นั่งรถผ่านมหาวิทยาลัยมหิดลเห็นต้นไม้ใหญ่ปลูกรอบๆบริเวณมหาวิทยาลัยมองดูแล้วร่มรื่นดี ส่วนมากนิยมนำต้นไม้ใหญ่มาปลูกเหมือนกับเนรมิตได้ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยแห่งใหม่ที่ศาลายาก็เหมือนกัน มีการนำต้นไม้ใหญ่มาปลูกไม่นานก็งอกงามให้ร่มเงาได้ ต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นกำลังแผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเงาแห่งความร่มเย็น หากรากแก้วหยั่งลึกย่อมมีความมั่นคงแข็งแรง แต่ถ้าต้นไม้ใหญ่ไม่มีรากแก้วจะทานทนกับลมฝนได้นานสักเท่าใด ไม่ต้องกล่าวถึงคลื่นสึนามิหรอก เพียงแค่ลมธรรมดาก็อาจจะถูกพัดจนหักโค่นได้ไม่ยาก
พระพุทธเจ้าเคยเปรียบเทียบพุทธศาสนิกชนเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ไว้ในสาลสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/40/39)ความว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วยความเจริญห้าประการคือย่อมเจริญด้วยกิ่งและใบ ย่อมเจริญด้วยเปลือก ย่อมเจริญด้วยกะเทาะ ย่อมเจริญด้วยกระพี้ ย่อมเจริญด้วยแก่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วยความเจริญห้าประการนี้แลฉันใด
ชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธาย่อมเจริญด้วยความเจริญห้าประการฉันนั้นเหมือนกันแลคือย่อมเจริญด้วยศรัทธา ย่อมเจริญด้วยศีล ย่อมเจริญด้วยสุตะ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลายชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยความเจริญห้าประการนี้แล”
ต้นไม้ย่อมมีทั้งกิ่งใบ เปลือก กะเทาะ กระพี้ และแก่น ยกเว้นต้นไม้บางต้นไม่มีแก่น ผู้ต้องการส่วนไหนย่อมสามารถเลือกสรรได้ บางคนใช้กิ่งและใบเพื่อทำยา บางคนใช้เปลือกและกระพี้ไว้ทำฟืน บางคนใช้แก่นไม้เพื่อทำประโยชน์เช่นบ้านเรือนหรือเครื่องประดับตกแต่งอื่นๆ จะบอกไว้ส่วนไหนของต้นไม้สำคัญกว่ากันคงไม่ชัดเจนนัก เพราะทุกส่วนของต้นไม้ต่างก็มีประโยชน์มากบ้างน้อยบ้างตามสมควร ต้นไม้บางต้นใช้ทำประโยชน์ได้ทุกส่วน บางต้นใช้ทำยาได้ตั้งแต่รากจรดใบ
พระพุทธศาสนาก็เฉกเช่นกับต้นไม้ คนที่ศึกษาค้นคว้าหรือปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาย่อมได้ผลไม่เท่ากัน บางคนได้กิ่ง บางคนได้ใบ บางคนได้กระเทาะ บางคนได้เปลือก บางคนได้กระพี้หรือบางคนได้แก่นของศาสนา ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำอย่างไร พระพุทธเจ้าได้แสดงเปรียบเทียบศาสนากับต้นไม้ไว้ในจูฬสาโรปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/354/264) ความว่า “กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่าเราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่าเรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ ไม่ปรากฏ หรือมีคนรู้จักน้อย มีศักดาน้อย อนึ่งเขาไม่ยังฉันทะให้เกิด ไม่พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่าและประณีตกว่า ลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย เปรียบเหมือนบุรุษที่มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใดดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่ามีอุปมาฉันนั้น"
ในจูฬสาโรปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์นั้นมีเนื้อหาแสดงไว้ค่อนข้างยาวแต่พอสรุปได้สั้นๆว่า “ลาภสักการะชื่อเสียงเปรียบเหมือนกิ่งไม้ใบไม้ ความสมบูรณ์ด้วยศีลเปรียบเหมือนสะเก็ดไม้ ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเปรียบเหมือนเปลือกไม้ ญาณทัศนะหรือปัญญาเปรียบเหมือนกะพี้ไม้ ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบเปรียบเหมือนแก่นไม้”
พระพุทธเจ้าได้สรุปศาสนาของพระองค์ไว้อย่างน่าคิดว่า” (12/360/264) “ดูกรพราหมณ์ พรหมจรรย์จึงมิใช่มีลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบเป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด”
พระพุทธศาสนาเหมือนต้นไม้ ทุกส่วนมารวมกันจึงกลายเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ได้ หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งก็กลายเป็นต้นไม้ที่ไม่สมบูรณ์รอวันเหี่ยวเฉาไปกับกาลเวลา ต้นไม้แห้งตายยังกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้อื่นๆเจริญงอกงามต่อไปได้อีก พระพุทธศาสนาก็ย่อมจะมีหลายสิ่งหลายอย่างรวมอยู่ด้วยกัน ใครอยากได้สักการะและความสรรเสริญก็ปฏิบัติกันไป ใครต้องการสะเก็ดไม้ เปลือกไม้ กระพี้ไม้ก็เลือกกระทำได้ แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้เหมือนแก่นของศาสนาคือความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กำเริบหรือภาษาบาลีว่า “อกุปฺปา เจโตวิมุติ” ใครมีความสามรถเพียงไหนก็ย่อมได้ผลตามกำลังแห่งการปฏิบัติ ส่วนจะได้มากหรือน้อยนั้น อันนั้นตัวใครตัวมัน ต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้วย่อมหักโค่นได้ง่าย ศาสนาที่ขาดรากแก้วก็ทานทนกับกระแสโลกได้ยากเฉกเช่นเดียวกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/03/54