่าอาการของพ่อคงดีขึ้นและแอบคิดในใจว่าน่าจะพอรักษาให้หายได้ จากนั้นพ่อก็ชวนคุย คำถามแรกที่ถามตรงประเด็นมากคือ “ท่านมหาไม่ลาสิกขาแน่นะ” กลายเป็นว่าคนเฝ้าไข้อึ้งเสียงเอง
จึงบอกพ่อไปว่า “ไม่แน่ใจ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในเพศสมณะหรือลาสิกขาก็คงไม่เดือดร้อนอะไร อย่างน้อยก็มีความรู้พอเอาตัวรอดได้” ตอนนั้นพึ่งเรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ พ่อยังไม่รู้ว่าลูกชายของพ่อเรียนจบปริญญาโทแล้ว ไม่ได้บอกพ่อ อุปสมบทมาสิบกว่าพรรษา อายุสามสิบปลายๆ
“บวชก็ดีสึกก็ดี” พ่อพูดเหมือนกับพึมพึมกับตัวเอง ที่พ่อห่วงไม่เข้าใจที่สุดคือท่านมหานี่แหละ ลูกคนอื่นๆเขาแต่งงานมีครอบครัวมีลูก มีที่ทำมาหากินกันทุกคนแล้ว พ่อเหลือที่ไร่ไว้ยี่สิบไร่จะมอบให้มหา เผื่อว่าบางทีอาจจะต้องลาสิกขาออกมา การเริ่มต้นชีวิตในวัยเริ่มแก่ไม่ง่ายนัก หากไม่มีสมบัติอะไรติดตัวเลย”
จึงบอกพ่อว่า “ยกให้น้องสาวคนเล็กก็แล้วกัน อย่างน้อยแกจะได้มีที่ทำมาหากินและเลี้ยงดูพ่อแม่ ส่วนอาตมาไม่ต้องเป็นห่วงเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว ตอนนี้ยังมีความสุขในสมณภาวะอยู่” เมื่อตอบพ่อไปอย่างนั้นจึงได้เห็นรอยยิ้มของพ่อ และเอ่ยถามต่อไปว่ามีอะไรที่น่าเป็นห่วงอีกไหม
พ่อหลับตาเหมือนกำลังใช้ความคิดก่อนจะลืมตาและยิ้มอีกครั้งและบอกว่า “ไม่มีแล้ว หมดห่วงแล้ว วันนี้คงนอนหลับสบาย” จากนั้นก็ล้มตัวลงนอน จึงลงมาจากห้องคนป่วยบอกแม่ที่มาเฝ้าพ่อแต่รออยู่ข้างล่างว่า “ดึกมากแล้วเห็นทีอาตมาจะกลับไปนอนพักที่วัด” วัดนั้นอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล เจ้าอาวาสเมตตาให้พักได้ตามอัธยาศัย
วันนั้นพอล้มตัวลงนอกก็หลับทันที ตื่นขึ้นมาตอนเช้าฉันภัตตาหารเสร็จมีข่าวจากหลวงพ่อเจ้าอาวาสบอกว่ามีโทรศัพท์จากโรงพยาบาลมาตั้งแต่เช้าให้รีบไปด่วนด้วย เมื่อไปถึงโรงพยาบาลพ่อนอนหลับสนิทอยู่บนเตียงคนไข้ พยาบาลมาบอกว่า “คนไข้สิ้นลมแล้ว นอนหลับไปเฉยๆ”
พ่อคงหมดห่วงจริงๆและคงหลับไม่ตื่นตั้งแต่ตอนที่บอกลาในคืนนั้นแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
25/01/55