หากมีคนบอกว่าหิมะจะตกในประเทศไทย คงไม่มีใครเชื่อบางท่านอาจคิดถึงขั้นที่ว่าคนพูดกำลังบ้า เพราะประเทศไทยไม่เคยมีประวัติหิมะตกมาก่อนเลย แต่ถ้าบอกว่าจะเกิดน้ำท่วม ฝนจะแล้ง อย่างนั้นพอฟังได้ แต่ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาอยู่ๆอุณหภูมิก็พลันลดลงอย่างปัจจุบันทันด่วนเหลือเพียงสิบกว่าองศาเท่านั้น อากาศหนาวเหน็บต้องผิงไฟในฤดูร้อน เริ่มไม่แน่ใจแล้วสักวันหนึ่งหิมะอาจตกกลางฤดูร้อนก็ได้ ความจริงฤดูร้อนพึ่งเริ่มต้นเมื่อแรม1 เดือน 4 ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มีนาคม 2554 พึ่งผ่านมาเมื่อวานนี่เอง
หิมะกลางฤดูร้อนเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นผลงานเขียนของพระสยาดอ อู โชติกะ ชาวพม่า แปลมาจาก “Snow in the Summer” หนังสือเล่มนี้วางอยู่บนหิ้งนานมาแล้ว แต่วันหนึ่งไปเห็นในร้านหนังสือเปลี่ยนสีเล่มใหม่ จึงหยิบมา คนขายที่ร้านบอกว่า “ท่านเคยซื้อไปก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว” เด็กที่ร้านเขาใจดีเนื่องจากสมัครเป็นสมาชิกร้านหนังสือดังกล่าว ดังนั้นหนังสือเล่มไหนที่ซื้อไปแล้วจึงมีประวัติระบุไว้ชัดเจน กลับถึงกุฏิจึงค้นหาหนังสือเล่มดังกล่าวพบซุกใต้กองหนังสือรวมกับเล่มอื่นๆ จึงรื้อขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หนังสือบางเล่มต้องอ่านหลายครั้ง แต่บางเล่มอ่านครั้งเดียวก็เพียงพอ เหมือนจิตใจมนุษย์ที่บางคนต้องอ่านหลายครั้ง แต่บางคนไม่จำเป็นต้องอ่านก็ได้ จิตใจมนุษย์เข้าใจยากมักจะคิดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง
หนังสือเล่มนี้ไม่เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศเหมือนกับชื่อหนังสือ แต่ว่าด้วยการเจริญกรรมฐานล้วนๆ ส่วนหนึ่งอ้างว่าเขียนจากประสบการณ์จริงจึงไม่ค่อยมีที่อ้างอิงจากหนังสือเล่มใดๆเลย อ่านแล้วจิตใจเบิกบานมีความสุข แม้ว่าบางอย่างจะไม่เห็นด้วยกับผู้เขียนก็ตาม
การเจริญกรรมฐานนั้นมีหลายสำนักมีหลายอาจารย์ เหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง พระโชติกะกล่าวถึงจุดประสงค์ของการเจริญกรรมฐานไว้ตอนหนึ่งว่า “จุดประสงค์ของการเจริญกรรมฐานก็คือการคลี่คลายปมยุ่งเหยิงทั้งภายนอกและภายในใจนั่นเอง ฉะนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จสูตรหนึ่งสูตรใดที่ใช้ได้กับทุกๆคน คนเรามีความแตกต่างกันเฉพาะตัว การสอนก็ต้องยืดหยุ่นพลิกแพลงได้ตลอดเวลา แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงใช้วิธีสอนที่แตกต่างกันไปในศิษย์แต่ละราย”(พระโชติกะ เขียน,มณฑาทิพย์ คุณวัฒนา แปล,หิมะกลางฤดูร้อน,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี,2551,หน้า 37)
ข้อความนี้เขียนจากผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติจริงๆ เพราะกรรมฐานไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกคนจริงๆ แต่ละคนต้องหาวิธีการเอาเอง ครูบาอาจารย์บางท่านจึงใช้วิธีอดอาหาร บางท่านอดนอน บางท่านเดินจงกรม บางท่านนั่งสมาธิ หรือบางท่านมีวิธีการในการทรมานตนแปลกๆ
อีกตอนหนึ่งความว่า “การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นรวมทุกๆอย่างไว้ทั้งหมด เราควรใช้สติตามรู้กายและใจของเราทุกๆ ขณะอย่าได้พลาด รับรู้และเข้าใจทุกอย่างในชีวิตของเราให้ชัดแจ้ง การเจริญกรรมฐานที่ถูกต้องควรเป็นธรรมชาติไปพร้อมๆกับการดำเนินชีวิต ทุกเวลา ทุกหนแห่งโดยไม่มีข้อจำกัด อาตมารับไม่ได้กับแนวการสอนที่จัดแยกกรรมฐานออกมาฝึกฝนอย่างเป็นรูปแบบมาตรฐาน รู้สึกว่ามันอันตรายด้วยซ้ำไป สำหรับอาตมาแล้ว การเจริญกรรมฐานไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ จุดมุ่งหมายสูงสุดของอาตมาก็คือมีสิตอยู่เสมอทุกเมื่อ ของขวัญที่อาตมาให้แก่ตนเองได้ดีที่สุดก็คือการมีสติ” (หิมะกลางฤดูร้อน,หน้า 39)
