พระเวสสันดรแม้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งผู้บริจาคทาน แต่อีกนัยหนึ่งก็มีคนอีกบางกลุ่มมองว่าพระเวสสันดรไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว เพราะบริจาคลูกทั้งสองคือกัณหาและชาลีให้แก่พราหมณ์ชูชก และยังยกภรรยาคือนางมัทรีให้เป็นทานแก่พราหมณ์คนหนึ่งนัยว่าเป็นท้าวสักกะที่ปลอมตัวมาขอ คนประเภทไหนกันที่กล้ายกลูกยกเมียให้เป็นทานแก่คนอื่น
ในอปัณณกสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ได้กล่าวถึงบุคคลไว้สี่ประเภท (13/122/94) ความว่า “ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลสี่จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลกคือ
1.บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน
2.บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
3.บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อนและประกอบการขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
4.บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อนและไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน
พระเวสสันดรน่าจะเป็นบุคคลประเภทสุดท้าย แต่การกระทำดูเหมือนว่าจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เพราะในตอนนั้นได้ถือเพศเป็นนักบวชแล้ว จึงมีความเป็นอยู่เหมือนกับพรหม นางมัทรีก็เป็นนักบวช ลูกทั้งสองก็เป็นนักบวชด้วย จึงกล้ายกลูกให้เป็นทานแก่ชูชก หากยังเป็นผู้ครองเรือนทั่วไปคงทำไม่ได้
ชูชกเป็นผู้ชำนาญศาสตร์แห่งการขอ เอ่ยปากขอกับใครจะได้ทุกครั้ง เมื่อชูชกเอ่ยปากขอกัณหาชาลีกับพระเวสสันดรก็ได้เอ่ยวาจาที่น่าฟังว่า (28/1162/286) “ห้วงน้ำในปัญจมหานที เต็มเปี่ยมตลอดเวลาไม่เหือดแห้งฉันใด พระองค์มีพระหฤทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาฉันนั้น เกล้ากระหม่อมฉันกราบทูลขอแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานสองปิโยรสแก่ข้าพระองค์เถิด” ข้อความตอนนี้เป็นที่มาของคำว่ายกแม่น้ำทั้งห้า หากจะขอสิ่งของใดจากคนอื่นต้องยกแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาสาธก ปัจจุบันมีผู้นำคุณลักษณะของชูชกมาสร้างเป็นเครื่องรางของขลัง นัยว่าผู้ใดมีไว้บูชาจะทำให้เป็นผู้ทำมาค้าขายดี
ในตอนแรกด้วยความรักบุตรธิดาพระเวสสันดรแม้จะยกให้แต่ก็ยังหวังว่าเมื่อนางมัทรีกลับมาจะได้เห็นหน้าลูก อาจจะทำให้พราหมณ์เปลี่ยนใจได้ ดังความว่า (28/1163/286) "ดูกรพราหมณ์ เรายอมให้ มิได้หวั่นไหว ท่านจงเป็นใหญ่พาเอาลูกทั้งสองของเราไปเถิด พระราชบุตรีมารดาของลูกทั้งสองนี้ เสด็จไปป่าแต่เช้าเพื่อแสวงหาผลไม้ จักกลับจากการแสวงหาผลไม้ในเวลาเย็น เชิญท่านพักอยู่ราตรีหนึ่ง แล้วจึงไปในเวลาเช้า ท่านจงพาเอาลูกรักทั้งสอง อันประดับด้วยดอกไม้ต่างๆตกแต่งด้วยของหอมนานา พร้อมด้วยมูลมันและผลไม้หลายชนิดไปเถิด” แต่ชูชกพราหมณ์เข้าใจหัวอกของแม่จึงไม่รับคำเชิญ
