การเดินทางคนเดียวโดยไร้จุดหมายที่แน่นอนนั้น บางครั้งก็ต้องรอ รอแล้วรออีก จนเวลาที่รอรถยนต์โดยสารอาจยาวนานกว่าการเดินทางจริงๆ การรอได้นับเป็นปรัชญาที่สำคัญอย่างหนึ่ง เคยท่องไว้เป็นปรัชญาประจำใจอยู่เสมอว่าชีวิตนั้นต้อง "ยอมให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้" เพราะคนในยุคเทคโนโลยีรออะไรนานไม่ค่อยได้ ต้องรวดเร็วทันใจ แม้แต่การเข้าอินเทอร์เน็ตที่ช้าก็ยังรอไม่ไหว เว็บไซต์บางแห่งมีข้อมูลที่น่าสนใจมากมายมหาศาล พอเวลาเปิดจึงต้องช้าเป็นพิเศษ แม้จะเป็นเว็บไซต์ที่ดีอย่างไร บางคนก็รอไม่ไหว ชีวิตของคนในเมืองใหญ่ดูเหมือนจะทำแต่งานและรอไม่ค่อยได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นงานเก่าที่ต้องทนทำมาหลายปี แต่ชีวิตของคนชนบทดูเหมือนจะทำงานน้อยกว่าแต่หนักกว่า เพราะงานทุกอย่างหมายถึงปากท้องในแต่ละวัน
มีภาระที่จะต้องเดินทางจากอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์มุ่งหน้าสู่ชัยภูมิ โดยอาศัยรถโดยสารประจำทางซึ่งไม่มีสิทธิ์เลือก รถคันไหนผ่านมาก็ต้องไป พอรถโดยสารวิ่งออกนอกเส้นทางก็ลงขึ้นคันใหม่ วันนั้นกว่าจะถึงที่หมายปลายทางต้องเปลี่ยนรถถึงห้าคัน วันเดียวจึงได้นั่งรถตั้งแต่รถสองแถว รถเมล์ จนกระทั่งรถที่ชาวบ้านเรียกว่ารถอีโคล้งซึ่งก็คือรถไถนาที่ชาวบ้านดัดแปลงเป็นรถโดยสารในระยะทางใกล้ๆ ชาวบ้านตั้งแต่นครสวรรค์ถึงชัยภูมินิยมใช้รถประเภทนี้มาก
ในขณะเดินทางได้พบกับพระสงฆ์อีกหลายท่านที่ร่วมเดินทาง แม้จะไม่เคยพบเห็นไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่เมื่อสนทนาพูดคุยจึงทราบว่าพวกท่านเหล่านั้นกำลังเดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี ท่านบอกว่าต้องต่อรถอีกหลายเที่ยว จากนครสวรรค์ไปต่อรถที่ขอนแก่น จากนั้นนั่งรถไปที่อุดรธานี ต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง “พวกผมแม้จะไม่ได้รู้จักกับหลวงตาเป็นการส่วนตัว แต่พวกผมก็ถือได้ว่าเป็นลูกศิษย์เพราะฟังธรรมะจากหลวงตาทางวิทยุที่เผยแผ่ไปทั่วประเทศ พวกผมเป็นศิษย์ทางธรรมที่ไม่เคยอยู่กับอาจารย์จริงๆเลย พอเวลาอาจารย์ละสังขารก็ต้องไปแสดงคารวะเป็นครั้งสุดท้าย พวกผมไม่สนใจว่าหลวงตามหาบัวจะเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่ แต่ธรรมที่ท่านแสดงฟังแล้วเข้าถึงใจ ทำให้พวกผมอยู่ในพระพุทธศาสนาได้อย่างมีความหวังและมีอนาคต วันหนึ่งอาจจะเดินทางไปถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้” เป็นเนื้อหาที่พยายามสรุปจากคนสนทนาของพระสงฆ์เหล่านั้น
