ช่วงนี้หลายประเทศกำลังประสบปัญหามีการประท้วงก่อการจราจลเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและบางประเทศขับไล่ผู้นำประเทศโดยมีเหตุผลต่างๆนานาส่วนมากจะอ้างว่าไม่พอใจการปกครองของผู้นำคนนั้น ซึ่งบางท่านอยู่ในอำนาจมานานสร้างความร่ำรวยมหาศาล ญาติพี่น้องอยู่ดีกินดีมีทรัพย์สินมากมาย ในขณะที่ประชาชนพากันอดอยาก ทำไมเหตุการณ์ประท้วงผู้นำของรัฐบาลจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แม้แต่ประเทศไทยก็มีการประท้วงของคนหลายกลุ่มทั้งเหลืองทั้งแดงวุ่นวายสับสนกันไปหมด ได้ยินหลายคนบ่นว่า “โลกนี้วุ่นวายหนอ” แต่จำเป็นต้องอยู่ในโลกนี้ต่อไป ตราบใดที่ลมหายใจยังไม่สิ้น ก็ต้องดิ้นกันต่อไป
ในพระพุทธศาสนาผู้ที่กล่าวคำว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” คือยสกุลบุตรลูกชายเศรษฐีเมืองพาราณสี ดังที่มีปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรคภาค (4/25/24) ความว่า “สมัยนั้นในพระนครพาราณสี มีกุลบุตรชื่อยส เป็นบุตรเศรษฐี สุขุมาลชาติ ยสกุลบุตรนั้นมีปราสาทสามหลังคือหลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน ยสกุลบุตรนั้นรับบำเรอด้วยพวกดนตรี ไม่มีบุรุษเจือปน ในปราสาทฤดูฝนตลอดสี่เดือน ไม่ลงมาเบื้องล่างปราสาท
ค่ำวันหนึ่งเมื่อยสกุลบุตรอิ่มเอิบพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยกามคุณห้าได้นอนหลับก่อน ส่วนพวกบริวารชนนอนหลับภายหลัง ประทีปน้ำมันตามสว่างอยู่ตลอดคืน ในคืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน ได้เห็นบริวารชนของตนกำลังนอนหลับ บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ บางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางมีน้ำลายไหล บางนางบ่นละเมอต่างๆ ปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจป่าช้าผีดิบ
ครั้นแล้วความเห็นเป็นโทษได้ปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่ในความเบื่อหน่าย ยสกุลบุตรเปล่งอุทานว่า "ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” แล้วสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า ใครๆ อย่าได้ทำอันตรายแก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตรเลย
ลำดับนั้น ยสกุลบุตร เดินตรงไปทางประตูพระนคร พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า ใครๆ อย่าได้ทำอันตรายแก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตร ทีนั้นยสกุลบุตรได้เดินตรงไปทางป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคตื่นบรรทมแล้วเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง ได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ขณะนั้นยสกุลบุตรเปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะยสกุลบุตรว่า ดูกรยส “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” มาเถิดยสนั่งลงเราจักแสดงธรรมแก่เธอ
เมื่อยสกุลบุตรเข้าไปหา พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาคือทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษความต่ำทรามความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม
เมื่อพระองค์ ทรงทราบว่ายสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เองคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดาได้เกิดแก่ยสกุลบุตร ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น”
