มีคนส่งโปสเตอร์โฆษณาการมาปาฐกถาธรรมของท่านติช นัท ฮันห์ มาให้พร้อมทั้งเชิญให้เข้าร่วมฟังการปาฐกถาธรรมครั้งนี้ด้วย ซี่งจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 18-30 ตุลาคม 2553 ตั้งใจว่าหากมีเวลาว่างจะไปร่วมฟังด้วย บางครั้งสิ่งที่อยากฟังอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เราคุ้ยเคยเสมอไป ฟังนักบวชในนิกายเซนพูดอาจจะได้ฟังอะไรบางอย่างที่ไม่เคยฟังก็ได้ ชื่อเสียงของติช นัท ฮันห์ในโลกตะวันตกโด่งดังไม่น้อยไปกว่าองค์ทะไล ลามะแห่งทิเบต
ก่อนจะไปฟังได้พยายามหาหนังสือของติช นัท ฮันห์ มาอ่าน ได้ฉบับแปลภาษาไทยมาเล่มหนึ่งชื่อ “ศานติในเรือนใจ” อ่านเล่นเพลินๆรู้สึกสบายใจ เพราะเนื้อหาไม่หนักจนเกินไป แม้ว่าจะเป็นหนังสือธรรมะที่เขียนโดยนักบวชในนิกายเซน ส่วนมากชาวไทยไม่คุ้นเคย ในบทแรกว่าด้วย “ชีวิตคือปาฎิหาริย์”มีข้อความตอนหนึ่งน่าสนใจว่า “บ้านที่แท้จริงของเรานั้นอยู่ในปัจจุบันขณะ การอยู่ในปัจจุบันขณะเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ไม่ใช่เรื่องการเดินบนผิวน้ำ ปาฏิหาริย์คือการเดินไปบนพื้นดินสีเขียวในปัจจุบันขณะ และพึงพอใจกับความสงบสุขและความสวยงามที่มีอยู่ในขณะนี้ ความสงบสุขนั้นอยู่รอบๆตัวเรา ในโลกนี้และในธรรมชาติ รวมทั้งภายในตัวเราเอง ในร่างกายและวิญญาณของเรา เมื่อใดที่เรารู้จักการเข้าถึงความสงบสุขเช่นนี้เราจะได้รับการเยียวยาและเปลี่ยนแปลง นี้มิใช่เรื่องความศรัทธาแต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ”(ติช นัท ฮันห์ เขียน,ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ แปล,ศานติในเรือนใจ,กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง,2551,หน้า 4)
ติช นัท ฮันห์พูดถึงการภาวนาไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า “การภาวนานั้นไม่ใช่เพื่อหลีกหนีปัญหา หรือหลีกเลี่ยงจากความยุ่งยากต่างๆ เราไม่ได้ปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อที่จะหลีกหนี เราปฏิบัติก็เพื่อให้เข้มแข็งเพียงพอที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่จะทำเช่นนี้ได้เราจะต้องสงบ สดชื่นและมั่นคง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องฝึกฝนศิลปะแห่งการหยุดยั้ง เมื่อเราหยุดได้ เราจะมีความสงบมากขึ้นและจิตใจของเราจะแจ่มใสขึ้นเหมือนกับน้ำที่ใสขึ้นเมื่อโคลนตกตะกอนนอนก้นแล้ว การนั่งเงียบๆแห่งจิตและความแจ่มใส เพราะฉะนั้นจงนั่งให้เหมือนกับภูเขา ไม่มีลมใดๆที่จะพักพาภูเขาให้พังทลายลงมาได้” (ศานติในเรือนใจ,หน้า 19)
พระพุทธศาสนาเถรวาทได้เปรียบภูเขาที่มีความแข็งแร็งไม่หวั่นไหวกับคนที่มีจิตมั่นคงไม่หวั่นไปไปตามคำนินทาและสรรเสริญดังที่ปรากฎในปัณฑิตวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท (25/16/18)ความว่า “ภูเขาหินล้วนเป็นแท่งทึบย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น”พุทธภาษิตนี้น่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่ติช นัท ฮันห์ กล่าวถึง ผู้ที่มีจิตใจหนักแน่นมั่นคงประดุจขุนเขาหาได้ยาก การที่จะทำให้จิตใจเข้มแข็งได้ก็ต้องมาจากการฝึกฝนหรือที่เรียกว่าภาวนานั่นเอง
ตามประวัติย่อๆระบุไว้ว่า "ติช นัท ฮันห์เกิดในปี พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดกวงสี ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ท่านมีชื่อเดิมว่า เหงียน ซวน เบ๋า (Nguyen Xuan Bao) "ติช นัท ฮันห์"เป็นฉายา เมื่อท่านได้รับ การอุปสมบทแล้ว คำว่า"ติช"ในเวียดนามใช้เรียกพระ มีความหมายว่า เป็นผู้สืบทอด พุทธศาสนา ส่วน "นัท ฮันห์"เป็นนามทางธรรมของท่าน มีความหมายว่า "การกระทำเพียงหนึ่ง" (One Action) หมู่ศิษย์ในทางตะวันตก เรียกท่านว่า "Thay" (ไถ่) ซึ่งในภาษาเวียดนามมีความหมายว่า "ท่านอาจารย์"
