ช่วงนี้อยู่ในเทศกาลถือศีลกินเจ โดยงดเนื้อสัตว์ทุกชนิดนัยว่าผู้ที่กินเจจะทำให้มีจิตบริสุทธิ์ เพราะได้งดเว้นจากการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ แนวความคิดเรื่องการกินเจมีมาจากหลายแห่ง ในส่วนของพระพุทธศาสนานิกายฝ่ายมหายานจะงดเนื้อสัตว์และกินเจตลอดชีวิต ส่วนพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทถือว่าการกินเจเป็นเพียงสมมุติบัญญัติ คนจะบริสุทธิ์หรือไม่อยู่ที่การกระทำ ชีวิตพระอยู่ได้เพราะชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านอยู่กินอย่างไรก็ให้อนุวัตรตามชาวบ้าน
คำว่า “เจ”ในภาษาจีนทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความหมายเดียวกับคำว่า “อุโบสถ” การกินเจจึงหมายถึงการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวันเหมือนกับการรักษาอุโบสถศีลหรือศีลแปดของพุทธศาสนิกชนไทย แต่เนื่องจากเป็นการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกับคำว่า “กินเจ”จนกลายเป็น “การถือศีลกินเจ” ปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้งสามมื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ (หนังสือพิมพ์แทรเวลเลอร์, 1-15 ตุลาคม 2553)
ในหนังสือฉบับเดียวกันยังบอกถึงจุดประสงค์ของการกินเจไว้ว่า “กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันจะทำให้ร่างกายปรับตัวอยู่ในสภาพสมดุล สามารถขับพิษต่างๆออกจากร่างกายได้ การกินเจจึงเริ่มด้วยการกินด้วยจิตเมตตา ผู้มีเมตตาธรรมในจิตใจย่อมไม่อาจกินเนื้อสัตว์ซึ่งมีเลือดเนื้อ มีจิตใจและมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับมนุษย์"
อีกอย่างหนึ่งการกินเจเพื่อเว้นกรรม การกินซึ่งอาศัยการฆ่าหรือจ้างฆ่าถือว่าเป็นการสร้างกรรม ทำให้สุขภาพร่างกายและอายุสั้นลงตามผลกรรมที่กระทำ คนที่ชอบเบียดเบียนและฆ่าสัตว์มักจะมีอายุสั้น วัตถุประสงค์ของการกินเจในเทศกาลกินเจจึงเริ่มต้นด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา หากใครมีเวลามีโอกาสไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา แต่คนที่เลือกไม่ได้เพราะไม่ค่อยจะมีอะไรกินก็ต้องกินตามที่มี
พระพุทธศาสนาทางฝ่ายมหายานและเถรวาทมีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับการตีความว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นมัสวิรัติ ทรงงดเนื้อสัตว์ตลอดพระชนมายุ แต่นิกายฝ่ายเถรวาทก็ยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงฉันอาหารตามที่มีคนถวายโดยไม่ทรงเลือกว่าจะเป็นเนื้อสัตว์หรือเป็นอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง
เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นทางวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนามานาน ที่มหาวิทยาลัยในอินเดียบางแห่งถึงกับยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักในการบรรยาย โดยศึกษาหลักฐานจากคัมภีร์ต่างๆเท่าที่จะหาได้ พระสงฆ์ไทย พม่า ศรีลังกา ทิเบตอยู่ในฝ่ายที่ฉันเนื้อได้ ส่วนพระสงฆ์จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียตนาม อยู่ในฝ่ายที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์ เมื่อยกประเด็นนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่มักจะเถียงกันอย่างเอาจริงเอาจังมาก ส่วนมากมักจะไม่ได้บทสรุปที่ชัดเจน เพราะสุ่มเสี่ยงต่อความเป็นอยู่ของแต่ละฝ่าย
