การที่โลกมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการที่มนุษย์เป็นผู้รู้จักคิด ความคิดของมนุษย์ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆขึ้นอีกมากมาย บางครั้งความคิดอาจจะนำไปสู่การทำลายล้างโลกได้ ที่เรียกว่าสงครามความคิดซึ่งหลายประเทศกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ต่างคนต่างคิดแต่ละคนก็คิดว่าสิ่งที่ตนคิดเท่านั้นคือความถูกต้อง ไม่ยอมรับสิ่งที่คนอื่นคิด สังคมเลยวุ่นวายอย่างที่เห็น เราคิดได้คนอื่นก็ย่อมคิดได้ ความคิดอาจแตกต่างกัน แต่ถึงอย่างไรก็ยังอยู่ในโลกใบเดียวกัน แต่บางครั้งสิ่งที่คิดไว้อาจจะมีก็ได้ บางอย่างอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้
คำว่า “มนุษย์”มาจากคำในภาษาบาลีว่า "มนุสฺส" ตามความหมายว่าผู้มีใจสูง มนุษย์เป็นสัตว์ที่คิดได้และแปลความคิดไปสู่การกระทำได้ บางคนคิดอย่างเดียวไม่ทำ แต่บางคนทำโดยไม่ต้องคิด การกระทำของมนุษญนั้นเกิดขึ้นได้สามทางซึ่งประกอบด้วยกายกรรม การกระทำทางกาย วจีกรรม การกระทำทางวาจาและมโนกรรม การกระทำทางใจ หรือสรุปได้ง่ายๆว่า ทำ พูด คิด เป็นเหตุเกิดกรรม ดังนั้นการคิดจึงเป็นกรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่ากรรมทางใจหรือมโนกรรม
มโนกรรมหรือการกระทำทางใจจัดเข้าในกุศลกรรมบถหมายถึงทางแห่งการทำดีเรียกว่ามโนสุจริตมีสามประเภทดังที่แสดงไว้ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(11/360/246) ความว่า “มโนกรรมที่เป็นกรรมฝ่ายดีได้แก่อนภิชฌาหมายถึงความไม่โลภอยากได้ของเขา อัพยาบาทหมายถึงความไม่ปองร้ายเขาและ สัมมาทิฏฐิหมายถึงความเห็นชอบ
ส่วนการกระทำทางใจที่เป็นฝ่ายไม่ดีเรียกว่ามโนทุจริตตรงกันข้ามกับกรรมฝ่ายดีคือโลภอยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายคนอื่นและมิจฉาทิฏฐิคือมีความเห็นผิด
ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนมากจะคิดอยู่ในเรื่องของมโนสุจริตหรือไม่ก็มโนทุจริตเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนได้ หากคิดไปในทางที่ดีก็จะทำให้เกิดการกระทำที่ดีตามมา หากคิดไปในทางที่ร้ายก็อาจจะกลายเป็นผู้ร้ายได้ง่ายๆ ความคิดจึงเป็นกิจเบื้องต้นที่นำไปสู่การกระทำหรือการพูด หากเพียงแต่คิดยังไม่ทำก็เป็นกรรมที่อยู่ภายในใจเราเอง คิดดีเป็นเหมือนน้ำชโลมใจ หากคิดร้ายก็คล้ายไฟเผาใจนั่นแล
หากมนุษย์คิดไม่เป็นยังจะนับว่าเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ คำตอบคือยังเป็นมนุษย์อยู่ตราบใดที่ยังมีรูปร่างมีจิตก็ย่อมต้องคิด เพราะคำว่า “จิต”มาจาก “จิต ธาตุเป็นไปในความคิด” หรือหากแปลตามภาษาบาลีก็เป็นนามกิตต์แปลว่าอันเขาสั่งสมแล้ว รวบรวมแล้ว ก่อแล้ว แต่ทว่าองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์นั้นบางทีจิตอาจจะไม่สมบูรณ์จึงความคิดจึงไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการของจิต
สิ่งที่มนุษย์คิดอาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้มีพุทธภาษิตมหาชนกชาดก ขุททกนิกาย ชาดก (28/450/167) ความว่า “อจินฺติตมฺปิ ภวติ จินฺติตมฺปิ วินสฺสติ” ในหนังสือพุทธศาสนสุภาษิตเล่มสาม หมวดปกิณณกวรรค หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกแปลว่า “สิ่งที่ไม่ได้คิดไว้ย่อมมีได้ สิ่งที่คิดไว้อาจไม่มีก็ได้” แปลได้เข้าใจดี แต่ในพระไตรปิฎกแปลไปอีกอย่างว่า" “ความคิดที่ยังมิได้คิดก็มีอยู่บ้าง ความคิดที่คิดแล้วเสื่อมหายไปบ้าง”แปลมาจากภาษาบาลีคำเดียวกัน แต่ผู้แปลเข้าใจภาษาต่างกัน แค่หากดูตามความหมายเป็นที่เข้าใจได้ทั้งสองสำนวน
