คนบางคนแม้จะไม่ได้เข้าเรียนในระบบการศึกษาปัจจุบัน แต่แทบทุกคนต้องมีครูสอน บางครั้งครูคนนั้นอาจจะไม่ได้ร่ำเรียนวิชาใดๆมาเลย แต่กลายเป็นครูสอนโดยไม่ได้ตั้งใจ เหตุการณ์ที่ทำให้คนเป็นครูบางครั้งก็มาจากเรื่องธรรมดาของสัตว์โลกนี่เอง ได้สนทนากับพระภิกษุรูปหนึ่งท่านเมื่อพูดถึงความประทับใจเกี่ยวกับครู ท่านบอกว่าครูผมไม่ใช่คนที่มีชีวิตแต่เป็นคนที่ตายแล้ว เขาสอนผมในขณะที่ไม่มีลมหายใจแล้ว วิชาที่เขาสอนคือกรรมฐานเขาเป็นครูสอนกรรมฐานผมในขณะที่ร่างเขาไร้วิญญาณแล้ว
พระสงฆ์ทุกรูปเมื่อได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระอุปัชฌาย์จะต้องบอกกรรมฐานเรียกว่าดจปัญจกกรรมฐานหรือกรรมฐานห้ามีหนังเป็นต้นประกอบด้วยเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ซึ่งแปลว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จากนั้นก็ให้ภิกษุใหม่เริ่มต้นด้วยการพิจารณาจนเห็นว่าเป็นอสุภะของที่ไม่สวยไม่งาม จนเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลาดกำหนัด สามารถมองเห็นความไม่งามในอัตตภาพร่างกายทั้งหลาย พระอุปัซฌาย์จึงเป็นครูคนแรกของพระภิกษุแต่ละรูป จากนั้นภิกษุแต่ละรูปก็แสวงหาวิธีทำใจให้สงบได้ด้วยตนเอง บางครั้งอาจจะมาจากนอกตำรา เฉกเช่นกับประสบการณ์ของภิกษุรูปหนึ่ง ที่ท่านเมตตาเล่าให้ฟังสรุปความได้ดังนี้
เมื่อครั้งที่อุปสมบทใหม่ๆผมไม่ได้บวชที่บ้านเกิดแต่ไปบวชที่วัดป่าแห่งหนึ่ง สมัยนั้นยังไม่มีเมรุเผาศพเหมือนวัดในเมืองใหญ่ๆ การเผาศพจึงต้องกระทำกันที่ป่าช้าภายในวัดนั่นเอง ส่วนมากจะอยู่หลังวัด พระใหม่บวชได้เพียงหนึ่งเดือนก็มีคนเสียชีวิตเป็นชายชราวัยแปดสิบปีชื่อว่าตาสิงห์(นามสมมุติ)ซึ่งเป็นคนที่คุ้นเคยกันดีใส่บาตรเป็นประจำ งานศพไม่มีพิธีรีตรองมาก ตายตอนกลางคืนพอบ่ายๆของอีกวันก็ทำพิธีเผาที่ป่าช้าภายในวัดนั่นเอง
พิธีศพก็ทำกันอย่างเรียบง่ายพอบ่ายจะนิมนต์พระสงฆ์ไปมาติกาบังสุกุล จากนั้นก็นำศพพามาจากหมู่บ้านมุ่งหน้าสู่วัดป่าซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก ถึงป่าช้าก็เริ่มต้นยกศพขึ้นบนกองฟอนซึ่งทำด้วยฟืนที่ชาวบ้านแต่ละคนช่วยกันนำมาคนละท่อน กลายเป็นกองไม้ที่เพียงพอกับการเผาคนตายหนึ่งคน ประมาณสี่โมงเย็นก็เริ่มทำพิธีจุดไฟเผาศพ ตามปกติจะมีชาวบ้านเฝ้าเพื่อคอยสุมไฟไม่ให้ดับ นั่งสุมไฟไปสูบยาใบตอง เคี้ยวหมากคุยกันไป
