ความเศร้าโศกของการสูญเสียคนที่เรารักมีให้เห็นทั่วไป ในการจัดงานศพแต่ละครั้งจะมีญาติพี่น้องร้องให้อาลัยคนรักที่จากไป บางครั้งแม้ว่าคนๆนั้นตอนมีชีวิตอยู่จะไม่ได้ให้ความรักอย่างเต็มที่เลยก็ตาม แต่พอต้องสูญเสียคนที่รักหรือสิ่งที่เรารักไปจึงเห็นคุณค่าของความรัก เรื่องของความรักมักจะมาพร้อมกับความทุกข์และความโศกเศร้าเสมอ ความโศกเศร้าส่วนหนึ่งมักจะมาจากการที่คนเราทุ่มเทความรักให้จนหมดหัวใจหรืออาจจะเรียกได้ว่าแบกรักไว้เต็มหัวใจ เวลาสูญเสียจึงเศร้าโศกมาก เมื่อรักมากก็โศกมาก แต่ถ้าหากใครไม่มีความรักคนนั้นก็อาจถูกเรียกว่าคนตายด้านในความรัก วันนี้วันธรรมสวนะเชิญฟังธรรมบรรยาย “ฐานสูตร” ตอนท้ายเรื่อง
ความรักเป็นเรื่องธรรมชาติอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมชาติสี่ประการไว้ในอังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/200/202) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติสี่ประการนี้ย่อมเกิดขึ้นคือ(1)ความรักย่อมเกิดเพราะความรัก (2)โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก (3)ความรักย่อมเกิดเพราะโทสะ (4) โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะ
จากนั้นก็ได้ขยายความว่า “ความรักย่อมเกิดเพราะความรักนั้นได้แก่บุคคลในโลกนี้เป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ มาประพฤติต่อบุคคลที่รักนั้น ด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่าคนอื่นมาประพฤติต่อบุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของเรา ด้วยอาการอันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ เขาย่อมเกิดความรักในคนเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรักย่อมเกิดเพราะความรักอย่างนี้แล”สรุปสั้นๆว่าเมื่อมีคนมารักคนที่เรารักก็จะกลายเป็นความรักคนที่มารักด้วย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โทสะย่อมเกิดเพราะความรักนั้นคือบุคคลในโลก นี้เป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของบุคคล คนอื่นมาประพฤติต่อบุคคลนั้นด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ บุคคลนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นมาประพฤติต่อบุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของเราด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เขาย่อมเกิดโทสะในคนเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก อย่างนี้แล” สรุปสั้นๆว่าเมื่อมีคนโกรธคนที่เรารักก็จะกลายเป็นความโกรธคนที่มาโกรธไปด้วย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความรักย่อมเกิดเพราะโทสะนั้นคือบุคคลในโลกนี้ไม่เป็นที่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ มาประพฤติต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ บุคคลนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ มาประพฤติต่อบุคคลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของเรา ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจเขาย่อมเกิดความรักใคร่ในคนเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรักย่อมเกิดเพราะโทสะอย่างนี้แล”สรุปสั้นๆว่าเมื่อมีคนมาร่วมโกรธคนที่เราโกรธ จะกลายเป็นพวกเดียวกัน เรียกว่ารักเกิดจากความโกรธ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุสงัดจากกาม ฯลฯ เข้าปฐมฌานอยู่ สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้โทสะที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้โทสะที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายสมัยใด ภิกษุเข้าทุติยฌาน ฯลฯ ตติยฌาน ฯลฯ จตุตถฌาน สมัยนั้นแม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้โทสะที่บังเกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้โทสะที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น” วิธีปฏิบัติต่อความรักมิใช่เรื่องง่าย นัยว่าต้องอยู่ในระดับฌานสมาบัติจึงจะบรรเทาความรักความหลงลงได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก เป็นธรรมชาติอันภิกษุนั้นละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่ให้มี ไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา แม้โทสะที่เกิดเพราะความรัก...แม้ความรักที่เกิดเพราะโทสะ...แม้โทสะที่เกิดเพราะโทสะ เป็นธรรมชาติอันภิกษุนั้นละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้วทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่ให้มี ไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุนี้เราเรียกว่า ไม่ยึดถือ ไม่โต้ตอบ ไม่บังหวนควัน ไม่ลุกโพลง ไม่ถูกไฟไหม้” พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะไม่โศกเพราะความรักความชัง ดังนั้นการที่คนทั้งโลกเศร้าโศกเพราะรักจึงเป็นเรื่องธรรมดา
พระพุทธเจ้าได้แสดงถึงสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายควรพิจารณาเนืองๆไว้ในในฐานสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/57/62) ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะห้าประการนี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆคือ(1) สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ (2) เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ (3)เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ (4) เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น (5) เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ ความรักใคร่ในของรักมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความพอใจ ความรักใคร่นั้นได้โดยสิ้นเชิงหรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป เมื่อมีสิ่งที่รัก หากสิ่งนั้นต้องมีอันพลัดพรากจากเราไปก็ย่อมจะเกิดความเศร้าโศกเป็นธรรมดา
ความโศกเศร้า ดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท25/26/30ว่า ความโศกย่อมเกิดแต่ของที่รัก ภัยย่อมเกิดแต่ของที่รัก ความโศกและภัยย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากของที่รัก ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษ แล้ว จากความรัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน”
แม้ว่าความรักจะทำให้โลกนี้น่าอยู่น่าอภิรมย์ แต่ในทางกลับกับเจ้าความรักก็ทำให้คนที่หลงไหลในความรักมีความเศร้าโศกเสียใจได้ไม่แพ้กัน หากรักแต่พอดีก็ไม่มีความโศก ยิ่งหักรักตัดหลงในสงสารได้ก็ยิ่งจะทำให้มีความสุขอันยอดเยี่ยม
วันนี้พระธรรมสวนะขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ขอเชิญฟังการบรรยายธรรม “ฐานสูตร” โดยพระเทพดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร
ธรรมบรรยาย "ฐานสูตร" โดยพระเทพดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร
{mp3}thanasutra{/mp3}
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/09/53