คงทราบผลกันแล้วว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใครเป็นฝ่ายชนะและใครเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฝ่ายที่ชนะได้เสียงข้างมากย่อมมีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนฝ่ายแพ้ก็ต้องเป็นฝ่ายค้านตามระบอบประชาธิปไตยที่ใช้เสียงข้างมาก เมื่อวางกฎกติกาไว้แล้วก็ต้องว่ากันไปตามกติกา มีพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ว่าด้วยการแพ้และชนะคือผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์ น่าจะนำมาใช้ในภาวะที่มีการแข่งขันทางการเมืองได้ แม้จะไม่ตรงประเด็นเท่าใดนัก
ที่มาของพุทธภาษิตนี้มีที่มาจากปฐมสังคามวัตถุสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/368-371/104-105) สรุปความว่า “ครั้งหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แห่งเมืองราชคฤห์ได้ทำการรบกับพระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี ด้วยเหตุเพราะหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นเหตุ เล่ากันว่าพระเจ้ามหาโกศล พระชนกของพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อยกพระธิดาถวายพระเจ้าพิมพิสาร ได้พระราชทานกาสิคาม(หมู่บ้านกาสี)ซึ่งมีรายได้เกิดขึ้นวันละแสนตั้งอยู่ในระหว่างพระราชาทั้งสองแก่พระราชธิดา แต่เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระชนกแล้ว แม้พระชนนีของพระองค์ก็ทิวงคต ต่อมาไม่นานเพราะทรงเศร้าเหตุวิโยคพลัดพรากพระราชา ต่อจากนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระดำริว่า เจ้าอชาตศัตรูทำพระชนกชนนีให้ทิวงคตแล้ว หมู่บ้านซึ่งเป็นสมบัติของพระชนกเราก็ต้องกลับเป็นของเราสิ แล้วทรงก่อคดีความเมือง เพื่อต้องการหมู่บ้านนั้นกลับคืนมา
ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงเถียงว่าหมู่บ้านเป็นสมบัติของพระชนนีเรา ก็ต้องเป็นของเราสิ ดังนั้นสองลุงและหลานจึงรบกัน เพื่อแย่งหมู่บ้านแห่งนั้น เรียกว่าชิงพื้นที่กันไปเลย
พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นมีมิตรเช่นพระเทวทัตเป็นต้นคอยแนะนำไปในทางที่ชั่วจึงทรงชื่อว่ามีมิตรชั่ว ทรงมีคนชั่วเหล่านั้นเป็นสหายจึงชื่อว่าทรงมีพระสหายชั่ว ทรงมีพระทัยน้อมคล้อยไปตามชนเหล่านั้น จึงทรงชื่อว่ามีผู้คล้อยตามคนชั่ว
การคบหาสมาคมกับมิตรชั่วนั้นมีโทษหกประการดังที่แสดงไว้ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/183/141) ความว่า “โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตรหกประการคือ(1)นำให้เป็นนักเลงการพนัน (2) นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้(3) นำให้เป็นนักเลงเหล้า(4) นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม (5) นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า (6)นำให้เป็นคนหัวไม้”
ส่วนพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีมิตรดี(กัลยาณมิตร) มีเหล่าบรรดาพระอรหันตสาวกทั้งหลายพระสารีบุตรเถระเป็นต้นเป็นมิตร การคบหาสมาคมกับมิตรแท้มีสี่ประเภทดังที่แสดงไว้ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/192/143) ความว่า “มิตรสี่จำพวกคือมิตรมีอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะประโยชน์ มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรมีใจดีเป็นมิตรแท้”
ในส่วนของมิตรแนะประโยชน์มีลักษณะสี่ประการคือ (11/192/143) ห้ามจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง บอกทางสวรรค์ให้”
พระเจ้าอชาตศัตรูได้คบมิตรชั่วถึงขั้นกระทำอนันตริยกรรมคือการฆ่าบิดา จากนั้นยังก่อสงครามกับแคว้นอื่นๆด้วย เมื่อลุง(พระเจ้าปเสนทิโกศล)กับหลาน(พระเจ้าอชาตศัตรู)รบกับ ผลปรากฎว่าคนหนุ่มชนะคนแก่ พระเจ้าปเสนทิโกศลพ่ายแพ้ในสงครามอยู่ไม่เป็นสุข นอนก็ไม่หลับคิดวางแผนหาทางแก้แค้นเพื่อให้ได้ชัยชนะกลับคืนมา
ส่วนพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นฝ่ายชนะก็ได้ชื่อเป็นผู้ก่อเวร ย่อมประสบเวรคือได้บุคคลที่เป็นข้าศึกศัตรูเพิ่มขึ้น ในอรรถกถาสิงคาลกสูตรอธิบายคำว่า “ชยํ เวรํ ปสวติ” ไว้สั้นๆว่า ได้แก่ ผู้ชนะย่อมประสบเวรคือได้บุคคลที่เป็นไพรี
ส่วนผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความแพ้และความชนะ ย่อมอยู่ในความสงบ จะอยู่ที่ไหนก็สบาย นอนก็หลับสบาย ไปไหนก็สะดวก ดังที่แสดงต่อไปว่า “คนละความชนะและความแพ้ได้แล้ว สงบใจได้ ย่อมนอนเป็นสุข”
ภาษาบาลีแสดงไว้ว่า “ชยํ เวรํ ปสวติ ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต
อุปสนฺโต สุขํ เสติ หิตฺวา ชยปราชยํฯ
แปลเป็นภาษาไทยตามพระไตรปิฎกฉบับหลวงในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/371/105) ได้ความว่า
“ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์
คนละความชนะและความแพ้ได้แล้ว สงบใจได้ย่อมนอนเป็นสุข”
การสู้รบในสงครามย่อมจะมีแพ้และชนะ เฉกเช่นกับการเลือกตั้งก็ย่อมมีฝ่ายที่ได้รับชนะและฝ่ายที่ประสบกับความพ่ายแพ้ ซึ่งก็เป็นทุกข์ทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้ที่ก้าวพ้นความชนะและความแพ้ได้จึงจะอยู่เป็นสุข แต่ในสังคมมนุษย์ตั้งมีการแข่งขันอยู่เสมอ จึงต้องพานพบกับชนะหรือไม่ก็ต้องพ่ายแพ้อยู่ร่ำไป ตราบใดที่ยังมีการแข่งขันเวรและภัยย่อมระงับดับได้ยาก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/07/54