วัดป่าภูริทัตตาราม เมืองกีเซ่น ประเทศเยอรมนี เป็นวัดป่าที่ยังรักษาธรรมเนียมของวัดป่าตามแนวปฏิบัติของพระสายวัดป่าไว้ได้ แม้จะอยู่ห่างไกลในต่างประเทศ ที่วัดแห่งนี้มีการออกโคจรบิณฑบาต ฉันภัตตาหารในบาตร กวาดวิหาร ลานเจดีย์ ทำวัตรสวดมนต์เหมือนกับวัดป่าในเมืองไทย วัดแห่งนี้มีพระครูวินัยธรสำรอง ภัททิโย เป็นเจ้าอาวาสซึ่งท่านเคยอยู่จำพรรษาที่วัดป่าอาจารย์มั่น อำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะมาสร้างวัดที่ประเทศเยอรมัน
วัดป่าภูริทัตตาราม Buddhistische Gemeinschaft Gießen e.V Wat Pah Puritattaram ได้เริ่มก่อตั้งขื้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2542 ได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ เยอรมนี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2543 วัดตั้งอยู่ ณ เมืองกีเซ่น วัดเกิดจากแรงคณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย ผู้มีจิตศรัทธา เสื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทั้งชาวไทย และชาวเยอรมันทุกท่านมีความตั้งใจที่จะให้มีวัดเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้มีสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจในทางพุทธศาสนา จึงได้ก่อตั้งวัดขึ้นโดยมี พระครูวินัยธรสำรอง ภัททิโย เป็นเจ้าอาวาส บริเวณวัดป่าภูริทัตตารามมีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา
ในวันที่เดินทางไปเยือนนั้นวัดป่าภูริทัตตาราม มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาสามรูป ตอนเช้าออกบิณฑบาตตามหมู่บ้านที่ส่วนหนึ่งยังมีคนไทยพักอาศัยอยู่ เจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่า “ถ้าไม่ได้เดินทางไปไหน ผมจะออกบิณฑบาตทุกวัน ในยุคแรกๆไม่มีใครใส่บาตเลย พวกฝรั่งจะออกมาถามว่ากำลังทำอะไร จึงพยายามอธิบายให้เข้าเข้าใจว่าการบิณฑบาตนั้นเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ หากอยากช่วยเหลือก็ขอให้นำอาหารมาใส่บาตร กระทั่งมาถึงวันนี้มีฝรั่งใส่บาตรทุกวัน และผมก็พาพระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตทุกวันเหมือนกัน กลับมาถึงวัดทำวัตรสวดมนต์ซึ่งจะมีญาติโยมมาร่วมสวดมนต์ด้วย จนกระทั่งได้เวลาประมาณเก้านาฬิกาจึงฉันภัตตาหารซึ่งก็ถือตามประเพณีของวัดป่าคือการฉันอาหารในบาตร ชาวบ้านจะนำอาหารมารวมกัน พระฉันภัตตาหารเสร็จ ญาติโยมก็ได้รับประทานไปด้วย อาหารที่เหลือก็ยังเหลือไว้เจือจุนแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนได้ เมื่อใช้ชื่อฉายาหลวงปู่มั่นคือ “ภูริทัตโต” มาตั้งเป็นชื่อวัดก็ต้องพยายามรักษาธรรมเนียมปฏิบัติของหลวงปู่มั่นไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” พระครูวินัยธรสำรอง ภัททิโยสรุปในตอนท้าย
เช้าวันหนึ่งพระครูประกาศธรรมนิเทศ เจ้าอาวาสวัดวิปัสนาคราหะ ประเทศอินโดนีเซีย ประธานคณะสงฆ์ธรรมยุตไทยในประเทศอินโดนีเซียได้พาพระภิกษุจากประเทศอินโดนีเชียออกบิณฑบาต ได้อาหารมาเต็มบาตร คนที่นี่คุ้นชินกับการเดินบิณฑบาตของพระสงฆ์วัดป่าภูริทัตตารามเป็นอย่างดี
เมื่อถามว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเยอรมันได้ผลเป็นอย่างไร เจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตารามบอกว่า“ส่วนมากจะเป็นคนไทย เมืองนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมหลายอย่าง คนไทยส่วนหนึ่งจะทำงานที่โรงงาน ทำงานเป็นกะ หากใครทำงานในกะเช้าก็จะมาวัดไม่ได้ ส่วนผู้ที่ทำงานในกะบ่ายและกะเย็นจะมาวัดในตอนเช้า เสร็จแล้วไปทำงาน คนเยอรมันส่วนมากก็จะมากับภรรยาที่เป็นคนไทยขับรถมาส่งเสร็จงานก็กลับ เขาพยายามศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาโดยลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ชาวเยอรมันที่มีศรัทธาเข้ามาอุปสมบทยังมีจำนวนน้อย”
