ในโลกนี้มีสิ่งที่สมบูรณ์แบบจริงๆหรือไม่ ที่ใครเห็นแล้วก็ต้องบอกว่างาม เช่นดอกไม้หนึ่งดอกแม้จะมีคนมองหนึ่งร้อยคนจะต้องมีคนบอกว่าสวยงามจนไม่มีที่ติ แต่เมื่อถามว่างามอย่างไร แต่ละคนก็จะตอบไปคนละอย่างตามทัศนะของตนเอง แต่เมื่อว่าโดยสรุปทุกคนบอกว่าสวยงาม ความงามหรือไม่งามแม้จะมาจากสายตาของคนที่แตกต่างกัน ทำไมจึงมองว่างาม มันน่าจะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดสิ่งที่ทุกคนเห็นเหมือนกัน
ในเรื่องนี้นักปรัชญาในอดีตพยายามหาคำตอบและให้คำอธิบาย ถึงแม้ปัจจุบันก็ยังเถียงกันไม่จบว่าความงามเป็นปรนัยหรืออัตนัย คิดว่าคนที่เคยเรียนหนังสือต้องเข้าใจคำนี้เพราะเวลาจะสอบจะมีข้อสอบอยู่สองประเภทคือข้อสอบที่มีคำตอบอยู่แล้ว แต่มีตัวเลือกให้เลือก ถ้าเลือกถูกตามที่กำหนดไว้ก่อนก็ได้คะแนนไปข้อสอบแบบนี้เรียกว่าปรนัย ส่วนอีกข้อสอบประเภทหนึ่งคือยังไม่มีคำตอบที่แน่นอนขึ้นอยู่กับผู้ตอบและผู้ตรวจ ถ้าผู้ตอบๆถูกหลักการและถูกใจผู้ตรวจก็ได้คะแนนมากหน่อย ข้อสอบแบบนี้เรียกว่าอัตนัย
ดอกไม้ดอกเดียวกันถ่ายภาพในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ยืนอยู่ในที่ต่างกันด้วยระยะห่างใกล้เคียงกัน กล้องตัวเดียวกันปรับรูรับแสงเท่ากันคือเปิดกว้างมากที่สุดของเลนส์กล้องซึ่งวันที่ถ่ายเปิดได้กว้างที่สุดคือ 2.8 หมายความว่าเปิดรับแสงมากที่สุด เหมาะสำหรับการถ่ายภาพในสภาวะที่มีแสงน้อย หรือต้องการให้ภาพออกมาหน้าชัดแต่ฉากหลังเบลอ ภาษาของนักถ่ายภาพก็ต้องบอกว่า “ถ่ายภาพละลายฉากหลัง” วันที่ถ่ายเป็นเวลาประมาณสิบแปดนาฬิกา แสงแดดหมดไปแล้ว ปรับกล้องให้เป็นออโต้โฟกัส จากนั้นก็เลือกระยะห่างเท่าที่กล้องจะหาโฟกัสได้และกดชัดเตอร์ โดยเดินเข้าเดินออกระหว่างตัวแบบ แต่ถ้ากำหนดโฟกัสเองก็ต้องขึ้นอยู่กับสายตาเราเองว่าจะมองเห็นอย่างไร
ภาพแรกชัดที่ใบแต่ตัวดอกเบลอนิดหนึ่ง ยังขาดความสมบูรณ์ ส่วนภาพที่สองชัดที่ดอกแต่ใบไม่ชัด ซึ่งหากต้องการให้มีความคมชัดทั้งภาพก็ต้องปรับรูรับแสงไปที่ 5.6 ขึ้นไป แต่ในสภาพแสงน้อยแบบนี้ภาพก็จะมืดเพราะแสงไม่พอ แต่ถ้าใช้แฟ็ช ภาพที่ออกมาจะขาดความนุ่มนวลภาพชัดแต่แข็งกระด้าง ขาดความเป็นธรรมชาติ ลองเปรียบเทียบดูว่าภาพสองภาพนี้ภาพไหนสวยกว่ากัน พอนำมาเทียบกันก็ต้องบอกว่าสวยคนละแบบ แม้จะชัดบ้างไม่ชัดบ้างแต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือเป็นดอกไม้ดอกเดียวกัน
