ใกล้ปีใหม่เข้ามาทุกทีแล้ว ประเพณีอย่างหนึ่งของคนไทยคือการให้ของขวัญแก่ผู้ที่เราเคารพนับถือ หลายท่านคิดไม่ออกว่าควรจะให้อะไรในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เห็นโฆษณาทางโทรทัศน์บอกว่าให้อะไรก็ได้ ยกเว้นเหล้า เพราะให้เหล้าเท่ากับแช่ง ฟังดูเข้าท่าดี แต่จะมีคนกระทำตามได้มากแค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเหล้ากับงานเทศกาลแทบจะแยกจากกันไม่ได้ ร้านค้าของที่ระลึกหลายแห่งเริ่มมีของขวัญปีใหม่กันมาตั้งแต่ต้นเดือนแล้ว ส่วนมากจะทำเป็นกระเช้าส่วนของขวัญเป็นเรื่องของคนซื้อจะเลือกเองหรือให้ร้านค้าเลือกให้ก็ได้เหมือนกัน
หากเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนเคารพนับถือมากก็จะมีของขวัญมากตามไปด้วย แต่บางคนไม่เคยได้รับของขวัญปีใหม่เลยแม้แต่การ์ดอวยพรสักใบก็แทบจะไม่เคยเห็น คนพวกนี้มองว่าเรื่องของปีใหม่นั้นเป็นเรื่องสมมุติวันเวลาต่างก็ทำหน้าที่ของมันไปตามเรื่องไม่ควรไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับวันเวลา จนมีคำกลอนติดปากอยู่บทหนึ่งว่า "ถามฟ้าหรืออย่าเลย ฟ้าก็เฉยเฉกเช่นกัน เคลื่อนคล้อยไปวันๆเหมือนเราท่านนรชน" เพราะเวลาเปลี่ยนแปลงทุกนาทีทุกชั่วโมงอยู่แล้วจึงไม่ค่อยสนใจเรื่องปีใหม่เลย คิดแบบนี้จึงไม่เคยให้ของขวัญใคร เมื่อไม่ให้อะไรแก่ใคร ก็ไม่มีใครให้อะไรเหมือนกัน
สภาพสตรีท่านหนึ่งเคยมาสนทนาเรื่องของขวัญปีใหม่ให้ฟังสรุปว่า “ดิฉันไม่ได้สนใจเรื่องของขวัญในวันเทศกาลต่างๆเลย และในแต่ละปีก็ไม่เคยมีใครส่งการ์ดอวยพรมาให้ด้วย แต่ปีนี้เกิดอยากได้ของขวัญขึ้นมาจะทำอย่างไร”จึงบอกเธอไปว่า "หากอยากได้ของขวัญในวันปีใหม่จริงๆก็สามารถทำได้ ปีนี้อาจจะได้น้อย แต่ปีหน้าจะต้องได้มากอย่างแน่นอน
เมื่อเธอถามว่าจะทำอย่างไร จึงเสนอวิธีง่ายๆว่า ในช่วงใกล้วันปีใหม่ลองคิดดูให้ดีว่าเรายังมีญาติผู้ใหญ่เหลืออยู่กี่คน มีเพื่อนที่สนิทกี่คน มีเพื่อนร่วมงานกี่คน เมื่อสำรวจได้แล้วก็หาซื้อการ์ดอวยพรปีใหม่จากนั้นก็เขียนคำอวยพรส่งไป สมมุติปีนี้ส่งไปสักร้อยใบอาจจะมีผู้ส่งกลับคืบมาไม่น้อยกว่าสิบใบ ปีหน้าอาจจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นก็ได้ เขียนส่งไปทุกปีย่อมจะต้องมีผู้ส่งกลับไม่มากก็น้อย มีสุภาษิตไทยบทหนึ่งว่า “ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ” ผู้ให้ก็ย่อมได้รับการให้ตอบเหมือนกัน เพราะโดยพื้นฐานแล้วคนไทยใจดีใครให้อะไรมาก็มักจะให้ตอบแทนเสมอ
ถามว่าควรให้อะไรนั้น พระพุทธศาสนามีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า “ผู้ให้สิ่งที่ชอบใจย่อมได้สิ่งที่ชอบใจ”สุภาษิตบทนี้มาจากเนื้อหาในมนาปทายีสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/44/44) สรุปความว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปยังบ้านของอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลีซึ่งคฤหบดีได้ถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้า แต่ทว่าถวายในสิ่งที่ตนชอบเป็นต้นว่าของเคี้ยวของฉันต่างๆเป็นสิ่งที่ตนเองชอบ โดยได้ยกคำพูดที่เคยได้ยินมาเล่าให้พระพุทธเจ้าฟังว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ ก็ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ขาวสะอาด มีกับมาก มีพยัญชนะมาก ของข้าพระองค์ เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ของข้าพระองค์นั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับ”
