เจ้าอาวาสสั่งมาแกมบังคับว่าให้ไปบรรยายธรรมให้กับผู้บริหารเขตแห่งหนึ่ง กำหนดชื่อเรื่องมาให้เสร็จสรรพว่า “คุณธรรมสำหรับผู้บริหาร” อยากปฏิเสธแต่เพราะได้ปฏิญญากับเจ้าอาวาสไว้ว่า “หากมีงานจะใช้ขอให้บอก ผมพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกต้องตามธรรมวินัยและตามครรลองครองธรรม” คำสั่งนี้พิจารณาดูแล้วเห็นว่าถูกต้อง ท่านเจ้าอาวาสมีงานอื่นจึงต้องสั่งให้ไปทำหน้าที่แทน พระลูกวัดที่ดีก็ต้องแบ่งเบาภาระของสมภารท่านสั่งมาก็ต้องไป ท่านให้เวลาเตรียมตัวสามวัน
ทำงานประจำวันไปใจก็กลับมาคิดเรื่องนี้อยู่ตลอดวันว่าจะพูดเรื่องอะไรดี หาตำรับตำราเท่าที่มีอยู่มาอ่านก็ยังหาประเด็นที่จะพูดไม่ได้ ด้วยความที่ตนเองเป็นเพียงผู้บริหารระดับ “ครูใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรม” เท่านั้น งานที่ทำอยู่ทุกวันส่วนหนึ่งจึงเป็นงานสอน ซึ่งทำมานาน แม้จะไม่ได้เตรียมตัวอะไรแต่ก็เอาตัวรอดได้ตลอด แต่สำหรับผู้บริหารทางฆราวาสนั้นไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลย ปกติเทศน์แต่ในวันธรรมสวนะและงานศพ แต่การบรรยายธรรมนอกสถานที่ไม่ค่อยมีใครเขาเชิญ
ได้สนทนากับพระเมธีธรรมสาร ผู้อำนวยการมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ท่านจึงยื่นหนังสือ “วัดกับการพัฒนาชุมชน” ที่แจกในงานฉลองอายุ 78ปี พระเทพปัญญามุนี(ทองดี ฐิตายุโก)เจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม และฉลองปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา หลวงพ่อเป็นดอกเตอร์โดยไม่ต้องเรียน เพราะงานที่หลวงพ่อทำนั้นยิ่งใหญ่เกินภูมิดอกเตอร์มานานแล้ว เช่นบริหารการศึกษาสำนักเรียนพระปริยัติธรรมจนกลายเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ในแต่ละปีมีพระภิกษุสามเณรสอบได้เปรียญธรรมจำนวนมาก ติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศ
หนังสือเล็กๆเล่มนี้มีพระมหา ดร.มฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม เป็นบรรณาธิการกล่าวถึงการบริหารจัดการให้ได้ผลตามที่ต้องการ โดยคนเขียนคือนายแพทย์คม ป้องขันธ์ ได้เสนอไว้หกขั้นตอนคือ “จับจุด จ่อไฟ ใส่เชื้อ เกื้อกูล หนุนเนื่อง ยั่งยืน” แต่ละอย่างมีคำอธิบายตามทัศนะของอาตมาย่อๆดังนี้
จับจุด หมายถึงการพัฒนาที่ถูกต้องเหมาะสม การเริ่มต้นที่ดีต้องเริ่มที่ผู้นำ สังคมไทยต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง การพัฒนาจะต้องเริ่มต้นที่ศรัทธาและปัญญา ผู้นำคือผู้สร้างศรัทธาและใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา อาตมาอธิบายต่อว่าจะทำอะไรต้องจับจุดให้ถูกหากเป็นพ่อค้าก็ต้องจับจุดความต้องการของตลาดให้ได้ว่าลูกค้าต้องการอะไร จากนั้นจึงหาทุนและลงมือผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการ ผลิตสินค้าตามใจตลาดยังไงก็ขายได้ แต่สินค้าจะอยู่ได้นานหรือไม่ก็ต้องดูที่คุณภาพ หากเป็นผู้บริหารก็ต้องหาคนที่เหมาะสมกับงานมากที่สุดมีความรู้ความเข้าใจในงานมากที่สุด ผู้บริหารต้องจับจุดให้ถูกก่อนจะมอบหมายงานให้ใครต้องดูให้รอบคอบ
จ่อไฟ หมายถึงการจุดประกายให้เกิดศรัทธากับมวลสมาชิกหรือจุดประกายอุดมการณ์ให้เกิดในหัวใจสมาชิก อาตมาอธิบายต่อไปว่า คนที่ทำงานประสบความสำเร็จนั้นต้องมีความเชื่อมั่น มีความสนใจใส่ใจในงานที่ทำหรือที่เรียกว่าต้องมีไฟ หากไม่มีไฟในหัวใจงานที่ทำก็ไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย คนมีไฟกับคนที่ไฟกำลังจะมอดดับ ผู้บริหารต้องพยายามจุดประกายให้เกิดไฟในการทำงานอยู่ตลอดเวลา
