วันเสาร์ที่แล้วมีคนถามว่าปรัชญาเต๋าคืออะไร คิดอยู่นานก็ตอบเขาไม่ได้ แม้จะเคยศึกษาเต๋ามาก่อนแต่ก็นานมาแล้ว เดินคิดเรื่องเต๋าไปถ่ายภาพดอกไม้ ใบหญ้า เที่ยวชมความงามของธรรมชาติไป พระอาทิตย์แม้จะลับขอบฟ้าไปแล้วแต่ก็ยังพอมีแสงสีทองให้เห็น ถ่ายภาพได้ไม่สวยนักเพราะเมืองไทยมีแต่สายไฟฟ้าระโยงระยางไปหมด ลองถ่ายภาพทิวทัศน์ดูก็ไม่สวยอย่างที่ใจคิด ธรรมชาติมีความงามแฝงอยู่หากมองดีๆก็จะเห็นความงาม แต่เจ้าความงดงามคืออะไรนั้นต้องกลับไปอ่านเรื่องเมื่อวานนี้
กลับถึงวัดเห็นสามเณรกำลังท่องหนังสือเลยถ่ายภาพเล่นๆกลับเห็นความเรียบง่ายที่ไร้กาลเวลา ภาพแรกสามเณรกำลังท่องหนังสือต่อหน้าอาจารย์ มุมกล้องเน้นความชัดไปที่สามเณรกำลังหลับตาท่องหนังสือ อีกภาพต้องการถ่ายให้เห็นความเอาจริงของอาจารย์สอน ท่านมหารูปนี้เอาจริงกับการสอนมากและใช้วิธีสอนแบบโบราณคือถือไม้เรียวคอยตีสามเณรที่ท่องหนังสือไม่ได้ แต่ก็ตีด้วยความรัก สามเณรก็กลัวด้วยความเคารพ
สบายมากครับ ผมท่องได้อยู่แล้ว
เข้ากุฎิที่พักเก็บความสงสัยได้ไม่นานจึงค้นหนังสือในตู้ก็พบหนังสือเกี่ยวกับเต๋าอยู่เล่มหนึ่งชื่อวิถีแห่งเต๋าที่พจนา จันทรสันติแปลมาจาก “เต๋าเต็กเก็ง” แต่งโดยนักปราชญ์จีนโบราณนามว่าเหลาจื๊อ วันอาทิตย์จึงอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบอีกรอบ แต่ก็ยังเข้าไม่ถึงเต๋าที่แท้จริงอยู่ดี เริ่มอ่านหน้าแรกก็ทำให้งงแล้ว เริ่มต้นในบทนำ(พจนา จันทรสันติ,วิถีแห่งเต๋า,เคล็ดไทย,2521,หน้า 27) ด้วยคำว่า
เต๋าคืออะไรดูช่างเป็นคำถามที่ยากเย็นเสียนี่กระไร เพราะแม้แต่ตัวศาสดาเหลาจื้อเอง ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ ดังข้อความในเต๋าบทที่หนึ่งที่ว่าด้วยเต๋าอันสูงสุด “เต๋าที่อธิบายได้ มิใช่เต๋าอันอมตะ ชื่อที่ตั้งให้กันได้ก็มิใช่ชื่ออันสูงส่ง เต๋านั้นมิอาจอธิบายและมิอาจตั้งชื่อ เมื่อไร้ชื่อทำฉันใดจักให้ผู้อื่นรู้ ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า “เต๋า” ไปพลาง ๆเมื่อไร้นามไร้สภาวะจึงเป็นบ่อเกิดแห่งฟ้าและดิน เมื่อมีนามมีสภาวะจึงเป็นมารดาแห่งสรรพสิ่ง”
คำว่า “เต๋า” จึงเป็นคำสมมุติขึ้นใช้เรียกสภาวะหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดหรือเหตุผลใด ๆ ด้วยคำพูดนั้นก่อให้เกิดคำพูดและเหตุผลก็ก่อให้เกิดเหตุผลเรื่อย ๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่เต๋านั้นเป็นสิ่งที่หยุดสนิทอยู่ในตน เป็นสภาวะอันสูงเยี่ยมที่ไม่ต้องการการยอมรับหรือปฏิเสธด้วยสิ่งนี้ไม่อาจอธิบายได้ด้วยคำพูดหรือเหตุผลใด ๆ ดังที่เหลาจื้อได้กล่าวยืนยันไว้ ดังนั้น ถ้อยคำ ข้อความ หรือคำพูด