เมื่อค้นคว้าจากพระไตรปิฎกจะพบว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าปรินิพพานมาจากการฉันอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสุกรอ่อน ภาษาบาลีว่า “สูกรมทฺทว”ภาษาในพระไตรปิฎกแปลตามตัวว่า "เนื้อสุกรอ่อน" ดังที่ปรากฎในจุนทสูตร สุตตนิปาต (25/162/145) ความว่า เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกรรมมารบุตร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ แล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูลาดถวาย ครั้นแล้วตรัสกะนายจุนทกรรมมารบุตรว่า ดูกรจุนทะ เนื้อสุกรอ่อนอันใดท่านได้ตกแต่งไว้ ท่านจงอังคาสเราด้วยเนื้อสุกรอ่อนนั้น ส่วนขาทนียโภชนียาหารอื่นใดท่านได้ตกแต่งไว้ ท่านจงอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยขาทนียโภชนียาหารนั้นเถิด นายจุนทกรรมมารบุตรทูลรับพระผู้มีพระภาค แล้วอังคาสพระผู้มีพระภาคด้วยเนื้อสุกรอ่อนที่ได้ตกแต่งไว้ และอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยขาทนียโภชนียาหารอย่างอื่นที่ได้ตกแต่งไว้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะนายจุนทกรรมมารบุตรว่า ดูกรจุนทะท่านจงฝังเนื้อสุกรอ่อนที่เหลืออยู่นั้นเสียในบ่อ เราไม่เห็นบุคคลผู้บริโภคเนื้อสุกรอ่อนนั้นแล้วพึงให้ย่อยไปโดยชอบ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ นอกจากตถาคต นายจุนทกรรมมารบุตรทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฝังเนื้อสุกรอ่อนที่ยังเหลือเสียในบ่อแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายจุนทกรรมมารบุตรเห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา เสด็จลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป”
นายจุนทกรรมมารบุตรมีอาชีพเป็นนายช่างทอง ได้ถวายเนื้อสุกรอ่อนแด่พระพุทธเจ้า แต่มติฝ่ายมหายานตีความคำว่า “สูกรมทฺทว” ว่าหมายถึงเห็ดชนิดหนึ่ง ที่อาจเป็นสิ่งที่แสลงต่อโรคของพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ต้องการรักษาศรัทธาของนายจุนทะไว้จึงได้ฉันอาหารนั้นๆทั้งๆที่รู้ว่าอาหารนั้นเป็นพิษ แต่การตีความว่า “สูกรมัททวะ” หมายถึงเห็ดชนิดหนึ่งนั้นเรื่องนี้ก็มีเหตุผล ชาวฮินดูที่เคร่งครัดจะไม่กินเนื้อสัตว์ แม้ปัจจุบันนักบวชต่างๆในอินเดียก็ไม่ฉันเนื้อสัตว์ จะดำรงชีวิตด้วยการเป็นนักมังสวิรัติตลอดชีวิต ดังนั้นคนอินเดียเมื่อเห็นพระสงฆ์ไทยฉันเนื้อสัตว์จึงค่อนข้างจะตำหนิติเตียน บางวัดต้องฉันเจไปโดยปริยาย แม้แต่พระนักศึกษาส่วนมากก็ต้องฉันเฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น ไม่ให้พวกนักบวชในลัทธิศาสนาอื่นๆเห็น
ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค(10/117 /65)ไม่ได้แปลคำว่า “สูกรมัททวะ” ไว้แต่ใช้ทับศัพท์ว่าสุกรมัททวะดังคำว่า “นายจุนทกัมมารบุตรให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต และสุกรมัททวะเป็นอันมากในนิเวศน์ของตน โดยล่วงราตรีนั้นไป ให้กราบทูลกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว”
