ใกล้วันครูเข้ามาในจินตนาการค่อยๆนึกถึงครูที่เคยสอนตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ครูบางคนแว็บเข้ามาแล้วก็ผ่านไป แต่ครูบางคนเมื่อเข้ามาในจินตนาการแล้วกลับค่อยเด่นชัดขึ้นไม่อาจจะลบให้เลือนหายไปได้ ครูประเภทนี้น่าจะเรียกได้ว่าครูในดวงใจ คนที่เคยเรียนหนังสือจะต้องมีครูสอน บางรายวิชามีครูสอนหลายคน ในแต่ละปีจึงมีครูหลายท่าน เมื่อเวลาผ่านไปครูที่เคยสอนก็พลันลืม ตราบใดที่ยังเรียนก็ต้องพบครูคนใหม่ๆเรื่อยไป แต่ในจำนวนครูจำนวนมากนั้นจะต้องมีครูในดวงใจที่จดจำได้ไม่ลืมอย่างน้อยหนึ่งคน ครูคนนั้นอาจจะเป็นผู้ที่น่าจดจำอาจจะเป็นครูคนแรกหรือครูคนไหนก็ได้ ใครที่จดจำชื่อครูคนใดไม่ได้เลยคือคนที่ไม่เคยเรียนอะไรจากใครเลย
เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์จำได้แม่นยำคนหนึ่งนามว่า “สุชีพ ปุญญานุภาพ” อาจารย์สอนวิชาพระสุตตันปิฎกสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ในสมัยนั้นเป็นวิชาที่ค่อนข้างจะยากและน่าเบื่อแต่อาจารย์สุชีพทำให้วิชาที่น่าเบื่อกลายเป็นวิชาที่น่าสนใจขึ้นมาได้ ด้วยความรู้จริง จนนักศึกษาเรียกท่านว่าพระไตรปิฎกเคลื่อนที่ ถามเรื่องไหนมาจากเล่มไหนส่วนมากอาจารย์จะตอบได้ทันที หรือหากตอบไม่ได้เพราะไม่แน่ใจก็จะขอเวลาเดินเข้าห้องสมุดไม่ถึงสิบนาทีต่อมาก็ตอบได้ทันทีพร้อมทั้งอธิบายที่มาที่ไปอย่างละเอียด
อาจารย์สอนเป็นฆราวาส แต่ผู้เรียนเป็นพระสงฆ์ ไม่เหมือนในอดีตที่พระสงฆ์จะเป็นอาจารย์สอนส่วนผู้เรียนจะเป็นฆราวาส เมื่อโลกเปลี่ยนไปฆราวาสบางคนมีความรู้มากกว่าพระภิกษุ จึงกลายเป็นอาจารย์ไป แต่การที่จะมาสอนพระได้ต้องเก่งจริงเรียกว่าต้องประกอบด้วยวิชาดีและความประพฤติดีด้วย อย่างที่ภาษาพระบอกว่า “วิชชาจรณสัมปันโน” แปลว่าผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและความประพฤติ ซึ่งเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของพระพุทธเจ้า ซึ่งนำมาใช้กับผู้ที่จะเป็นครูได้ด้วย
คำว่า “ครู” มาจากภาษาบาลีว่า “ครุ” เป็นคำนามเพศชายแปลว่าผู้สอน ผู้แนะนำ ผู้ควรเคารพ ปีก ถ้าเป็นคำคุณนามจะแปลว่า ใหญ่ หนัก ผู้ควรแก่การเคารพนับถือ ผู้ควรได้รับการยกย่อง สำคัญ
ส่วนคำว่า “อาจารย์” มาจากคำนามในภาษาบาลีว่า “อาจริย” เป็นคำนามเพศชายแปลว่า อาจารย์ ผู้ฝึกมารยาท ผู้สั่งสอน ผู้แนะนำ คำในภาษาบาลีไม่มีสระอาหลังจอจารย์แต่พอมาเป็นเสียงภาษาไทยกลายเป็นอาจารย์ สระอิก็หายไปด้วย
ครูกับอาจารย์แม้จะมีความหมายคล้ายกันและใช้แทนกันได้ แต่ทว่าคำว่า “ครู” จะบ่งไปในทางที่ผู้พูดให้การยอมรับนับถือและยกย่อง ส่วนคำว่า “อาจารย์” มักจะใช้ไปในทางผู้สั่งสอนและผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งบางครั้งเราอาจจะไม่ได้ยกย่องก็ได้
ปัจจุบันประเทศไทยนิบยมเรียคำว่าครูหมายถึงผู้ที่สอนในระดับที่ยังไม่ถึงมหาวิทยาลัย ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยมักจะนิยมเรียกว่าอาจารย์ แต่บางท่านก็แล้วแต่ความเคยชินอาจเรียกครูว่าอาจารย์หรืออาจารย์ว่าครูก็ย่อมได้