ภาษาบาลีบางคำแปลได้หลายความหมาย บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับความรู้ของผู้แปลด้วย เพราะเหตุผลข้อนี้เองที่ทำให้พระพุทธศาสนาเถรวาทโดยเฉพาะที่ประเทศไทยจึงนิยมสวดมนต์เป็นภาษาบาลีเพื่อรักษาความหมายดั้งเดิมไว้ หากสวดแปลเป็นภาษาไทยความหมายอาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามความรู้ของผู้แปล ยิ่งปัจจุบันมีผู้ศึกษาบาลีจนจบเปรียญธรรมเก้าประโยคปีละหลายรูป หากต่างรูปต่างแปลตามความเข้าใจของตนเองความหมายตามภาษาดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาอาจเปลี่ยนไปด้วย ยิ่งถ้ามีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อพระพุทธศาสนาอาจแปลความหมายของหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไปในทางอื่นเพื่อหวังทำลายก็ได้
มีเรื่องเล่าว่าสมัยหนึ่งอธิบดีกรมตำรวจท่านหนึ่งเป็นคนปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง ไม่รับสินบนจากใครๆหรือพ่อค้าคนใดเลย เวลาที่คนจะเข้าพบต้องนัดล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน หากเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติก็ไม่ให้ใครเข้าพบ อธิบดีท่านนั้นกระทำดังนั้นก็เพราะป้องกันคำครหาว่าอาจรับสินบนจากคนอื่นๆ ประชาชนจะเข้าพบอธิบดีได้จึงต้องถือปฏิบัติเหมือนกันทุกคน เลขาหน้าห้องของอธิบดีจึงต้องตรวจสอบเข้มงวดเป็นพิเศษ
แต่มีพ่อค้าจีนคนหนึ่งค้าขายอยู่แถวๆเยาวราช จะมาพบกับท่านอธิบดีเดือนละหนึ่งครั้งหรือบางเดือนอาจมาพบเดือนละสองครั้ง โดยที่เลขาหน้าห้องอธิบดีไม่มีการตรวจสอบเหมือนคนอื่น แกจึงสามารถเดินเข้าออกห้องอธิบดีได้โดยสะดวก
เหตุการณ์อย่างนี้ผ่านไปหลายเดือน จนมีคนสงสัยว่าพ่อค้าคนนั้นคงเป็นเพื่อนสนิทกับอธิบดีหรือไม่ก็เป็นผู้ที่คุ้นเคยหรือเป็นคนที่ท่านอธิบดีเกรงอกเกรงใจเป็นพิเศษ การค้าขายของพ่อค้าคนนั้นจึงได้รับความสะดวกเพราะไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะคิดว่าเขาคือผู้ที่อธิบดีเกรงใจ
วันหนึ่งขณะที่พ่อค้าชาวจีนคนนั้นกำลังนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านแห่งหนึ่ง ก็มีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งเข้ามาหาและได้ขอร้องให้พ่อค้าคนนั้นช่วยเหลือในการให้เข้าพบอธิบดี พ่อค้าคนนั้นทำหน้างงๆไม่เข้าใจสิ่งที่พวกพ่อค้ากำลังพูดถึง
พ่อค้ากลุ่มนั้นจึงบอกว่า “พวกผมเห็นคุณเข้านอกออกในห้องอธิบดีทุกเดือน โดยที่เลขาหน้าห้องไม่ห้ามปราม ไม่ต้องมีกำหนดนัดหมายไว้ก่อนด้วยซ้ำ ในขณะพวกผมต้องนัดหมายอย่างน้อยสามวันขึ้นไป บางครั้งการเจรจาก็ไม่เป็นผล การทำมาค้าขายไม่ค่อยสะดวก จึงอยากให้ท่านไปพูดกับท่านอธิบดีขอให้ผ่อนปรนข้อกฎหมายบางอย่างด้วย ท่านทำอย่างไรจึงเข้าพบอธิบดีได้ทุกเดือนโดยที่เลขาหน้าห้องอธิบดีไม่ห้ามปรามท่านเลย”
พ่อค้าคนจีนท่านนั้นบอกสั้นๆว่า “ผมยืมเงินท่านอธิบดี ต้องส่งดอกเบี้ยทุกเดือน นี่ก็อีกหลายปีกว่าจะส่งหมดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย”
บางอย่างคนส่วนมากคิดไปเอง โดยที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง อย่างนี้น่าจะตรงกับพุทธภาษิตที่ว่า “สิ่งที่ไม่ได้คิดไว้ย่อมมีได้ สิ่งที่คิดไว้อาจไม่มีก็ได้”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/01/54