กิตติศัพท์อันงามของผู้มีศีลย่อมฟุ้งกระจายไปไกลและหอมยิ่งกว่ามวลบุบผชาติใดๆ ดังที่แสดงไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท (25/14/15) ความว่า “กลิ่นคือศีลเป็นเยี่ยมกว่าคันธชาติเหล่านี้ คือจันทน์ กฤษณา ดอกบัว และมะลิ กลิ่นกฤษณาและจันทน์นี้ เป็นกลิ่นมีประมาณน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลาย เป็นกลิ่นสูงสุด ย่อมฟุ้งไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ทัศนียภาพสองข้างทางระหว่างเส้นทางจากนครสวรรค์ไปขอนแก่นเป็นท้องทุ่งที่แห้งแล้ง มองเห็นทุ่งนาที่โล่งสุดลูกหูลูกตา ช่วงนี้เป็นหน้าร้อนท้องทุ่งนาจึงแห้งแล้ง เหลือเพียงกอซังแห้งเป็นหย่อมๆ แม้จะมีบางแห่งที่ชาวบ้านปลูกพืชผลทางการเกษตร แต่ยังเป็นเพียงการเริ่มต้น บนภูเขาส่วนมากกลายเป็นเขาหัวโล้น ชาวบ้านถากถางเพื่อปลูกพืชผลเช่นมันสัมปะหลัง บางแห่งชาวไร่กำลังตัดอ้อย ตามถนนหนทางจึงเห็นรถบรรทุกอ้อยมาเต็มคันรถ วิ่งสวนไปมาตลอดเส้นทาง
รถยนต์โดยสารมีผู้โดยสารไม่มากนัก ส่วนหนึ่งจะเดินทางไม่ไกลระหว่างอำเภอต่ออำเภอหรือระหว่างหมู่บ้าน บางครั้งรถแน่นมาก แต่บางครั้งเหลือเพียงกลุ่มพระสงฆ์ที่ต้องนั่งท้ายรถ นัยว่าเพื่อสะดวกกับการขึ้นลงของผู้โยสารที่เป็นชาวบ้าน ที่นั่งแถวหลังจึงเต็มไปด้วยพระสงฆ์ที่กำลังเดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงตามหาบัว จำนวนเกือบยี่สิบรูป
การเดินทางแบบนี้แม้จะลำบากแต่ก็ได้ความสุขสบายใจ ไม่ต้องกังวลถึงสิ่งใดๆจะไปถึงเมื่อไหร่เราไม่มีสิทธิ์คาดเดาได้ ดูเหมือนจะทำให้ชีวิตเดินช้าลง ขณะที่รถจอดพักให้ผู้โดยสารรับประทานอาหารบ่ายนั้น ตรงข้ามถนนมองเห็นดอกไม้เหลืองอร่ามเต็มต้น มีแต่ดอกไม่มีใบ จึงเดินไปถ่ายภาพ ได้พบกับคุณยายข้างๆต้นไม้ยายบอกว่า “พวกสร้างทางนำมาปลูกไว้ เขาบอกว่าชื่อต้นเหลืองสิริรนธร มันจะออกดอกปีละครั้ง พอใบหล่นก็จะเป็นดอกสีเหลืองเต็มต้นสวยงามอย่างที่เห็น แต่ไม่มีกลิ่นหอม อยู่ได้ไม่เกินอาทิตย์ก็จะหล่นหมดต้น จากนั้นก็จะกลายเป็นใบขึ้นเต็มต้น” ยายเล่าให้ฟังสั้นๆ จากนั้นก็ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบเช่นมาจากไหน จะไปไหนเป็นต้น เหมือนญาติสนิทที่จากกันไปนาน ทั้งๆที่เพิ่งเคยพบกันครั้งแรกเท่านั้น
ชาวบ้านมีชีวิตที่เรียบง่าย เข้าใจธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลง ชีวิตมนุษย์หากพินิจให้ดีก็มีส่วนคล้ายดอกไม้เหมือนกัน ดอกไม้บางอย่างมีสีสรรสวยงาม มีกลิ่นหอม เหมือนคนที่เกิดมาเพียบพร้อมทั้งรูปสมบัติและทรัพย์สมบัติ ดอกไม้บางอย่างสวยงาม แต่ไม่มีกลิ่นหอม เปรียบเหมือนคนที่เกิดมารวย สวย แต่ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ดอกไม้บางอย่างไม่สวยงามแต่มีกลิ่นหอม เหมือนคนที่เกิดมาขี้เหร่ เกิดในสกุลยากจน แต่ทว่าเป็นคนมีศีลธรรม ส่วนดอกไม้บางอย่างทั้งไม่สวยและไม่มีกลิ่นหอม ก็เหมือนกับคนบางคนเกิดมาในสกุลต่ำรูปร่างไม่น่าดู อีกทั้งไม่ทำคุณงามความดีอะไรเลย มีสุภาษิตอีสานบทหนึ่งฟังดูอาจจะไม่ค่อยสุภาพแต่อธิบายคนประเภทสุดท้ายได้ดีที่สุดคือ “ผู้ฮ่ายซ้ำผัดตื่มตดเหม็น”
มองดูดอกไม้หากพินิจพิเคราะห์ให้ดีก็สามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับชีวิตของมนุษย์เหมือนกัน เกิดเป็นมนุษย์ทั้งทีจึงควรประโยชน์ฝากไว้ จะตายทั้งทีควรทำความดีไว้บ้าง เพราะเมื่อถึงเวลาตายใครก็ช่วยไม่ได้ ผู้จัดดอกไม้นำดอกไม้หลายหลากสีมารวมกันจนกลายเป็นกลุ่มดอกไม้ที่สวยงามได้ มนุษย์แม้จะต่างเผ่าพันธุ์แต่สามารถทำความดีได้เหมือนกันดังที่แสดงไว้ในในขุททกนิกาย ธรรมบท (25/14/16) ตอนหนึ่งความว่า “นายมาลาการพึงทำกลุ่มดอกไม้ให้มากแต่กองแห่งดอกไม้แม้ฉันใด สัตว์ผู้มีอันจะพึงตายเป็นสภาพ ผู้เกิดแล้วพึงทำกุศลให้มากฉันนั้น” แต่ถ้ามัวแต่ชมความงามและมัวเพลินกับการเก็บดอกไม้ โดยไม่เริ่มทำความดีก็อาจตายโดยที่ไม่มีโอกาสทำความดีเลยก็ได้เพราะในขุททกนิกายเล่มเดียวกันก็แสดงไว้ว่า “มัจจุย่อมจับนระผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลายนั่นเทียวไปเหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดบ้านอันหลับแล้วไป ฉะนั้น มัจจุผู้ทำซึ่งที่สุดย่อมทำนระผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ ทั้งหลาย ไม่อิ่มแล้วในกามคุณนั่นแลไว้ในอำนาจ”
การเดินทางวันนั้นสิ้นสุดลงที่วัดถ้ำแก้ว จังหวัดชัยภูมิ แม้เส้นทางในการเดินทางจะไม่ไกลนัก แต่ทว่ารูปแบบในการเดินทางที่เราคาดเดาอะไรไม่ได้ก็ทำให้การเดินทางช้าลง ชีวิตที่มีโอกาสได้เดินช้าลงกลับเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็ได้พบดอกเหลืองสิริรนธรสี่ต้นนั้น ปีหนึ่งออกดอกครั้งเดียว ดอกบานอยู่ได้เพียงเจ็ดวันเท่านั้น หากมาเร็วหรือช้ากว่านี้เพียงไม่กี่วันคงไม่มีโอกาสได้เห็น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/02/54