พระอรรถกถาจารย์ได้ประพันธ์เป็นคาถาไว้ถึงตอนที่พระพุทธเจ้าพอฉันอาหารของนายจุนทะแล้วก็เกิดประชวรอย่างหนักดังที่แสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร (10/118/65)ว่า “ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระปรีชาเสวย ภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ทรงพระประชวรอย่างหนัก ใกล้จะนิพพานเมื่อพระศาสดาเสวยสุกรมัททวะแล้ว การประชวรอย่างหนักได้บังเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคลงพระบังคน ได้ตรัสว่าเราจะไปยังเมืองกุสินารา” (คาถาเหล่านี้ พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ในเวลาทำสังคายนา)
ส่วนข้อความในจุนทสูตรยังบรรยายต่อไปว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเสวยภัตของนายจุนทกรรมมารบุตรแล้ว เกิดอาพาธกล้า เวทนากล้า มีการลงพระโลหิต ใกล้ต่อนิพพานได้ยินว่า ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นไม่ทุรนทุราย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า มาเถิดอานนท์ เราจักไปเมืองกุสินารา”สรุปว่าพระพุทธเจ้าทรงประชวรเพราะฉันสุกรมัททวะหรือเนื้อสุกรอ่อน และต่อมาอีกไม่นานก็ได้ดับขันธปรินิพพาน
จากหลักฐานที่ปรากฎในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทเป็นที่ยืนยันว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ คือภิกษุต้องเป็นผู้ที่อยู่ง่ายกินง่ายโดยอนุโลมตามชาวบ้านตามที่พวกเขาเป็นอยู่ ชาวบ้านกินอะไรก็ต้องฉันตามที่ชาวบ้านเขามี ส่วนหลักฐานทางฝ่ายมหายานนั้นนักบวชต้องเป็นมังสวิรัติตลอดชีวิต แต่ทว่ายังหาหลักฐานพระไตรปิฎกของฝ่ายมหายานไม่ได้
ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงถวาย ดังที่ปรากฎในวินัยปิฎก มหาวรรค (5/80/85) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำจำเพาะ รูปใดฉันต้องอาบัติทุกกฏ เรา(ตถาคต)อนุญาต ปลา เนื้อ ที่บริสุทธิ์โดยส่วนสามคือไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ”จากพระไตรปิฎกสำหรับฝ่ายเถรวาทก็ต้องบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์เลย แต่ต้องไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อถวายภิกษุโดยตรง
แต่มีข้อห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์สิบประเภทในวินัยปิฎก มหาวรรค (5/60/58) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว รูปใดฉันต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่งภิกษุยังมิได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ” แม้การฉันเนื้อก็ต้องพิจารณาท่านอุปมาว่าเหมือนมารดาที่จะต้องรับประทานเนื้อบุตรเพื่อรักษาชีวิตรอด
ในช่วงการถือศีลกินเจซึ่งอยู่ระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำถึง 9 ค่ำเดือน 9 ของทุกปี ใครมีโอกาสที่พอจะทำได้ก็ควรทำ หากไม่สะดวกที่จะทำก็ไม่เป็นไร แต่การปฏิบัติที่สำคัญในช่วงนี้คือรักษาศีลห้า รักษาจิตให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้คงที่ และทำบุญทำทานตามสมควร ในช่วงหนึ่งปีมีเวลาถือศีลกินเจสักครั้งก็ถือได้ว่าเป็นการสร้างบุญบารมีอย่างหนึ่ง ปกติชาวพุทธที่สนใจในการทำบุญจะรักษาอุโบสถศีลวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง เดือนละสี่วันอยู่แล้ว แต่นี่ได้รักษาศีลอุโบสถตั้งเก้าวันติดต่อกันยิ่งจะทำให้มีจิตใจที่มีศีลธรรมมากขึ้น การถือศีลกินเจ เว้นจากการเข่นฆ่าล้างผลาญชีวิตคนอื่น ย่อมมีจิตประกอบด้วยเมตตาธรรม ซึ่งเมตตาจะนำพาไปสู่สันติสุขได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
10/10/53