ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             พระพุทธศาสนามีการบันทึกคำสอนมาตั้งแต่สมัยใดนั้นยังหาข้อยุติที่ชัดเจนไม่ได้ ในยุคแรกพระพุทธศาสนาเผยแผ่หลักสอนด้วยวิธีมุขปาฐะหรือสอนโดยตรงระหว่างอาจารย์กับศิษย์ อาจารย์ชำนาญเนื้อหาคำสอนส่วนไหนก็สอนเรื่องนั้นเช่นพระอุบาลีชำนาญพระวินัยก็สอนลูกศิษย์ทางด้านพระวินัย พระอานนท์ชำนาญพระสูตรก้สอนพระสูตร ต่อมาเมื่อมีการรวบรวมหลักคำสอนแยกออกเป็นปิฎกจึงกลายเป็นพระไตรปิฎกได้แก่พระวินัย พระสูตและพระอภิธรรม เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการค้นพบคัมภีร์โบราณของพระพุทธศาสนาที่หุบเขาบามิยัน และประเทศไทยได้อัญเชิญพระคัมภีร์นี้มาจัดแสดงที่ประเทศไทย น่าแปลกตรงที่คัมภีร์โบราณที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดของพระพุทธศาสนากลับพบที่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม 
             หนังสือพิมพ์มติชนเสนอข่าวว่า “คณะสงฆ์ไทย ตัวแทนจากภาครัฐได้อัญเชิญธรรมเจดีย์ คัมภีร์พุทธศาสนาโบราณ อายุกว่า 2,000 ปีจากประเทศนอร์เวย์ มาประดิษฐานและจัดแสดง ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา พุทธมณฑล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กว่า 100 ปี นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนนอร์เวย์ครั้งแรก

             นายนพรัตน์  เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า “ธรรมเจดีย์เป็นพระคัมภีร์พุทธศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลกถูกค้นพบก่อนสงครามจะเกิดขึ้น ในถ้ำบริเวณเทือกเขาบามิยัน ตั้งอยู่ห่างประมาณ 2 กิโลเมตรจากพระพุทธรูปหินบามิยันสูง 53 เมตร ที่ถูกทำลายในปี พ.ศ. 2544 ในอดีตดินแดนแถบนี้ชื่อว่าคันธารราฐ อยู่บนเส้นทางสายไหม เคยเจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา และปัจจุบันดินแดนแถบนี้เรียกว่าประเทศอัฟกานิสถาน ทั้งนี้สถาบันอนุรักษ์สเคอเยน ได้คัมภีร์โบราณชุดแรก ในปี พ.ศ. 2539 จากพ่อค้าของเก่าซัมฟ๊อก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้วางแผนการขนย้ายคัมภีร์ทุกวิถีทาง ในช่วงปี พ.ศ. 2540 – 2543 (ในปีพ.ศ. 2544 ถ้ำแถบเทือกเขาบามิยันได้ถูกระเบิดทำลายจนหมดสิ้นรวมทั้งองค์หลวงพ่อบามิยันสูง 50 เมตร) ปัจจุบันสถาบัน ฯ สามารถอนุรักษ์คัมภีร์โบราณไว้ได้ประมาณ 5,000 ชิ้น ที่ยังเป็นชิ้นส่วนสมบูรณ์และแตกหักเล็กน้อย และส่วนที่เศษชิ้นเล็กๆ อีกประมาณ 8000 ชิ้น ทั้งหมดมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6 – 12 การจารึกทำไว้ในใบลาน เปลือกไม้ หนังสัตว์และแผ่นทองเหลือง นักโบราณคดีและภาษาศาสตร์นานาชาติใช้เวลา 12 ปี ทำการชำระคัมภีร์ดังกล่าวโดยสันนิษฐานสรุปว่า เป็นผลงานของพระอรหันต์ที่ได้จารึกพระธรรมวินัยเป็นตัวอักษร ในราวพุทธศตวรรษที่ 6 หรือประมาณร่วม 2,000 ปีล่วงมาแล้ว” (มติชน 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553)