ที่แสดงออกมาโดยมุ่งหวังที่จะอธิบายเต๋า จึงเป็นไปโดยนัยแห่งการเปรียบเทียบเท่านั้น ดังเช่นคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งเล่มนี้เป็นตัวอย่าง คัมภีร์ก็คือคัมภีร์ ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากนี้ ถึงแม้จะใช้ถ้อยคำคมและสวยหรูสักเพียงใด แต่มันก็ไปไม่พ้นจากการแบ่งแยกและเปรียบเทียบอยู่นั้นเอง เหลาจื้อได้กล่าวเตือนเราไว้ในบทแรกว่าคัมภีร์เต๋าก็คือคัมภีร์เต๋า หาใช่สัจจะที่แท้ไม่ เราจงอย่าไปยึดติดอยู่กับมันหาก จงผ่านเลยมันไปเสีย เพื่อจะได้มองเห็นสิ่งนั้นด้วยตาของตนเอง
อ่านแล้วยังงงๆอยู่เหมือนเดิม สิ่งที่อธิบายไม่ได้ในโลกนี้จะมีสักกี่อย่างกัน แม้แต่ห้วงจักรวาลก็ยังมีคนพยายามอธิบาย ดาวมีกี่ดวง ระยะทางจากดาวนั้นไปยังดาวดีกดวงใช้เวลากี่ปีแสง นักวิทยาศาสตร์อธิบายได้หมด แต่ทว่าพออ่านลัทธิเต๋ากลับบอกว่าเต๋าคือสิ่งที่อธิบายไม่ได้ แล้วจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไรกัน
อาจารย์ครับ....ผมเริ่มจำไม่ได้แล้วครับ
วิถีแห่งเต๋า(หน้า 28)ยังอธิบายต่อไปอีกว่า “คัมภีร์เต๋าก็เป็นเพียงคัมภีร์กระดาษ เป็นเต๋ากระดาษ ที่ท่านกล้าเขียนออกมาก็เพียงหวังให้เต๋ากระดาษนี้ เป็นเครื่องช่วยชี้นำไปสู่เต๋าที่แท้ เมื่อเราเข้าสู่เต๋าที่แท้แล้ว เราย่อมละลืมเต๋ากระดาษนี้เสียได้ ดังคำกล่าวของจวงจื๊อนักปราชญ์เต๋าผู้ยิ่งใหญ่ในยุคหลังที่ได้กล่าวไว้ว่า “แหมีไว้สำหรับจับปลา เมื่อจับปลาได้แล้ว ก็ลืมแหเสียได้ แร้วมีไว้สำหรับดักกระต่าย จับกระต่ายได้แล้ว ก็ลืมแร้วเสียได้ ถ้อยคำมีไว้สำหรับสื่อความหมาย เข้าใจความหมายแล้วก็ละเลยถ้อยคำเสียได้ ข้าพเจ้าจะหาใคร ที่ไหน ผู้ซึ่งละเลยต่อถ้อยคำ อันข้าพเจ้าอาจสนทนาด้วย กับท่านผู้นั้น”
อ่านได้แค่นั้นก็ต้องวาง เพราะสิ่งที่อธิบายด้วยถ้อยคำไม่ได้จะให้ทำอย่างไร เมื่ออ่านแล้วงงเลยต้องกลับไปค้นหาประวัติของคนแต่งคือเหลาจื่อหรือเล่าจื๊อเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงชาวจีนที่สุดท่านหนึ่งของชนชาติจีน ที่เชื่อกันว่าอาศัยอยู่ในช่วง 400 ปี ก่อนคริสต์ศักราช น่าจะมีชีวิตรุ่มยุคกับพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธศาสนาเกิดก่อนคริสตศาสนา 543 ปี ในขณะที่กรีกมีโสเครตีส อินเดียมีพระพุทธเจ้า จีนก็มีเหลาจื่อ นักปราชญ์ทั้งสามท่านอยู่กันคนละประเทศแต่มีหลักคิดที่คล้ายกัน เล่าจื๊อได้เขียนตำราอันเป็นแบบแผนในทางเต๋านั่นคือ "เต๋าเต็กเก็ง" (Tao Te Ching) ซึ่งเป็นผลงานทางลัทธิเต๋าที่ยังคงตกทอดมาถึงยุคปัจจุบันนี้