มีช่วงหนึ่งที่คนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านได้เล่าประวัติคนตายให้ฟังว่า “ตาสิงห์แกมีเมียหลายคน ส่วนมากจะเป็นสาวๆสวยๆทั้งนั้น คนเล่าลื่อกันว่าแกมีของดีมีวิชาดีเรียนมาจากหมอเขมร เป็นคาถามหานิยมพูดให้คนหลงคนรักได้ หญิงสาวคนไหนที่แกชอบแกก็จะใช้คาถาที่ทำจากน้ำมันพรายทำเป็นขี้ผึ้งทาที่ริมฝีปาก ร่ายคาถาอาคม หญิงใดก็ตามที่แกพูดด้วยจะรักและหลงจนกลายมาเป็นภรรยาของแกในที่สุด แต่ส่วนมากจะอยู่กินกันได้ไม่นานก็เลิกลากันไป แกมีวิชาทำให้คนรัก แต่ไม่มีวิชาทำให้คนอยู่” ผู้เฒ่าประจำหมู่บ้านเล่าประวัติคนตายให้ฟัง
พระหนุ่มบวชใหม่นั่งฟังอย่างสนใจ เพราะคิดว่าคงบวชไม่นานออกพรรษาก็คงต้องลาสิกขาไปมีครอบครัวตามธรรมเนียมของชาวบ้านทั่วไปตามประเพณีของชาวบ้านที่จะต้องบวชก่อนเบียด พระหนุ่มคอยซักถามว่าแกให้คาถาอะไรแก่ใครบ้างไหม ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ ในใจอยากจะได้คาถาเมตตามหานิยมอย่างที่เขาเล่าลือ
เฒ่าผุยเล่าให้ฟังต่อไปว่า “ตาสิงห์เคยเล่าให้ฟังว่าคาถาที่แกมีอยู่มีหลายอย่าง ทั้งเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี แกไม่กลัวใครเขาเล่าลือกันว่านักเลงทั้งหลายยังกลัว เพราะแกฟันแทงไม่เข้า ปืนก็ยิงไม่ออก แต่ไม่มีใครเคยเห็น แกพยายามจะสละวิชาเหล่านั้นทิ้งหลายครั้ง แต่ทำไม่สำเร็จ จะถ่ายทอดให้ใครก็ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ มีของต้องห้ามบางอย่างตลอดชีวิตซึ่งชีวิตปัจจุบันของคนทำมาหากินทำได้ยาก คาถานี้ทำให้หญิงรักหญิงหลงก็จริง แต่ก็มีข้อเสียคือทำมาหากินไม่ค่อยขึ้น ทำพอมีอยู่มีกินไปวันๆเท่านั้น ใครมีคาถานี้ส่วนมากจะเป็นคนจน เรียกว่าได้อย่างเสียอย่าง ตาสิงห์จึงอยากให้คาถานี้ตายไปพร้อมกับตัวแกเอง”
ตาสิงห์เป็นคนชอบเข้าวัดครั้งหนึ่งได้มาถามพระใหม่ว่าอยากได้คาถาไหม จากนั้นแกก็เริ่มบอกคาถาเป็นภาษาบาลีผสมเขมรผสมไทย โดยนำเอาสามภาษามารวมกันซึ่งพระใหม่ท่องเล่นสนุกๆไม่ได้จริงจังอะไร เพราะแปลไม่รู้เรื่องฟังไม่เข้าใจ แต่ตาสิงห์บอกคาถานี้แก่พระใหม่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต หรือว่าคาถาที่ว่านั่นคือคาถาเมตตามหานิยมที่คนเล่าลือกัน พระใหม่นั่งสนทนากับชาวบ้านไปพลางคาถาที่ตาสิงห์บอกก็ค่อยๆผุดขึ้นในความทรงจำแต่ขาดๆหายๆ
แดดยามเย็นที่ชาวบ้านเรียกว่าผีตากผ้าอ้อมโบกมือลาขอบฟ้าปัจฉิมทิศไปแล้ว เหลือไว้แต่แสงสีม่วงอมแดงสะท้อนกับเปลวไฟที่ลุกโพลงเพราะได้เชื้อจากกองเพลิงที่เผาร่างตาสิงห์บนกองฟอนที่ค่อยๆมอดไหม้ร่างไปทีละนิด จากท่อนขาก็ค่อยๆลามไปถึงลำตัว เมื่อน้ำมันในร่างซึมออกมาปะทะกับเปลวไฟจะเกิดเสียงดังแปลกๆ ฟ้าค่อยๆมืดลงทีละนิด พลันร่างของอุปัชฌาย์เดินมาสำรวจบริเวณป่าช้า หันมาสั่งพระใหม่ว่า “วันนี้ให้นอนเฝ้าข้างกองฟอน พยายามอย่าให้ไฟดับ” ซึ่งนการเผาศพทุกครั้งหน้าที่ในการสุมฟืนที่กองฟอนเป็นหน้าที่ของหลวงตารูปหนึ่ง แต่บังเอิญวันนั้นหลวงตาเกิดไม่สบายขึ้นมากระทันหัน ในวัดนั้นมีพระเพียงสามรูปและสามเณรอีกสองรูปเท่านั้น