ในปี พ.ศ. 2492 ติช นัท ฮันห์ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ 23 ปี ท่านได้เดินทางไปไซ่ง่อน เพื่อช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนา และเขียนบทความ ซึ่งถูกต่อต้าน อย่างมาก จากผู้นำองค์กรชาวพุทธและจากรัฐบาล ในปี พ.ศ. 2505 เมื่อท่านได้รับ การเสนอทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ จึงเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
ท่านตระหนักว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการการต่อสู้เพื่อสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือหยุดการสนับสนุนสงคราม และมุ่งเน้น สันติภาพ โดยปลุกจิตสำนึกต่อคนทั่วโลก จน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ( Martin Luther King, Jr.) เสนอนาม ติช นัท ฮันห์ เพื่อรางวัลโนเบล เพื่อสันติภาพ การทำงานเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลเวียดนามใต้ ปฏิเสธการกลับประเทศของท่าน จนแม้รวมประเทศแล้วก็ตาม ท่านจึงลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ในประเทศฝรั่งเศส โดยสอนประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเวียดนาม ที่มหาวิทยาลัย และสร้างอาศรมแห่งหนึ่ง นอกเมืองปารีส เพื่อเขียนหนังสือและปลูกพืชผักสมุนไพร ซึ่งท่านติดต่อลับๆ กับพระภิกษุที่ถูกจำคุก ในเวียดนาม เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ระหว่างนั้นท่านยังคงทำงาน เพื่อสันติภาพและผู้ลี้ภัย จากประสบการณ์ของท่านที่ได้พบเห็นชะตากรรม ของผู้ลี้ภัยด้วยตนเองจนสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อีกมาก
ในปี พ.ศ. 2525 เมื่อผู้มาปฏิบัติธรรมที่อาศรมของท่านทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่านจึงเริ่มก่อตั้งชุมชนแห่งใหม่ ทางตะวันตกเฉียงใต้ ของฝรั่งเศส ให้ชื่อว่าหมู่บ้านพลัม (Plum Village) ซึ่งถือเป็นบ้านของท่านจนทุกวันนี้ ปัจจุบันท่าน ติช นัท ฮันห์ ยังคงพำนักอยู่ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส และยังเดินทางไปนำการภาวนาในประเทศต่างๆ ท่านเป็นชาวเวียดนาม ที่เป็นพระมหาเถระ ในพุทธศาสนา และมีอุดมการณ์แห่งพระโพธิสัตว์อันเป็นพระที่เลื่อมใส แห่งสากลโลกเป็นอย่างยิ่ง (ข้อมูลจากwww.dmc.tv/forum/index.php?showtopic=12477) สามารถอ่านและศึกษาเพิ่มเติมได้
การเปิดปาฐกถาธรรมของท่านิช นัท ฮันห์ในประเทศไทยกำหนดการปาฐกถาครั้งแรกเรื่อง “ปาฏิหาริย์แห่งปัจจุบันขณะ” ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 17.00 นาฬิกาเป็นต้นไป นอกจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีอีกหลายแห่งเช่น 23 ตุลาคม 2553 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย อยุธยา วันที่ 24-28 ตุลาคม 2553 ที่วังรีรีสอร์ท นครนายก ส่วนผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมสอบถามและดูรายละเอียดได้ที่ www.thaiplumvillage.org คลิ๊กเข้าไปแล้วได้ยินเสียงระฆังดังกังวานก็อย่าพึ่งตกใจ
กิจกรรมการปฏิบัติธรรมแม้จะเป็นพระในนิกายเซน ที่พุทธศาสนิกไทยไม่ค่อยคุ้นเคย แต่ก็เป็นพระพุทธศาสนาเหมือนกัน พระพุทธศาสนาแม้จะมีหลายนิกาย มีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็เป็นเหมือนเอกภาพบนความแตกต่าง และทุกนิกายมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือสันติสุขและความหลุดพ้นคือนิพพานนั่นเอง เมื่อจิตสงบใจเปิดกว้างก็จะมองเห็นทุกอย่างได้อย่างไม่จำกัดด้วยเงื่อนไขของกำแพงแห่งนิกายใดๆ พร้อมที่จะฟังและศึกษาด้วยจิตใจที่เป็นกลาง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/10/53