เนื้อความทั้งหมดนั้นยกมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค รักษาสำนวนตามที่ปรากฎในพระไตรปิฎกมิได้ตัดต่อหรือเพิ่มเติมแต่ประการใดเลย เพื่อที่จะต้องการชี้ให้เห็นว่าแม้ว่ามนุษย์จะเชื่อกันว่าทรัพย์สมบัติและเครื่องบำเรอทั้งหลายจะทำให้มนุษย์มีความสุข แต่ทว่าพอถึงจุดๆหนึ่งก็อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ ประวัติของยสกุลบุตรมีส่วนคล้ายกับประวัติของพระพุทธเจ้าคือมีปราสาทสามฤดูเหมือนกัน มีทรัพย์สมบัติและเครื่องบำเรอคล้ายกัน และในที่สุดก็เกิดความเบื่อหน่ายเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะได้สละสมบัติและออกค้นหาสัจจะด้วยพระองค์เองเป็นเวลานานถึงหกปี แต่ยสกุลบุตรเพียงแต่ได้รับคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าสั้นๆก็เกิดดวงตาเห็นธรรมหรือกลายเป็นพระโสดาบัน
ธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ยสกุลบุตรในวันนั้นมีสองตอนคือช่วงแรกแสดงอนุปุพพีกถา และช่วงที่สองทรงแสดงอริยสัจสี่ หากใครกำลังอยู่ในสภาวะที่กำลังสับสนวุ่นวายลองพิจารณาธรรมทั้งสองหมวดนี้ดู บางทีอาจจะหาทางออกได้
ในอนุปุพพิกถาเริ่มต้นด้วย “ทาน” หมายถึงการให้ หากผู้นำของประเทศชาติรู้จักให้แก่ปวงประชาชน จะมีส่วนช่วยลดปัญหาความขัดแย้งลงได้ “ศีล” คือความปกติทางกายและวาจา ผู้นำบางคนมัวแต่โฆษณาประชาสัมพันธ์ความดีของพวกตัว และโยนความชั่วให้คนอื่น จะทำให้เกิดความสงบได้อย่างไรกัน “สววรค์” คือผลของทานและ ศีล ซึ่งเป็นความระดับโลกียะ แม้จะเป็นเทวดาแต่ก็ยังมีความต้องการในกามคุณ สวรรค์จึงเป็นแดนแห่งความสุข ไม่มีความสงบ เทวดาองค์หนึ่งๆมีนางฟ้าเป็นภรรยาตั้งหลายหมื่นนาง จะหาความสงบได้อย่างไร แค่มีภรรยาสองคนก็แย่แล้ว พระพุทธเจ้าจึงแสดง “โทษความต่ำทรามความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย” เป็นลำดับต่อไป ซึ่งมีคำอธิบายค่อนข้างจะเข้าใจยาก หากไม่ประสบพบเห็นด้วยนเองเหมือนยสกุลบุตร เพราะกามนี่แหละคือผู้สร้างโลก และจบลงด้วย “อานิสงส์ในความออกจากกาม” นั่นก็คือการสละ ปล่อยวาง เลิกยึดมั่นถือมั่น แสวงหาความสงบซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางเข้าสู่ทางแห่งสันติสุข
หากดูจากข่าวผู้นำของประเทศที่ถูกประชาชนเดินขบวนประท้วงขับไล่นั้น ส่วนมากผู้นำเหล่านั้นมักจะร่ำรวยมีทรัพย์สินเงินทองมหาศาล บางครั้งการอยู่ในอำนาจนานเกินไปก็ทำให้คนเกิดความหลงได้ง่าย โดยต่างก็พากันคิดว่าวันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก แต่พอคิดได้บางคนก็ไม่มีประเทศอยู่แล้ว โลกนี้วุ่นวายหนอ โลกนี้ขัดข้องหนอ ปัญหาทั้งหลายมาจากกิเลสตัณหา อำนาจ หรือความหลงนี่แหละทำให้โลกวุ่นวาย แม้จะรู้ว่าตายไปแล้วทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็นำติดตัวไปไม่ได้เลย คนส่วนมากก็ยังอยากรวย
ผู้ที่มองโลกด้วยความคิดจะครอบครองกับผู้ที่มองโลกด้วยความเข้าใจมีแนวคิดต่างกัน ดังที่มีพุทธภาษิตแสดงในขุททกนิกาย ธรรมบท(25/23/37) ยืนยันไว้ว่า “เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ” แปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า “ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันวิจิตรเปรียบด้วยราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่” ไม่รู้ว่าเหล่าผู้นำทั้งหลายที่ถูกประชาชนเดินขบวนประท้วงเรียกร้องหาเสรีภาพนั้นจะเคยได้ยินได้ฟังคำนี้หรือไม่ก็ไม่รู้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/03/54