ใส่เชื้อ หมายถึงการจัดประสบการณ์การพัฒนาด้านต่างๆให้กับกลุ่ม ไฟที่ไม่มีเชื้อย่อมมอดดับ ต้องคอยเติมเชื้อไฟอย่าให้ไฟดับ แต่ปัจจุบันเป็นไฟที่ไม่ใช้ฟืน แต่เป็นไฟฟ้าจะทำอย่างไร ผู้บริหารก็ต้องหาทางคอยเต็มเต็มให้แก่ผู้อยู่ตั้งบังคับบัญชา เรื่องนี้มีตัวอย่างเช่นเพื่อนคนหนึ่งเคยเรียนบาลีมาด้วยกัน จนสอบได้เปรียญธรรมห้าประโยค แต่ต่อมาสอบตกประโยคหกหลายปีจึงเลิกสอบ แต่วันหนึ่งไปเห็นหลวงตาแก่ๆท่านหนึ่งอายุเจ็ดสิบปีแล้วกำลังแปลหนังสือบาลีอย่างมีความสุข สอบถามหลวงตาตอบว่า “ผมเรียนเอาบุญ เรียนเพื่อสร้างบารมี แม้ชาตินี้จะสอบไม่ได้เป็นพระมหาก็แล้วไป เกิดอีกชาติหน้าผมคงสอบได้” พระมหาหนุ่มท่านนั้นได้เชื้อกลับไปเรียนบาลีต่อจนสอบได้เปรียญธรรมเก้าประโยค คนทำงานต้องมีต้นแบบ
เกื้อกูล หมายถึงการสนับสนุนร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ การทำงานคนเดียวจะสำเร็จได้เพียงบางอย่างเท่านั้นเช่นการเขียนหนังสือคนอื่นช่วยเขียนไม่ได้ เดี๋ยวสำนวนก็จะไม่กลมกลืน แต่ว่างานข้าราชการนั้นต้องทำกันเป็นทีม ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆด้วย หากเราไม่เคยช่วยเหลือใคร เวลาไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก็คงลำบาก มีสุภาษิตอยู่คำหนึ่งพูดไว้น่าสนใจว่า “เพื่อนมาเพราะน้ำใจมี เพื่อนหนีเพราะน้ำใจหมด”
หนุนเนื่อง หมายถึงการเติบโตของกิจกรรมอย่าต่อเนื่อง มีสมาชิกเพิ่มขึ้น อุดมการณ์เหนียวแน่นขึ้น แม้ว่างานข้าราชการจะทำเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง อายุหกสิบก็ต้องเกษียณ แต่งานทุกอย่างก็ต้องมีคนดำเนินการต่อไป พูดง่ายๆต้องมีทายาทมีคนที่เข้าใจงานสามารถทำสืบต่อจากเราได้ ดังนั้นก่อนที่ตนเองจะหมดหน้าที่ต้องรู้จักวางภาระให้คนอื่นทำต่อได้
ยั่งยืน หมายถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกอย่างต้องเป็นอุดมการณ์อยู่ในหัวใจของทุกคน ทุกวันนี้มีการพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนกันมาก แต่ก็ยังหาบทสรุปไม่ได้ว่ายังยืนอย่างไรจึงจะถูกต้องที่สุด
หนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ “อ่านก่อนตาย” เขียนโดย พันเอกนเรศร์ จิตรักษ์ พูดถึงลักษณะผู้นำที่ดีควรมีลักษณะเจ็ดประการคือ “มีความรู้กว้างขวาง ไว้วางใจ ให้โอกาส ปราศจากอคติ มีความดำริก้าวหน้า เกิดปัญหาแก้ไข ป้องกันภัยผู้ทำงาน” เขียนไว้สั้นๆไม่ต้องอธิบายขยายความมากก็สามารถเข้าใจได้
อ่านหนังสือได้สองเล่มฝนก็ตกลงมาอย่างหนักทั้งเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่าผสมผสานกันเข้ามา ในกุฏิมีน้ำฝนสาดกระหน่ำเข้ามาทุกทิศทุกทาง ดินฟ้าอากาศประเทศไทยก็ช่างประไร หนาวได้สามวัน ร้อนอีกสองวัน นี่ก็เริ่มมีฝนตกติดต่อกันมาแล้วสองวัน เรื่องของจิตใจมนุษย์นัยว่าเข้าใจได้ยากยิ่งที่สุดแล้ว แต่ทว่าธรรมชาติก็ยิ่งยากจะเข้าใจ เหลือเวลาอีกหนึ่งวัน ยังมีเวลาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก ลองอ่านวิเคราะห์แล้วนำไปขยายความดู เรื่องเดียวกันแต่ต่างคนต่างมองอาจเห็นไม่เหมือนกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
23/03/54