ในวันเปิดป้ายวัดพุทธเมตตาบารมีที่เมืองเบรเมน ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับพระสงฆ์ชาวเยอรมันจริงๆรูปหนึ่งคือพระไลท์ชาวเมืองเบรเมนอุปสมบทมาจากวัดสังฆทาน จำพรรษาที่ศูนย์ธรรมธัมมะสัจจะปฏิสังเวทิ เมืองเบอร์ลินกับพระเมธาโย พระภิกษุชาวสก็อตแลนด์ อุปสมบทมาจากวัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรีทั้งสองรูปบวชมามากกว่าสิบพรรษาแล้ว บทสนทนาจะนำเสนอในโอกาสต่อไป
ได้สนทนากับอุบาสิกาคนไทยท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด เดินทางมาเยอรมันพร้อมกับสามีชาวเยอรมันเป็นระยะเวลานานกว่าสามสิบปีแล้ว ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว เธอพร้อมกับสามีมาที่วัดประจำ ส่วนลูกๆบางคนเรียนจบและทำงานแล้ว หากมีเวลาว่างก็จะมาช่วยงานที่วัด สามีก็ยังนับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็ยังมาวัด แม้จะไม่เปลี่ยนศาสนา แต่ก็ยังให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนาด้วยดี
ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเคมีเล่าให้ฟังว่า “เมืองกีเซ่นเป็นเมืองไม่ใหญ่นักคล้ายๆจังหวัดหนึ่งในเมืองไทย มีนักศึกษาไทยมาศึกษาในเมืองนี้จำนวนห้าคน ระดับปริญญาเอกสามคนระดับปริญญาโทสองคน ส่วนมากจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์และเคมี นักศึกศึกษาท่านนี้มาวัดถวายอาหารแด่พระสงฆ์และในวันเดินทางไปยังวัดโพธิธรรมเมืองแฟงเฟิร์ตก็ได้นักศึกษาท่านนี้จองตั๋วรถไฟให้ ไม่อย่างนั้นคณะเดินทางคงไม่ทันรถไฟ เพราะในขบวนที่เดินทางในวันนั้นไม่มีใครพูดและอ่านภาษาเยอรมันได้เลย
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเยอรมันมีลักษณะพิเศษคือหากมีชาวไทยรวมกลุ่มกันก็สามารถเช่าพื้นที่หรือซื้อที่ดินสร้างเป็นที่พักสงฆ์จากนั้นก็นิมนต์พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา ญาติโยมก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียกันมาถวายอาหารไม่ให้ขาด หากมีความมั่นคงก็สามารถขอตั้งวัดได้ โดยผ่านสมาคมและคณะสงฆ์ธรรมยุตในสหภาพยุโรปให้การยอมรับ ซึ่งปัจจุบันมีพระครูพิเนตศาสนคูณ เจ้าอาวาสวัดป่าโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กเป็นประธาน รับช่วงต่อจากพระครูคุณสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดพุทธบารมี เมืองฮัมบวร์กที่พึ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ประธานและกรรมการบริหารทำหน้าที่คราวระสามปี วัดในสหภาพยุโรปสามารถย้ายที่ได้ วัดบางแห่งหมดสัญญาเช่าก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่วนวัดใดที่ซื้อที่ดินได้จะมีความมั่นคงกลายเป็นวัดไทยในต่างแดน เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนาสำหรับพุทธศาสนิกชน
ปัจจุบันวัดไทย(ธรรมยุต)ในเยอรมันมีหลายวัดเช่นวัดพุทธบารมี เมืองฮัมบวร์ก วัดป่าภูริทัตตาราม เมืองกีเซ่น วัดป่าอนาลโย เมืองดอทมุน วัดธรรมบารมี เมืองดอทมุน วัดโพธิธรรม เมืองแฟรงเฟิร์ต วัดธรรมนิวาส เมืองอาเชน วัดพุทธเมตตาบารมี เมืองเบรเมน เป็นต้น แต่ละวัดกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆทั่วประเทศเยอรมัน และมีแนวโน้มจะขยายไปยังประเทศอื่นๆในยุโรปเช่นนอร์เวย์ โดยเฉพาะที่ประเทศอิตาลีพึ่งเปิดป้ายวัดญาณสังวราม เมืองเวโรน่าไปได้ไม่นานและจะใช้เป็นสถานที่ประชุมคณะสงฆ์ธรรมยุตในสหภาพยุโรปในอีกสามปีข้างหน้า
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/06/54