คฤหบดีถวายของที่ตนชอบย่อมได้รับความสุขที่ได้ถวาย ส่วนพระพุทธเจ้าจะชอบหรือไม่นั้นพระองค์ก็รับด้วยอาการปกติ พระพุทธเจ้าจึงอนุโมทนาเป็นคาถาว่า “ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ใดย่อมให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ และปัจจัยมีประการต่างๆ ด้วยความพอใจ ในท่านผู้ประพฤติตรง สิ่งของที่ให้ไปแล้วนั้นย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว สละแล้ว ไม่คิดเอาคืน ผู้นั้นเป็นสัปบุรุษทราบชัดว่า พระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญ บริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยากแล้ว ชื่อว่าให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ”
ต่อมาไม่นานอุคคคฤหบดีเสียชีวิต เพราะอานิสงส์ที่ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าจึงได้ไปเกิดในสวรรค์เป็นเทพบุตรมีนามว่าอุคคเทพบุตร จึงระลึกได้ว่าบุญกุศลที่ทำให้มาเกิดในหมู่เทพก็เพราะการถวายทาน วันหนึ่งจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี เจตนาจะมาแจ้งข่าวแก่พระพุทธเจ้าว่าอานิสงส์ของทานที่ตนเคยถวายนั้นบัดนี้ให้ผลแล้ว พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสกับอุคคเทพบุตรว่า “ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐนรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ”
มีเรื่องเล่าว่าชายหนุ่มคนหนึ่งได้ยินพระเทศน์ว่า “ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ” แกเลยตีความเอาเองว่า พอใจผู้ให้ก็พอ ส่วนผู้รับจะพอใจหรือไม่นั้นไม่ได้ใส่ใจ ด้วยความที่เป็นคนชอบแต่งตัวจึงมีอุปกรณ์เสริมสวยหลายอย่าง วันหนึ่งแกซื้อหวีมาหลายอันเดินเข้าวัด วันนั้นเป็นวันธรรมสวนะ พระสงฆ์ทุกรูปมารวมกันบนศาลาการเปรียญ แกถวายหวีแด่พระสงฆ์ทุกรูป เพราะความที่แกมีผมยาวชอบหวีผมนั่นเอง โดยลืมนึกไปว่าพระสงฆ์นั้นโกนผมจนเกลี้ยงจะนำหวีไปทำอะไร สิ่งที่ถวายจึงไม่มีประโยชน์แทนที่จะได้บุญพระบางรูปอาจกำลังแอบแช่งอยู่ในใจก็ได้ อย่างนี้ตนเองชอบแต่คนรับคงไม่ชอบ สิ่งที่ให้จึงควรเป็นสิ่งที่พอใจของผู้ให้และผู้รับด้วย ตาบอดได้แว่นยังพอปิดบังสายตาได้บ้าง แต่หัวล้านได้หวีจะมีประโยชน์อะไร
จะให้ของขวัญอะไรกับใครก็ควรคิดให้ดีก่อนว่าผู้รับพอใจหรือไม่ แม้ให้แล้วผู้รับจะไม่ให้สิ่งตอบแทนอะไรเลยก็ตาม แต่ผลของการให้ย่อมย้อนกลับมายังผู้รับ ผู้ให้ได้ความสุขที่เกิดจากการให้ ส่วนผู้รับก็ได้ความสุขที่มีผู้ที่ยังคิดถึง การให้จึงมีผลทั้งสองฝ่าย เราพอใจจะให้อะไรก็ให้สิ่งนั้นเท่าที่จะหาได้ แต่การให้อย่างหนึ่งที่จัดว่าเป็นเลิศในบรรดาการให้ทั้งหลายคือการให้อภัย ซึ่งไม่ต้องลุงทุนอะไรเลย เพราะการให้อภัยอยู่ที่ใจเราเอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/12/53