ผลการสอบบาลีสนามหลวงเปรียญธรรมเก้าประโยคประกาศออกมาเมื่อไหร่ รายชื่อที่ต้องดูมีเพียงพระภิกษุหนึ่งรูป พยายามดูรายชื่อท่านมานานนับยี่สิบปีแล้ว ท่านสอบเปรียญธรรมเก้าประโยคอันเป็นจุดหมายสูงสุดของการเรียนภาษาบาลีในประเทศไทย อาจารย์ท่านนี้อายุประมาณเจ็ดสิบปีแล้ว ท่านน่าจะสอบบาลีประโยคเก้ามาไม่ต่ำกว่ายีสิบปี ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาบาลีเมื่อครั้งที่เรียนในมหามกุฏราชวิทยาลัยตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2530 ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดท่านน่าจะเป็นเปรียญธรรมแปดประโยคแล้ว
ต้องขอแสดงความยินดีกับพระภิกษุสามเณรที่สอบผ่านประโยคเก้าในปีนี้ ที่ท่านใช้ความอุตสาหะพยายามดูหนังสือ จนสามารถเดินไปถึงฝั่งฝันได้ ส่วนผู้ที่สอบไม่ผ่านคงไม่ต้องพูดอะไร หากยังมีความฝัน สักวันก็ต้องถึงเดินไปถึงจนได้ ฝันของคนมีหลายอย่างบางคนฝันไกลและไปถึง บางท่านฝันมันไกลเลยไปไม่ถึง บางท่านฝันไม่ไกลและไปไม่ถึง หรือบางท่านฝันใกล้ๆไปเร็วๆหรือบางท่านฝันใกล้ๆแต่ไปช้าๆ แต่ท่านอาจารย์พระมหารูปนั้นคงเข้ากับฝันที่ว่า “ฝันไม่ไกล แต่ว่าไปช้าๆ”
การสอบบาลีสนามหลวงประจำปีนี้ดูรายชื่อผู้สอบได้ก็ยังไม่มีชื่อของท่านแต่อย่างใด ท่านคงสอบตกอีกตามเคย ในวันสอบได้คุยกับท่านที่วัดสามพระยา ซึ่งเป็นสนามสอบบาลีชั้นเปรียญธรรมเจ็ด แปด เก้า ยังเห็นท่านเคี้ยวหมากเดินแหวกหมู่พระนักเรียนหนุ่มๆที่เข้าสอบหน้าพระอุโบสถ หลายท่านอาจคิดว่าท่านมาคุมห้องสอบ ถามท่านว่ายังมีหวังว่าจะสอบได้อยู่ไหม ท่านตอบว่า “ไม่ค่อยแน่ใจ แต่ดูหนังสือมานานแล้ว คงพอจำได้บ้าง” ท่านตอบอย่างอารมณ์ดี
เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามเดินทางแนวทางของท่านอาจารย์คือสอบทุกปีเหมือนกัน ในวันสอบพอเห็นข้อสอบแล้ว แทบจะต้องส่งกระดาษเปล่า เพราะทำอะไรไม่ได้เลย ข้อสอบวันแรกเป็นวิชาแต่งฉันท์ภาษาบาลี คิดอะไรไม่ออกเลย แต่ก็เขียนจนจบ พอวันที่สองและสามข้อสอบง่ายจึงทำอย่างเต็มที่ ด้วยความหวังว่าน่าจะพอช่วยในวันแรกได้บ้าง ปีนี้ไม่กล้าไปฟังผลสอบ เพราะคงตกตั้งแต่วันแรกแล้ว แต่เมื่อประกาศผลสอบออกมา ไม่ได้ตรวจดูรายชื่อตนเอง แต่ตรวจดูรายชื่อของท่านอาจารย์ก่อน ชื่อท่านก็ไม่มีท่านอาจารย์สอบตกเหมือนเดิม ฝันแม้จะอยู่ไม่ไกล แต่ก็ยังไปไม่ถึง
มีนักวิชาการหลายท่านพยายามเสนอว่า การสอบบาลีสนามหลวงของพระภิกษุสามเณรนั้น ควรปรับปรุงใหม่ได้แล้ว คือน่าจะมีการสอบเป็นรายวิชาให้คะแนนเหมือนกับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่เรียนเป็นเกรด ในแต่ละรายวิชา หากสอบตกวิชาใดวิชาหนึ่งก็ลงทะเบียนเรียนใหม่ ถึงอย่างไรก็ยังมีหวังสอบผ่านจนได้ เรียนครบสี่ปีก็ยังสามารถจบตามหลักสูตรได้