             อาฟกานิสถานเคยนับถือพระพุทธศาสนา ประมาณพุทธศตวรรษที่สาม เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช กระทำสังคายนาครั้งที่ 3 ได้ส่งพระธรรมทูตออกไปเผยแผ่ศาสนายังนานาประเทศและแว่นแคว้นอื่นๆ 9 สายคือ
               สายที่ 1 มีพระมัชฌันติกเถระเป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นกัษมิระ คือรัฐแคชเมียร์ ประเทศอินเดียปัจจุบัน และแคว้นคันธาระ ในปัจจุบันคือรัฐปัญจาป ทั้งของประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน และกินลึกเข้าไปยังบางส่วนของอาฟกานิสถาน
             สายที่ 2 พระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นมหิสมณฑลปัจจุบัน ได้แก่ รัฐไมเซอร์และดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งอยู่ในตอนใต้ประเทศอินเดีย
             สายที่ 3 พระรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วนวาสีประเทศ ในปัจจุบันได้แก่ ดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย
             สายที่ 4 พระธรรมรักขิตเถระ หรือพระโยนกธรรมรักขิตเถระ (ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นฝรั่งคนแรกในชาติกรีกที่ได้เข้าบวชในพระพุทธศาสนา)เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปรันตกชนบทปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือดินแดนแถบชายทะเลเหลือเมืองบอมเบย์
             สายที่ 5 พระมหาธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหาราษฎร์ ปัจจุบัน ได้แก่ รัฐมหาราษฎร์ของประเทศอินเดีย
             สายที่ 6 พระมหารักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเอเซ๊ยกลาง ปัจจุบันได้แก่ ดินแดนที่เป็นประเทศอิหร่านและตุรกี
             สายที่ 7 พระมัชฌิมเถระ พร้อมด้วยคณะ คือพระกัสสปโคตรเถระ พระมูลกเทวเถระ พระทุนทภิสสระเถระ และพระเทวเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย สันนิษฐานว่า คือ ประเทศเนปาล
             สายที่ 8 พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันคือ ประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว เขมร เป็นต้น
             สายที่ 9 พระมหินทเถระ (โอรสพระเจ้าอโศกมหาราช) พร้อมด้วยคณะ คือพระอริฏฐเถระ พระอุทริยเถระ พระสัมพลเถระ และพระหัททสารเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป ปัจจุบัน คือประเทศศรีลังกา (เสถียร โพธินันทะ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา(พิมพ์ครั้งที่ 4)กรุงเทพฯ:,มหามกุฏราชวิทยาลัย,2543,หน้า 183)

             นับเป็นพระธรรมทูตที่เดินทางออกนอกชมพูทวีปครั้งแรก ประเทศอาฟกานิสถานในสมัยนั้นสันนิษฐานว่าคือแคว้นคันธาระ ซึ่งมีพระมัชฌันติกเถระเป็นหัวหน้าคณะ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถยนี้มาก่อน
             จากบันทึกของพระถังซำจั๋งหรือหลวงจีนเหี้ยนจังหรือเฮี้ยนจังได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า“แคว้นบามิยันตั้งอยู่ท่ามกลางบริเวณเทือกเขาหิมะ ชาวเมืองก่อสร้างแหล่งชุมชนขึ้นตามลักษณะของภูมิประเทศที่เป็นภูเขา เมืองหลวงของแคว้นสร้างอยู่เหนือหน้าผาสูงและคร่อมหุบเขาลูกหนึ่งยาวประมาณ 6-7ลี้ทางด้านเหนือ ภายในแคว้นมีอารามหลายสิบแห่ง มีพระภิกษุหลายพันรูป ล้วนศึกษานิกายหินยานฝ่ายโลกุตรวาททั้งสิ้น”(ซิว ซูหลุน,ถังซำจั๋ง:จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง,มติชน,2547, หน้า 56)
             นิกายโลกุตตรวาทนั้นมีคติความเชื่อขั้นพื้นฐานว่าโลกธรรมเท่านั้นที่ไร้แก่นสารปราศจากสภาวธรรมอยู่จริง แต่โลกกุตตรธรรมเป็นของจริงเป็นจริงหรือสภาวธรรมทั้งปวงล้วนไม่มีภาวะปรมัตถ์เลย มีอยู่สักแต่ว่าบัญญัติเท่านั้น ส่วนในอนาสวธรรมมีภาวะปรมัตถ์ ส่วนมติอื่นคล้ายกับมหาสังฆิกะ(เสถียร โพธินันทะ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,หน้า 281) 
             ประเทศอาฟกานิสถานในยุคนั้นมีพระพุทธรูปแกะสลักบนผนังภูเขาขนาดใหญ่ดังที่หลวงจีนเฮียนจังบันทึกไว้ว่า “ที่เนินเขาด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงของพามิยานมีพระพุทธรูปจำหลักด้วยศิลาสูง 140-150 เฉียะ(ประมาณ 53 เมตร) สีทองอร่ามประดับด้วยอัญมณีมีค่า ด้านตะวันออกขององค์พระพุทธรูปมีอารามแห่งหนึ่งซึ่งอดีตพระราชาของแคว้นทรงสร้างขึ้น ทางด้านตะวันออกของอารามมีพระปฏิมาของพระศากยมุนีหล่อด้วยทองแดงสูงราว 100 เฉียะ องค์พระปฏิมานั้นหล่อขึ้นเป็นชิ้นส่วนก่อน แล้วจึงมาประกอบเข้าด้วยกัน (หน้า 57)

             นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปปางอื่นอีกเช่นปางไสยาสน์ ดังบันทึกว่า “ในอารามอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองหลวงออกไป 2-3 ลี้ มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ยาวกว่าพันเฉียะ  ทุกครั้งที่พระราชาของแคว้นมากระทำพิธีปัญจบริษัท ก็จะทรงบริจาคทุกสิ่งทุกอย่างแก่พระภิกษุจนหมดสิ้น” หน้า 57)
             พระถังซำจั๋งหรือเฮี้ยนจังเดินทางไปอิเดียและประเทศใกล้เคียงเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกมายังประเทศจีนในปีพุทธศักราช 646 สิ่งที่หลวงจีนได้พบเห็นและบันทึกไว้ในยุคนั้น บางอย่างอาจสูญหายไปแล้ว บางประเทศได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น พระพุทธรูป รูปเคารพ หรือสิ่งที่เป็นที่เคารพของพระพุทธศาสนาถูกทำลายจนไม่เหลือร่องรอย ดังเหตุการณ์ที่พระพุทธรูปแกะสลักก็ถูกทำลายเมื่อเดือนมีนาคม 2544 โดยชาวตาลีบันแห่งอัฟกานิสถานได้ถล่มพระพุทธรูปยืน 2 องค์ ซึ่งสูงกว่า 50 เมตร และมีอายุยาวนานเกือบ 2,000 ปี จนพินาศเป็นธุลี
             ชาวพุทธส่วนหนึ่งไม่สามารถทนอยู่ได้ ดังนั้น เมื่อ 5-6 ปีก่อนหน้านี้ พวกเขาจึงหลบลี้หนีภัยออกจากอัฟกานิสถาน และได้นำพระคัมภีร์โบราณติดตัวไปด้วย ต่อมาคัมภีร์เหล่านี้ได้ตกเป็นสมบัติของมหาเศรษฐีนักสะสมชาวนอร์เวย์ และนักวิชาการโบราณคดีพบว่า พระคัมภีร์เหล่านี้มีอายุถึง 1,400 ปี เป็นหลักฐานเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดของพุทธศาสนา เป็นที่น่าตื่นเต้นยินดียิ่ง
  ในส่วนของคัมภีร์คงเก็บรักษาไว้ตามถ้ำหรือที่เร้นลับอื่นๆทำให้ไม่มีคนพบเห็น คัมภีร์เหล่านี้ต่อมาได้ถูกค้นพบและขายให้กับนักค้าของเก่า และคงมีสัมบัติของพระพุทธศาสนาอีกมากมายที่ถูกเก็บรักษาไว้ในดินแดนที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่เก็บไว้ในฐานะเป็นวัตถุโบราณ เมื่อคัมภีร์มาแสดงที่ประเทศไทยคงต้องหาโอกาสไปคารวะ ได้ข่าว่าจะจัดแสดงจนถึงเดือนกุมภาพันธุ์ 2554 ใครมีเวลาควรไปชมดูสักครั้ง

             ประวัตความเป็นมาของคัมภีร์นี้เชิญศึกษาเพิ่มเติมได้จาก http://www.watprom.iirt.net/article_06.html

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
10/11/53

หมายเหตุ: ภาพประกอบ http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=2569&Itemid=1&limit=1&limitstart=1

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก