บางครั้งคนที่เป็นครูสอนเราได้อาจจะไม่ใช่ผู้ที่เรียนจบปริญญาเสมอไป อาจจะมาจากคนที่ไม่ได้เรียนอะไรมาเลยก็ได้ ครั้งหนึ่งขงจื้อบอกว่าสิบคนที่เดินไปข้างหน้านั้นต้องมีคนหนึ่งที่เป็นครูสอนเราได้ คนที่พูดแบบนี้ได้จะต้องเป็นนักเรียนผู้ใฝ่รู้หรือหากเป็นครูก็ต้องเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ บางคนมีความรู้อยู่ในตำราแต่พอจะนำไปใช้ก็ต้องอ้างตำรา ไม่มีตำราก็ทำอะไรไม่ได้เป็นเหมือนใบลานเปล่าคือมีความรู้แต่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
นานมาแล้วเมื่อครั้งที่บวชใหม่ๆกิริมารยาทบางอย่างยังติดมาจากการเป็นฆราวาส บางครั้งก็อาจเผลอกระทำลงไปโดยไม่ได้เจตนาหรือหรือเท่าไม่ถึงการณ์ วันนั้นตอนเย็นซึ่งวัดป่าทั่วไปจะมีกิจวัตรอย่างหนึ่งคือการทำความสะอาดกวาดลานวัด จัดตั้งน้ำใช้น้ำดื่มบนศาลาการเปรียญให้เรียบร้อยเพื่อที่จะเป็นที่ฉันในวันรุ่งขึ้น ทุกอย่างต้องสะอาดและพร้อมจะใช้งานได้ทันที
วันนั้นกวาดลานวัดเสร็จเดินขึ้นศาลาการเปรียญหิวน้ำมากจึงเดินไปโอ่งน้ำแล้วตักน้ำจากโอ่งดินขึ้นดื่มทันที ทั้งๆที่ตอนนั้นยังยืนอยู่ข้างๆโอ่ง ตามปกติจะต้องนั่งให้เรียบร้อยก่อนจึงดื่มน้ำ ขณะนั้นสามเณรศูนย์เดินผ่านมาพอดี พอเห็นหลวงพี่กำลังดื่มน้ำ สามเณรศูนย์ก็พูดขึ้นทันทีทันใดโดยไม่ได้คิดว่า “ยืนดื่มยังกับวัวกับควาย” พูดจบก็เดินจากไป
ตอนนั้นรู้สึกโกรธเจ้าสามเณรศูนย์ขึ้นมาทันใด อยู่ๆบังอาจมาด่าพระภิกษุได้อย่างไร แต่ก็ควบคุมอารมณ์ไว้ได้ สามเณรยังทำงานตามปกติกวาดศาลาถูพื้นศาลา ดูแล้วก็ไม่น่าจะแกล้งด่า พลันก็เกิดคิดขึ้นมาได้ในขณะนั้นว่า การยืนดื่มน้ำก็ไม่ได้มีวินัยข้อใดห้ามไว้ มีแต่พุทธบัญญัติเรื่องการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะดังที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎกปริวาร เสขิยวัตร (8/459/116) ความว่า “ ภิกษุอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อยืนถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะต้องอาบัติตัวหนึ่งคือทุกกฏ”
แต่ธรรมเนียมของพระกรรมฐานการจะฉันอะไรต้องนั่งให้เรียบร้อยก่อน การดื่มน้ำก็อนุโลมเข้าเป็นวัตรที่พระภิกษุควรถือปฏิบัติ ดังนั้นการที่สามเณรศูนย์เอ่ยทักขึ้นในวันนั้น จึงเป็นการเตือนว่าจะทำอะไรควรให้เหมาะกับสมณภาวะ จากวันนั้นเป็นต้นมาจึงได้ถือว่าสามเณรศูนย์คือครูคนหนึ่ง แม้จะสอนโดยไม่เจตนาแต่ก็ทำให้เรารู้สึกตัว บางอย่างแม้จะไม่ผิดวินัยแต่ผิดธรรมเนียม
ในพระพุทธศาสนาสามเณรที่เป็นครูสอนพระมีปรากฎในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 4 หน้า 118สรุปความว่า“พระโปฐิลเถระเป็นพระเถระผู้รอบรู้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นอาจารย์สอนหนังสือแก่พระภิกษุสามเณรจำนวนมาก แต่เมื่อใดที่พบพระพุทธเจ้าพระองค์มักจะเรียกว่า “คุณใบลานเปล่า ๆ ”อันเป็นการบอกกล่าวว่ารู้แต่ตำรา แต่ไม่เข้าถึงความรู้จริงในพระพุทธศาสนาเลย จนกระทั่งพระโปฐิละเกิดความละอายใจว่าความรู้ที่ตนมีอยู่นั้นไม่อาจจะทำให้พระพุทธเจ้ายอมรับได้ จึงตัดสินใจเรียนกรรมฐานเพื่อที่จะบรรลุความเป็นพระอรหันต์ให้ได้ พอคิดได้ก็เริ่มแสวงหาอาจารย์