แต่การเรียนวิชาบาลีไม่เหมือนการเรียบนอย่างอื่น คณะสงฆ์ทั้งหมดใช้หลักสูตรเดียวกันก็จริง แต่ว่าวิธีการสอนไม่เหมือนกัน หลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันก็ใช้มาหลายรัชกาลแล้ว ยังไม่เคยเปลี่ยน น่าจะเป็นการเรียนการสอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ คนสอนคนหนึ่ง คนออกข้อสอบอีกคนหนึ่ง คนตรวจข้อสอบเป็นอีกคนหนึ่ง ทั้งสามท่านอาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย
มีการสอบบาลีปีละครั้ง หากสอบตกก็ต้องเรียนและรอสอบใหม่ในปีต่อไป ประโยคสองถึงห้าให้สิทธิสอบปีละสองครั้ง หากสอบครั้งแรกผ่านหนึ่งวิชาก็สามารถดูหนังสือสอบแก้ตัวในอีกวิชาได้ แต่ประโยคหกถึงเก้าสอบปีละครั้งไม่มีการสอบแก้ตัว ปีนี้มีนักเรียนเข้าสอบเปรียญธรรมเก้าประโยคหรือป.ธ. 9 จำนวน 385 รูป สอบได้ 60 รูป ประโยค ปธ.8 มีผู้เข้าสอบ 371 รูป สอบได้ 72 รูป หากคิดเป็นร้อยละก็น่าใจหาย น่าจะมีการเรียนแบบเดียวในโลกที่คนสอบตกมากกว่าคนสอบได้
จำนวนพระภิกษุสามเณรข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 มีจำนวนพระภิกษุ 2 91,116 รูป สามเณร 7 0,408 รูป จากจำนวนนี้มีพระภิกษุเข้าสอบบาลีประโยคเก้า 385 รูป และสอบได้เพียง 60 รูปเท่านั้น หากเป็นการเรียนตามระบบทั่วไปก็ต้องบอกว่าล้มเหลว คิดเป็นร้อยละได้เพียง 1.6 เท่านั้นเอง การจัดการศึกษาอย่างอื่นหากได้ต่ำกว่าร้อยละ 50 ก็ถือว่าล้มเหลวแล้ว
ทุกคนมีความฝัน แต่ฝันของใครจะเป็นจริงได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง หลวงพ่อพระมหารูปนั้นตั้งความฝันไว้ว่าจะต้องสอบได้เปรียญธรรมเก้าประโยค ค่อยๆสอบมาเรื่อยๆจนมาสดุดที่เปรียญธรรมแปดประโยค จากนั้นท่านจึงหันไปเรียนปริญญาเอก จนจบกลายเป็นพระมหาดอกเตอร์เมื่ออายุเกือบหกสิบปี แต่การสอบบาลีประโยคเก้ายังคงสอบเกือบทุกปี ท่านก็ยังไม่บรรลุผลตามความฝัน ท่านคงถือคติว่า “ฝันไม่ไกล แต่ว่าไปช้าๆ” ในที่สุดก็ไปถึงเองจนได้
ประกาศผลสอบบาลีปีหน้า คงต้องรอดูรายชื่อท่านอาจารย์อีกปี พร้อมทั้งดูรายชื่อตัวเองด้วย และจะคอยดูว่าอาจารย์กับลูกศิษย์ใครจะไปถึงฝั่งแห่งความฝันก่อนกัน ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ชีวิตนี้ยังมีฝัน แม้ฝันนั้นจะอยู่ไม่ไกล แต่ว่าไปช้าๆ หากไม่ทิ้งความฝัน สักวันก็คงถึงเอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เปรียญ 7
26/03/54