เคยฟังเพลงน้ำท่วมไหมครับ เพลงนี้เคยโด่งดังนานมาแล้วร้องโดยศรคีรี ศรีประจวบ คนเมืองประจวบคีรีขันธ์ ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “น้ำท่วมน้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้งปล่อยฝนแล้งเสียยังดีกว่า..... จำได้แค่นั้นแหละต่อไปก็คิดไม่ออกแล้ว ถ้าขืนคิดออกเดี๋ยวก็เผลอร้องจนจบ พระรูปอื่นได้ยินเดี๋ยวก็ปรับอาบัติเท่านั้น ที่น่าสนใจคือว่าแม้เพลงนี้จะผ่านมานานกว่าห้าสิบปีแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์น้ำท่วมก็ยังคงวนเวียนมาให้เห็นทุกปี แม้ประจวบคีรีขันธ์น้ำจะไม่ท่วมแล้ว แต่ในพื้นที่อื่นๆก็ยังประสบปัญหาน้ำท่วมให้เห็นเป็นข่าวในช่วงหน้าฝนอยู่เป็นประจำ
ครั้งหนึ่งมีข่าวว่าพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีบางส่วนลงไปจะเกิดน้ำท่วมและจมหายไปในทะเล พื้นดินจะไม่เหลือเพราะถูกน้ำท่วม ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้ทะเลพากันหาพื้นที่เพื่อตั้งหลักแหล่งใหม่ที่ซึ่งน้ำจะท่วมไปไม่ถึง ในจังหวัดทางภาคเหนือและอีสานมีคนเที่ยวซื้อที่ดินเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการเก็งราคาจากพื้นที่ที่ไม่มีคนสนใจก็กลับกลายเป็นสิ่งที่มีราคาขึ้นมา หลายปีผ่านไปแม้น้ำจะท่วมบ้างแต่ประเทศไทยก็ยังอยู่ แม้จะเกิดสึนามิมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก คนก็ยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน
วันหนึ่งนั่งสนทนากับชาวบ้านที่มาวัดฟังธรรม แรกๆก็สนทนาธรรมตามปกติ แต่พอนานๆเข้ามีหลายเรื่องแทรกเข้ามา มีคนหนึ่งเสนอขึ้นว่า “ถ้าน้ำท่วมกรุงเทพมหานครจะทำอย่างไร” เป็นปัญหาที่เข้ากับสถานการณ์พอดีเพราะมีข่าวน้ำท่วมหลายแห่ง
ปัจจุบันกรุงเทพและปริมณฑลน่าจะมีคนอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่าสิบล้านคน เมื่อกรุงเทพกลายเป็นทะเลคนเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน วัดวาอารามต่างๆก็ต้องจมหายอยู่ใต้ทะเล อีกล้านปีข้างหน้าก็อาจจะมีนักโบราณคดีมาค้นพบแหล่งที่เคยมีคนอาศัยอยู่ก่อนก็ได้
ลุงเลิศอายุแปดสิบปีบอกว่า “ผมไม่ย้ายไปไหนหรอกครับ อีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว ดีเสียอีกถ้ากรุงเทพน้ำท่วมผมจะได้ใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ผมก็กลายเป็นคนเรือ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะพอมีแรงพายเรืออยู่ไหม”
ป้าแจ่มคนขายอาหารตามสั่งบอกว่า “ดิฉันยังไม่อยากจมน้ำตาย คงต้องย้ายกลับไปอยู่บ้านเดิมที่อุบลราชธานี จากมาหลายปีแล้ว ไม่ค่อยมีเวลากลับไปเยี่ยมบ้านเลย ส่วนมากจะได้กลับก็ตอนสงกรานต์ปีละครั้ง หากน้ำท่วมดิฉันก็ยังขายข้าวแกงเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่ขายใหม่เท่านั้นเอง”
ยายสมรผู้ที่เข้าวัดฟังธรรมทุกวันพระบอกว่า “คนส่วนมากคิดแต่เรื่องอนาคต หากมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันได้จะมีความสุขมากกว่านี้ ไม่ได้ยินหรือที่พระเทศน์ว่า อย่าคำนึงถึงอดีต และอย่าคิดถึงเรื่องที่ยังมาไม่ถึง จงเป็นอยู่กับปัจจุบัน หรือท่านอาจารย์มหาว่ายังไง”
เมื่อยายสมรเปิดโอกาสจึงได้เวลายกพระสูตรขึ้นแสดงบ้าง ปัจจุบันธรรมหมายถึงการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันเป็น มีปรากฎในภัทเทกรัตตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (14/526/265) ความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังอุเทศและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดีคือ “บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ”
พระสูตรนี้พระสงฆ์มักนิยมสวดในงานอุทิศให้คนตายเริ่มต้นด้วยคำว่า “อตีตัง นานวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ.........และจบลงด้วยคำว่า ตํ เว ภทฺเทกรตฺโตติ สนฺโต อาจิกขเต มุนีติ ฯ
ฟังพระสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงแล้วชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เราทุกยุคทุกสมัยมักจะคิดถึงเรื่องที่ล่วงมาแล้วซึ่งเป็นอดีตแก้ไขอะไรไม่ได้ และคิดถึงเรื่องที่ยังมาไม่ถึง อาจจะเกิดขึ้นอย่างที่เราคิดหรือไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่แนะนำให้คิดถึงสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันที่สามารถกำหนดและทำตามที่เราต้องการได้
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้วหรือว่าฝนแล้วดีกว่าน้ำท่วมนั้น ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป พอน้ำมามากเราก็หาที่หลบภัย พอน้ำลดเราก็ทำงานตามปกติก็เท่านั้น สิ่งที่แก้ไขไม่ได้คิดไปก็ปวดหัวเสียเวลาเปล่า แต่สิ่งที่แก้ไขได้ต้องรีบทำเสียตั้งแต่วันนี้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
27/08/53
ฟังเพลงน้ำท่วม
{youtube}Cd5_aOjT3Wg&feature=related{/youtube}