ตามปกติพระใหม่เมื่อครั้งที่ยังเป็นฆราวาสเป็นคนกลัวผีมาก แต่เมื่อมาบวชอุปัชฌาย์สอนว่าผีและวิญญาณาณแม้จะมีอยู่จริงก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว หากเราไม่ไปยุ่งกับเขา พวกเขาก็จะไม่มายุ่งเกี่ยวด้วย ต่างฝ่ายต่างอยู่ในภพภูมิของใครของมัน วันนั้นด้วยความเคารพอุปัชฌาย์จึงต้องจำใจกลางกลดนอนเฝ้าข้างๆกองฟอนนั่นเอง
พระอุปัชฌายเคยพูดเรื่องกรรมฐานและภาวนาให้ฟังเมื่อหลายวันก่อนว่า“พระพุทธศาสนามีคำสอนส่วนหนึ่งที่เรียกว่ากรรมฐานหมายถึงอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการเจริญภาวนา หรือที่ตั้งแห่งงานทำความเพียรฝึกอบรมจิตและวิธีฝึกอบรมจิต ในพระไตรปิฎกเรียกว่า “ภาวนา”หมายถึงการเจริญ การทำให้เกิดให้มีขึ้น การฝึกอบรมจิต ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาตแสดงไว้สองประการ(20/275/57) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสองอย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชาคือ สมถะและวิปัสสนา สมถภาวนาที่ภิกษุเจริญแล้วย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้วย่อมละราคะได้ ส่วนวิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้วย่อมละอวิชชาได้”
จากเนื้อความในพระไตรปิฎกสรุปได้ง่ายๆว่าสมถภาวนาหรือสมถกรรมฐานเป็นการฝึกอบรมจิตหรือฝึกสมาธิให้เกิดความสงบ ส่วนวิปัสสนาภาวนาหรือวิปัสสนากรรมฐานเป็นการฝึกอบรมปัญญาหรือการเจริญปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง
การทำภาวนาหรือการบำเพ็ญกรรมฐานจึงมีสองประการคือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน พระภิกษุสามเณรทุกรูปต้องมีกรรมฐานไว้บริกรรมพิจารณาอยู่เสมอ วิชานี้ต้องศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจนเกิดความชำนาญคล่องแคล่วอันจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ทางแห่งสันติได้” พระอุปัชฌาย์จึงสอนวิธีนั่งสมาธิโดยกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้จิตยึดมั่ยในคำบริกรรมว่า “พุทโธ” หายใจเข้าว่า “พุท” หายใจออกว่า “โธ” พระใหม่ได้วิชากรรมฐานจากอุปัชฌาย์เพียรพยายามอยู่เกือบเดือนแล้ว จิตยังไม่เคยสงบสักที
ป่าช้าหลังวัดชาวบ้านค่อยๆทยอยกลับในที่สุดก็เหลือเพียงพระใหม่รูปเดียวที่คอยเขี่ยไฟให้ลุกโพลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าทุกอย่างดำเนินไปตามปกติก็เข้าสู่กลดนั่งพิจารณาความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต กำหนดจิตให้อยู่กับคำบริกรรมคือ “พุทโธ” ไปเรื่อยๆแต่จิตก็ยังไม่ยอมนิ่ง เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ไม่รู้ ช่วงนั้นจิตออกจากนั่งสมาธิเพ่งมองไปที่กองไฟ พลันสิ่งที่ได้พบเห็นเกือบทำให้ลุกวิ่งหนีในทันใด