กัณหาชาลีเมื่อได้ยินคำที่พ่อยกให้เป็นทานแก่พราหมณ์ก็ไม่ยินยอมพร้อมใจวิ่งหนีไปหลบอยู่ในสระน้ำจนพระเวสสันดรต้องตามไปและปลอบประโลมความว่า (28/1170/287) “ดูกรพ่อชาลีลูกรัก มานี่เถิด ลูกทั้งสองจงยังบารมีของพ่อให้เต็ม จงช่วยโสรจสรงหทัยของพ่อให้เย็นฉ่ำ จงทำตามคำของพ่อ ขอเจ้าทั้งสองจงเป็นดังยานนาวาของพ่ออันไม่หวั่นไหวในสาครคือภพ พ่อจักข้ามซึ่งฝั่งคือชาติ จักยังสัตว์โลกพร้อมทั้งทวยเทพให้ข้ามด้วย ดูกรลูกกัณหามานี่เถิด เจ้าเป็นธิดาที่รัก ทานบารมีก็เป็นที่รักของพ่อ จงช่วยโสรจทรงหทัยของพ่อให้เย็นฉ่ำ ขอจงทำตามคำของพ่อ ขอเจ้าทั้งสองจงเป็นยานนาวาของพ่อ อันไม่หวั่นไหวในสาครคือภพ พ่อจักข้ามซึ่งฝั่งคือชาติจักช่วยสัตว์โลกพร้อมทั้งทวยเทพให้ข้ามด้วย” คำขอของพ่อสำเร็จลูกทั้งสองจึงยอมกระทำตามแต่โดยดี เพราะปรารถนาอยากช่วยพ่อให้ได้บำเพ็ญทานบารมีอย่างสมบูรณ์
การบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรจะสมบูรณ์ไม่ได้หากไม่บริจาคภรรยาและลูก เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่คนทุกคนรักและหวงแหนที่สุด แต่เพราะมองเห็นการณ์ข้างหน้าจึงต้องตัดสินใจกระทำลงไป เป็นสิ่งที่คนธรรมดาสามัญกระทำได้ยากอย่างยิ่ง ดังนั้นการบริจาคเมียและลูกของพระเวสสันดรจึงมิใช่การเห็นแก่ตัว แต่เป็นการสร้างบารมีให้เต็ม
ข้อปฏิบัติที่สัตบุรุษทั้งหลายในอดีตวางเป็นแบบไว้หรือกล่าวสรรเสริญไว้หรือความดีที่คนดียอมรับกันมีแสดงไว้ในปัณฑิตสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต (20/484/143)ความว่า “ธรรมสามประการนี้ บัณฑิตได้บัญญัติไว้ สัตบุรุษได้บัญญัติไว้ คือ(1)ทาน คือการให้ปัน สละของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น (2) ปัพพัชชาคือการถือบวช เว้นการเบียดเบียน ดำรงในธรรม คือ อหิงสา สัญญมะ และทมะ อันเป็นอุบายให้ไม่เบียดเบียนกัน และอยู่ร่วมกันด้วยความสุข (3) มาตาปิตุอุปัฏฐานหมายถึงการบำรุงมารดาบิดา ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข ทาน การไม่เบียดเบียน ความสำรวม การฝึกตน การบำรุงมารดาและบิดา สัตบุรุษบัญญัติไว้ เหตุที่บัณฑิตเสพ เป็นเหตุของสัตบุรุษ ผู้เป็นคนดี เป็นพรหมจารีบุคคล ผู้ที่เป็นอริยสมบูรณ์ด้วยทัศนะย่อมคบโลกอันเกษม
พระเวสันดรได้ดำเนินตามข้อปฏิบัติของสัตบุรุษ คนดีทั้งหลายจึงยกย่อง แต่การบำเพ็ญทานของพระเวสสันดรเป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำได้ยาก ดังนั้นเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดกจึงเป็นที่นิยมฟังของชาวพุทธทั่วไป ความดีใดที่ตนเองทำไม่ได้ แต่มีคนอื่นทำได้ผู้กระทำความดีนั้นก็ควรได้รับการยกย่องดังกรณีของพระเวสสันดร จนมีคนนำมาเปรียบเทียบกับคนใจบุญว่า “ใจบุญเหมือนพระเวสสันดร” หากอยากให้คนดียอมรับนับถือก็ต้องถือปฏิบัติตามหลักการที่คนดีทั้งหลายยอมรับกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/08/53