ค่อยๆอ่านหากเชื่อตามที่พระโชติกะพูดไว้กรรมฐานของท่านไม่ใช่วิชาที่จะต้องเรียนกันในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่คือการมีสติทุกเมื่อ พูดง่ายแต่ทำยากมากเรื่องของการมีสตินี่ อาตมา(เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนาราม)พยายามมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังขาดสติหลงลืมอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยมีสติที่สมบูรณ์เลย ดูอย่างกรณีการซื้อหนังสือบางครั้งหนังสือเล่มเดียวต้องซื้อถึงสองครั้ง เพราะซื้อมาแล้วก็ไม่ค่อยได้อ่าน มีเรื่องให้ทำมากในแต่ละวัน การมีสติทุกเมื่อเป็นความเจริญมีความสุข มีพุทธภาษิตยืนยันไว้ในมณิภัททสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/812/250) ความว่า “สติมโต สทา ภทฺทํ สติมา สุขเมธติ สติมโต สุเว เสยฺโย เวรา น ปริมุจฺจตีติ” แปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า “ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ คนมีสติย่อมได้ความสุข ความดีย่อมมีแก่คนมีสติเป็นนิตย์ แต่คนมีสติยังไม่หลุดพ้นจากเวร”
พระโชติกะยังได้พูดถึงการเจริญกรรมฐานไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในการเจริญกรรมฐานพึงทำทุกอย่างตามธรรมชาติ ง่ายๆไม่ซับซ้อน หัวใจสำคัญที่สุดคือความน่าสนใจ เราต้องรู้สึกสนใจและเป็นสุขที่ได้ทำ ทั้งต้องเกิดความพึงพอใจขณะที่ลงมือทำ หากเบื่อหน่ายขึ้นมาก็จะเกิดทัศนคติเชิงลบ ซึ่งจะพาให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยจนเลิกปฏิบัติไปในที่สุด คำแนะนำที่ดีที่สุดคือพึงมีสติและอย่าคิดมากจนเกินไป ยิ่งคิดมากก็ยิ่งสับสนมาก”(หน้า 47)
อ่านแล้วมีความรู้สึกว่ากรรมฐานของพระโชติกะกระทำได้ง่ายจริงๆ ไม่ต้องมีพิธีอะไรมากว่างเมื่อไหร่ลงมือทำได้ทันที ตรงกับพุทธสุภาษิตที่ว่า “สติมโต สุเว เสยฺโย คนมีสติย่อมได้ความสุข” แต่ทว่าคำว่า“สติ” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “ความระลึกได้” นั้นก็ไม่ได้ง่ายที่จะกำหนดไว้ได้ตลอดเวลา เพราะคนที่ยังมีสิตไม่สมบูรณ์ก็ย่อมจะหลงลืมเป็นธรรมดา
วันนี้อ่านได้บทเดียวเท่านั้นหนังสือเล่มนี้มีถึงเจ็ดบทต้องค่อยๆอ่าน เพราะอ่านแล้วรู้สึกมีความสุข ในยุคที่มองไปทางไหนเห็นแต่ความทุกข์โศกของชาวโลก มองไปที่ญี่ปุ่นก็เห็นแต่ความสูญเสีย หันไปดูลิเบียก็กำลังร้อนแรงด้วยภัยสงคราม โลกนี้วุ่นวาย เราช่วยเหลือได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ฤดูกาลยังหาความแน่นอนไม่ได้ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว เปลวไฟลุกโพลงกลางสมรภูมิที่ลิเบีย และลุ้นระทึกกับเตาปฏิมากรปรมาณูที่ญี่ปุ่นสักวันหนึ่งหิมะอาจจะมาเยือนกลางฤดูร้อนที่ประเทศไทยก็ได้ หิมะจากธรรมชาติมีความเย็นยะเยือกพอที่จะดับเปลวไฟอันร้อนแรงจากธรรมชาติได้ แต่ไม่อาจจะดับไฟภายในจิตใจมนุษย์ที่ร้อนระอุขึ้นด้วยไฟแห่งกิเลสตัณหาราคะได้ แต่อย่างน้อยมี "ความเย็น" เกิดขึ้นในใจบ้างก็เหมือนหิมะที่โปรยลงกลางฤดูร้อนนั่นแล
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/03/54
อ้างอิง
พระโชติกะ เขียน,มณฑาทิพย์ คุณวัฒนา แปล.หิมะกลางฤดูร้อน.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี,2551.