ศพตาสิงห์ลุกขึ้นนั่งกลางกองไฟกำลังเพ่งมองมาที่พระใหม่พอดิบพอดี พระใหม่ชงักงันเหมือนลมหายใจจะขาดสะบั้นขยับจะลุกวิ่งหนี แต่ขาเจ้ากรรมไม่ยอมทำตาม สิ่งที่ทำได้ในตอนนั้นคือนั่งมองทำใจดีสู้เสือเป็นไงเป็นกัน เริ่มต้นสวดมนต์ไปเรื่อยๆเพราะเชื่อว่าผีกลัวมนต์ มนต์ทุกบทปรากฎขึ้นในช่วงนั้น ในที่สุดก็เหลือเพียงคำสองคำคือ “พุทโธ” เมื่อพุทโธอยู่กับลมหายใจนานเท่าไหร่ไม่รู้ จิตแน่วแน่เพราะกลัวผีจนกลายเป็นสมาธิที่สงบนิ่ง ลืมตาขึ้นอีกทีขอบฟ้าเรื่อเรืองด้วยแสงสีทอง ลมพัดมาแผ่วเบาเหมือนเสียงให้พรของปวงเทพยาอารักษ์ แต่ร่างไร้วิญญาณของตาสิงห์ยังนอนนิ่งข้างๆกองไฟ ซากร่างที่ไฟไหม้ไม่หมดเหลือเพียงบางส่วน ไฟยังไม่มอดดับ พระใหม่จึงแทบจะก้มกราบศพตาสิงห์ที่สอนวิชากรรมฐานให้ในวันนั้น เพราะถ้าไม่รู้สึกกลัว จิตก็คงไม่เป็นสมาธิ เมื่อรู้สึกกลัวจึงต้องหาที่พึ่ง แต่ในสถานการณ์แบบนั้นจะหาที่พึ่งใดได้ทีเท่ากับที่พึ่งคือตัวเอง จิตจึงกลายเป็นสมาธิที่แน่วนิ่งเป็นสมถกรรมฐานอย่างที่พระอุปัชฌาย์เคยสอนมานั่นเอง
พระใหม่ดินออกจากกลดไปที่กองไฟหยิบไม้ที่ใช้เขี่ยไฟมาถือในมือให้มั่นค่อยๆเดินเข้าหาตาสิงห์ที่ค่อยพลิกคว่ำเมื่อเห็นว่าแก่แน่นิ่งไปแล้วจึงใช้ไม้พลิกร่างขึ้นมาค่อยๆดันกลับไปยังกองไฟอีกครั้ง จึงได้ทราบความจริงว่า ที่แท้ไม่ใช่ศพลุกขึ้นนั่ง แต่เป็นเพราะไม้ที่ใช้ข่มศพไว้ทั้งสองด้านถูกไฟไหม้ทำให้ศพที่กำลังไหม้เส้นเอ็นทั้งหลายหดตัว ขาและศีรษะจึงงอเข้าหากัน ทำให้เหมือนกำลังลุกนั่งนั่นเอง
จากวันนั้นมาพระใหม่ก็หายกลัวผีและอยู่กับศพได้ตลอดคืน ความกลัวมาจากการไม่รู้ความจริง แต่หากพิจารณาตามความเป็นจริงสรรพสิ่งย่อมมีเหตุผล คนส่วนหนึ่งไม่ใช้เหตุและผลในการตัดสินแต่ตัดสินจากความรู้สึก เหมือนศพของตาสิงห์ในวันนั้น ในที่สุดสรีระของตาสิงห์ก็ค่อยๆมอดไหม้เหลือแต่กองขี้เถ้า คนอื่นอาจจะมีอาจารย์หรือครูสอนกรรมฐานเป็นพระที่มีชื่อเสียงหรือครูบาอาจารย์ที่ชำนาญในการสอน แต่สำหรับพระใหม่ในวันนั้นซึ่งปัจจุบันมีอายุพรรษากาลมากแล้วเป็นพระเถระรูปหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย ครูสอนกรรมฐานนอกจากพระอุปัชฌาย์แล้วคือร่างที่ไร้วิญญาณบนกองฟอนนามว่าตาสิงห์นั่นเอง
วันนี้ใกล้วันครูขอบูชาครูด้วยการทำบุญอุทิศให้กับครูสอนกรรมฐานขั้นเยี่ยมท่านนั้น ขอให้วิญญาณของครูจงไปสู่สุคติภูมิด้วยเถิด ลูกศิษย์คนนี้คงจะตามไปในเวลาอีกไม่นานนัก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
15/01/54