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ แม้จะเป็นฆราวาสทำหน้าที่สอนพระนักศึกษาที่เป็นพระสงฆ์ อาจารย์ก็ให้ความเคารพ คงจะมีมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งที่อาจารย์สอนต้องทำความเคารพลูกศิษย์ก่อนสอน อาจารย์สุชีพเดินเข้าห้องเรียนพร้อมกับยกมือไหว้นักศึกษาจากนั้นก็ขออนุญาตนั่งที่โต๊ะหน้าห้องเรียนเปิดโอกาสให้พระนักศึกษาถามปัญหาก่อน ตอบปัญหาเสร็จแล้วจึงจะเริ่มบทเรียนต่อไป จบบทเรียนแล้วยังเปิดโอกาสให้ถามปัญหาอีก การเรียนวิชาพระสูตรจึงเป็นเหมือนกับการได้ทบทวนพระไตรปิฎกนั่นเอง หมดเวลาก็จะยกมือไหว้ลูกศิษย์และเดินจากไป ส่วนลูกศิษย์นั่งเฉยไม่ได้ไหว้ตอบ แต่ไหว้ภายในใจแสดงออกด้วยอาการสงบที่เรียกว่าดุษณียภาพคือการนิ่ง
ครั้งหนึ่งเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามได้ถามอาจารย์ถึงเรื่องคุณสมบัติของครูแต่อ้างพระไตรปิฎกผิดเล่ม แทนที่จะเป็นเล่มที่ยี่สิบสามแต่กลับบอกว่าเล่มที่ยี่สิบสอง ส่วนข้อและหน้าตรงกัน อาจารย์ยิ้มก่อนจะบอกว่าที่ท่านมหาอ้างมานั้นไม่ใช่เล่มที่ยี่สิบสองแต่เป็นเล่มที่ยี่สิบสาม ส่วนข้อและหน้าอ้างได้ถูกต้องแล้ว ฉบับภาษาไทยและบาลีบังเอิญตรงกันพอดี
ผู้ที่จะทำหน้าที่ครูตามทัศนะของพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงคุณสมบัติของครูเรียกว่ากัลยาณมิตธรรมดังที่มีปรากฎในสขสูตร อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต(23/34/33)ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมเจ็ดประการควรเสพควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่ ธรรมเจ็ดประการคือภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นผู้ควรสรรเสริญ เป็นผู้ฉลาดพูด เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ปิโย จ โหติ มนาโป จ ครุ จ ภาวนีโย จ วตฺตา จ วจนกฺขโม จ คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา โหติ โน จ อฏฺฐาเน นิโยเชติ”
ในพระสูตรนี้พระพุทธเจ้าแสดงแก่ภิกษุบอกถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นเป็นกัลยาณมิตร เป็นครู หรือผู้ให้คำแนะนำ คุณสมบัติทั้งเจ็ดประการนี้มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นก็มีความเหมาะสมที่จะเป็นครูของเราได้ เว็บมาสเอตร์ไซเบอร์วนารามมีครูที่จำได้หลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นครูที่ไม่มีวันลืมคืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ แม้วันนี้ท่านจะไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว แต่ลักษณะท่าทางวิธีการสอน ลีลาการสอน ตลอดจนองค์ความรู้ที่เคยเรียนมาแม้จะนานมาแล้ว ทุกอย่างยังอยู่ในความทรงจำ แม้กาลเวลาผ่านไปหลายปีแล้วความรู้นั้นยังยังนำมาใช้ได้จนถึงปัจจุบัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/01/54
หมายเหตุ: ใครที่มีเรื่องประทับใจเกี่ยวกับครูขอเชิญเขียนมาร่วมเผยแพร่ได้