คืนวันอาทิตย์พระเทพโมลี วัดราชผาติการาม เจ้าคณะเขตดุสิต พระราชญาณปรีชา วัดราชาธิวาสวิหาร เจ้าคณะแขวงวชิรพยาบาลพร้อมพระภิกษุอีกหลายรูปได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรพร้อมทั้งได้ร่วมทำวัตรสวดมนต์กับพระภิกษุสามเณรวัดมัชฌันติการาม การมาเยือนวัดต่างๆในเขตปกครองถือเป็นธรรมเนียมประเพณีของเจ้าคณะเขตดุสิตที่จะต้องเดินทางมาทุกปี ได้พบปะสนทนากับพระภิกษุสามเณรอย่างใกล้ชิด และให้แนวทางในการปฏิบัติ
พระเทพโมลีได้ให้โอวาทและแนวทางในการปฏิบัติสรุปว่า “ศาสนาจะอยู่ได้เพราะพระภิกษุสามเณรใส่ใจในปริยัติและเคร่งครัดในการปฏิบัติ ทั้งสองอย่างจะต้องไปด้วยกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่สมบูรณ์ การอยู่ร่วมกันย่อมจะมีความเห็นขัดแย้ง มีความคิดเห็นแตกต่างกันบ้าง แต่หลักการอยู่ร่วมกันที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในสาราณิยธรรมประกอบด้วยคิด พูด ทำด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีอะไรก็แบ่งปันกันมีน้อยใช้น้อย เรียกว่ามีทุกข์ร่วมต้าน มีสุขร่วมเสพ ต้องปรับความคิดเห็นให้สอดคล้องกันเรียกว่ามีความเห็นเสมอกัน และสุดท้ายคือต้องมีข้อปฏิบัติหรือศีลเสมอกันจึงจะทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้
โลกปัจจุบันเจริญขึ้นมาก พระสงฆ์ก็อยู่ในโลกจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างให้สอดคล้องกับสังคมเช่นโทรศัพท์มือถือก็มีความจำเป็นต้องใช้ในการติดต่อสื่อสาร ประสานงานให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายได้สะดวกรวดเร็ว แต่การใช้ต้องระวังไม่ใช้นอกเหนือขอบเขตของธรรมวินัย ต้องใช้ให้เป็น ต้องรู้กาลเทศะ เวลาไหนควรใช้ไม่ควรใช้ บางรูปยืนพูดโทรศัพท์บนรถเมล์อย่างนี้ก็ไม่เหมาะไม่ควร
หากมีปัญหาเกิดขึ้นในวัดใดต้องช่วยกันแก้ไข เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดูแลพระภิกษุสามเณรให้อยู่ในกรอบแห่งพระธรรมวินัย อย่าให้มีบัตรสนเท่ห์เกิดขึ้น มีอะไรให้พูดกันต่อหน้าอย่านินทาลับหลัง บางเรื่องสามารถแก้ไขได้เพียงแค่เดินไปหากันแล้วพูดกันก็เข้าใจกันแล้ว ไม่ควรปล่อยให้เรื่องไม่เป็นเรื่องมาทำลายความเข้าใจอันดีของหมู่คณะ”
พระราชญาณปรีชาให้โอวาทสรุปได้ว่า “ต้องอธิบายให้ได้ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งที่เราทำแล้วต้องสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจด้วย เพราะดูเหมือนยิ่งโลกเจริญขึ้นเท่าใด ก็หล่อแหลมต่อธรรมวินัยมากยิ่งขึ้น บางอย่างไม่มีในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ เช่นรถยนตร์ในสมัยนั้นไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ได้อนุญาตการขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง ดังนั้นการขับรถเองแม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในพระวินัยแต่หากพระขับรถเองก็ไม่เหมาะสมเป็นต้น การพูดจากันอย่างเปิดเผยจะเป็นทางหนึ่งในการที่ทำให้พระสงฆ์เข้าใจกัน
หากเกิดสงสัยในหลักของพระธรรมวินัยให้นำหลักมหาปเทศซึ่งมีพระพุทธานุญาตเรื่องมหาประเทศไว้ในวินัยปิฎก มหาวรรค(วิ.มหา.5/92/105) ครั้งหนึ่งภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่าสิ่งใดหนอพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งไรไม่ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย
2. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย
3. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย
4. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย
พระพุทธศาสนามีหลักในการตัดสินอยู่แล้วว่าสิ่งไหนควรทำสิ่งไหนไม่ควรทำ ต้องนำหลักมหาปเทศที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วมาใช้ พระพุทธเจ้าคงเล็งเห็นแล้วว่าในอนาคตจะต้องมีปัญหาที่บางอย่างไม่ได้บัญญัติไว้ในธรรมวินัย พระสงฆ์ควรปฏิบัติได้หรือไม่ ดังนั้นจึงได้แสดงหลักการนี้ไว้
หากพวกเราอยู่กันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน ปัญหาก็ไม่มีหรือมีก็น้อยสามารถที่จะแก้ไขได้ ปัญหาส่วนตัวไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยต้องสอบถามจากท่านผู้รู้หลายๆฝ่ายอย่าพึ่งด่วนตัดสินใจ เพราะปัญหาบางอย่างอาจมีการผูกปมซ่อนเงื่อนมากกว่าที่เราคิดก็ได้
เจ้าคณะเขตและเจ้าคณะแขวงใช้เรียกเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร หากเป็นวัดในต่างจังหวัดก็คือเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบล การปกครองคณะสงฆ์จะดูแลกันตามลำดับคือเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ และสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เจ้าคณะแต่ละรูปจะมีวิธีการสอดส่องดูแลสารทุกข์สุกดิบของพระภิกษุสามเณรในเขตปกครองของตนเอง เจ้าคณะเขตดุสิตและเจ้าคณะแขวงวชิรพยาบาลมีวิธีของท่านคือมาร่วมทำวัตรสวดมนต์และรับฟังความคิดเห็นของพระภิกษุสามเณรในแต่ละวัดทุกปีจนกลายเป็นธรรมเนียม
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รายงาน
30/08/53