แต่ปัญหาสำคัญคือท่านโปฐิละเป็นพระเถระเป็นอาจารย์สอนพระภิกษุรูปอื่นๆมานาน พระภิกษุแทบทุกรูปต่างก็เรียกท่านว่า “อาจารย์” จึงไม่มีใครกล้าแนะนำหรือสอนกรรมฐานให้กับพระโปฐิละเลย พระที่สอนคนอื่นมากๆเข้ามักจะถือตนว่ามีความรู้เหนือคนอื่น นั่นเป็นมานะอย่างหนึ่งคือถือว่าเหนือกว่าเขา ก็ยากที่จะมีคนสอนได้
วันหนึ่งท่านโปฐิละเข้าไปหาพระอรหันต์กลุ่มหนึ่งขอเรียนกรรมฐาน พระอรหันต์เหล่านั้นต้องการขจัดมานะความถือตัวของพระโปฐิละจึงบอกปฏิเสธไปเรื่อยๆ ท่านก็ขอไปเรื่อยๆเหมือนกัน จนกระทั่งไปถึงสามเณรรูปสุดท้ายอายุเพียงเจ็ดขวบ สามเณรรูปนั้นถามว่า “หากท่านอาจารย์ยินดีจะทำตามคำสั่งของผม ผมก็จะสอน” เมื่อพระโปฐิละรับปาก จึงบอกให้พระเถระที่ห่มจีวรเรียบร้อยเดินลงไปยังสระน้ำบัดเดี๋ยวนั้น
พระโปฐิละเดินลงไปยังสระน้ำตามคำสั่งของสามเณรเปียกน้ำทั้งสงบและจีวร จนกระทั่งไปถึงน้ำลึกถึงคอ สามเณรจึงสั่งให้หยุด จากนั้นจึงเริ่มสอนกรรมฐานว่า “ในจอมปลวกแห่งหนึ่งมีช่องอยู่หกช่อง ในช่องเหล่านั้น เหี้ยเข้าไปภายในโดยช่อง ๆ หนึ่ง บุคคลประสงค์จะจับมันจึงอุดช่องทั้งห้าช่องเสีย ทำลายช่องที่หกแล้ว จึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้งห้าอย่างนั้นแล้ว จงเริ่มตั้งบริกรรมหรือกรรมฐานนี้ไว้ในมโนทวาร”
พระโปฐิลเถระเริ่มตั้งกรรมฐานโดยปิดทวารทั้งห้าคือตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดเพียงทวารเดียวคือใจหรือมโนทวาร กำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว สั้นก็รู้ว่าสั้น ยาวก็รู้ว่ายาว จนกระทั่งลมหายใจหายไปเหลือเพียงความเอกัคคตารมณ์ จิตแน่วแน่เป็นสมาธิ เริ่มใช้ปัญญาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ขณะนั้นพระพุทธเจ้าทราบความเป็นไปของพระโปฐิละจึงได้แสดงธรรมความว่า “ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบแล ความสิ้นไปแห่งปัญญาเพราะการไม่ประกอบ บัณฑิตรู้ทางสองแพร่งแห่งความเจริญและความเสื่อมนั่นแล้ว พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้”
แสดงธรรมจบพระโปฐิละก็บรรลุพระอรหันต์ ยังดีที่สมัยนั้นพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ สามารถแก้ปัญหาทางจิตแก่พระโปฐิละได้ ในเรื่องนี้ต้องยกให้สามเณรเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานแก่พระเถระ ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุหรือสามเณรสามารถเป็นครูสอนอาจารย์ได้
เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามก็ยกให้สามเณรศูนย์เป็นครูสอนรูปหนึ่ง ทั้งๆที่สามเณรศูนย์คงไม่ได้ตั้งใจจะสอน แต่บางครั้งคำพูดเพียงคำเดียวอาจทำให้คนเปลี่ยนแปลงไปทั้งชีวิตเลยก็ได้ คำพูดที่ออกจากปากของคนเช่นนั้นควรยกให้เป็นคำครู ความรู้ในตำราเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ บางคนรู้แต่ในตำราพระพุทธเจ้ามักเรียกคนประเภทนี้ว่าใบลานเปล่า แต่ความรู้ที่เกิดจากภายในต่างหากที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ เป็นใบลานที่มีคุณค่าเพราะเต็มไปด้วยสัจธรรมความจริงของสิ่งทั้งหลาย บางอย่างรู้เรื่องเดียวก็เพียงพอแล้ว ถ้ารู้จริงๆ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/01/54