ถ้าเปลี่ยนไปถ่ายดอกไม้อีกชนิดหนึ่งปรับกล้องในลักษณะเดิมภาพที่ได้ก็จะมีความชัดบางดอก พร่ามัวบางดอก ในภาพนี้จะต้องมีดอกไม้หนึ่งดอกที่ชัดที่สุด จากนั้นก็ชัดน้อยลงตามลำดับต้องหาความชัดให้พบ ดอกไม้แม้จะมีหลายสายพันธุ์แต่ก็มีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือความเป็นดอกไม้ ทัศนะอย่างนี้นักปรัชญากรีกคนหนึ่งคือเพลโตเรียกว่าแบบซึ่งเพลโตอธิบายโดยสรุปได้ว่า “แบบ (Form) คือลักษณะกลางที่สิ่งเฉพาะทั้งหลายมีร่วมกัน ได้แก่ความเป็นคน ความเป็นดอกไม้ แบบอยู่เฉพาะในโลกของแบบ โดยแบบจะเกาะกันอยู่ตามกลุ่ม และมีลำดับขั้นสูงต่ำ โครงสร้างของโลกแห่งแบบจึงเหมือนกับปิรามิดที่ฐานกว้างแล้วแคบลงเรื่อยๆ จนถึงส่วนปลายสุดจะเป็นยอดแหลม ซึ่งเป็นแบบที่มีลำดับสูงสุดคือแบบของความดี แบบของความงาม แบบของดอกไม้ แบบของคน แบบของโลกเป็นต้น สรุปว่าทุกอย่างมีแบบที่สมบูรณ์อยู่แล้ว แต่จะเข้าถึงความเป็นแบบที่สมบูรณ์ได้หรือไม่นั้นเรื่องนี้คงต้องมีคำอธิบายอีกนาน
ตามทัศนะของเพลโตจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่เป็นความสมบูรณ์ และมีลักษณะร่วมกันเช่นดอกไม้แม้จะต่างกัน แต่ก็ต้องมีแบบหนึ่งที่ทำให้คนมองว่าเป็นดอกไม้ คนก็เหมือนกันจะต้องลักษณะเฉพาะอาจเรียกว่า “แบบของความเป็นคน”ที่ทำให้คนต่างจากสัตว์อื่นๆ
ลักษณะของแบบตามทัศนะของเพลโตพอจะสรุปได้ว่า (1)แบบเป็นอสสาร แบบจึงไม่ครอบครองที่ และไม่อยู่ในเงื่อนไขเวลา (2)แบบเป็นปรนัยมีคำตอบอยู่แล้ว (3)แบบเป็นหลักแห่งความจริงของสิ่งเฉพาะ เป็นมาตรฐานวัดว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราเป็นอะไรเป็นคนหรือไม่ เป็นดอกไม้หรือไม่ (4)แบบเป็นหลักแห่งความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ (5)แบบสิ่งเฉพาะย่อมมีจำนวนมาก แต่แบบของสิ่งเฉพาะนั้นย่อมมีเพียงหนึ่งเช่น มีดอกไม้อยู่มากมาย แต่ความเป็นดอกไม้หรือดอกไม้สากลก็มีเพียงหนึ่งเท่านั้น (6)แบบมีจำนวนแน่นอน ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น สิ่งเฉพาะอย่างไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่แบบของไดโนเสาร์จะยังคงอยู่ไม่หายไปไหน และจะไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากที่เคยมีในอดีต ถ้าหากว่าไม่มีแบบของสิ่งนั้นอยู่ในโลกแห่งแบบ (7) สิ่งเฉพาะใดที่หาลักษณะกลางได้ ย่อมแสดงถึงการมีอยู่ของแบบ ดังนั้นจึงมีแบบของสิ่งในธรรมชาติ แบบของสิ่งต่างๆ แบบของสิ่งดีงาม แบบของความงามเป็นต้น
