งานมหาชาติวัดมัชฌันติการามผ่านพ้นไปด้วยดี ปีนี้มองดูข้างนอกเหมือนกับว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก แต่จากปริมาณคนที่มาทำบุญกลับผิดคาด คนทำบุญมากกว่าทุกปี แม้จะเป็นการเทศน์ทำนองธรรมวัตรโดยพระภิกษุสามเณรภายในวัดก็ตาม ไม่ได้นิมนต์พระนักแหล่มาจากที่ไหนเลย พระภิกษุสามเณรในวัดมัชฌันติการามเทศน์เอง แหล่เอง คนก็ยังฟังกันจนล้นหลาม บางคนมาตั้งแต่เช้าฟังเทศน์จนจบสิบสามกัณฑ์
ถามยายอายุแปดสิบปีแล้วท่านหนึ่งว่า “ฟังทุกปีไม่เบื่อหรือ” ยายบอกว่า “ยายฟังเอาบุญ ท่านว่าหากใครฟังจนจบสิบสามกัณฑ์จำได้ไปสวรรค์ ยายอายุมากแล้ว ทำบุญมามากแล้ว ก็อยากไปสวรรค์บ้าง ทุกวันนี้ได้แต่คอยเวลาพระยามัจจุราชจะมาเยือนเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าวันไหนเหมือนกัน ชีวิตมาถึงจุดสุดท้ายปลายทางแล้ว เชื่อไว้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ยายตั้งใจไว้ว่าจะมาทุกปี"
หันไปเห็นเด็กนักเรียนสองสามคนซึ่งกำลังนั่งพิจารณาผลไม้ข้างเสาศาลา จึงหันไปถามว่า “ตอนนี้พระเทศน์ถึงกัณฑ์ไหนแล้ว” เธอทำหน้างง บอกว่า “ไม่รู้เหมือนกัน” เมื่อถามว่าทำไมยังไม่กลับ เด็กนักเรียนคนหนึ่งบอกว่า “หลวงพ่อคะ ผลไม้ในงานนี้แจกฟรีใช่ไหม” จึงตอบไปว่า “ใช่แต่ต้องรอให้งานเลิกก่อน” ทั้งสามคนตอบแทบจะพร้อมกันว่า “งั้นพวกหนูจะรองานเลิก” ที่แท้พวกเธออยากได้ผลไม้ นึกว่าตั้งใจฟังเทศน์
ผลไม้ปีนี้มีมากมายหลายหลากชนิด เช่นฟักทอง มะกอกน้ำ มะพร้าว เผือก มัน เป็นต้น มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคมาจากสวนแถวจังหวัดราชบุรี หากจะดูว่าผลผลิตของชาวสวนนั้นได้ผลหรือไม่ให้ดูที่ผลไม้ว่ามีผลใหญ่หรือเล็กสมบูรณ์ดีหรือไม่ เจ้าของสวนมาร่วมงานด้วย พอเห็นผลไม้ที่ตกแต่งในงานคงปลื้มใจ เที่ยวคุยกับคนนั้นทีคนนี้ที หลายคนไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าที่กำลังสนทนาอยู่นั้นคือเจ้าของสวนผลไม้ที่บริจาคมาร่วมงานนี้ ทำบุญแล้วไม่ประกาศตน แต่คนทำมีความสุข
มียายคนหนึ่งจองกัณฑ์เทศน์ไม่เคยซ้ำกันเลย เป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์มาห้าปีแล้ว เริ่มต้นจากคาถาพัน ปีนี้เป็นกัณฑ์ที่สี่คือกัณฑ์วนปเวสน์ ปีหน้าบอกจะจองกัณฑ์ชูชก เมื่อถามว่าทำไมไม่เป็นเจ้าภาพกัณฑ์เดิม ยายบอกว่า “ตั้งใจว่าจะเป็นเจ้าภาพทุกปี ค่อยๆทำไปเรื่อยๆโดยขยับไปจนครบสิบสามกัณฑ์ หวังว่าคงมีอายุอยู่ถึงกัณฑ์สุดท้ายคือนครกัณฑ์ อายุคงพอดีกับชีวิตที่เหลืออยู่ แต่หากยังมีบุญได้อยู่ต่อก็จะวนกลับมาจากคาถาพันอีกรอบหนึ่ง หากคิดแบบนี้ชีวิตมีความหวัง มหาชาติจัดปีละครั้งไม่หนักแรงจนเกินไป ค่อยๆเก็บเงินไว้เป็นกัณฑ์เทศน์เริ่มต้นที่หนึ่งพันบาท ซึ่งก็ไม่มากจนเกินไป
ในพระพุทธศาสนามีหลักการใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่หามาได้ให้เป็นประโยชน์ ดังที่แสดงไว้ในอาทิยสูตร ปัญญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย (22/41/40) สรุปความว่า “ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีถึงประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ห้าประการ คือ
(1) อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำบริหารตนให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำบริหารให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสกรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำบริหารให้เป็นสุขสำราญ
(2) อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ
(3) อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี
(4) อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ทำพลีห้าอย่าง คือ ญาติพลี (บำรุงญาติ) อติถิพลี (ต้อนรับแขก) ปุพพเปตพลี (บำรุงญาติผู้ตายไปแล้วคือทำบุญอุทิศกุศลให้) ราชพลี (บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ) เทวตาพลี (บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา)
(5) อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว
จากนั้นพระพุทธเจ้าได้แสดงบทสรุปของประโยชน์ที่จะถือเอาจากโภคทรัพย์ว่า “ดูกรคฤหบดีประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ห้าประการนี้แล ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ห้าประการนี้ โภคทรัพย์หมดสิ้นไปอริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้นแล้วและโภคทรัพย์ของเราก็หมดสิ้นไป ด้วยเหตุนี้อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความเดือดร้อน
ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ห้าประการนี้โภคทรัพย์เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นี้แล้วและโภคทรัพย์ของเราก็เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความเดือดร้อน ด้วยเหตุทั้งสองประการฉะนี้แล
นรชนเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตนแล้ว ได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้นภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ให้ทักษิณาอันมีผลสูงเลิศแล้ว ได้ทำพลีห้าประการแล้ว และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้น เราก็ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว ดังนี้ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เมื่อเขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์
คนที่รู้จักใช้จ่ายทรัพย์แม้จะมีน้อยก็เหมือนมีมาก ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักวิธีการใช้จ่ายถึงจะมีมากก็เหมือนมีน้อย ทรัพย์สมบัติที่หามาได้หากแบ่งออกเป็นห้าส่วน เป็นการวางแผนการใช้จ่ายทรัพย์ตามทรรศนะที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้แก่อนาถปิณฑิกเศรษฐี ทรัพย์นั้นจะมีประโยชน์อย่างเต็มที่ เมื่อใดก็ตามหากรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็มีโอกาสเป็นเศรษฐี แต่เมื่อใดก็ตามหากรายจ่ายมากกว่ารายได้โอกาสเป็นคนจนมีสูง หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์(จันทร์ กุสโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเคยกล่าวไว้ว่า "ใช้จ่ายเท่าที่มีเป็นเศรษฐีในเรือนยาจก แต่ถ้ามีแต่ความงกก็เป็นยาจกในเรือนเศรษฐี" แต่หากวางแผนให้ดีก็จะได้ประโยชน์จากโภคทรัพย์อย่างเต็มที่
งานเทศน์มหาชาติวัดมัชฌันติการามจัดปีละครั้งประมาณเดือนกันยายนของทุกปี ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดงานเป็นหน้าที่ของครูใหญ่สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการาม ใครที่ทำหน้าที่ครูใหญ่ผู้นั้นก็ทำหน้าที่ไป ห้าปีมาแล้วที่เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามทำหน้าที่ครูใหญ่จึงมีหน้าที่รับผิดชอบงานเทศน์มหาชาติ หลายวันที่ผ่านมามัวแต่ยุ่งอยู่กับงานเทศน์มหาชาติไม่มีเวลามาเขียนเรื่องลงเว็บไซต์ ไม่มีเวลาดูโทรทัศน์ ไม่มีเวลาฟังวิทยุหรืออ่านหนังสือพิมพ์จึงเกือบจะกลายเป็นคนตกยุค ตกข่าวไปหลายวัน การไม่ได้ดูข่าวบางทีก็รู้สึกดี เราก็ทำหน้าที่ของตนเองไป พอช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยกันไป แต่บางเรื่องแม้อยากช่วยเหลือแต่ก็ทำไม่ได้ก็ต้องปล่อยวางบ้าง เพราะเราคงช่วยทุกคนให้พ้นทุกข์ไม่ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
28/09/54