คำอธิบายถึงรูปลักษณ์ของเต๋ามีปรากฎในบทที่เจ็ดว่า “เต๋านั้นคือความเวิ้งว้าง แต่คุณประโยชน์ของเต๋ามิรู้สิ้นสุด คล้ายต้นกำเนิดของน้ำพุแห่งสรรพสิ่ง ลึกสุดหยั่งคาด เวียนวน ยุ่งเหยิง ซับซ้อนแผ่วเบา แจ่มกระจ่างดุจแก้วผลึก ใสสะอาดดุจน้ำอันสงบนิ่ง ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเต๋ากำเนิดจากแห่งใด คล้ายดำรงอยู่ก่อนธรรมชาติ”
หากจะอธิบายว่าเต๋าเป็นเหมือนทางที่เข้าสู่ความเป็นธรรมชาติ ก็น่าจะพอฟังได้ คนจีนในยุคโบราณคงต้องการเข้าถึงความเป็นธรรมชาติ แต่ละคนก็แสวงหาหนทางแห่งการเข้าถึงความสงบ แต่วิธีการอาจแตกต่างกัน ขงจื้อนักปราชญ์คนสำคัญอีกคนหนึ่งของจีนก็เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นข้าราชการ ต่อมาจึงออกแสวงหาสัจธรรมตามธรรมชาติ วิธีการของนักปราชญ์ทั้งสองแม้จะแตกต่างกันแต่ก็มุ่งที่ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติเหมือนกัน
วิถีแห่งเต๋าเล่มที่พจนาแปลจบลงด้วยบทที่แปดสิบเอ็ด(หน้า 200)คือ "ถ้อยคำที่แท้" ความว่า “คำจริงนั้นฟังดูไม่เพราะ คำที่ไพเราะไม่มีความจริง คนดีไม่ได้พิสูจน์ด้วยการถกเถียง คนที่ถกเถียงเก่งไม่ใช่คนดี คนฉลาดไม่รู้มาก คนที่รู้มากไม่ฉลาด ปราชญ์ย่อมไม่สะสมเพิ่มทุนเพื่อตนเอง ชีวิตของท่านมีอยู่เพื่อผู้อื่น แต่ท่านกลับยิ่งร่ำรวยขึ้น ท่านบริจาคแก่ผู้อื่น แต่ท่านยิ่งมีขึ้นทับทวี วิถีแห่งเต๋านั้น มีแต่คุณไม่เคยให้โทษ วิถีแห่งปราชญ์นั้น มีแต่กอปรกิจให้สำเร็จ โดยไม่แก่งแย่งแข่งขัน” อ่านแล้วฟังดูดีหรือคนแปลๆได้ดี แม้จะเข้าใจยากไปหน่อยก็ตาม
อ่านจบแล้วก็ยังหาคำนิยามของคำว่า “เต๋า” ที่แท้จริงไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้พบในคัมภีร์เล่มนี้คือความเรียบง่ายโดยไม่ต้องมีพิธีรีตรองใดๆ เรียบง่ายโดยธรรมชาติหรือมองธรรมชาติด้วยความเข้าใจ ให้ธรรมชาติดำเนินต่อไปตามวิถีที่ควรจะเป็น ชีวิตมนุษย์ก็เฉกเช่นธรรมชาติปล่อยให้มันดำเนินต่อไปตามวิถีที่ควรจะเป็นโดยไม่ต้องไปแช่งชันชิงดีชิงเด่นกับใคร ผู้ที่ดำเนินชีวิตแบบนี้เป็นคนที่มีความสุข เพราะรู้จักเสพความสุขในสิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัว วันนี้แม้จะยังไม่เข้าใจคำว่า “เต๋า”แต่เริ่มเข้าใจธรรมชาติน่าจะกำลังก้าวเดินไปตามวิถีแห่งเต๋าแล้ว เพราะสาระสำคัญของเต๋าอย่างหนึ่งคือการมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด
ใครเข้าใจปรัชญาหรือแนวคิดของลัทธิเต๋า ช่วยอธิบายให้ฟังที วันนี้เห็นทีต้องหยุดคิดเรื่องเต๋าไว้ชั่วครู่ และวันนี้ภาวนาไว้ตลอดวันว่าอย่าได้พบหน้าคนถามคนนั้นอีกเลย เพราะถ้าพบหน้าแล้วเกิดถามคำถามเดิมขึ้นมาว่า “เต๋าคืออะไร” คงหาคำตอบไปอธิบายให้เขาฟังไม่ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
23/08/53