ทฤษฎีแบบของเพลโตผ่านกาลเวลามานานนับสองพันปีแล้ว คนที่วิจารณ์ทฤษฎีแบบได้ดีที่สุดคนหนึ่งคืออริสโตเติลลูกศิษย์ของเขาเอง ในสมัยโบราณหากลูกศิษย์เรียนจากอาจารย์แล้ววิจารณ์แนวคิดของอาจารย์ได้ถือว่าเก่ง แต่ปัจจุบันหากลูกศิษย์วิจารณ์อาจารย์คนมักจะมองว่าศิษย์คิดล้างครู ดังนั้นความรู้ใหม่จึงเกิดได้ยากเพราะทุกคนไม่อยากล้างครู นัยว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังหาคนที่มี “ความงาม ดี เลว” สมบูรณ์แบบตามทัศนะของเพลโตไม่ได้สักคน ทุกคนมีตำหนิหมด
มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีความต้องการสร้างพระพุทธรูป ที่สวยงามที่สุดสมบูรณ์แบบที่สุด เมื่อนายช่างเริ่มสร้างก็ให้คนมาติทุกวัน วันละหลายคน จนกระทั่งคนมาดูการสร้างพระพุทธรูปและทุกคนก็ได้หาที่ติจนเกือบหมดทุกคนแล้ว พระพุทธรูปองค์นั้นกว่าที่จะสร้างเสร็จก็ต้องใช้เวลาหลายปี เพราะทุกวันมีคนมาติตรงนั้นใหญ่ไปบ้าง อันนี้เล็กไปบ้าง พระพักตร์แบนไปบ้าง พระหัตน์สั้นไปบ้าง ฯลฯ ทุกอย่างเมื่อมีคนตินายช่างก็ต้องรื้อและสร้างใหม่ จนกระทั่งพระพุทธรูปมีความงาม “จนไม่มีที่ติ หรือหาที่ติไม่ได้” แต่ยังมีอีกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักติชั้นยอด เมื่อเขาดูอะไรต้องมีที่ติจนได้ ข่าวว่าเขาไม่อยากจะมาเพราะจะเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชนที่ลงมติว่า “พระพุทธรูปองค์นี้งามอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว”
เมื่อทนคำขอร้องไม่ไหวในที่สุดเขาก็มา ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก ซึ่งมีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคิดว่าเขาคงหาที่ติไม่ได้หรอกเพราะทุกคนติชมกันมาหลายรอบแล้ว อีกฝ่ายก็คิดว่าเขาต้องหาที่ติจนได้ เพราะเขาเป็นนักติที่ไม่ชม คงจะไม่ยอมแพ้เด็ดขาด
นักติที่ว่าเดินดูพระพุทธรูปอันสวยงามหลายรอบ ก็หาที่ติไม่ได้เพราะงามสมบูรณ์จริงๆ ในที่สุดก็ยืนขึ้นท่ามกลางประชาชนเขากล่าวคำชื่นชมว่า “พระพุทธรูปองค์นี้งามจริงๆงามกว่าทุกองค์ที่เคยเห็นมา ผมก็หาที่ติไม่ได้ จึงขอยอมแพ้ แต่เสียอยู่อย่างเดียวเท่านั้นเองคือพระพุทธรูปองค์นี้พูดไม่ได้” เขาหาที่ติจนได้
ในโลกนี้จึงไม่มีสิ่งที่สมบูรณ์แบบ คนที่สมบูรณ์แบบก็หาได้ยาก ต้องมีข้อบกพร่องกันทุกคน บางคนสวยงาม แต่พูดไม่เพราะ บางคนพูดเพราะฟังรื่นหูแต่ไม่มีความสวยงาม ดอกไม้บางดอกสวยงามแต่ไม่มีกลิ่นหอม บางดอกหอมแต่ไม่สวย ดังนั้นสิ่งที่สวย งาม ดี สมบูรณ์แบบจนไม่มีที่ติในโลกนี้หาได้ยากอย่างยิ่ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/08/53